ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม>>
ลัทธิเต๋า
(2)
การรักษาจิตให้บริสุทธิ์ คือ
การเข้าถึงตัวตนภายในอันเป็นความรู้ที่ประเสริฐยิ่งกว่าการแสวงหามากเท่าใดก็ยิ่งรู้น้อยเท่านั้น
เพราะจิตยิ่งพอกพูนกิเลสมากขึ้น ความอยาก
ความต้องการและความยึดถือก็ทวีขึ้นเรื่อย ๆ
ในที่สุดมนุษย์ต้องตกเป็นทาสและถูกทำลายเพราะอวิชชานี้
ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์เต๋า ก็คือผู้รู้แจ้ง ความรู้ภายในจึงสามารถสลัด ละ
ปล่อยวางกิเลสตัณหาและหมด ซึ่งความยึดถือยึดติดในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
เราอาจสรุปได้ว่าคำสอนของเต๋ามุ่งให้บุคคลเข้าสู่สาระแห่งแก่นแท้โดยตรง
โดยละความยึดถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เป็นผู้อยู่พ้นจากความสงสัย
ไปพ้นจากการแบ่งแยก ไม่ให้คุณค่าแก่สิ่งที่คนส่วนมากยึดถือ
สลัดความหยิ่งยะโสโอหังออกไป สลัดความฉลาดและความเป็นคนเจ้าเหตุผล
แต่หวนกลับมาดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ มีชีวิตที่เรียบง่าย
มีใจที่บริสุทธิ์ปราศจากความอยากความต้องการในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
ความสงบจึงจะเกิดขึ้นได้ ดังคำกล่าวในเต๋าเต๋อจิงบทที่ 37 ความว่า
"เต๋าไม่เคยกระทำ
แม้กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วงลง
หากกษัตริย์และเจ้านครสามารถรักษาเต๋าไว้ได้
โลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยความต่อเนื่อง
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป และเกิดการกระทำต่าง ๆ ขึ้น
จงปล่อยให้ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลเป็นผู้ควบคุมการกระทำ
ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลนี้ไร้ชื่อ
มันช่วยขจัดความอยากทั้งปวง
เมื่อขจัดความอยากได้
ความสงบย่อมเกิดขึ้น
ดังนั้นโลกย่อมถึงซึ่งสันติสุข"
(พจนา จันทรสันติ. 2523 : 67)
อย่างไรก็ตามรากฐานสำคัญที่จะนำบุคคลไปสู่ชีวิตที่เรียบง่ายนั้น ท่านเหลาจื๊อได้กล่าวไว้มี 3 ประการ คือ
1. การมีความรัก จะช่วยให้เรากล้าหาญ
2. การทำแต่พอควร จะทำให้เราเป็นคนเรียบง่ายมีจิตใจกว้างขวาง
3. การไม่เป็นเอกในโลก ทำให้เรารู้จักเป็นผู้ตามที่ดี
คุณธรรม 3 ประการนี้เป็นหลักปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลได้รับชันะและปลอดภัยจากความทุกข์ทั้งปวงในโลก ซึ่งเราจะศึกษาได้จากเต๋าเต็กเก็งบทที่ 67 เต๋าเต๋อจิง บทที่ 80
"หวังให้ประเทศเล็กที่มีพลเมืองน้อย
มีอาหารพอที่จะเลี้ยงดูพลเมือง
มากกว่าที่เขาต้องการถึงสิบเท่าร้อยเท่า
ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของชีวิต
และไม่ท่องเที่ยวพเนจรไปไกล
ถึงแม้จะมีพาหนะเรือและรถ
ก็ไม่มีใครปรารถนาจะขับขี่
ถึงแม้จะมีเกราะและอาวุธ
ก็ไม่มีโอกาสจะใช้
ให้กลับไปใช้การจดจำเรื่องราว
ด้วยการผูกเงื่อนแทนการเขียนหนังสือ
ให้เขานึกว่าอาหารพื้น ๆ นั้นโอชะ
บ้านเรือนธรรมดานั้นสุขสบาย
ประเพณีวิถีชีวิตนั้นน่าชื่นชม
ในระหว่างเพื่อนบ้านนั้นต่างเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน
จนอาจได้ยินไก่ขันสุนัขเห่าจากข้างบ้าน
และตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต
จะไม่มีใครได้เคยออกไปนอกประเทศของตนเลย"
(พจนา จันทรสันติ. 2523 : 67
บทที่ 80 นี้ แสดงให้เห็นถึงประเทศในอุดมคติของท่านเหลาจื๊อที่ต้องการให้มีรูปแบบที่เรียบง่ายไม่เนนความเป็นวัตถุนิยม แต่ส่งเสริมทางด้านจิตวิญญาณและให้คุณค่าของชีวิต วิถีชีวิตที่เรียบง่ายนี้จะทำให้ผู้คนมีความสุขในประเทศของตน โดยไม่จำเป็นต้องออกไปแสวงหาที่อื่น
ประเทศในอุดมคติของท่านเหลาจื๊อเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่มีพลเมืองน้อย เพราะท่านไม่เห็นด้วยกับการล่าอาณานิคม หรือการแสวงหาดินแดนเป็นเมืองขึ้น เพราะจะทำให้ประเทศใหญ่โตเกินไปจนยากที่จะปกครองได้ทั่วถึง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกฎบัญญัติข้อบังคับต่าง ๆ ออกมามากมาย ประเทศน้อย คนน้อย ความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจย่อมน้อยอันเป็นไปตามสัดส่วนการปกครองจึงเป็นไปได้ง่ายกว่า ทฤษฏีนี้เรียกว่า "เซียวก๊กกั้วมิ้น" ท่านเสถียร โพธินันทะ (2514 : 214) แปลว่า "ทำให้เป็นรัฐเล็ก ๆ มีพลเมืองน้อย ๆ " ความคิดทางการเมืองของท่านเหลาจื๊อนี้ นักทฤษฏีการเมืองในโลกปัจจุบันบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่มีพื้นดินและจำนวนประชากรมาก การปกครองแบบเสรีนิยมและธรรมชาตินิยมของท่านเหล่าจื๊อจึงยากที่จะปฏิบัติได้ในยุคปัจจุบันจนกวาเมื่อใดก็ตามทโลกที่เราอยู่นี้มีมนุษย์ที่หมดความเห็นแก่ตัวแล้ว เมื่อนั้นทฤษฎีทางการเมืองแบบเซียวก๊กกั้วมิ้นอาจจะถูกนำมาใช้ปฏิบัติให้เห็นจริงได้
ก่อนกำเนิดปรัชญาเต๋านั้นชาวจีนเคยนับถือธรรมชาติ เพราะเขาสังเกตเห็นว่าธรรมชาติมีคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ
1. ความเป็นวัฎจักรที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นระบบ เช่น การเกิดขึ้นของกลางวันและกลางคืน การหมุนเวียนเปลี่ยนไปของฤดูกาล ทำให้เกิดสภาพอากาศที่หลากหลายกันออกไปในแต่ละปี
2. มีการเกิดและดับตลอดเวลาเช่นความสว่างไสว และความมืดของพระจันทร์ทำให้เกิดข้างขึ้นข้างแรม
3. ความเป็นเอกภาพเดียวกันแม้นว่าเราจะเห็นว่า ธรรมชาติที่ปรากฎแก่ตามีความหลากหลายนับไม่ถ้วน ทำให้เกิดคุณสมบัติเฉพาะตัวบางอย่างก็คล้ายคลึง บางอย่างก็ตรงกันข้ามกัน แต่แท้จริงแล้วทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเอกภาพเดียวกัน
ด้วยสาเหตุดังได้กล่าวมาแล้วนี้ จึงทำให้นักปราชญ์จีนหลายท่านพยายามค้นหาความลี้ลับของธรรมชาติ ทำให้แนวคิดในเรื่องวิญญาณและผีได้แทรกเข้ามาปะปน จนเกิดความคิดที่ว่ามีวิญญาณแฝงอยู่ในธรรมชาติ วิญญาณที่ว่านี้มีตั้งแต่วิญญาณที่อยู่ในท้องฟ้าซึ่งเรียกว่าเทพแห่งฟ้า หรือเทพแห่งสวรรค์ (ภาษาจีนมีคำเรียกพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นี้ว่า "เทียน") ไล่ลงมาจนกระทั่งถึงเทพที่อยู่บนพื้นดิน ภูเขา ต้นไม้ ลำธาร แม่น้ำ ฯลฯ ลักษณะความเชื่อเช่นนี้เป็นแบบพหุเทวนิยม (Polytheism) กล่าวคือ เทพเจ้าแต่ละองค์ต่างมีฤทธิ์อำนาจ ถ้ามนุษย์คนใดต้องการบรรลุถึงซึ่งความปรารถนาของตน จะต้องกราบไหว้เซ่นสรวงเทพเจ้าแต่ละองค์แล้วแต่กรณี บางกลุ่มชนอาจจะยกย่องเทพเจ้าองค์หนึ่งให้ยิ่งใหญ่กว่าองค์อื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันเทพองค์ที่ยิ่งใหญ่นี้อาจจะถูกลดความสำคัญลงสำหรับอีกกลุ่มชนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ชาวจีนในสมัยโบราณนั้นนิยมยกย่องเทพแห่งสวรรค์ให้เป็นใหญ่กว่าเทพองค์อื่น ๆ เป็นเทวาดิเทพที่ต้องมีการเซ่นสรวงบูชาอยู่เสมอ และการทำพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชานั้นสามัญชนไม่วสามารถกระทำได้ นอกจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น เพราะเชื่อกันว่าพระองค์เป็นโอรสแห่งสวรรค์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นรัฐพิธีที่ใหญ่โตจะละเว้นมิได้เลย ในการเซ่นไหว้แต่ละครั้งนิยมฆ่าสัตว์นำมาสังเวยพร้อมกับข้าวปลาอาหาร รวมทั้งสุรา ที่มีรสเป็นเลิศ การทำพิธีกรรมแต่ละครั้งจะมีความประณีตในการถวายของบูชา เพราะมีผลต่อความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฏณ์ ปีใดที่เกิดความอดอยากแห้งแล้ง ยิ่งต้องมีการเซ่นไหว้เป็นพิเศษ มิฉะนั้นแล้วพวกที่คิดร้ายต่อราชบัลลังก์อาจยกขึ้นมาเป็นเหตุผลหนึ่งในการล้มล้างอำนาจองกษัตริย์เพราะเหตุที่ว่าเป็นผู้ทำให้ฟ้าพิโรธไม่เป็นที่โปรดปรานอีกต่อไป และผู้ที่เข้ามาครอบครองคนใหม่ อาจจะอ้างถึงความชอบธรรมในการล้มล้างราชบัลลังก์กษัตริย์ของจีน จึงมีหน้าที่เป็นศาสนาจารย์โดยปริยาย อำนาจในทางศาสนาจึงอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง
สำหรับประชาชนซึ่งไม่สามารถติดต่อกับพระเจ้าแห่งสวรรค์ได้ดังเช่นกษัตริย์
พวกเขาจะบูชาเทพบริวารองค์อื่น ๆ
และวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อสร้างความอบอุ่นใจและความมั่นคงในชีวิต
ในแต่ละหมู่บ้านจึงมีศาลเจ้าให้กราบไหว้
และในแต่ละบ้านก็จะมีป้ายสถิตดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ
ความเชื่อของชาวจีนในเรื่องวิญญาณ
ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะรู้จักและเข้าใจในธรรมชาติ
โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าใจในชีวิตของตนเอง
จึงแสดงออกมาในรูปของความเชื่อแบบวิญญาณนิยม (Animism)
ต่อมาเมื่อความรู้ได้พัฒนาขึ้นความเชื่อในเรื่องพระเจ้าค่อย ๆ จางลง
นักปราชญ์โบราณ ของจีนได้ค้นพบกฎแห่งธรรมชาติที่ครอบงำความเป็นไปของเอกภพ
และแสดงออกมาในรูปของพลังอำนาจทั้ง 2 ด้าน ที่เรียกว่าหยินและหยาง
พลังหยินเป็นพลังลบที่แสดงออกถึงความมืด ความลึกลับ ความหนาวเย็น ความเปียกชื้น
และความเป็นหญิง พลังนี้ปรากฏอยู่ในดิน พระจันทร์
และเงามืดส่วนพลังหยางเป็นพลังบวก แสดงออกถึงความสว่าง ความอบอุ่น ความแห้ง
การสร้างสรรค์ และความเป็นชาย พลังนี้ปรากฏอยู่ในพระอาทิตย์
และสิ่งที่ส่องแสงสว่าง
ในเอกภพนี้จะมีพลังทั้งสองอย่างผสมกันในสัดส่วนที่ทำให้เกิดเป็นสิ่งต่าง ๆ
ขึ้นมา แต่ถ้าพลังอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่เป็นไปตามสัดส่วนก็จะทำให้ผลที่เกิดขึ้นวิปริตไป
โลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกภพได้ถูกสร้าง ขึ้นมาด้วยพลังอำนาจทั้ง 2 อย่างนี้ทำให้มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน แต่นักปราชญ์จีนในสมัยโบราณได้พยายามที่จะจัดระบบของมันออกมาเป็นกลุ่ม ๆ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ ซึ่งจำแนกออกมาได้เป็น 5 ธาตุ คือ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุไม้ ธาตุโลหะ (ซึ่งมุ่งหมายเฉพาะธาตุทอง) และธาตุดิน
อย่างไรก็ตามแม้นว่านักปราชญ์จีนในสมัยต่อมาจะสอนให้มนุษย์มีความเข้าใจธรรมชาติ โดยใช้ปัญญามากกว่าความงมงาย ผู้ที่จะเข้าใจคำสอนเช่นนี้ได้ก็คงมีแต่ผู้มีปัญญาเท่านั้น คนจีน โดยทั่ว ๆ ไปยังคงนับถือวิญญาณและเทพเจ้า เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไปคำสอนของปราชญ์คงเหลือไว้ให้ปัญญาชนศึกษาและขบคิดต่อไป ส่วนสามัญชนยังคงยึดถือในความเชื่อเดิม ๆ เทพเจ้ายังคงได้รับการยกย่องบูชาถูกยึดถือเป็นที่พึ่งต่อไป
ปรัชญาของท่านเหลาจื๊อก็ตกอยู่ภายใต้กฎนี้เช่นกัน กล่าวคือ คำสอนของท่านที่มุ่งให้บุคคลเข้าในในธรรมชาติอย่างผู้มีปัญญา และดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายที่สุด แต่พอวันเวลาได้ผ่านพ้นไปหลักคำสอน และคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงได้ถูกเสริมเติมแต่ง เน้นหนักในทางอภินิหารและเวทมนต์ ทำให้ปรัชญาเต๋าได้เปลี่ยนรูปมาอยู่ในลักษณะของลัทธิศาสนาที่นำเอาความเชื่อในเรื่อง หยินและหยางมาผสมกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนที่เคยบูชาพระเจ้าในธรรมชาติ รวมทั้งความเชื่อในทางไสยศาสตร์และการเล่นแร่แปรธาตุ
บุคคลแรกของลัทธิเต๋าที่เป็นผู้ก่อตั้งลัทธิคือนักพรต จางเต๋าหลิง แห่งภูเขาหลุ่งหัวซาน มณฑลเสฉวน นักพรตท่านนี้เคยประกาศว่าตนเองสำเร็จทิพยภาวะติดต่อกับเทพเจ้าได้ ท่านได้ยกให้ท่านเหลาจื๊อเป็นศาสดา และยกย่องคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงเป็นสูตรของศาสนา พร้อมทั้งเขียนคัมภีร์เพิ่มขึ้นมาอีกหลายเล่ม แต่ละเล่มล้วนหนักไปในเรื่องของไสยศาสตร์เวทย์มนต์ การเล่นแร่แปรธาตุ และการแสวงหายาอายุวัฒนะ และเชื่อกันว่าพรตผู้นี้มีทิพยอำนาจมากสามารถติดต่อกับวิญญาณต่าง ๆ ได้ รวมทั้งติดต่อกับท่านปรมาจารย์เหลาจื๊อ และมีความสามารถในการปราบปรามเหล่ามารร้ายภูติผีปีศาจได้ด้วยดาบศักดิ์สิทธิ์ซึ่งท่านปรมาจารย์เหลาจื๊อได้มอบให้
สานุศิษย์จึงยกย่องท่านเป็น "เทียน ฉี เช็ง อิ เต๋า" (T'ien - Shih Cheng - Yi Tao) ซึ่งทอมสัน (Laurence G. Thompson. 1979 : 107) ได้แปลว่า "วิถีทางแห่งเอกภาพอันสมบูรณ์ของปรมาจารย์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากสวรรค์" (Way of Perfect Unity of the Master Designated by Heaven.) หรือตำราหลายเล่มใช้คำว่า "อาจารย์แห่งสวรรค์" (Celestial Teacher) ซึ่งต่อมาเจ้าลัทธิทุกคนได้ใช้สมณศักดิ์นี้กันตลอดมา
ความไม่ธรรมดาของท่านจางเต๋าหลิงนั้นมีผู้เล่ากันมากมาย เช่น ท่านได้รับการบวชเป็นนักพรตโดยวิญญาณของท่านเหลาจื๊อเป็นผู้บวชให้ ท่านสามารถค้นพบสูตรของความเป็นอมตะท่านจึงมีพลังชีวิตที่เป็นทิพย์ ท่านมีดาบศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถปราบปีศาจร้ายแม้อยู่ไกลถึง 1,000 ไมล์ และสุดท้ายเชื่อกันว่าท่านขึ้นสวรรค์ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่โดยขี่เสือขึ้นไปทางยอดเขาหลุงหัวซานท่านจางเต๋าหลิง มีอายุยืนถึง 120 ปี
หลังจากนั้นทายาทสกุลจางได้สืบทอดตำแหน่งกันต่อมาตั้งแต่ลูกจนถึงหลาน ลูกหลานของท่านมีส่วนทำให้ลัทธิเต๋ามีความเป็นระบบมากขึ้น นิกายนี้จึงได้ชื่อว่า นิกายเช็งอิ (Cheng - Yi) ซึ่งเน้นในรหัสยลัทธิเชื่อถือโชคลางอภินิหารการเข้าทรงและ คาถาอาคมต่าง ๆ นักบวชในนิกายนี้มีครอบครัวได้เช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป
ในขณะเดียวกันแนวทางเดิมของท่านเหลาจื๊อยังคงมีอยู่โดยมีผู้สืบทอดพยายามค้นหาความจริงภายในด้วยการดำเนินชีวิตตามแนวทางของท่านปรมาจารย์ พวกนี้ถูกเรียกว่าพวก "ชวน เชน เจียว" (Ch'uan - chen Chiao) ซึ่ง ทอมสัน (Laurence G. Thomson. 1979 : 107) ได้แปลว่า "การสืบทอดการบรรลุสิ่งสัมบูรณ์" (Tradition of Absolute Attainment) พวกนี้มีแนวทางชีวิตคล้ายกับชาวพุทธและนักพรตก็ดำเนินชีวิตเหมือนกับพระในพุทธศาสนา ต้องสละโสด งดน้ำเมา รับประทานอาหารามังสวิรัติ และที่เคร่งครัดมาก ๆ อาจต้องไปอยู่ตามถ้ำในเขาในป่า
วิวัฒนาการของลัทธิเต๋ายังคงมีอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้ถ้าเราศึกษาคำสอนในลัทธิเต๋า เราอาจจะแปลกใจที่เห็นคำสอนในพุทธศาสนาหลายเรื่องได้เข้าไปแทรกอยู่ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาแต่อดีตในยุคสมัยที่พุทธศาสนามหายานได้เข้าไปเผยแพร่ในจีน ลัทธิเต๋ามีส่วนอย่งมากที่ช่วยตีความคำสอนในพุทธศาสนาเป็นภาษาจีน และชาวพุทธอินเดียที่เข้าไปเผยแพร่ศาสนาในจีน ซึ่งอาจจะมีปัญหาในเรื่องภาษา ได้ใช้วิธียืมคำบางคำของเต๋ามาช่วยในการอธิบายแนวคิดของพุทธศาสนา ยิ่งนานวันเท่าใดอิทธิพลของพุทธศาสนาก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อลัทธิเต๋ามากขึ้น ถ้าเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่าไม่เพียงแต่ในด้านคำสอนเท่านั้น แม้แต่รูปแบบความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ก็ถูกนำไปปรับปรุงใช้จนกระทั่งนักบวชเต๋าที่เคยถือพรตตามถ้ำภูเขา ได้เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในอาราม และมีการถือโสดเช่นเดียวกับพระสงฆ์ในพุทธศาสนา อย่างเช่นนิกายชวนเชน เป็นต้น
ลัทธิเต๋าเคยรุ่งโรจน์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ต่อมาต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ยึดครองประเทศจีนในปี พ.ศ. 2492 ได้ออกคำสั่งขับไล่นักบวชศาสนาต่าง ๆ นานา เช่น ไม่อนุญาตให้ทำพิธีกรรมทางศาสนา และไม่ให้เผยแพร่ศาสนา ด้วยวิธีใดทั้งสิ้น ผู้นับถือลัทธิเต๋าในแผ่นดินใหญ่จึงเหลือน้อยมาก เพราะหลายคนได้อพยพไปอยู่ไต้หวันและถิ่นอื่น ๆ จนกระทั่งหลังจากที่ประธานเหมาได้สิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 2520 การผ่อนคลายทางศาสนาของจีนแผ่นดินใหญ่จึงดีกว่าแต่ก่อน เพราะประชนชนสามารถประกอบพิธีกรรมได้
สำหรับชาวเต๋าที่อพยพไปอยู่ไต้หวันได้นำเอาความเชื่อและลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เคยกระทำเมื่อสมัยอยู่ประเทศจีนไปด้วย เป็นเหตุให้มีการเผยแพร่ศาสนาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งสมาคม การพิมพ์หนังสือธรรมะและการจัดพิธีถือศีลกินเจ นอกจากนี้ในบางนิกายมีเสรีภาพที่จะทำพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การทรงเจ้า การทำพิธีไล่ผีร้าย การปลุกเสกของขลังและการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ในวันสำคัญทางศาสนา ด้วยความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของผู้นับถือลัทธิเต๋าในไต้หวัน เป็นเหตุให้ทางราชการได้ยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดีตราบจนทุกวันนี้
วัดหรือสถานที่ทำพิธีกรรมของลัทธิเต๋ามีลักษณะเหมือนศาลเจ้าของจีนโดยทั่ว ๆ ไป เพียงแต่การตบแต่งภายในที่จะตั้งแท่นที่บูชานั้น ออกจะพิถีพิถันและมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์มากมาย แม้ในไต้หวันซึ่งเป็นแหล่งที่มีผู้นับถือลัทธิเต๋ามาก ก็ยังมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ต่างกันออกไป ระหว่างไต้หวันที่อยู่ตอนเหนือและตอนใต้ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าและไสยศาสตร์ และความต้องการที่จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้เคารพบูชา
อย่างไรก็ตามโดยทั่ว ๆ ไปแล้วภายในศาลเจ้านิยมติดภาพเขียนของเหล่าเทพเจ้าและปรมาจารย์คนสำคัญของลัทธิเต๋า แต่จะติดตั้งในทิศทางตำแหน่งใดนั้น แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นภาพปรมาจารย์ที่สำคัญของเต๋ามีดังนี้ คือ
1. ภาพของจางเต๋าหลิงในท่าขี่เสือ ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของความเชื่อที่เล่าสืบกันมาว่าท่านเคยขี่เสือทะยานขึ้นสู่สวรรค์ และกลับลงมาพร้อมกับพลังอำนาจแห่งสวรรค์ที่ได้รับจากเทพเจ้า
2. ภาพของเหลาจื๊อในชุดสีเหลือง ท่านเป็นปรมาจารย์คนสำคัญที่เปิดเผยคำสอนอันเล้นลับให้แก่จางเต๋าหลิง
3. ภาพของเหวินเจียง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของนักรบเต๋าผู้ปกป้องศาลเจ้าทางด้านตะวันออก
4. ภาพของจูยีในชุดสีแดง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์และหัวใจ แสงแห่งดวงอาทิตย์จะช่วยขับไล่ความมืดและความชั่วร้าย ส่วนหัวใจจะช่วยเปิดทางให้เราได้ติดต่อกับเต๋า ภาพของจูยีนิยมติดไว้ใกล้ ๆ กับภาพของเต๋าหลิงในมือของจูยีจะถือเอกสารสีเหลืองซึ่งเชื่อกันว่า เป็นคำสั่งเปิดสวรรค์
5. ภาพของพระจักรพรรดิ์ในชุดนักรบ นิยมเรียกกันว่า พระจักรพรรดิ์แห่งทิศเหนือ ภาพของพระองค์จะแขวนไว้ตรงข้ามกับภาพของจางเต๋าหลิง
นอกจากนี้ยังมีการตั้งโต๊ะพิธีภายในศาลเจ้าสำหรับเป็นที่วางของเซ่นไหว้ตามทิศทางต่าง ๆ ภายในศาลจะมีของเซ่นไหว้เฉพาะทิศนั้น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเทพเจ้าองค์ใดสถิตในที่ใด และถ้ามีการจัดพิธีกรรมใหญ่มากเท่าใด การตั้งโต๊ะก็จะเพิ่มมากขึ้นจนบางครั้งอาจจะเลยมาภายนอกศาลเจ้าได้
สำหรับพระผู้ทำพิธีกรรมของลัทธิเต๋านั้นมี 2
พวกทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนิกาย ถ้าเป็นพวกชวนเชนเจียว
นักบวชในนิกายนี้ส่วนมากนิยมสละโสด ปฏิบัติเคร่งครัดมาก
มีการทำสมาธิและดำเนินชีวิตแบบสมถะคล้ายกับนักบวชในพุทธศาสนา
ไม่ใคร่มีพิธีกรรมที่พิถีพิถัน และเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้ทุกข์ร้อน
เมื่อทำพิธีกรรมสำคัญ พระเหล้านี้จะมีชุดเสื้อผ้าสำหรับทำพิธีกรรมโดยเฉพาะ
และชุดเหล่านี้มีความงดงามวิจิตรพิสดารมาก
ชุดที่ใช้ทำพิธีกรรมมีทั้งหมด 3 ชุด และแต่ละชุดนั้นใช้วาระต่างกัน ชุดเหล่านี้
ได้แก่ เจียงอิ เต๋าเป้า และไหชิง
เต๋าเป้า เป็นชุดที่ใช้บ่อยมากและเกือบจะทุกพิธีกรรม มีสีแดง ปักลวดลายหยินหยาง และถ้าเป็นเต๋าเป้าของหัวหน้าผู้ทำพิธีกรรมจะมีสีส้ม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผู้ช่วยทำพิธีกรรมและหัวหน้าพระผู้ทำพิธีกรรม ลวดลายชุดเต๋าเป้าของหัวหน้าพระจะละเอียดพิสดารปักทั้งผืน แทบไม่มีที่ว่าง
เจียงอิ เป็นชุดที่ใช้ในพิธีกรรมที่เป็นทางการและเป็นพิธีกรรมที่ค่อนข้างสำคัญ หัวหน้าพระใส่ชุดนี้เพื่อแสดงตนว่าเป็นคนของสวรรค์ เนื้อผ้าเป็นผ้าไหมสีแดง มีการปักลวดลายที่ละเอียดมากแสดงถึงสวรรค์และจักรวาล ถ้าหัวหน้าพระใส่ชุดนี้ ผู้ช่วยจะต้องใส่ชุดเต๋าเป้า และถ้าหัวหน้า พระใส่ชุดเต๋าเป้า พวกผู้ช่วยจะต้องใส่ชุดไหชิง
ไหชิง ถ้าเป็นไต้หวันทางใต้มีทั้งสีดำและสีส้ม เป็นชุดที่ใส่ในพิธีกรรมพื้น ๆ ทั่ว ๆ ไป เช่น เวลาสวดมนต์และพิธีกรรมที่ไม่เป็นทางการ
ลัทธิเต๋าแม้นว่าจะมีนิกายแตกออกเป็น 2 ทาง
แต่ทั้งสองนิกายนี้มีส่วนช่วยให้ลัทธิเต๋าคงอยู่ได้ทุกวันนี้
เพราะจริตของคนแต่ละคนต่างกัน
ย่อมเลือกแนวทางที่ตนชอบไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
นิกายชวนเชนซึ่งเป็นพวกที่เน้นการบรรลุถึงภายในใจของตนจะไม่ใคร่เน้นพิธีกรรมมาก
เพราะถือว่าการเข้าถึงเต๋านั้นเป็นหลักสำคัญยิ่งกว่าการบูชาและการเซ่นสรวงใด ๆ
ส่วนพวกนิกายเช็งอิ เป็นพวกที่ให้ความสำคัญทางพิธีกรรมมาก
และมีความเชื่อในอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ และโชคลางต่าง ๆ จึงเกิดข้อห้าม
(Taboo) และพิธีกรรมขึ้นมาหลายรูปแบบ
ทั้งนี้เป็นเพราะการตีความเต๋าซึ่งเป็นนามธรรมยากที่จะเข้าใจ
พวกนี้จึงเข้าใจกันว่าการเข้าถึงเต๋าคือ การเข้าถึงความเป็นอมตะ
ทำให้อายุยืนยาวจึงคิดค้นวิธีปรุงยาอายุวัฒนะ
การสร้างทิพยอำนาจให้เกิดขึ้นในตนเองจนสามารถเหาะเหินเดินอากาศ ลุยไฟ
และเดินในน้ำได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้หนังเหนียวยังฟันไม่เข้า
และปราบภูติผีปีศาจได้
ความสามารถที่กระทำให้เกิดขึ้นได้เช่นนี้นำไปสู่การสร้างพิธีกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา
ประเพณีและพิธีกรรมของเต๋าที่จะกล่าวถึงในที่นี้ มุ่งศึกษาเฉพาะลัทธิเต๋าในไต้หวันเท่านั้น เพราะอีกกระบวนการและความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่ต่อเนื่องกันมากกว่าพวกเต๋าที่กระจายในประเทศอื่น ๆ ดังได้ทราบมาแล้วว่าลัทธิเต๋านั้นแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ นิกายเช็งอิ และนิกายชวนเชน พากเช็งอิเป็นพวกที่เน้นในศาสนพิธี และรหัสยลัทธิ จึงนิยมทำพิธีกรรมเพื่อให้เกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์และสามารถดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จสมความปรารถนา พิธีกรรมเหล่านี้ประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ
1. พิธีสวดมนต์ ซึ่งมีทั้งการสวดมนต์ประจำวันและการสวดในมนต์พิธี
2. พิธีกรรมทางศาสนาสำหรับคนเป็น เป็นพิธีกรรมเพื่อเสริมศิริมงคลให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และสร้างความเจริญรุ่งเรืองอยู่รอดปลอดภัยจากการรังควาญของภูติผีปีศาจ และเหล่ามารร้าย เพราะพวกเต๋านิกายเช็งอิเชื่อว่าตามธรรมชาติในที่ต่าง ๆ จะมีวิญญาณดีและวิญญาณร้ายอาศัยอยู่ วิญญาณร้ายจะคอยทำร้ายผู้คนและหลอกหลอนให้ตกใจกลัวจะทำให้คนถูกหลอกเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น จึงเกิดพิธีกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น พิธีไล่ผี พิธีเซ่นไหว้เทพเจ้า พิธีส่งเสริมสิริมงคลในวันปีใหม่ และพิธีถือศีลกินเจ พิธีเหล่านี้มีพระเต๋าเป็นผู้ทำพิธีกรรมโดยมีดนตรีบรรเลงตลอด พิธีเครื่องดนตรีมีทั้งปีกลอง และจะบรรเลงตั้งแต่จังหวะช้าไล่ไปจนกระทั่งเป็นจังหวะรวดเร็วเร้าใจ เหตุที่มีดนตรีเข้ามาในพิธีกรรมเพราะเชื่อกันว่า เสียงดนตรีสามารถป้องกันปีศาจร้าย เพราะพวกนี้ ไม่ชอบเพลงและเสียงดังอึกทึกของเครื่องดนตรี เครื่องดนตรีที่บรรเลง ได้แก่ กลอง ปี่ และดาบ เป็นต้น ในขณะดนตรีบรรเลง พระผู้ทำพิธีจะสวดมนต์พึมพำตลอด พร้อมกันนี้มีการรำดาบ ปัดแส้ และพรมน้ำมนต์ มีการเผากระดาษเหลืองอีกทั้งมีการเซ่นไหว้ด้วยอาหารและผลไม้ พิธีกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะกระทำให้วัดเต๋า ซึ่งมีลักษณะแบบศาลเจ้าทั่ว ๆ ไปของจีนมีบางพิธีที่อาจจะแยกออกมาทำภายนอกวัด เช่น การแห่รูปเทพเจ้าไปตามถนนหนทางในวันสำคัญทางศาสนาเพื่อให้คนเคารพสักการะ และเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชุมชนนั้น ๆ ในกรณีนี้นิยมกระทำในช่วงถือศีลกินเจประมาณเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม และบางแห่งอาจกระทำกันในเดือนพฤศจิกายน สำหรับเทศกาลกินเจนี้อาหารที่เซ่นไหว้เทพเจ้านิยมเป็นพวกมังสวิรัติโดยประดิษฐ์ ให้มีรสชาติคล้ายกับเนื้อสัตว์จริง ๆ แต่ทั้งหมดนี้ล้วนทำมาจากถั่ว งา ข้าว เห็ด แป้งและผักเป็นสำคัญ
3. พิธีกรรมทางศาสนาสำหรับคนตาย เป็นพิธีกรรมที่ช่วยให้คนตายได้รับแสงสว่างของสวรรค์เป็นพิธีส่งวิญญาณผู้ตายให้สามารถข้ามสะพานก้าวไปสู่สวรรค์ได้เร็วขึ้น คล้ายกับพิธีกงเต็กในไทยซึ่งทำโดยพวกพระมหายาน แต่รายละเอียดนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปเพราะในการทำพิธีกรรมนั้นจะมีการบรรเลงดนตรีและร่ายมนต์ตลอด จากนั้นนำกระดาษแผ่นหนึ่งใส่ในโลง อีกแผ่นให้เผาไฟจากนั้นหามโลงไปเผาโดยมีพระเต๋าสั่นกระดิ่งนำหน้าและสวดมนต์ นิกายเช็งอิ จะทำพิธีกรรมนี้ให้คนตายที่ตายแบบไม่ปกติเท่านั้น เช่น คลอดลูกตาย ตายในขณะที่เป็นหนุ่มเป็นสาว หรืออาจจะทำให้ปู่หรือพ่อก็ได้ คนที่ตายแบบนี้เขาถือกันว่าวิญญาณจะไม่สงบสุข มีแต่ความขุ่นเคืองจึงอาจก่อความยุ่งยากให้ได้ จึงเป็นหน้าที่ของครอบครัวที่จะเชิญพระเต๋ามาทำพิธีกรรม
อย่างไรก็ตาม การทำพิธีกรรมสำหรับคนตายแบบนี้นั้น ไม่ใช่ว่าเป็นพิธีหลักตายตัวของเต๋าทุกนิกาย เพราะมีชาวเต๋าบางคนที่อยู่ทางตอนเหนือของไต้หวันไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงนิยมให้พระในพุทธศาสนาเป็นผู้ทำพิธีกรรม เลเกอร์เวย์ (Lagerwey. 1987 : 171) ได้กล่าวว่าชาวเต๋าบางคนถึงขนาดเชื่อว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของความตาย ส่วนเต๋าเป็นศาสนาของชีวิตกล่าวคือ ยามมีชีวิตอยู่ก็ดำเนินชีวิตไปตามหนทางของเต๋า แต่พอตายไป ชาวเต๋าหลายคนนิยมให้พระของชาวพุทธทำพิธีกรรม
<< ย้อนกลับ
บรรณานุกรม
พระครูวินัยธรประจักษ์ จร.ตธม.โม (จำปาทอง).(2545). ศาสนาในโลกปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
วนิดา ขำเขียว. ศาสนาเปรียบเทียบ. (2543). กรุงเทพฯ : พรานนกการพิมพ์.