สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ออทิสติก (Autistic Disorder)

โรคออทิสติก (Autistic Disorder) หรือ ออทิสซึม (Autism) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ นับเป็นเวลา 60 ปีแล้ว ที่นักวิชาการรู้จักโรคนี้ และพยายามศึกษารายละเอียดต่างๆของโรค แต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุของโรคได้ชัดเจน ถึงแม้ว่ายังไม่ทราบสาเหตุ ก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย การดูแลช่วยเหลือในปัจจุบันช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ดีขึ้นได้มาก โดยเฉพาะถ้าได้รับการวินิจฉัย และช่วยเหลือตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่อง

คำว่า “Autism” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ว่า “Auto” ซึ่งแปลว่า Self หมายถึง แยกตัวอยู่ตามลำพังในโลกของตัวเอง เปรียบเสมือนมีกำแพงใส หรือกระจกเงา กั้นบุคคลเหล่านี้ออกจากสังคมรอบข้าง

ปี ค.ศ.1943 มีการรายงานผู้ป่วยครั้งแรก โดยนายแพทย์ลีโอ แคนเนอร์ (Leo Kanner) จิตแพทย์ สถาบันจอห์น ฮอปกินส์ รายงานผู้ป่วยเด็กจำนวน 11 คน ที่มีอาการแปลกๆ เช่น พูดเลียนเสียง พูดช้า สื่อสารไม่เข้าใจ ทำซ้ำๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่สนใจคนอื่น เล่นไม่เป็น และได้ติดตามเด็กอยู่ 5 ปี พบว่าเด็กเหล่านี้ต่างจากเด็กปัญญาอ่อน จึงเรียกชื่อเด็กที่มีอาการเช่นนี้ว่า “ ออทิสซึม ” (Autism)

ปี ค.ศ.1934 นายแพทย์ ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) กุมารแพทย์ ชาวออสเตรีย พูดถึงเด็กที่มีลักษณะเข้าสังคมลำบาก หมกมุ่นอยู่กับการทำอะไรซ้ำๆ ประหลาดๆ แต่กลับพูดเก่งมาก และดูเหมือนจะฉลาดมากด้วย แต่ว่าแอสเพอร์เกอร์ ถูกวิกฤตหลังสงครามโลกครั้งที่สองกลืนหายจนหมดซุ่มเสียง ไม่มีใครสานต่องานวิจัย

ออทิสซึมในความหมายของแอสเพอร์เกอร์ คล้ายคลึงกับของแคนเนอร์มาก นักวิจัยรุ่นหลังจึงสรุปว่า หมอ 2 คนนี้พูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่ในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งในปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (Pervasive Developmental Disorders)

 

ลักษณะอาการและการวินิจฉัย

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคออทิสติก ตามคู่มือการวินิจฉัยโรค DSM-IV โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Psychiatric Association's Diagnostic and Statistic Manual of Mental Disorder - Forth Edition, 1994) จัดโรคออทิสติก (Autistic Disorder) อยู่ในกลุ่ม “Pervasive Developmental Disorders” ซึ่งก็คือ มีความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน แสดงอาการอย่างชัดเจนในวัยเด็ก ก่อให้เกิด พัฒนาการทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และการสื่อสาร ไม่เป็นไปตามปกติ มีพฤติกรรม ความสนใจ และกิจกรรมที่ผิดปกติ

กำหนดหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยออทิสติกดังนี้

A. เข้าเกณฑ์ต่อไปนี้ 6 ข้อหรือมากกว่า จากหัวข้อ (1) (2) และ (3) โดยอย่างน้อยต้องมี 2 ข้อ จากหัวข้อ (1) และจากหัวข้อ (2) และ (3) อีกหัวข้อละ 1 ข้อ

1. มีคุณลักษณะในการเข้าสังคมที่ผิดปกติ โดยแสดงออกอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้

  • 1.1. บกพร่องอย่างชัดเจนในการใช้ท่าทางหลายอย่าง (เช่น การสบตา การแสดงสีหน้า กิริยาหรือท่าทางประกอบการเข้าสังคม)
  • 1.2. ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนในระดับที่เหมาะสมกับอายุได้
  • 1.3. ไม่แสดงความอยากเข้าร่วมสนุก ร่วมทำสิ่งที่สนใจ หรือร่วมงานให้เกิดความสำเร็จกับคนอื่นๆ (เช่น ไม่แสดงออก ไม่เสนอความเห็น หรือไม่ชี้ว่าตนสนใจอะไร)
  • 1.4. ไม่มีอารมณ์หรือสัมพันธภาพตอบสนองกับสังคม

2. มีคุณลักษณะในการสื่อสารผิดปกติ โดยแสดงออกอย่างน้อย 1 ข้อต่อไปนี้

  • 2.1. พัฒนาการในการพูดช้าหรือไม่มีเลย โดยไม่แสดงออกว่าอยากใช้การสื่อสารวิธีอื่นมาทดแทน (เช่น แสดงท่าทาง)
  • 2.2. ในรายที่มีการพูดได้ ก็ไม่สามารถเริ่มพูดหรือสนทนาต่อเนื่องกับคนอื่นได้
  • 2.3. ใช้คำพูดซ้ำหรือใช้ภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ
  • 2.4. ไม่มีการเล่นสมมติที่หลากหลาย คิดเองตามจินตนาการ หรือเล่นเลียนแบบสิ่งต่างๆ ตามสมควรกับพัฒนาการ

3. มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ใช้ซ้ำ และรักษาเป็นเช่นเดิม โดยแสดงออกอย่างน้อย 1 ข้อ ต่อไปนี้

  • 3.1. หมกมุ่นกับพฤติกรรมซ้ำๆ (stereotyped) ตั้งแต่ 1 อย่างขึ้นไป และความสนใจในสิ่งต่างๆมีจำกัด ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติทั้งในแง่ของความรุนแรงหรือสิ่งที่สนใจ
  • 3.2. ติดกับกิจวัตร หรือย้ำทำกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีประโยชน์โดยไม่ยืดหยุ่น
  • 3.3. ทำกิริยาซ้ำๆ (mannerism) (เช่น เล่นสะบัดมือ หมุน โยกตัว)
  • 3.4. สนใจหมกมุ่นกับเพียงบางส่วนของวัตถุ

B. มีความช้าหรือผิดปกติในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ ก่อนอายุ 3 ปี

(1) ปฏิสัมพันธ์กับสังคม
(2) ภาษาที่ใช้สื่อสารกับสังคม
(3) เล่นสมมติหรือเล่นตามจินตนาการ

C. ความผิดปกติไม่เข้ากับ Rett's Disorder หรือ Childhood Disintegrative Disorder ได้ดีกว่า

 กุญแจสำคัญ ที่เป็นตัวทำนาย โรคออทิสติก ในเด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไป มี 4 อาการหลัก ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป ควรนึกถึงโรคออทิสติก และควรมีการดำเนินการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และให้ความช่วยเหลืออย่างทันที อาการดังกล่าว คือ

  • เล่นสมมติ เล่นจินตนาการไม่เป็น (lack of pretend play)
  • ไม่สามารถชี้นิ้วบอกความต้องการได้ (lack of protodeclarative pointing)
  • ไม่สนใจเข้ากลุ่ม หรือเล่นกับเด็กคนอื่น (lack of social interest)
  • ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสนใจร่วมกับคนอื่นได้ (lack of joint attention)

ระบาดวิทยา

การศึกษาด้านระบาดวิทยา ทำค่อนข้างยากเนื่องจากเกณฑ์ในการวินิจฉัยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากการรวบรวมข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยาในช่วง 30 ปี พบว่า ความชุกของโรค เฉลี่ย 4.8 คนต่อประชากร 10,000 คน หรือประมาณ 1 คน ต่อประชากร 2,000 คน แต่ถ้ารวม แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม จะมีความชุกของโรคประมาณ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน

จากรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายรายงานในระยะหลัง พบว่า ความชุกของโรคเพิ่มมากขึ้น บางรายงานพบสูงถึง 1 คนต่อประชากร 250 คน (รวมถึง Atypical Autism, Asperger's Syndrome, PDD-NOS) ความชุกที่เพิ่มขึ้นอาจสะท้อนให้เห็นถึงอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นจริง แต่ในเบื้องต้น พบว่ามีความสัมพันธ์กับเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยที่กว้าง ครอบคลุมมากขึ้น (case definition) และประชาชนทั่วไปมีความตระหนักในโรคออทิสติกมากขึ้น (case recognition)

พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ประมาณ 3-4 เท่า แต่ในผู้หญิงจะมีอาการรุนแรงกว่า และการศึกษาช่วงแรกๆ Kanner เชื่อว่าพบมากในกลุ่มประชากรที่มีเศรษฐานะดี (high social class) แต่ปัจจุบัน พบว่ามีในทุกระดับชั้นของสังคมพอๆ กัน เป็นเพราะว่าเดิมกลุ่มที่มีเศรษฐานะดี เข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ดีกว่า (selection bias)

ส่วนใหญ่มีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย โดยพบภาวะปัญญาอ่อนระดับรุนแรงร้อยละ 50 ระดับน้อยถึงปานกลางร้อยละ 30 และไม่พบภาวะปัญญาอ่อนร้อยละ 20

สาเหตุของโรค

มีความพยายามในการศึกษาถึงสาเหตุของโรคออทิสติก แต่ยังไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติที่ชัดเจน ในปัจจุบันมีหลักฐานสนับสนุนว่าน่าจะเกิดจากการทำงานของสมองผิดปกติ มากกว่าเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม

ในอดีตเคยเชื่อว่าโรคออทิสติก เกิดจากการเลี้ยงดูในลักษณะที่เย็นชา (refrigerator) แต่จากหลักฐานข้อมูลในปัจจุบันยืนยันได้ชัดเจนว่า รูปแบบการเลี้ยงดูไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคออทิสติก

ปัจจัยทางชีววิทยา (biological factor) ที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคออทิสติก จากการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยต่างๆ มีดังนี้

1. ด้านพันธุกรรม (Genetic Factor)

  • ศึกษาในฝาแฝด (twin study) พบว่าถูกควบคุมโดยปัจจัยด้านพันธุกรรมสูงมาก
  • ศึกษาในครอบครัว (family study) พบว่าในญาติลำดับที่ 1 (first degree relative) ของผู้ที่เป็นโรคออทิสติก เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคออทิสติก และกลุ่มโรคคล้ายออทิสติก (autistic like)
  • ศึกษาโครโมโซม และวิเคราะห์ความเชื่อมโยง (chromosome study and linkage analysis) พบว่าเกี่ยวข้องกับ โครโมโซม 15q 11-13, โครโมโซม 7q และโครโมโซม 16p

 

2. ด้านเภสัชวิทยาระบบประสาท (Neuropharmacological Study)

พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีสื่อประสาท ซีโรโทนิน (serotonin) โดยมีระดับในเกล็ดเลือดสูงขึ้น แต่ยังไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่ชัดเจนได้ ว่าเกิดจากอะไร

3. คลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography - EEG)

พบว่ามีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง มากกว่าประชากรปกติ แต่ไม่พบลักษณะจำเพาะที่อธิบายความผิดปกติของการทำงานของสมองได้

4. ภาพฉายระบบประสาท (Neural Imaging)

พบความผิดปกติหลากหลายรูปแบบ แต่ยังคลุมเครืออยู่ ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน เช่น cerebellar vermis hypoplasia or hyperplasia, third ventricle ใหญ่ , caudate เล็ก , right anterior cingulate gyrus เล็ก

5. พยาธิวิทยาระบบประสาท (Neuropathological Study)

ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่จากหลายการศึกษาพบว่าเกี่ยวข้องกับจำนวน Purkinje cell ที่ลดลง

6. การศึกษาปริมาตรของสมอง (Study of Brain Volume)

พบว่ามีปริมาตรของสมองเพิ่มขึ้น ยกเว้นสมองส่วนหน้า (frontal lobe) และพบว่าเส้นรอบวงของศีรษะ (head circumference) ปกติในตอนแรกเกิด แล้วเริ่มมากผิดปกติในช่วงวัยเด็กตอนต้นถึงตอนกลาง

การดูแลรักษา

โรคออทิสติก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถช่วยเหลือให้มีพัฒนาการดีขึ้นได้มาก เด็ก มีการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขา สามารถเรียนรู้ และใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้

การดูแลรักษา จำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน (Multimodality Intervention) โดยใช้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Approach) เพื่อให้มีประสิทธิผลสูงสุด สำหรับแนวทางในการดูแลรักษาผู้เป็นโรคออทิสติก มีดังนี้

  1. การส่งเสริมศักยภาพครอบครัว (Family Empowerment)
    ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแลเด็ก ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ครอบครัวเข้มแข็ง คือพลังแห่งความสำเร็จ การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ปกครอง และพี่น้องของผู้ที่เป็นโรคออทิสติกสิ่งจำเป็น นอกจากจะลดข้อสงสัยในการประเมินปัญหาแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้กระบวนการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงควรนำเข้ามาร่วมในกระบวนการประเมินและดูแลรักษาด้วย ควรจะมีเวลาเพียงพอที่จะพูดคุยถึงสิ่งที่ผู้ปกครองเป็นกังวล ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความต้องการของเด็กและครอบครัว และแนวทางการดูแลรักษาที่เป็นไปได้ ผู้ปกครองและพี่น้องของเด็กออทิสติกบางคนอาจมีความต้องการพิเศษเฉพาะ ซึ่งจะต้องพิจารณา ผู้ปกครองมักจะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการซึมเศร้า หรือความเครียดเกี่ยวกับการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น พี่น้องมักจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านพัฒนาการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ปกครองได้รับผลกระทบมากขึ้น
  2. การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ (Early Intervention)
    การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ควรให้ตั้งแต่เด็กอายุน้อย โดยต้องทำอย่างเหมาะสม เข้มข้น และต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานพอ กิจกรรมที่จัดควรให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็กด้วย การออกแบบการฝึกต้องให้เหมาะสมตามจุดแข็ง จุดอ่อน และความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน
             เด็กควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้าน เพื่อให้เกิดความสมดุล การส่งเสริมพัฒนาการเพียงด้านเดียว เช่น การสอนพูด โดยไม่สอนทักษะสังคม อาจทำให้เด็กเป็นแบบ นกแก้วนกขุนทอง คือ พูดได้ แต่ไม่เข้าใจความหมาย ไม่มองหน้าสบตา ไม่สื่อสาร เป็นต้น
  3. พฤติกรรมบำบัด (Behavioral Therapy)
    การทำพฤติกรรมบำบัด ตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยไม่ขึ้นกับโปรแกรมหรือปรัชญาในการฝึก โปรแกรมดังกล่าวมักประกอบด้วยกระบวนการฝึกปรับพฤติกรรม (Behavioral Modification Procedure) และการวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied Behavior Analysis) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสม หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ
           พฤติกรรมบำบัดพบว่า ช่วยเสริมทักษะด้านภาษา ด้านสังคม และทักษะอื่นๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับความเครียดของผู้ปกครองด้วย
  4. การฝึกและแก้ไขการพูด (Speech Therapy)
    ถ้าเด็กพูดได้เร็ว โอกาสที่จะมีพัฒนาการทางภาษาใกล้เคียงปกติก็จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมก็ลดลงด้วย ดังนั้นการฝึกและแก้ไขการพูด จึงมีความสำคัญ
           การพูดเป็นวิธีการสื่อความหมายที่สำคัญที่สุด แต่ถ้ายังไม่สามารถพูดได้ ก็จำเป็นต้องหาวิธีการอื่นมาทดแทนการพูดเพื่อให้สามารถบอกความต้องการของตนเองได้ ซึ่งเรียกวิธีการเหล่านี้ว่า การสื่อความหมายทดแทน (Augmentative and Alternative Communication; AAC) เพื่อใช้ทดแทนการพูดเป็นการชั่วคราว หรือโดยถาวรในรายที่มีความบกพร่องทางการพูดอย่างรุนแรง
  5. การฝึกฝนทักษะในชีวิตประจำวัน (Activity of Daily Living Training)
    การจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องกิจวัตรประจำวัน ให้เด็กสามารถทำได้ด้วยตนเองเต็มตามความสามารถที่เขามีอยู่ หรือต้องการความช่วยเหลือน้อยที่สุด ซึ่งเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้จนสามารถปฏิบัติได้จนเกิดเป็นความเคยชิน ติดตัวไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยมีวัตถุประสงค์
    • เพื่อให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ตามศักยภาพ
    • เพื่อลดการดูแลของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
    • เพื่อส่งเสริมให้เด็กปรับตัวเข้าหาสังคมได้
    • เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เมื่อเขาสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวของเขาเอง
  6. การฝึกฝนทักษะสังคม (Social Skill Training)
    ทักษะสังคม เป็นความบกพร่องที่สำคัญของบุคคลออทิสติก ดังนั้นจึงต้องให้การฝึกฝนด้านนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
          การฝึกฝนทักษะสังคม ทำได้โดยจำลองเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ ให้ เพื่อให้ทดลองปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ หรือการสอนโดยจดจำรูปแบบบทสนทนา ในสถานการณ์ต่างๆ นำมาใช้โดยตรง
  7. การจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Educational Program)
    การจัดการศึกษามีบทบาทสำคัญ ในการเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านสังคม การสื่อสาร และทักษะทางความคิด ซึ่งทำให้เกิดผลดีในระยะยาว โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเน้นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตประจำวันจริงๆ ได้ แทนการฝึกแต่เพียงทักษะทางวิชาการเท่านั้น
             การจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล จำเป็นต้องออกแบบการสอนให้เหมาะสมกับจุดเด่น จุดด้อย และความสนใจของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ง่ายไม่สับสน มุ่งหมายที่จะให้เด็กสามารถนำทักษะที่ได้จากชั้นเรียนไปใช้ในชีวิตจริงๆ นอกห้องเรียน ข้อสำคัญคือควรให้เด็กมีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเด็กปกติ
            โปรแกรมการสอนในห้องเรียนที่น่าสนใจ คือ TEACCH program (Treatment and Education of Autistic and related Communication handicapped CHildren) เน้นการสอนอย่างมีระบบระเบียบ เป็นหัวใจสำคัญ โดยมีการจัดห้องเรียนให้เป็นระบบ จัดตารางเวลาของกิจกรรมต่างๆแน่นอน และมีความคาดหวังที่ชัดเจน ทำให้เด็กรู้ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง วิธีการสอนจะเน้นใช้ภาพมากกว่าเสียง สอนให้สื่อสารโดยใช้รูปหรือสัญลักษณ์ต่างๆ
  8. การรักษาด้วยยา (Pharmacotherapy)
    ยังไม่พบว่ามียาตัวใดที่ช่วยแก้ไขความบกพร่องด้านการสื่อสารและด้านสังคม ส่วนยาที่พบว่ามีประโยชน์ในการลดพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) หุนหันพลันแล่น (impulsivity) ก้าวร้าว (aggression) และหมกมุ่น (obsessive preoccupation) คือ กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า กลุ่ม SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitor) และกลุ่มยารักษาโรคจิต (neuroleptics)
            Rimland เคยเสนอให้ใช้วิตามินบี 6 ร่วมกับแมกนีเซียม (Megavitamin Treatment) โดยอ้างอิงผลงานวิจัย ซึ่งพบว่ามีเด็กร้อยละ 30 อาการดีขึ้นเล็กน้อย แต่จากการศึกษาล่าสุดโดยมีกลุ่มเปรียบเทียบ สรุปว่าไม่ได้ผล

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย