สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
หลักรัฐศาสตร์ และหลักนิติศาสตร์
โดย ไพสิฐ พาณิชย์กุล
ปัญหาเรื่องการแบ่ง " ศาสตร์ " ออก เป็นสาขาต่างๆเป็นประเด็นหนึ่งในหลายๆ
ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันได้ในทางวิชาการ
แต่การถกเถียงกันดังกล่าวในที่สุดแล้วกลายเป็น
เรื่องที่ปกป้องวิชาชีพของแต่ละฝ่ายเสียเป็นส่วน ใหญ่
และสุดท้ายก็ยังคงไม่ได้ตอบคำถามที่ผู้ ฟังการถกเถียงอย่างตั้งใจจะทราบว่าในที่สุด
แล้ว สังคม ประชาชน ได้อะไรจากการถกเถียง
"หลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์"
เป็นประเด็นหนึ่งในทางวิชาการที่ถูกหยิบขึ้นมา กล่าวถึงเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง
เท่าที่ตรวจ สอบได้พบว่ามีการนำเอาหลักทั้งสองมาอ้างใน
เชิงที่เป็นทางสองแพร่งเสมือนเป็นทางเลือกใน การแก้ปัญหาของบ้านเมือง
โดยเริ่มปรากฏให้ เห็นในสื่อต่างๆมากขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมา
แม้กระทั้งในปัจจุบันก็ยังมีการอ้าง
ถึงเพื่อที่จะให้เลือกใช้หลักใดหลักหนึ่งในการใช้
อำนาจของรัฐในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อมีปัญหาที่จะต้องดำเนินคดีบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายและถึงจุดที่เกิดความเห็นอกเห็น
ใจกัน
ในบทความนี้ต้องการที่จะทำให้การ ถกเถียงที่ว่า
เราควรจะใช้หลักรัฐศาสตร์หรือหลักนิติศาสตร์ดี
ซึ่งในที่สุดก็เป็นการถกเถียงที่ตกอยู่ในความเป็น "สถาบันวิชาชีพ"
ให้สามารถที่จะยกระดับขึ้นไปเป็นเรื่องของการนำหลักทั้งสองดังกล่าวมาพิจารณาเสียใหม่
เพื่อว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นบ้างต่อสังคม
เหตุที่จะต้องหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาชวนพิจารณากันใหม่ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า
เป็นที่น่าสนใจว่าทำไมหลักรัฐศาสตร์
และหลักนิติศาสตร์จึงกลายเป็นหลักที่แยกออกจากกัน
และความเข้าใจต่อหลักการทั้งสองของสังคมมีอยู่อย่างไร ?
และในฐานะที่ผู้เขียนมีโอกาสศึกษาและสอนในวิชาทางนิติศาสตร์
แต่ก็มีความสนใจและติดตามงานในด้านรัฐศาสตร์และวิชาอื่นๆด้วย
ทั้งนี้เพราะเนื่องจากการที่ต้องคอยตอบคำถามแก่ประชาชนในวาระและเทศะต่างๆ
ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่สนใจประเด็นในทางการเมือง
กฎหมาย ทำให้เห็นและเข้าใจความคิดอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากหลักการต่างๆที่เรียนมา
จึงยิ่งทำให้ประเด็นดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น
อะไรคือแก่นของปัญหา
การหยิบหลักการใดหลักการหนึ่งขึ้นมาเป็นข้ออ้าง เพื่อให้ใช้เป็นหลักในการแก้ปัญหา
เป็นเรื่องที่มีนัยที่สำคัญต่อวงการวิชาชีพนั้นๆ
แต่การอ้างหลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์มาเป็นทางเลือก
ที่ต้องหยิบเอาหลักใดหลักหนึ่งขึ้นมาใช้
ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อวงการวิชาชีพทั้งสองเท่านั้น
หากแต่มีนัยที่สำคัญต่อสังคมทั้งหมดด้วยว่า
ได้เกิดความล้มเหลวในการพัฒนาทางด้านสังคมศาสตร์ขึ้นในสังคมไทยอย่างฉกาจฉกรรจ์ (
อย่างน้อย ในสายตาของผู้เขียน ) กล่าวคือ ทำไมและเพราะเหตุใด
ที่หลักการสำคัญๆที่เกี่ยวกับระบบการเมือง การปกครอง และหลักการสำคัญๆในทางกฎหมาย
ซึ่งควรจะเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมกลับไม่เป็นที่เข้าใจตรงกัน แต่ในทางตรงกันข้าม
กลับมีการสร้างองค์ความรู้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมากนักให้เกิดขึ้นต่อประชาชน
และความรู้ดังกล่าวนั้น ในที่สุดแล้วกลับนำไปสู่การแบ่งประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย
สังคมศาสตร์ในประเทศไทยมีพัฒนาการที่ไม่นานนัก และอาจจะกล่าวได้ว่า
สาขาวิชาต่างๆที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสังคมศาสตร์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ รัฐศาสตร์ และ
นิติศาสตร์ มีพัฒนาการมาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และ โรงเรียนกฎหมาย ตามลำดับ (
นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนอื่นๆอีกเช่น โรงเรียนป่าไม้ โรงเรียนนายร้อยทหาร
โรงเรียนตำรวจ โรงเรียนแผนที่ทหาร ฯลฯ )
โรงเรียนทั้งสองเกิดขึ้นเพื่อสร้างคนเข้าสู่ระบบราชการแบบใหม่
ที่จะเข้ามาแทนที่ระบบราชการแบบสมบูรณาญาสิทธิราช
แล้วต่อมาเมื่อมีการจัดระบบการศึกษาในรูปแบบของตะวันตก คือ มหาวิทยาลัย
ทั้งสองสาขาวิชาดังกล่าวก็ถูกนำเข้ามาวางระบบจัดการสอนในมหาวิทยาลัย
แต่เป้าหมายก็ยังคงเดิม คือมุ่งสร้างคนเข้าสู่ระบบราชการประจำหน่วยงานต่างๆ เช่น
กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม นิติกรของหน่วยงานต่างๆ และ งานอิสระ ฯลฯ
ดังนั้น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาซึ่งเป็นผลผลิตของสถาบันการศึกษาเหล่านี้
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
จึงถูกผลักเข้าสู่ระบบราชการและสถาบันวิชาชีพที่ไปเกี่ยวกับความเป็นอยู่ วิถีชีวิต
ความเป็นธรรม ความสงบ ความขัดแย้ง ความรุนแรงในสังคม
และเมื่อระบบราชการเป็นระบบที่โฆษณาว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้ได้ โดยมีกฎหมาย และ
กระบวนการยุติธรรม ที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชน
แต่กาลกลับกลายไปในทางที่ตรงกันข้ามที่ระบบราชการ
และรวมถึงระบบการเมืองที่เกิดขึ้นในภายหลัง
ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ดังที่โฆษณาไว้
หากจะนับเวลาก็คงไม่ต่ำกว่าร้อยปีที่ทั้ง รัฐศาสตร์ และ นิติศาสตร์
ตามแบบฉบับ ตะวันตก อันเป็นต้นตอรากเหง้าที่สำคัญของรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ปัจจุบัน
แม้จะมีผู้ที่สำเร็จรัฐศาสตร์ และ นิติศาสตร์ เป็นจำนวนมากในเชิงปริมาณ
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือความเข้าใจเกี่ยวกับหลักรัฐศาสตร์ และ หลักนิติศาสตร์
ไม่สามารถที่จะหยั่งรากลึกลงไปสู่สาธารณชนได้ ในทางตรงกันข้ามกลับดูเหมือนว่า
จะมีกระแสความคิดอีกแนวรุมล้อมย้อนสวนขึ้นมาจากทั่วสาระทิศ เสมือนหนึ่ง
หลักรัฐศาสตร์ และหลักนิติศาสตร์ ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถที่จะเป็นคำตอบ
หรือเป็นทางออกให้กับสังคมปัจจุบัน
สภาพปัญหาดังที่กล่าวมา
ไม่อาจที่จะระบุชี้ชัดลงไปให้เห็นได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุหลัก
แต่ก็พอที่จะชี้ให้เห็นเป็นประเด็นๆได้ว่า
แก่นของปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในหลักรัฐศาสตร์ และหลักนิติศาสตร์
ประกอบด้วยเหตุดังต่อไปนี้
เหตุจากโครงสร้างของสังคมที่มีความแตกต่างกัน
ความแตกต่างในทางโครงสร้างของสังคมที่เป็นมาแต่โบราณที่
ค่อนข้างจะแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างประชาชนในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนกล่าวคือมีความเป็นสังคม
" เมือง" และ ความเป็นสังคม " ชนบท" ที่ชัดเจน
บนโครงสร้างเช่นนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในสังคมแต่ละพื้นที่ที่แตกกัน
และในระหว่างสังคมก็มีความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันด้วย และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ
บนโครงสร้างสังคมเช่นนี้ ได้พัฒนารากฐานทางความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี
กฏระเบียบต่างๆที่ใช้ในสังคมมาเป็นเวลานาน
และยังคงใช้บังคับกันอยู่ในความเป็นจริงทั้งในชุมชนที่เป็นสังคมเมืองและสังคมชนบท
ด้วยโครงสร้างของสังคมเช่นนี้
เมื่อนำเอาหลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์ที่กำลังกล่าวถึง
ซึ่งจริงๆแล้วก็คือหลักการในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมรูปแบบหนึ่ง
มาสวมทับลงไปในช่วงแรกๆก็อาจจะพอที่จะไปกันได้
เพราะมีหลายๆประเด็นที่ตรงกันกับของเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่มีความเป็น
"เมือง"มากกว่าดูเหมือนจะปรับตัวได้มากกว่าและเร็วกว่า.
หลักรัฐศาตร์และหลักนิติศาสตร์ในหลายๆเรื่องสามารถที่จะฝังรากและพัฒนาต่อไปได้
แต่ในสังคมชนบทแล้ว ค่อนข้างที่จะยังคงเป็นไปบนความสัมพันธ์แบบเดิมเสียเป็นส่วนใหญ่
เหตุจากหลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์
อาศัยระบบราชการแบบรวมศูนย์แพร่เข้าไปในชุมชนในโครงสร้างสังคมดังที่กล่าวมาข้างต้น
จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันอย่างใหญ่หลวงว่า หลักรัฐศาสตร์ และ
หลักนิติศาสตร์ คือหลักราชการ ซึ่งจริงๆแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น
และในความเป็นจริงก็ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
ดังนั้น การพัฒนาหลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคม
โดยอาศัยระบบราชการ ในช่วงต้นอาจจะประสบความสำเร็จ
แต่อาจจะเป็นความสำเร็จในเชิงโครงสร้างในทางกฎหมายที่ครอบทับลงมาในเชิงการจัดเป็นเขตการปกครอง
การกำหนดสถานภาพในทางกฎหมาย ส่งผู้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายเข้ามาในพื้นที่
หรือกำหนดให้ใครคนใดคนหนึ่งในชุมชนเป็นผู้มีอำนาจและใช้อำนาจแทนระบบราชการ
แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังคงใช้ระบบความสัมพันธ์แบบเดิมเสียเป็นส่วนใหญ่
ดังจะเห็นได้จาก ระบบต่างๆที่กฎหมายหรือระบบราชการกำหนดให้ต้องไปดำเนินการจดทะเบียน
เพื่อสามารถที่จะจัดระบบและให้บริการได้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างปัญหาดังกล่าวที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ระบบทะเบียนเอกสารสิทธิในที่ดิน
และอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การกระจายอำนาจที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งจริงๆแล้วในทางโครงสร้างก็มีการกระจายอำนาจมาค่อนข้างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว
มีโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ระบบราชการแบบรวมศูนย์
และระบบการเมืองแบบผู้แทนซ้อนทับลงไปอีกสองชั้น เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้
ทั้งหลักรัฐศาสตร์ และหลักนิติศาสตร์
ในส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นเครื่องมือของระบบราชการ และของระบบการเมืองแบบผู้แทน
ดังนั้น ถ้าหากไม่แยกหลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์
ออกจากระบบราชการและระบบการเมืองแบบผู้แทนแล้ว
พัฒนาการของทั้งสองหลักนี้ก็ยังคงที่จะวนเวียนอยู่ในรอยประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ
ที่มีผลไปรังแกประชาชนมากกว่าที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
หลักการที่ยอมรับกันในทางรัฐศาสตร์ที่ว่า " บำบัดทุกข์ บำรุงสุข "
และในทางกฎหมายที่ว่า " My Life Is Services " และ " จะผดุงความยุติธรรม "
ก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้จริงและทั่วถึง
การขาดการพัฒนาทางวิชาการที่ต่อเนื่อง
ในประเด็นนี้จะกล่าวถึงแต่เฉพาะในทางด้านนิติศาสตร์เพราะเป็นส่วนที่เห็นได้ชัดและมีประสบการณ์ตรง
ในทางนิติศาสตร์ แม้ในรูปแบบจะสามารถเห็นและจับต้องได้ในรูปธรรมว่า มีประมวลกฎหมาย
มีระบบกระบวนการยุติธรรมที่มีตึกอาคารที่ทำการ และบุคคลากรต่างๆมากมาย
แต่ปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่ประชาชนยังไม่รู้และเข้าใจกฎหมาย
มิหนำซ้ำยังปฏิเสธระบบกระบวนการยุติธรรมดังจะเห็นได้จาก การอุ้มเพื่อทวงหนี้
การฆ่าล้างแค้นกันซึ่งกล้าทำแม้กระทั้งในบริเวณที่ทำการศาลที่อ้างว่าจะเป็นผู้ให้ความยุติธรรม
การมีผู้กระทำผิดกฎหมายในหลายๆความผิดที่เป็นเรื่องที่ทำมาแต่เดิม
ตั้งแต่อดีตในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งสามารถที่จะทำได้เพราะจ่ายเงินให้รัฐ ฯลฯ
ตลอดระยะเวลาเกือบร้อยปีเศษ ที่มีการพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรมใหม่
และนับว่าเป็นสิ่งแรกที่รัชกาลที่ ๕ ทรงดำเนินการก่อนอื่นหลังจากพัฒนาบุคลากร
แต่หลังจากนั้นมาจนกระทั้งเมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงจารีตในทางกฎหมายไปหลายๆอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติ
การสร้างมาตราการในการให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน
การปรับและสร้างโครงสร้างพื้นฐานในทางการเมืองการปกครองเสียใหม่
ที่จะเอื้อโอกาสให้แก่ประชาชนมากขึ้น พัฒนาการทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้
ว่าให้ถึงที่สุดแล้วไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสถาบันในทางวิชาการ
ที่จัดการเรียนการสอนทางนิติศาสตร์
แต่เกิดจากสภาพปัญหาจริงและแรงกดดันในสังคมที่กระทำต่อสถาบันต่างๆในทางการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรัฐสภาและรัฐบาล ( มีข้อที่น่าสังเกตว่า
แล้วทำไมไม่กดดันต่อสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการ
ก็อาจจะเป็นเพราะเป็นสถาบันที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการออกกฎหมายโดยตรง
แต่ในทางตรงกันข้ามบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม
ออกมารวมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางว่าตนเองคิดอะไร )
ประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ
แรงกดดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองการปกครอง
และหลักกฎหมายสำคัญๆของประเทศ แรงกดดันดังกล่าวนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่า
เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะทำให้เกิดการปฎิรูปในทางการเมือง
จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นแต่ภายใต้วัฒนธรรมในการใช้กฎหมายแบบเดิม
ที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการของนิติศาสตร์ไทยที่อาศัยระบบราชการแบบรวมศูนย์
และทำให้สังคมเกิดความเข้าใจว่าหลักราชการคือหลักนิติศาสตร์
ซึ่งได้ทิ้งมรดกที่เป็นวัฒนธรรมทางความคิดที่ผิดๆในทางกฎหมายไว้หลายๆอย่าง อาทิเช่น
การทำให้เชื่อเสียแล้วในตอนต้นว่า สิ่งที่บัญญัติเป็นกฎหมายแล้วก็คือ ความยุติธรรม
กฎหมายรัฐธรรมนูญที่บอกกันว่า เป็นกฎหมายสูงสุดที่มีสัญญลักษณ์เป็นรูปเล่ม
เหมือนคัมภีร์โบราณเป็นของสูง เป็นเรื่องที่ต้องห้าม เป็นของศักดิ์สิทธิ์
หรือความเชื่อในอำนาจของตัวบุคคลว่า
ผู้พิพากษาและกฎหมายเป็นที่มาของความยุติธรรมที่มีอยู่แล้วตามที่กฎหมายกำหนด
ภายใต้มรดกทางความคิดเช่นนี้ จะทำให้มีโอกาสที่จะปฎิเสธระบบกฎหมายมีเพิ่มมากขึ้น
และจะเรียกร้องให้ใช้หลักรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น
ทั้งที่ทั้งสองหลักเป็นเรื่องเดียวกันแต่ทำคนละหน้าที่
ในแง่ของการขาดพัฒนาการทางวิชาการอย่างต่อเนื่องนี้
แบ่งพิจารณาออกเป็นสองส่วนที่มีผลซึ่งกันและกัน
- การขาดพัฒนาการทางด้านสังคมศาสตร์
ในอันที่จริง เราไม่ควรที่จะแบ่งเป็นศาสตร์ต่างๆแยกย่อยจนเกินไป โดยคาดหวังว่าอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาจะทำการเชื่อมโยงกัน แต่เรากลับพบว่าเมื่อมีการแยกออกเป็นส่วนๆแล้วนำไปเรียนไปสอน ผู้เรียนไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงกลับมาได้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหารอง ปัญหาสำคัญ ณ เวลานี้อยู่ตรงที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้การเข้าถึงความจริงในสังคมเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดจากความเชื่อที่งมงาย เชื่อเพราะคนส่วนใหญ่เชื่อ ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ละทิ้งสิ่งที่เป็นคุณค่าของความดี ความงาม ที่มาตรวัดทางวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัด และจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการสร้างจินตนาการร่วมในเรื่องสำคัญๆได้ ท่ามกลางความคิดเห็นและวิธีการที่แตกต่าง ภาระกิจนี้เป็นภาระกิจของศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์ทั้งหมดร่วมกัน - การขาดพัฒนาการแนวคิดทางนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์
สำหรับสังคมไทย การสลายความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการของวิชาชีพของทั้งสองศาสตร์ เป็นประเด็นเบื้องต้นที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน เพราะจริงๆแล้วทั้งสองหลักดังกล่าว โดยเนื้อหาส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องเดียวกัน และเสริมซึ่งกันและกัน และสำหรับเฉพาะในทางด้านนิติศาสตร์แล้ว หลักการหลายๆเรื่องที่เป็นหลักกฎหมายที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยหลายๆหลัก เป็นไปได้สำหรับการจัดความสัมพันธ์ในสังคมที่ใกล้เคียงกับสังคมตะวันตก ซึ่งก็ได้แก่สังคมชุมชนที่มีความเป็น "เมือง" แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงที่จะต้องพัฒนาหลักการอื่นที่ยังขาดอยู่ต่อไปด้วย
แต่ที่ยังขาดการพัฒนาอยู่เป็นจำนวนมากก็คือ การพัฒนาแนวความคิด หลักกฎหมาย และ การจัดระบบกลไกและองค์กรร่วม ที่จะจัดวางลงในการจัดความสัมพันธ์ในสังคมชุมชนที่เป็นสังคมชนบท ซึ่งมีลักษณะความสัมพันธ์ที่แตกต่างไปจากสังคมเมือง อีกทั้งยังมีคติความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี การจัดการและองค์ความรู้หรือที่เรียกกันว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ยังคงฝังรากลึก และมีความแตกต่างไปจากวิธีการจัดการ เป้าหมาย แนวคิดของกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ( เหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ในสังคมชนบทเป็นอย่างมากก็เพราะว่า ความขัดแย้งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ความขัดแย้งระหว่างสังคมเมือง และสังคมชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ )
การตกอยู่ในมายาคติวาทกรรมที่ว่าด้วย " ชาติ " "กฎหมาย" "ความยุติธรรม" และ "
ความเป็นสถาบันอันเป็นบ่อเกิดแห่งความยุติธรรม "
ผลผลิตที่สำคัญของพัฒนาการทางนิติศาสตร์ไทยที่ผ่านมาผ่านทางระบบราชการแบบรวมศูนย์
ประกอบกับพัฒนาการทางวิชาการในทางด้านสังคมศาสตร์
ทำให้เกิดความเข้าใจในบรรดาหมู่นักกฎหมาย
และนักนิติศาสตร์(แต่มิอาจจะกล่าวเช่นนี้ได้กับนักรัฐศาสตร์)ว่า
กฎหมายต้องเป็นหนึ่งเดียว มีเอกภาพ และนึกถึงแต่ผลบังคับที่เป็นการทั่วไปของกฎหมาย
อันสามารถที่จะนำไปสู่ ความยุติธรรมที่ต้องเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น
ซึ่งสอดคล้องกับการจัดระบบราชการแบบรวมศูนย์ และนอกจากนั้น
การไม่ให้ความสำคัญอย่างไม่ระมัดระวังกับสิ่งสมมุติในทางกฎหมาย อาทิเช่น
การที่กฎหมายสมมุติเสียแล้วก่อนว่า กฎหมายสามารถที่จะให้ความยุติธรรมได้
หรือการที่กฎหมายสมมุติว่าทุกคนเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย
โดยไม่ได้พิจารณาในความเป็นจริงและไม่มีมาตราการในการให้ความคุ้มครอง ฯลฯ
มายาคติเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในหมู่นักกฎหมายนักนิติศาสตร์เท่านั้น
ในผู้คนกลุ่มอื่นๆก็เชื่อเช่นนั้นด้วย ทั้งนี้เพราะ
การเริ่มต้นเชื่อเสียก่อนแล้วเนื่องจากความเป็นวิชาชีพ
และส่งผลต่อมายังการไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการใช้กฎหมาย
ที่ต้องประกอบด้วยเหตุผลและต้องเป็นเหตุผลที่ต้องมีความชอบธรรมด้วย
มายาคติดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้เอง
ที่เป็นต้นเหตุให้การใช้หลักนิติศาสตร์เป็นไปที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง
อันเป็นที่มาของการเรียกร้องให้ใช้หลักรัฐศาสตร์แทนหลักนิติศาสตร์
ซึ่งในระบบกฎหมายของประเทศต้นแบบที่เราไปเอาแบบอย่างมา
ได้สร้างกลไกทั้งภายในระบบกฎหมายเอง และกลไกในสังคมที่จะทำให้นักกฎหมาย
นักนิติศาสตร์ และ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
รวมถึงกลไกทางการเมืองที่ต้องปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอยู่ตลอดเวลา
อาทิเช่น การเปิดรับฟังความคิดเห็น
การมีคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
แล้วมีกฎหมายรองรับให้หน่วยงานต้องผูกพันตามนั้น
การมีคณะกรรมการถาวรทำหน้าที่ในการติดตาม
ศึกษาเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
รวมถึงศึกษาผลกระทบจากการใช้กฎหมายฉบับต่างๆ เป็นต้น
ข้อเสนอในเชิงหลักการ
การเปลี่ยนความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับหลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์
เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมไทยในอนาคต ซึ่งจะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของกระแสต่างๆ
กฎหมายที่จะเป็นเครื่องมือของสังคมซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่แทนเครื่องมืออื่นๆ
ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการถักทอก่อตัวจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยง
แต่การที่กฎหมายจะเข้ามาแทนที่และบังคับใช้ให้ได้ผลในสังคมนั้น
กฎหมายจะต้องสอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง และเป็นที่ยอมรับของสังคม
หลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมศาสตร์
ล้วนแล้วจะต้องมีเป้าหมายที่มุ่งไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคม
โดยวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่เป็นการกีดกันคนหนึ่งคนใดออกไปจากสังคม
แต่การจะทำให้เกิดสภาพเช่นนั้นได้ ในฐานะที่เป็นทั้งนักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์
(และความจะรวมถึงนักอื่นๆด้วย) ควรที่จะ...
- การไม่แยกส่วนการมอง หรือการที่ต้องมองเรื่องต่างๆอย่างเป็นองค์รวม จึงเป็น เรื่องที่จะทำให้เห็นด้านอื่นๆ ที่เราไม่เคยมองหรือไม่เคยรับรู้มาก่อน และที่สำคัญอยู่ตรงที่ท่าที บวกกับทัศนะที่เป็นด่านแรกที่ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ จึงจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น และที่สำคัญก็คือกระบวนการในการเข้าถึงและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกๆด้าน จึงควรที่จะเป็นรากฐานที่สำคัญของหลักรัฐศาสตร์ และหลักนิติศาสตร์
- การแยกเอาหลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์ออกจากหลักราชการ โดยกำหนดเป้าหมายอยู่ที่ผลประโยชน์ของหลักการนั้น จะต้องเป็นไปเพื่อมุ่งในการจัดความสัมพันธ์ในสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆที่หลากหลาย ให้สามารถที่จะอยู่รวมกันได้อย่างสันติ และในขณะเดียวกัน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาแนวความคิดใหม่ๆที่ตั้งอยู่บนรากฐานของสังคมไทยเอง. ด้วยแนวคิดใหม่ๆดังกล่าวนี้ จะเกิดขึ้นได้จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างความรู้ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอย่างน้อยๆในระดับหนึ่ง ต้องลดอัตตาของแต่ละวิชาชีพลง และให้ความสำคัญกับวิชาการและหลักการที่มิใช้เทคนิคเฉพาะให้มากขึ้น
- ในส่วนของหน่วยงานในระดับปฏิบัติทั้งที่เป็น ราชการและไม่ใช่ราชการ จะต้องเปลี่ยนเป้าหมายและวิธีการดำเนินการเสียใหม่ ที่ไม่ใช่เป็นการทำงานหรือใช้อำนาจ หรือใช้หลักการทางรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์ในการมุ่งที่จะรักษาสถานะภาพหรืออำนาจของหน่วยงาน แต่ต้องเป็นการให้บริการ หรือส่งเสริมให้เนื้อหาของหลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์ (ที่ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องและเป็นที่ยอมรับของสังคม) เป็นจริง
- จำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกของสังคมในรูปแบบต่างๆ ให้สามารถที่จะสร้างความเข้าใจร่วมของหลักการทางการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม กลไกดังกล่าวนี้ควรทำหน้าที่ในการส่งเสริมการเรียนรู้มิใช้เป็นองค์กรเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อดังเช่นในอดีต
*จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
http://www.geocities.com/midnightuniv/