สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในโค
(Bovine Leukemia Virus, BLV)
เชื้อไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในโค (Bovine Leukemia Virus, BLV)
เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Oncogenic Lymphotropic Retroviridae)
จัดอยู่ในgenus Deltraretrovirus family Retroviridae)
ซึ่งมีชื่อเรียกโรคที่เกิดจากการติดเชื้อนี้
ตามอาการหรือลักษณะทางพยาธิสภาพได้ดังนี้ calf lymphoma, skin lymphoma, thymic
lymphoma โดยทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าเป็น Juvenile หรือ Sporadic Bovine Leukosis
ที่เกิดเฉพาะในลูกโคที่อายุมากกว่า 6 เดือนหรือในโคที่ยังไม่โตเต็มที่
แต่ถ้าการติดเชื้อไวรัสนี้เกิดกับโคที่เจริญเติบโตเต็มที่นิยมเรียกว่า Enzootic
Bovine Leukosis ไวรัสในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติสำคัญคือ มีเอนไซม์ reverse
transcriptase ที่ทำหน้าที่ในการแบ่ง genome ของไวรัสซึ่งเป็น single strand RNA
ร่วมกับเอนไซม์ intregase
เพื่อให้ไวรัสมีความสามารถติดเข้าสู่เซลล์เป้าหมายซึ่งได้แก่ B-lymphocyte
และไวรัสนี้สามารถเจริญและแบ่งตัวต่อไป
รวมทั้งสามารถผลิตเชื้อไวรัสออกมาเพื่อไปยังเซลล์เป้าหมายอื่น ๆ
แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อสู่เซลล์เป้าหมายมีความสำคัญในการอยู่รอดของเชื้อไวรัส
ไวรัสมีความสามารถในการมีชีวิตรอดต่ำในการดำรงชีวิตอิสระภายนอกเซลล์เป้าหมาย
และหมายถึงมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวสัตว์ที่ต่ำจนอาจกล่าวได้ว่าไม่สามารถมีชีวิตรอดในสิ่งแวดล้อมได้
โครงสร้างของเชื้อไวรัสนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
1) viral envelope
2) internal structure protein
3) other components โดยเฉพาะส่วนที่เป็น enzyme ต่างๆเช่น reverse transcriptase,
intregase, protease โดยเมื่อพิจารณาจาก open reading frame
ของโครงสร้างของไวรัสจะเห็นได้ว่าส่วน env genome
มีความสำคัญในแง่ของการสังเคราะห์โปรตีน gp 51 เป็นไกลโคโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของ
viral envelope
และยังเป็นโปรตีนที่สำคัญในการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของโคที่มีการติดเชื้อไวรัสนี้
ซึ่งปัจจุบันเป็นโปรตีนที่มักใช้ในการทดสอบการตอบนองต่อการติดเชื้อไวรัส BLV
ด้วยวิธี enzyme linked immunosorbent assay (ELISA)
การติดเชื้อนี้สำหรับในโคเป็นการติดเชื้อและก่อโรคที่จำเพาะต่อสัตว์ชนิดนี้
การติดเชื้อและรายงานการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันทางการติดเชื้อนี้ในสัตว์ชนิดอื่นในปัจจุบัน
ถือว่าเป็นการติดเชื้อโดยอุบัติเหตุทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า
การติดเชื้อไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวนี้ เป็นการติดเชื้อที่จำเพาะต่อโค
เมื่อโคติดเชื้อนี้แล้วจะเป็นการติดเชื้อไปตลอดชีวิต
โดยสามารถตรวจพบเชื้อได้ภายหลังการติดเชื้อที่ 2 สัปดาห์
แล้วจะตรวจพบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อนี้ที่ประมาณ 2-8 สัปดาห์
หลังการติดเชื้อโดยการตรวจการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน
ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้ไม่ได้มีผลในการควบคุมการติดเชื้อที่เกิดกับตัวโค
โดยวิธีซึ่งนิยมใช้ตรวจทางซีรั่มวิทยา ได้แก่ Agar Gel Immunodiffusion (AGID),
Enzyme Linked Immunosorbent Assay (ELISA), Western Immunodot blotting พบว่าAGID
เป็นวิธีการตรวจที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและเป็นวิธีมาตรฐานที่แนะนำให้ใช้ตรวจโดย
OIE เนื่องจากเป็นวิธีการตรวจที่ค่อนข้างสะดวก
และประหยัดเมื่อต้องตรวจตัวอย่างจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันการตรวจด้วยวิธี ELISA
เป็นวิธีที่ด้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเพราะนอกจากจะเป็นวิธีการตรวจที่มีความไวและความจำเพาะที่สูง
รวมทั้งเป็นการตรวจที่ให้ผลการตรวจที่มีความสอดคล้องที่สูงเมื่อเทียบกับวิธี AGID
แล้ว นับว่าเป็นการตรวจที่มีความสะดวกและรวดเร็วในการปฏิบัติมากที่สุดในปัจจุบัน
โดยสามารถแบ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับโคภายหลังการติดเชื้อแล้วได้ 3 ลักษณะคือ
1)ให้ผลบวกต่อการทดสอบทางซีรั่มวิทยาและไม่เกิดภาวะ lymphocytosis 2)
ให้ผลบวกต่อการทดสอบทางซีรั่มวิทยาและเกิดภาวะ persistent lymphocytosis 3) ภาวะ
leukemia ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลที่เกิดจากการติดเชื้อนี้
จะทำให้โคมีการติดเชื้อตลอดชีวิต โดยภาวะ persistent lymphocytosisพบได้ประมาณ 30%
และการเกิดเนื้องอกชนิด lymphosarcoma จะพบได้เพียงประมาณ 1-5% ของโคที่ติดเชื้อนี้
ความรุนแรงและอาการป่วยที่แสดงออกมาให้เห็น
ขึ้นกับการเกิดเนื้องอกของอวัยวะที่เนื้องอกนั้นเข้าไปเจริญหรือแทรกอยู่
ซึ่งอวัยวะที่มักพบว่ามีการเจริญของเนื้องอกที่พบได้บ่อยได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง หัวใจ
กระเพาะแท้ ลำไส้ ไต มดลูก ไขสันหลัง ลูกตา
โดยมักจะทำให้โคที่ติดเชื้อแสดงอาการที่พบได้บ่อยดังต่อไปนี้ เบื่ออาหาร ผอม
อาหารไม่ย่อยเรื้อรัง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด(melena)
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบและขยายใหญ่ อัมพฤกษ์ อัมพาตที่ส่วนท้ายของร่างกาย
หัวใจเต้นผิดปกติและหัวใจล้มเหลว ตาโปนเนื่องจากเนื้องอก
วิธีการติดเชื้อเกิดขึ้นจาการที่โคได้รับเลือดที่เม็ดเลือดขาวชนิด
lymphocyte ที่มีการติดเชื้อไวรัสนี่เข้าสู่ร่างกายของสัตว์ สามารถเกิดได้ทั้ง
vertical และhorizontal แต่พบว่าการติดต่อทางวิธี horizontal
นั่นเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่(ประมาณ 80%) และเป็นช่องทางสำคัญในการระบาดของโรค
ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ การปฏิบัติต่าง ๆ
แก่ตัวโคในฟาร์มที่มีสุขลักษณะที่ไม่ดีหรือไม่ถูกต้องทำให้เกิดการปนเปื้อนของเลือดโคที่มีเชื้อไปสู่โคอื่น
เช่น การล้วงผ่านทางทวารหนัก การฉีดยา
โดยจะยิ่งเห็นได้ชัดเจนในฝูงที่มีขนาดใหญ่มีจำนวนประชากรโคที่หนาแน่นยิ่งมีความชุกของการติดเชื้อนี้สูงเมื่อเทียบกับฝูงที่มีขนาดเล็กกว่า
รวมทั้งการนำเข้าของโคที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองโรคเข้าสู่ฝูง
ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดจากความไม่ตระหนักหรือความไม่รู้ และการติดเชื้อผ่านวิธี
vertical ที่สำคัญได้แก่
การติดเชื้อจากแม่ที่ติดเชื้อสู่ลูกผ่านทางรกและผ่านทางการกินน้ำนมเหลืองและน้ำนม
แต่มีการศึกษาหลายการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการติดผ่านทางรกจากแม่สู่ลูกนั้นมีน้อยกว่า
10% ความสูญเสียส่วนใหญ่และสำคัญของโรคนี้
เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลดลงของประสิทธิภาพการผลิตของตัวโคและระดับฟาร์ม
เนื่องจากการลดต่ำลงของผลผลิต การเพิ่มอัตราการคัดทิ้ง ลดประสิทธิภาพของการผสม
โดยเฉพาะสำหรับโคนม ยิ่งฝูงที่มีจำนวนโคติดเชื้อมากพบว่า
จะส่งผลลดปริมาณน้ำนมดิบเป็นสัดส่วนที่มากยิ่งขึ้น
จึงอาจกล่าวได้ว่าโรคนี้เป็นโรคที่ส่งผลต่อผลผลิตของธุรกิจการเลี้ยงโคนมที่สำคัญโรคหนึ่ง
ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นความสูญเสียหรือผลกระทบทางตรง
แต่ผลของการระบาดของการติดเชื้อนี้ยังคงส่งผลกระทบทางอ้อมได้แก่การสูญเสียโอกาสทางการค้ากับประเทศที่มีมาตรการกำจัดหรือควบคุมโรคนี้
และอาจส่งผลต่อการเพิ่มต้นทุนการผลิตในกรณีที่ประเทศนั้นมีความต้องการสร้างมาตรการควบคุมหรือการกำจัดโรคหรือการติดเชื้อนี้ออกจากการผลิตของธุรกิจโคนม-โคเนื้อ
การระบาดของโรคนี้มีรายงานการะบาดพบได้ในทุกแห่งในโลกที่มีการทำปศุสัตว์ทั้งโคนม-โคเนื้อ
โดยมีรายงานที่ค่อนข้างตรงกันชี้ให้เห็นว่าความชุกของการพบโรคนี้ในโคนมสูงกว่าในโคเนื้อทั้งความชุกระดับฝูงและระดับรายตัว
ในทวีปอเมริกาเหนือมีรายงานความชุกจากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริการะดับฝูงและรายตัวคือ
88.3%และ 40.8% ตามลำดับในฟาร์มโคนม
และมีความชุกระดับฝูงและรายตัวในฟาร์มโคเนื้อคือ 38% และ 10% ตามลำดับ
ส่วนการศึกษาจากประเทศอาร์เจนตินาในทวีปอเมริกาใต้มีรายงานความชุกระดับฝูงและระดับรายตัวของโคทั้งหมดในประเทศคือ
84% และ 33% ตามลำดับ
ส่วนการศึกษาของประเทศจากทวีปยุโรปพบว่ามีความชุกของการติดเชื้อต่ำกว่าเช่นรายงานจากประเทศฟินแลนด์มีความชุกประมาณ
1%ของฝูงมีการติดเชื้อเมื่อปี 1990 และต่ำกว่า 1%ในปี
2001ภายหลังเมื่อมีมาตรการกำจัดโรคนี้ออกจากประเทศ
หรือรายงานจากประเทศลิธัวเนียแสดงให้เห็นว่ามีความชุกของฝูงที่มีการติดเชื้อเมื่อปี
1990 คือ 7.29% และลดตามลำดับตามช่วงเวลาที่มีมาตรการกำจัดโรค เหลือ 0.32% ในปี
2006 สำหรับในประเทศไทยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความชุกของการติดเชื้อนี้ไว้ 7
การศึกษา นับตั้งแต่ปี 2528-2549 มีความชุกรายตัวตั้งแต่ 4.96-32.50%
ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์สูงเช่นกัน
และเป็นการเน้นให้เห็นว่าการติดเชื้อนี้ก็มีความสำคัญสำหรับประเทศไทยเช่นกัน
การศึกษาทางซีรั่มวิทยาในประเทศไทยพบว่าความชุกของการติดเชื้อไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในโคนมสำรวจเมื่อปี
พ.ศ. 2537 มีความชุกประมาณ 13.39% โดยมีความชุกสูงสุดอยู่ที่จังหวัดลพบุรี
(Bunyahotra et al., 1994) ส่วนการสำรวจในปีเดียวกันของ Wongkasemjit และคณะ (1994)
พบว่าความชุกของการติดเชื้อไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเขตภาคกลางเท่ากับ 4.96%
และที่จังหวัดสระบุรีมีความชุกอยู่ที่ 10.2%
โดยทั้งสองการศึกษาทำการตรวจตัวอย่างด้วยวิธี agar gel immunodiffusion assay
ในปีพ.ศ. 2540 Arunvipas และคณะ (1997)
ได้ทำการสำรวจการติดเชื้อไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในโคนมด้วยวิธี immunodot blotting
assay และผลการสำรวจพบความชุกของการติดเชื้อนี้ในโคนมเท่ากับ 22.2% Rukkwamsuk and
Rungruang (2008)
ได้รายงานความชุกของการติดเชื้อในโคนมสาวตั้งท้องที่จังหวัดสระบุรีพบว่า 32.5 %
ของโคให้ผลบวกต่อการทดสอบ และในปีเดียวกัน Rukkwamsuk et al. (2008)
รายงานผลการศึกษาในเขตภาคตะวันตกของประเทศ พบว่ามีความชุกระดับฟาร์มคือ 60%
มีความชุกของการติดเชื้อในแม่โคและโคสาวคือ 41.1% และ 19.3%ตามลำดับ
รวมมีความชุกระดับรายตัวคือ 32.1%
มาตรการควบคุมหรือกำจัดโรคนี้สามารถดำเนินการได้ใน 2 ลักษณะคือ 1)
การทดสอบหาตัวที่ให้ผลบวกแล้วแยกออกจากฝูงที่ให้ผลทดสอบเป็นลบ 2)
การทดสอบหาตัวที่ให้ผลบวกแล้วคัดทิ้งจากฝูง ซึ่งทั้ง 2
วิธีมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันคือวิธีแรกต้องใช้แรงงานในการจัดการค่อนข้างสูงเนื่องจากหากฝูงมีสัดส่วนโคที่ให้ผลทดสอบเป็นบวกมาก
การปฏิบัติงานในฟาร์มต้องมีการแบ่งแยกออกเป็นอีกหนึ่งฝูงที่ชัดเจน
จึงต้องมีการใช้แรงงานเพิ่มขึ้น
อีกทั้งการแยกฝูงที่ให้ผลการทดสอบเป็นบวกนั้นในทางปฏิบัติเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
เนื่องจากการทำให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมจาการแยกกันระหว่างฝูงที่เป็นบวก
กับฝูงที่เป็นลบนั้นต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 200 หลา วิธีที่ 2
เป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง
จึงอาจจะดำเนินการได้ยากหากไม่มีการรณรงค์อย่างจริงจัง
โดยเฉพาะในกรณีของการจ่ายเงินชดเชยการคัดทิ้ง ทั้งนี้การปฏิบัติด้วยวิธีที่
2อาจทำได้เช่นกันในฟาร์มหรือฝูงที่มีความชุกของการติดเชื้อต่ำ พบว่าทั้ง 2
วิธีได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพสูงใกล้เคียงกันแต่ยังคงมีรายละเอียดเรื่องคุณสมบัติของการทดสอบ
เนื่องจากการทดสอบส่วนใหญ่คือการตรวจหาผลการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ
ดังนั้นในสัตว์ที่เริ่มติดเชื้อ
สัตว์ที่มีข้อจำกัดหรือบกพร่องต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน เช่น
ลูกโคที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน โคหลังคลอดลูก
จึงอาจตรวจไม่พบว่ามีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสBLV
ในทางปฏิบัติจึงอาจต้องมีการตรวจและคัดทิ้ง หรือเพื่อแยกออกจากฝูงที่ปลอดโรค
ให้มีความถี่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีคำแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 6 เดือน
หรืออาจต้องใช้วิธีการทดสอบอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า
รวมทั้งอาจมีการใช้วิธีทดสอบร่วมกันมากกว่า 1 วิธี เช่น การตรวจหาตัวเชื้อ ด้วยวิธี
polymerase chain reaction (PCR) ในโคที่มีปัญหาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน
ร่วมกับการตรวจหาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ เช่นวิธี ELISA
ดังนั้นการปรับปรุงการปฏิบัติงานในฟาร์มที่มีสุขลักษณะที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นมากสำหรับการควบคุมโรคทั้ง
2 วิธีเนื่องจากเหตุผลด้านข้อจำกัดของวิธีการทดสอบ
ที่มีผลต่ออุบัติการณ์และความชุกของโรค โดยพบว่าระยะห่างประมาณ 3
เดือนจาการตรวจครั้งก่อนมีผลต่อความชุกของการติดเชื้อที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น
ดังนั้นในระหว่างช่วงห่างของการตรวจโรค
จึงต้องมีการปฏิบัติที่มีสุขลักษณะที่ดีเพื่อควบคุมการระบาดของโรคภายในฟาร์ม ได้แก่
การเข้มงวดในการใช้เข็มฉีดยา การทำวัคซีน การล้วงตรวจทางทวารหนัก
การทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพสำหรับอุปกรณ์ติดเบอร์หู การสูญเขา
การป้องกันการได้รับเชื้อไวรัสผ่านการกินน้ำนมเหลืองหรือน้ำนมที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโดยเฉพาะการเลี้ยงลูกโคด้วยน้ำนมที่รวมจากแม่โคหลายตัว
รวมถึงการไม่นำเข้าโคที่ไม่ทราบประวัติการตรวจโรคที่แน่นอน
และควรมีมาตรการสำหรับการกักโรคในโคที่นำเข้ามาใหม่โดยเฉพาะโรคนี้ควรมีการกักโรคไม่ต่ำกว่า
3 เดือนก่อนนำเข้ารวมฝูงกับโคตัวอื่น