ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
นักคิด นักเขียน
จิตร ภูมิศักดิ์
กุหลาบ สายประดิษฐ์
อัศนี พลจันทร์
ปรีดี
พนมยงค์
ป๋วย อึ้งภากรณ์
กุหลาบ สายประดิษฐ์
2
กฎกติกาของสุภาพบุรุษอังกฤษ บางข้อไม่จำเป็นสำหรับสุภาพบุรุษไทยนัก แต่ถ้าเรามีกฎที่ดีและปฏิบัติตาม ได้มากๆก็ย่อมแน่ละ ที่ความเป็นสุภาพบุรุษของเราจะต้องเด่นขึ้นถึงอย่างไรก็ดี, เครื่องแต่งกาย ก็ไม่ได้อยู่ใน กฎเกณฑ์ของสุภาพบุรุษอังกฤษในข้อใดข้อหนึ่ง บางทีสุภาพบุรุษอังกฤษเอง ก็คงจะถือว่า เครื่องแต่งกายเป็นเพียง "เครื่องหมาย" ของสุภาพบุรุษ เหมือนดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ข้างต้น ข้าพเจ้าค่อนข้างแน่ใจว่า ประเพณีได้บังคับ ให้สุภาพบุรุษของเรามีลักษณะต่างกับสุภาพบุรุษของชาติอื่นในบางประการแต่จะต่างกันอย่างใด ไม่ใช่ ความมุ่งหมายที่ข้าพเจ้าตั้งใจเขียนในเวลานี้
ชาวอังกฤษยังถือกฎที่พิสดารอยู่อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่า "Three generations make a gentleman" เนื้อความดูจะกะเดียด ๆ มาข้าง 'ผู้ดีแปดสาแหรก' ของเรา กฎอันนี้ชาวอังกฤษในยุคปัจจุบันดูเหมือน ไม่ค่อยได้เอาใจใส่พาลจะเห็นว่าเป็นกฎที่น็อนเซ็นส์เอาทีเดียว ถ้าคนเราจะเป็นสุภาพบุรุษได้ ต่อเมื่อบรรพบุรุษต้อง เป็นสุภาพบุรุษมาแล้วถึง ๓ ชั่วคน ก็ดูออกจะเป็นบาปอันหนักสำหรับสุภาพบุรุษที่ไม่มีบรรพบุรุษเป็นสุภาพบุรุษ อยู่ครัน ๆ จากกฎอันนี้, สุภาพบุรุษดูเหมือนจะมีรูปร่างหน้าใกล้เข้าไปทางขุนนางเป็นอันมาก เพราะต้องอาศัย บารมีของผู้อื่นช่วยและก็ในหมู่พวกขุนนางอาจมีคนชั่วรวมอยู่ด้วยได้ ฉะนั้นในหมู่สุภาพบุรุษก็เห็นจะต้องมี คนชั่วรวมอยู่ได้ด้วยอีกกะมัง? เป็นของน่าขันมาก,
ถ้าสมัยนี้ยังมีคนนิยมนับถือในกฎที่ว่า "Three generations make a gentleman" ถ้าจะว่า "สุภาพบุรุษ" มีรูปร่างหน้าตาใกล้เข้าไปกับ "ผู้ดี" ดูจะไม่ค่อยมีข้อคัดค้าน แต่ต้องให้เป็น "ผู้ดี" ซึ่งคนในสมัยนี้เข้าใจกัน ถ้าเป็น "ผู้ดีเดินตรอก" อย่างสมัย ๑๐ ปีก่อนลงไป สุภาพบุรุษของเราก็คงไม่มีโอกาสใกล้เข้าไปได้อีกตามเคย แต่อย่างไรก็ตาม, คำว่า "สุภาพบุรุษ" ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความหมายแรงกว่า "ผู้ดี" เพราะผู้ดี, ตามความเข้าใจ ของข้าพเจ้า, เป็นแต่ทำตัวสุภาพอ่อนโยนอยู่ในกรอบของจรรยาเท่านั้น ส่วนสุภาพบุรุษ นอกจากจะต้องทำหน้าที่ อย่างผู้ดี ยังมีหน้าที่จุกจิกอื่นๆที่จะต้องทำอยู่มาก หัวใจของ " 'ความเป็นสุภาพบุรุษ' อยู่ที่การเสียสละ เพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษ โดยครบครัน
ถ้าจะอธิบายความหมายของสุภาพบุรุษให้กะชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้อยคำที่ว่า 'ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น', ซึ่งข้าพเจ้าได้แต่งไว้ในหนังสือเรื่องหนึ่งมาใช้..." ประโยคที่ว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็น สุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น" ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยกข้อความมาไว้ในเครื่องหมายคำพูดนั้น แท้จริงก็หาได้เอามาจากผู้อื่นไม่ แต่เป็นข้อความที่มาจากนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง เล่นกับไฟ ที่ "ศรีบูรพา" ได้เขียนลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ถือเป็นประโยคที่ยังสดๆร้อนๆ สำหรับคนหนุ่มอายุ ๒๓ ที่ได้ประกาศ "อุดมคติ" เอาไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดยแทรกอยู่ในนิยายรักโรแมนติก เรื่องเล่นกับไฟ ของเขาเอง และได้นำมาประกาศ คล้ายเป็นเข็มมุ่งของ หมู่คณะว่า จะรักษาความเป็นสุภาพบุรุษเอาไว้ให้ถึงที่สุด เพราะสุภาพบุรุษนั้นหมายถึง "ผู้เกิดมาสำหรับคนอื่น" นี่คือแก่นหลักของหมู่คณะที่เรียกตัวเองว่า สุภาพบุรุษ ที่ได้แสดงปณิธานว่า ในภายภาคหน้าแม้หมู่คณะนี้ จะกระจัดกระจายกันไปหรือยังรวมกลุ่มกันทำงานในฐานะนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แต่ความมุ่งมั่นของ บรรณาธิการ-กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ว่าจะ "เกิดมาสำหรับคนอื่น" นั้น คงยังยืนยงอยู่ต่อมาจนกลายเป็น เบ้าหลอมสำคัญของตัวเขาเองจวบจนสิ้นชีวิต
คณะสุภาพบุรุษ ที่ก่อเกิดมาพร้อมกับหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ นั้น ประกอบด้วยคนหนุ่มในวัยไล่เลี่ยกัน ที่เห็นว่าอาวุโสมากกว่ากุหลาบ สายประดิษฐ์ก็มีอยู่บ้าง เช่น ขุนจงจัดนิสัย ชิต บุรทัต สถิตย์ เสมานิล หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา และอบ ไชยวสุ แต่ทว่าทั้งหมดก็ล้วนเป็น "เกลอ" กัน มีชีวิตผูกพันกัน ด้วยผลงานทางการประพันธ์
ข้อเขียนที่เป็นความทรงจำของ "ร. วุธาฑิตย์" " (นามปากกาของ จรัล วุธาฑิตย์) หนึ่งในนักเขียน คณะสุภาพบุรุษ ที่เขียนเล่าถึง คณะสุภาพบุรุษ โดยพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ชมรมนักเขียน ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือของ ประกาศ วัชราภรณ์ (บำรุงสาส์น : ๒๕๐๙) เป็นงานเขียนในยุคมืดของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคเผด็จการ "ถนอม - ประภาส" ถือเป็นเรื่องต่อยอดที่สำคัญ เพราะได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ คณะสุภาพบุรุษ ไว้มากที่สุด พร้อมทั้งได้ตีพิมพ์รูปถ่ายที่ถือว่าคลาสสิกอย่างยิ่ง ทำให้เกิดภาพคุ้นตาเป็นครั้งแรกว่า คณะสุภาพบุรุษ นั้นเคยมีตัวตน
โดยให้รายละเอียดว่า คณะสุภาพบุรุษ นั้นประกอบไปด้วย กวี นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ทั้งหมด ๑๘ คน คณะผู้ก่อการมีทั้งหมด ๑๐ คน คือ
๑. กุหลาบ สายประดิษฐ์ ("ศรีบูรพา")
๒. อบ ไชยวสุ ("ฮิวเมอริสต์")
๓. มาลัย ชูพินิจ ("แม่อนงค์")
๔. ระคน เภกะนันท์ (นามปากกา "กู๊ดบอย")
๕. อุเทน พูลโภคา (นามปากกา "ช่อมาลี")
๖. โชติ แพร่พันธุ์ (นามปากกา "ยาคอบ")
๗. บุญทอง เลขะกุล (นามปากกา "วรมิตร")
๘. สนิท เจริญรัฐ (นามปากกา "ศรีสุรินทร์")
๙. สุดใจ พฤทธิสาลิกร (นามปากกา "บุศราคำ")
๑๐. จรัญ วุธาฑิตย์ (นามปากกา "ร. วุธาฑิตย์")
คณะผู้มาร่วมก่อการ มีทั้งหมด ๘ คน
๑. ขุนจงจัดนิสัย (ไม่ทราบนามปากกา)
๒. ชิต บุรทัต (นามปากกา "แมวคราว")
๓. หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา (นามปากกา "คุณฉิม")
๔. เสนอ บุณยเกียรติ (นามปากกา "แสงบุหลัน")
๕. ฉุน ประภาวิวัฒน (นามปากกา "นวนาค")
๖. สถิตย์ เสมานิล (นามปากกา "นายอยู่")
๗. โพยม โรจนวิภาต (นามปากา "อ.ก. รุ่งแสง")
๘. พัฒน์ เนตรรังษี (นามปากกา "พ. เนตรรังษี")
และมีเพื่อนนักเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ครั้งสมัย เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ อีกสองคน ที่อยู่ในคณะนี้ ตั้งแต่วันแรกที่มาชุมนุม "ดื่ม" กันที่ "ห้องเกษมศรี" คือ ทองอิน บุณยเสนา (นามปากกา "เวทางค์") และ ร.ท. ขจร สหัสรจินดา (นามปากกา "พันเพ็ชร") ทั้งสองคนเป็นนักเขียนมือดีทั้งในแง่เรื่องสั้นและนวนิยายที่ถูกลืมไปแล้ว นอกจากนั้นคณะสุภาพบุรุษยังมีเพื่อนนักเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ชื่อเฉวียง เศวตะทัต (นามปากกา "วงศ์เฉวียง") รวมอยู่ด้วย เพราะทั้งสองคนเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ครั้ง ทำหนังสือพิมพ์ ธงไทย ที่ว่าด้วย "กลอนลำตัด" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
หนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อ ๗๒ ปีก่อนมียอดพิมพ์ครั้งแรก ๒,๐๐๐ เล่ม หนังสือได้รับ ความนับถือในทันที เพราะจำหน่ายได้หมดในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ สุภาพบุรุษ ฉบับที่ ๒ เพิ่มยอดพิมพ์เป็น ๒,๓๐๐ เล่ม และฉบับที่ ๓ เพิ่มยอดพิมพ์เป็น ๒,๕๐๐ เล่ม มีสมาชิกส่งเงิน "ค่าบำรุงหนังสือ" เข้ามาเป็นประจำประมาณ ๕๐๐ คน ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ประชากรประเทศสยามยังมีไม่ถึง ๑๕ ล้านคน นับว่าน่าอัศจรรย์เอาการที่หนังสือในลักษณะ เรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย บทความ ตอบปัญหา ฯลฯ ซึ่งจัดเป็น Literary Magazine มากกว่าเป็นลักษณะ "ข่าวสาร การบ้าน การเมือง" หรือ Current Newspaper แม้ขณะนั้นจะเรียกตัวเองว่าเป็นหนังสือ, หนังสือพิมพ์ แต่ก็เพราะในยุค พ.ศ. ๒๔๗๒ ยังไม่มีคำว่า นิตยสาร เกิดขึ้นในภาษาไทย การจัดทำหนังสือทั่วไปทุกลักษณะไม่ว่าจะเป็น "ราย" อะไรก็ตามจะเรียกเหมือนกันหมดว่าเป็น หนังสือ หรือไม่ก็ หนังสือพิมพ์ แม้รัชกาลที่ ๖ จะบัญญัติคำว่า วารสาร ขึ้นใช้กับ ทวีปัญญา รายเดือน ในความหมายที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Periodical แล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ว่าใครทำ หนังสือแบบไหนก็ตามมักจะเรียกรวมกันว่า "ทำหนังสือพิมพ์" ไปทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าบ่อเกิดของการเป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์แต่ดั้งเดิมนั้น ถือเป็นภาวะเดียวกัน ไม่แยกกันเหมือนอย่างปัจจุบัน
หนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ได้มีการจัดทำกันทั้งหมด ๓๗ เล่ม ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๒ โดยมีขนาดรูปเล่มแบบ Pocket Magazine ตลอดทั้งปี พ.ศ. ๒๔๗๒ อยู่ ๒๔ เล่ม คือตั้งแต่ฉบับที่ ๑-๒๔ ราคาจำหน่าย ๓๐ สตางค์ ครั้นขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ได้ขยายรูปเล่มให้ใหญ่ขึ้น คือตั้งแต่ฉบับที่ ๒๕-๓๗ และได้เพิ่มราคาจำหน่ายเป็น ๔๐ สตางค์ ฉบับสุดท้าย คือปีที่ ๒ เล่มที่ ๓๗ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ศิลปิน ผู้วาดปกของ สุภาพบุรุษ รายปักษ์มักชอบวาดรูป "สุภาพสตรี" ขึ้นปกแทบทุกเล่มและบางเล่มก็จะวาดเป็น รูปผู้หญิงกับผู้ชายอยู่ด้วยกัน เริ่มต้นจากผู้ใช้นามว่า "ธัญญา" แห่งสยามศิลป์ สลับกับ "เฉลิมวุฒิ" (นามปากกา เฉลิม วุฒิโฆษิต) และสุภาพบุรุษ รายปักษ์เล่มสุดท้ายเป็นภาพปกที่วาดโดย อ.ก.รุ่ง หรือโพยม โรจนวิภาต ผู้ใช้นามปากกา "งามพิศ" เวลาเขียนบทกลอน
หนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ ได้ยุติการจัดทำลงไปโดยไม่มีหลักฐาน การแถลงอยู่ในบทบรรณาธิการแต่ประการใด บางทีอาจจะเป็นเหตุผลเหมือนอย่างที่ สุภา ศิริมานนท์ ได้เคยกล่าวไว้ "การแต่งหนังสือเป็นอย่างเดียว ไม่มีความรู้ไม่มี ความสันทัดในทางบริหาร ถึงจะจำหน่ายได้ดี นิตยสารนี้ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้" (โลกหนังสือ : ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๑) แต่ถ้าพิจารณาอีกประเด็นหนึ่งจากข้อเขียนความทรงจำของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เพิ่งค้นพบ เมื่อไม่นานนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนความทรงจำของตนในช่วงนั้นไว้อย่างน่าสนใจว่า "ฉันมีโชคชะตาของฉันที่ จะดำเนินต่อไปด้วยความดำริริเริ่มของฉันเอง ฉันต้องการจะทดลองความคิดและความสามารถของฉัน จากความฝึกฝน ที่ฉันได้รับมา ๕-๔ ปี ดังนั้น
ในเดือนมิถุนายน พ.ส. ๒๔๗๒ ฉันจึงรวบรวมสมัครพรรคพวก จัดตั้งหนังสือพิมพ์รายปักษ์ สุภาพบุรุษ ขึ้นโดยได้รับความอุดหนุนจากนายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา เจ้าของหนังสือพิมพ์ ไทยหนุ่ม ซึ่งในเวลานั้นเป็น หนังสือพิมพ์รายวันที่มีวิธีการอันก้าวหน้ากว่าหนังสือพิมพ์ใดๆ ในสมัยเดียวกัน "กิจการของเราได้รับ ความสำเร็จอย่างงดงาม ชื่อเสียงของคณะเรา คณะ 'สุภาพบุรุษ' แผ่กว้างออกไปจน
กระทั่งราวต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ผู้น้องของหนังสือพิมพ์ กรุงเทพไทยเดลิเมล์ (คือเป็นหนังสือพิมพ์ร่วมเจ้าของเดียวกัน) ของบริษัทสยามฟรีเปรส ประสพความเสื่อมโทรม ขาดความนิยม และจำนวนหนังสือที่พิมพ์จำหน่าย ได้ลดลงเป็นลำดับ ทางกองอำนวยการจึงได้ประชุมปรึกษาหาทาง แก้ไข นายชะอุ่ม กมลยะบุตรนักหนังสือพิมพ์อาวุโส และในเวลานั้นเป็นหัวหน้าอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กรุงเทพเดลิเมล์ได้เสนอต่อกองอำนวยการว่า ถ้าจัดการให้ได้ตัวกุหลาบ สายประดิษฐ์มาเป็นบรรณาธิการ ก็คงปรับปรุง หนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ให้ขึ้นสู่ความนิยมได้ ด้วยได้เห็นความสำเร็จของกุหลาบ สายประดิษฐ์ในการจัดตั้ง หนังสือพิมพ์รายปักษ์สุภาพบุรุษมาแล้ว ทางกองอำนวยการของสำนักนั้น ตกลงรับข้อเสนอของนายชะอุ่ม และได้ให้คนมาติดต่อเชิญกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ หลังจากเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตำนานแห่ง คณะสุภาพบุรุษ ยังคงมีสืบต่อมา แต่ทว่ามิได้เป็นไปในลักษณะของการจัดทำ Literary Magazine อีกต่อไป
หนังสือพิมพ์รายวัน บางกอกการเมือง ซึ่งนายหลุย คีรีวัต เป็นเจ้าของได้เริ่มออกตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๖๖) มีพระสันทัดอักษรสารเป็นบรรณาธิการ ภายหลังมีปัญหาทางสุขภาพจึงได้ให้พระวินัยสุนทรการรักษาการแทน แต่ความนิยมหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้เริ่มลดลง ดังนั้นจึงได้ติดต่อให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาเป็นบรรณาธิการแทน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๗๓ และได้มีการปรับปรุงจัดตั้งกองบรรณาธิการใหม่ โดยมี สนิท เจริญรัฐ, เฉวียง เศวตะทัต, ชะเอม อันตรเสน, จาก คณะสุภาพบุรุษ มาช่วยงาน ปรับเปลี่ยนรูปแบบแปลกใหม่เรียกร้องความสนใจ เช่น พิมพ์สีตามวัน หรือริเริ่มจัดทำฉบับพิเศษ จนผู้อ่านเรียกขานกันว่า บางกอกการเมืองยุคใหม่ ทำยอดจำหน่ายสูงมาก จนเมื่อเกิดปัญหาตีพิมพ์ข่าวพระยาสมบัติบริหาร เจ้ากรมมหาดเล็ก หกล้มต่อหน้าพระที่นั่ง ข่าวนี้ได้สร้างความไม่พอใจ ให้แก่ผู้ตกเป็นข่าว ดังนั้นจึงหาทางบีบมาทางเจ้าของทุน กุหลาบ สายประดิษฐ์เห็นว่าไม่ยุติธรรมจึงขอลาออก ทั้งคณะหลังจากทำมาได้เพียง ๓ เดือนเท่านั้น
ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๓ กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้รับการชักชวนอีกครั้งจากนายเอกโป้ย (เอก) วีสกุลเป็นนายทุน ออกหนังสือพิมพ์รายวันไทยใหม่ ในนามของบริษัทไทยใหม่จำกัด มีนายเอก วีสกุลและนายเต็ก โกเมศเป็นผู้ถือหุ้น และมีกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ เปิดสำนักงานที่ตรอกกัปตันบุช สี่พระยา คณะผู้จัดทำเป็นกลุ่มสุภาพบุรุษ อีกเช่นเคย โดยกุหลาบได้ตั้งคำขวัญว่า "ตั้งต้นชีวิตใหม่ โดยอ่านไทยใหม่" ถือเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ที่ก้าวหน้า โดดเด่นอีกฉบับหนึ่งในยุคนั้น นอกจากจะเสนอข่าวและบทความเป็นที่นิยมของผู้อ่านแล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังได้สนับสนุนให้เปิดด้านบันเทิงคดีขึ้นมาด้วย โดยได้จัดทำออกเป็น ไทยใหม่วันอาทิตย์ มอบให้ มาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ดูแล และออกหนังสือพิมพ์ ที่เน้นไปทางด้านบันเทิงคดีโดยตรงอีกฉบับหนึ่ง ในชื่อหนังสือพิมพ์ สุริยา โดยให้ โชติ แพร่พันธุ์ เป็นบรรณาธิการ และ สันต์ เทวรักษ์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ สุริยา เปิดฉากเรียกความฮือฮา ด้วยเรื่อง ยอดขุนพล ของ "ยาขอบ" อันถือเป็นตอนเริ่มต้นของนวนิยายเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ในเวลาต่อมาที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ รายวัน
หนึ่งปีผ่านไป กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ใช้นโยบายให้ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่บรรณาธิการกันคนละปี ขึ้นปีที่ ๒ สนิท เจริญรัฐ ได้เป็นบรรณาธิการและได้นำเสนอบทความทางการเมือง เรื่องว่าชีวิตของประเทศ โดย "ศรทอง" (นามปากกาของพระยาศราภัยพิพัฒ) เนื้อหาเป็นทำนองเรียกร้องให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบบรัฐสภา ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายของรัฐบาลกษัตริย์อย่างมาก แต่ครั้นได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง มนุษยภาพ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ หลวงวิจิตรวาทการก็ได้เข้ามาถือหุ้น และเบี่ยงเบนนโยบายไม่ให้มี การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในที่สุด กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ลาออกทั้งคณะ
จากนั้นก็มาร่วมทำหนังสือพิมพ์ผู้นำ รายสัปดาห์ โดยมีนายเทียน เหลียวรักวงศ์เจ้าของโรงพิมพ์สยามพานิชการ จำกัดเป็นผู้ออกทุน มีนายทองอิน บุณยเสนา (เวทางค์) เป็นบรรณาธิการ เริ่มออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๕ ต่อจากนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ก็ได้เข้าร่วมประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และหนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ ได้เขียนบทความทางการเมืองลงตีพิมพ์หลายชิ้น จนถึงเรื่องมนุษยภาพ ซึ่งเขียนต่อจากที่เคยได้ลง ในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ บทความเรื่องนี้เป็นการจี้จุดอ่อนของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และกลายเป็นบทความ ที่มีความสำคัญที่สุด ในวงการหนังสือพิมพ์ไทยชิ้นหนึ่ง แต่แล้วกลับส่งผลให้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงถูกปิดและ พระยาอุปการศิลปเศรษฐ ผู้เป็นบรรณาธิการถูกถอนใบอนุญาต คำว่า "แท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่" ก็น่าจะมีที่มาจากกรณีนี้ ครั้นปิดได้ ๙ วันจึงได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการต่อไป โดยเปลี่ยนบรรณาธิการมาเป็นนายเจริญ วิศิษฏศรี ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างกว้างขวาง และประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ ขั้นพื้นฐาน ต่อระบอบประชาธิปไตย
หลังจากที่สยามประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดย "คณะราษฎร" เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พลตรีพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งดำรงพระอิสริยยศในขณะนั้นเป็นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณได้ตกลงพระทัยออกหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ รายวัน โดยมอบให้กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ เริ่มฉบับ ปฐมฤกษ์ของหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ รายวันกำเนิดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๕ มีคำขวัญประจำหนังสือพิมพ์ว่า "บำเพ็ญกรณีย์ ไมตรีจิตต์ วิทยาคม อุดมสันติสุข" กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รวบรวมเพื่อนพ้องในคณะสุภาพบุรุษ ที่เคยร่วมงานกันมาแต่เก่าก่อนกลับมาอีกครั้ง ได้แก่ มาลัย ชูพินิจ, สนิท เจริญรัฐ, เฉวียง เศวตะทัต, โชติ แพร่พันธุ์ ฯลฯ โดยมาช่วยกันจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับนี้ ขณะนั้นทุกคนต่างล้วนเป็นนักเขียน นักประพันธ์ที่เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว ดังนั้นจึงย่อมสร้างความนิยมให้แก่ผู้อ่านเป็นอย่างดี เพราะมีประสบการณ์อยู่พร้อมมูล และมีวิธีการเขียนอย่างมีชีวิตชีวา นอกเหนือจากบทนำ บทความ คอลัมน์ และความรู้ที่มุ่งสร้างความเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังพร้อมที่จะ ให้ความบันเทิงด้วยงานวรรณกรรม อาทิ นวนิยายเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของ "ยาขอบ" และ ข้างหลังภาพ ของ "ศรีบูรพา" เป็นต้น
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวันได้ประกาศความมีศักดิ์ศรีที่จะพัฒนาหนังสือพิมพ์ไปสู่ยุคใหม่ โดยได้ปวารณา ตัวว่า ประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม คือ เข็มทิศของหนังสือพิมพ์และมีจุดยืนเคียงข้างประชาธิปไตย ผลที่ได้รับ คือถูกสั่งปิดถึงสองครั้ง ด้วยบทความที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองในยุคนั้นอย่างตรงไปตรงมา
พ.ศ. ๒๔๗๗ อยู่ในช่วงที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ รายวันได้รับความนิยม นำหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ละงานให้เพื่อน ๆ ดูแลแทน และได้อุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตรฯอยู่หนึ่งพรรษา พ.ศ. ๒๔๗๘ แต่งงานกับ ชนิด ปริญชาญกล (บุตรีของขุนชาญรถกลและนางเขียว จบการศึกษาอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.2477 อาชีพคร แปลและเขียนหนังสือใช้นามปากกา "จูเลียต") งานแต่งงานจัดขึ้นที่วัง ถนนเพลินจิต มี ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณเป็นเจ้าภาพพร้อมทั้งได้ประทาน ที่ดินใน ซอยพระนางให้ปลูกเรือนหอ กุหลาบและชนิดมีบุตรด้วยกันสองคนคือ แพทย์หญิงสุรภิณ ธนะโสภณ และนายสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ (เป็นวิศวกรไฟฟ้า)
พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นช่วงที่หลวงพิบูลสงครามมีบทบาททางการเมืองสูงมาก และเกิดไม่พอใจที่ กองบรรณาธิการ ประชาชาติ ให้การสนับสนุนพระยาทรงสุรเดช คู่แข่งทางการเมืองของตน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง เจ้าของกับ กองบรรณาธิการกุหลาบ สายประดิษฐ์ไม่ประสงค์จะให้เกิดการแตกหัก จึงถือโอกาสเดินทางไปดูงาน ด้านหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาหกเดือน โดยได้รับคำเชิญจากหนังสือพิมพ์ อาซาฮี หลังจากนั้นไม่นาน หม่อมพร้อม วรวรรณพระชายาของม.จ. วรรณไวทยากร ("พระองค์วรรณ") ในนามเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน ก็ได้ขอร้องให้มาลัย ชูพินิจ รักษาการแทน แต่กองบรรณาธิการได้ลาออกทั้งคณะ หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวันจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงเป็นลำดับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ กลับจากญี่ปุ่นก็ไม่ได้กลับไปทำงานที่ประชาชาติอีก เขาได้ใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนหนังสืออยู่กับบ้าน นวนิยายของเขาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็มีเช่นเรื่องข้างหลังภาพ(ประชาชาติ รายวัน : ๒๔๘๐) และเรื่อง ป่าในชีวิต (สยามนิกรรายวัน : ๒๔๘๐) เป็นต้น
พ.ศ.๒๔๘๑ กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้เป็นกรรมการอำนวยการหนังสือพิมพ์ประชามิตร เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ และรวมประชามิตร-สุภาพบุรุษ เป็นฉบับเดียวกัน มอบหมายให้มิตรสหายรับช่วงงาน ทำหน้าที่ โดยร่วมเป็นผู้รับชอบ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่ง ประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๘๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์เขียนบทความติดต่อกันคัดค้าน การฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับผลสำเร็จ การฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ครั้งนั้นต้องระงับพับไป และเขียนบทความคัดค้าน รัฐบาล ร่วมมือกับญี่ปุ่นในการทำสงคราม หลังจากนั้นได้ถูกจับด้วย ข้อหากบฏภายในประเทศ ถูกคุมขังอยู่ราวสามเดือน จึงได้รับอิสรภาพ เพราะคดีไม่มีมูล และในปี พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙ กุหลาบ สายประดิษฐ์ก็ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๒ ไปศึกษาวิชาการเมืองในประเทศออสเตรเลีย และกลับมาเมืองไทย ปี พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๕๑๐ ได้ตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ พิมพ์-จำหน่ายหนังสือของ "ศรีบูรพา" และ "จูเลียต" เขียนหนังสืออยู่บ้าน กับภรรยา
พ.ศ. ๒๔๙๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ปราศรัยในที่ประชุมใหญ่ สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเขียน บทความเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และยกเลิก พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
พ.ศ. ๒๔๙๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้รับตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงครามรุกรานเกาหลี และได้รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้เป็นประธานนำคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคแก่ประชาชนภาคอีสาน ที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรง และได้ร่วมคัดค้านสงครามรุกรานเกาหลี ต่อมาวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ปี ๒๔๙๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์จึงถูกจับกุม พร้อมด้วยมิตรสหายในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือ "ขบถสันติภาพ" เพราะการเรียกร้องสันติภาพ และการแจกสิ่งของช่วยเหลือชาวบ้าน ถูกตัดสินจำคุกเป็นคณะใหญ่ ๑๓ ปี ๔ เดือน และถูกคุมขังไว้ในเรือนจำบางขวาง ฐานนักโทษการเมือง ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในวโรกาสครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ (หลังจากถูกคุมขังอยู่สี่ปีเศษ)
เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๐๐ กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้รับอิสรภาพมาไม่ทันถึงสองเดือน ได้ไปร่วมประท้วงรัฐบาล กรณีจับบรรณาธิการสยามรัฐ (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) โดยร่วมปราศรัยในที่ประชุมใหญ่ตามคำเชิญของ สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จากนั้นได้รับเชิญให้ไปเยือนสหภาพโซเวียตเพื่อร่วมฉลองครบรอบ ๔๐ ปีของ การปฏิวัติโซเวียต ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ได้รับเชิญให้นำ "คณะผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม" ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่กำลังเยือนจีนอยู่นั้น ในประเทศไทยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหาร จับกุมคุมขังผู้รักชาติรักประชาธิปไตยอย่างขนานใหญ่ (รวมทั้งนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่กลับจากไปเยือนจีนด้วย) เพื่อมิให้ถูกจับกุมคุมขังกุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงขอลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างอยู่ในจีนได้เขียน และพูดกระจายเสียงออกอากาศ เล่าเรื่องสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่ได้ไปเห็นทางสถานีวิทยุปักกิ่ง และได้ร่วม ประชุมสากลหลายครั้ง และในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ได้เดินทางจากจีนไปร่วมประชุมกลุ่มนักเขียนเอเชีย-แอฟริกา ที่เมืองทาชเคนท์ สหภาพโซเวียต ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๗ กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมสัมมนา ทางวิทยาศาสตร์ (สาขาสังคมศาสตร์) ที่ปักกิ่ง ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๙ ได้เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมกลุ่มนักเขียน เอเชีย-แอฟริกาที่ปักกิ่ง
วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗ กุหลาบ สายประดิษฐ์ถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตหัวใจตีบตัน ที่โรงพยาบาลเซียะเหอในปักกิ่ง ทางการรัฐบาลจีนได้จัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ มีมิตรสหายทั้งชาวไทย ชาวจีน และชาวต่างประเทศอื่น ๆ ไปร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
กุหลาบ สายประดิษฐ์ มีอายุรวมได้ ๖๙ ปี ๓ เดือน ๓ วัน เมื่อเขาได้ลาร่างจากสังขารไป เหลือทิ้งไว้แต่ผลงาน แห่งการทำความดี ความงามและความจริงให้ปรากฏ ทางการจีนได้กล่าวไว้อาลัยในงานพิธีศพที่สุสานปฏิวัติปาเป่าซาน ครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้อุทิศชีวิตเพื่องานทางวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ผลงาน เหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อการต่อสู้ในการเรียกร้องเอกราชและประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง..."
ในหนังสือ รำลึกถึงศรีบูรพา-กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ "เพื่อนร่วมคุก ๒๔๙๕-๒๕๐๐ และสหธรรมมิก" ได้จัดทำขึ้น ไว้อาลัยเมื่อทราบข่าวการจากไปครั้งนั้น (สำนักพิมพ์สันติธรรม : ๒๕๒๘) กรุณา กุศลาสัย ได้กล่าวไว้อาลัยว่า "คุณกุหลาบเป็นนักมนุษยธรรมอย่างแท้จริง... ร่างของคุณกุหลาบได้สลายไปแล้วตามกฎของธรรมชาติ แต่อุดมการ และแนวความคิดของคุณกุหลาบจะไม่มีวันสลายตาม ตราบเท่าที่หนังสือไทยยังมีอยู่" นิตยสาร โลกหนังสือ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๑ ที่จัดทำขึ้นเพื่อ "รำลึกถึงศรีบูรพาและกลุ่มนักประพันธ์คณะสุภาพบุรุษ" สุภา ศิริมานนท์ อดีตบรรณาธิการอักษรสาส์น ได้กล่าวอ้างถึง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่าเคยเฝ้าเตือนย้ำเขาเสมอว่า "ในการเป็น หนังสือพิมพ์นั้น เราจะต้องเป็นสุภาพบุรุษพร้อมกันไปด้วยเสมอ" สอดคล้องกับที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้แสดงปาฐกถา ที่สมาคมหนังสือพิมพ์ฯ ในโอกาสวันครบ ๒๐ ปีแห่งมรณกรรมของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๗ มีความตอนหนึ่งคือ "นามของกุหลาบนั้นบ่งไปถึงต้นไม้ที่ดอกมีกลิ่นหอม ดมก็ได้ ชมความงามก็ได้ ใช้ทำยาก็ได้ ใช้ลอยน้ำเพื่อดื่มด้วยความชื่นใจก็ได้ พร้อมกันนั้นกุหลาบก็มีหนามอันแหลมคม พร้อมที่จะทิ่มตำฝ่ายอธรรมและ ฝ่ายเผด็จการ... แม้คุณกุหลาบจะมีคุณค่าในฐานะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แต่คุณค่าที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือการเป็นสุภาพบุรุษผู้มีมนุษยภาพ..."
<< ย้อนกลับ