ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พญานาค
นาค หรือ พญานาค งูใหญ่มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และนาคยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล นาคเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำ บางแห่งก็ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฟ้า
ตำนานความเชื่อเรืองพญานาคมีความเก่าแก่มาก ดูท่าว่าจะเก่ากว่าพุทธศาสนาอีกด้วย สืบค้นได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ ด้วยเหตุจากภูมิประเทศทางอินเดียใต้เป็นป่าเขาจึงทำให้มีงูอยู่ชุกชุม และด้วยเหตุที่งูนั้นลักษณะทางกายภาพคือมีพิษร้ายแรง งูจึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ
ชาวอินเดียใต้จึงนับถืองู เป็นสัตว์เทวะชนิดหนึ่งในเทพนิยายและตำนานพื้นบ้าน บ้างก็ว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีความเชื่อเรื่องพญานาคแพร่หลายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วทวีปเอเชีย โดยเรียกชื่อต่างๆ กัน ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคน่าจะอยู่ที่อินเดีย ด้วยมีนิยายหลายเรื่องเล่าถึงพญานาค โดยเฉพาะในมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งถือเป็นปรปักษ์ของพญาครุฑ
ส่วนในตำนานพุทธประวัติ ก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่าพญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษาโดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่ และเมื่อไปเล่นน้ำในแม่น้ำโขงควรยกมือไหว้เพื่อเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันไป แต่พื้นฐานคือพญานาคนั้นมีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี7สี และที่สำคัญคือนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร
นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก พญาเศษนาคราช(อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียณสมุทร อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศรีษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในนำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม
พญานาคในพุทธศาสนา
ในคัมภีร์ปรมัตถโชติกะมหอภิธรรม มัตถสังคหฎีกา ปริเฉทที่ 5 ได้กล่าวถึงเรื่องของชนิดพญานาคดังนี้
- ปูติมุขะ เป็นนาคมีพิษ ถ้ากัดผู้ใดแล้วรอยแผลจะเปื่อยเน่า นำเหลืองไหล ถ้าไม่มียารักษาจะถึงแก่ความตายในเวลารวดเร็ว
- กฎฐะมุขะ เป็นนาคมีพิษ ถ้ากัดผู้ใดแล้วร่างกายเหยื่อจะแข็งทื่อไปทั้งตัว แขนขางอไม่ได้ และจะปวดอย่างแสนสาหัส และตายอย่างรวดเร็ว
- อัคคิมุขะ เป็นนาคมีพิษ ถ้ากัดผู้ใดแล้วจะเกิดอาการเร่าร้อนไปทั้งตัวดุจไฟเผา แผลจะมีลักษณะคล้ายถูกไฟไหม้
- สัตถะมุขะ เป็นนาคมีพิษ ถ้ากัดผู้ใดแล้วจะตายทันทีเหมือนถูกฟ้าผ่า (สันนิษฐานว่าเป็นนาคพ่นพิษเหมือนมังกรพ่นไฟ)
พญานาคสี่ประเภทนี้สามารถทำอันตรายได้อีกอย่างละสี่วิธีคือ
- ทัฏฐะวิสาพญานาค เมื่อขบกัดแล้วจะเกิดพิษซ่านไปทั่วร่างกาย
- ทิฏฐะวิสะพญานาค ใช้วิธีมองแล้วพ่นพิษออกทางตา
- ผุฏฐะวิสะพญานาค ใช้ลมหายใจพ่นเป็นพิษแผ่ซ่าน
- วาตาวิสะพญานาค มีพิษที่กาย จะแผ่พิษจากตัว
รวมว่ามีวิธีทำอันตรายได้ 16 วิธี แต่ใน 16 วิธีนี้ยังมีแบ่งภาคออกไปอีก 4 วิธีคือ
- อาตตะวิสนะโฆระวิสะ มีพิษแผ่ซ่านออกไปอย่างรวดเร็วแต่ไม่รุนแรง
- โฆระวิสนะอาคตะวิสะ มีพิษรุนแรงมาก แต่พิษนั้นแผ่ออกไปช้าๆ
- อาคตวิสนะโฆระวิสะ มีพิษแผ่ซ่านไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก
- นะอาควิสนะโฆระวิสะ มีพิษแผ่ช้าๆและไม่รุนแรง
รวมแล้วมีวิธีทำอันตรายได้ 64 วิธี แต่พญานาคเหล่านี้ยังแบ่งออกเป็นสี่ประเภทคือ
- อันฑชะพญานาค เป็นนาคพันธุ์เกิดในไข่
- ชลาพุชะพญานาค เป็นนาคพันธุ์เกิดในครรภ์
- สังเสทชะพญานาค เป็นนาคพันธุ์เกิดจากเงื่อไคล
- โอปปาติกะพญานาค เป็นนาคพวกกายทิพย์ผุดเกิดจากบุญบารมี
รวมแล้วเป็นพญานาคทั้งหมด 256 ชนิด ในแต่ละชนิดยังแบ่งออกเป็นสองพวกคือ
- ชลชะพญานาค เป็นนาคที่เกิดในนำ
- ถลชะพญานาค เป็นนาคที่เกิดบนบก
พญานาคนั้นจะแสดงธาตุแท้ออกมาในสถานการณ์ดังนี้
- เวลาปฏิสนธิรูปจะเป็นนาค
- เวลาลอกคราบรูปจะเป็นนาค
- เวลาเสพเมถุนธรรมรูปจะเป็นนาค
พญานาคเป็นสัตว์ในนิยาย มีรูปร่างคล้ายงู แต่มีความสำคัญกับเทพเจ้ามาก เช่นเดียวกับ พญาครุฑ คือมีความสำคัญกับพระนารายณ์ ในฐานะเป็นที่ประทับ ณ เกษียรสมุทร
ความเชื่อในพุทธประวัติ
เริ่มแรกก็นับถือกันในฐานะสัตว์เทพเจ้า เรียกในนามว่า นาค หรือ พญานาค และเมื่อพุทธศาสนากำเนิดเกิดขึ้นที่อินเดียเหนือ (ประเทศเนปาลปัจจุบัน) เผยแพร่อิทธิพลสู่อินเดียใต้ จึงทำให้ชาวอินเดียใต้รวบรวมความเชื่อเรื่องนาคให้ผสมกลมกลืนกับพุทธศาสนา โดยแทรกอยู่ในทศชาติชาดกและพุทธประวัติ
ทศชาติชาดกก็มีเรื่องราวอยู่ว่า พระพุทธองค์ทรงเสวยชาติเป็นพญานาคถึง 2 พระชาติ คือ พญานาคภูริทัตตนาคราช และพญานาคจำปานาคราช ก่อนที่จะมาทรงถือกำเนิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พญานาคที่เกี่ยงข้องในพุทธประวัติก็คือ เมื่อหลังการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ในสัปดาห์ที่ 4 กาลนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่สระมุจจลินท์ ก็มีฝนตกลงมาอย่างหนัก พญานาคมุจจลินท์จึงได้ขึ้นมาจากสระแล้วขนดกาย 7 รอบ แผ่พังพานเหนือพระเศียรเพื่อป้องกันลมฝนมนต้องพระวรกาย จึงเป็นต้นกำเนิดพระพุทธรูปปางนาคปรกขึ้นด้วย
ในทางคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นาคก็แทรกเข้าไปอยู่ในความเชื่อด้วยเช่นกัน ดังว่า พญานาคเป็นเจ้าบาดาล อีกทั้งยังเป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ซึ่งมีชื่อว่าพญาอนันตนาคราชต้นกำเนิดของตำนานนารายณ์บรรทมสินธุ์ และพญานาคยังเป็นสร้อยสังวาลของของพระศิวะโดยมีชื่อว่าพญานาควาสุกรี
อิทธิพลความเชื่อพญานาคส่งอิทธิพลมายังดินแดนสุวรรณภูมิ พร้อมกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องพญานาคก็ได้ผสมกลมกลืน และได้รับการรวบรวมกับความเชื่อดั้งเดิมในท้องถิ่นจนทำให้เกิดความเชื่อและตำนานนิทานปรัมปราต่างๆขึ้นอีกมากมาย ดินแดนอาณาจักรเขมร เชื่อว่าพญานาคเป็นบรรพบุรุษและผู้สร้างเมืองให้แก่พวกเขา รวมถึงความเชื่อตำนานพญานาคในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่กล่าวในข้างต้น และแม้แต่ทะเลสาบเขมรกลางกรุงพนมเปญก็มีตำนานกล่าวว่า พญานาคเป็นผู้ขุดให้และคอยปกป้องคุ้มครองชาวเมืองอีกด้วย
ความเชื่อในดินแดนต่างๆ ของไทย
ในด้านของดินแดนสยามหรือประเทศไทยของเรานั้น ก็มีความเชื่อเรื่องนาคปรากฏอยู่มากมายไม่แพ้ที่อื่น
ภาคเหนือเองก็มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคอยู่เช่นกัน ดังในตำนานสิงหนวัติซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ของทางภาคเหนือเอง เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมืองเป็นเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมายกทัพปราบเมืองอื่นได้และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนคร ต้นวงศ์ของพญามังรายผู้ก่อกำเนิดอาณาจักรล้านนานั่นเอง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นาคล้วนมีส่วนร่วมในตำนานอย่างชัดเจน เช่น ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการแถตัวของพญานาค นอกจากนี้ยังรวมถึงบั้งไฟพญานาค โดยมีตำนานว่าในวันออกพรรษาหรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พญานาคแห่งแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงเฮ็ด(จุด)บั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีทุกปี
และเนื่องจากเชื่อว่าพญานาคเป็นเจ้าบาดาล เป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ ดังนั้นเมื่อชาวนาจะทำพิธีแรกไถนา จึงต้องดูวัน เดือน ปี และทิศที่จะบ่ายหน้าควายเพื่อไม้ให้ควายลากไถไปในทิศที่ทวนเกร็ดนาค ไม่อย่างนั้นการทำนาจะเกิดอุปสรรคต่างขึ้น