ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดชัยภูมิ

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดชัยภูมิ(2)

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231 ซึ่งในสมัยนี้เองเป็นครั้งแรกที่เมืองเวียงจันทน์ได้มาขอเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา หลังจากทางกรุงศรีอยุธยาได้รับเมืองเวียงจันทน์เข้าเป็นเมืองขึ้นแล้ว ชาวเมืองเวียงจันทน์ก็ได้อพยพเข้ามา ประกอบอาชีพติดต่อกับกรุงศรีอยุธยามากขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางจากเวียงจันทน์เข้ามายังอยุธยา เส้นทางก็ผ่านพื้นที่ของเมืองชัยภูมิปัจจุบัน ข้ามลำชี ข้ามช่องเขาสามหมด(สามหมอ) ชาวเวียงจันทน์ที่อพยพเดินทางผ่านไปผ่านมา เห็นทำเลแห่งนี้เป็นทำเลดีเหมาะในการเพาะปลูกทำไร่ ทำนา จึงได้พากันเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ตลอดทั้งผู้เข้ามาอยู่อาศัยในแถบนี้มีแต่ความสันติสุขสงบเรียบร้อย ดินแดนแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า ชัยภูมิ เริ่มสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นหลักแหล่ง ผู้อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นตามลุ่มลำชี ตามบึง ตามหนองน้ำต่าง ๆ เมื่อมีคนเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อหมู่บ้านตามลักษณะที่ตั้ง เช่นบ้านอยู่ริมฝั่งชีก็ตั้งชื่อว่าบ้านลุ่มลำชี ถ้าใกล้หนองน้ำก็ตั้งชื่อบ้านตามหนองน้ำนั้น เช่น บ้านหนองนาแซง บ้านหนองหลอด

ชาวพื้นเมืองชัยภูมิได้รับสืบทอดอารยธรรมต่าง ๆ จากบรรพบุรุษเหล่านี้ เช่น ทางด้านภาษาพูด ภาษาเขียน (ตัวหนังสือที่เขียนใส่ใบลานหรือหนังสือผูก) วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวชัยภูมิ เมื่อมีคนอยู่ในแดนนี้มากขึ้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้โปรดให้เมืองชัยภูมิขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เพราะอยู่ใกล้กว่าและสะดวกในการปกครองดูแล ตั้งแต่นั้นมาเป็นอันว่าเมืองชัยภูมิ อยู่ในความปกครองของเมืองนครราชสีมา ตลอดมา

หลังจากกรุงศรีอยุธยา เสียเอกราชแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310 พม่าทำลายล้างผลาญโดยที่ต้องการจะมิให้ไทยตั้งตัวขึ้นอีก ได้ริบทรัพย์จับเชลย เผาผลาญทำลายปราสาทราชมณเฑียร วัดวาอารามตลอดจนบ้านเมืองของราษฎร ครั้งนั้นพม่าได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยประมาณ 31,000 คน กรุงศรีอยุธยาเกือบจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นอกจากซากสลักหักพังสภาพเหมือนเมืองร้าง อยุธยาเมืองหลวงของไทย ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาหลายร้อยปีมีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง 34 พระองค์ ต้องมาเสียแก่พม่าก็เพราะการที่คนไทยแตกความสามัคคีกันเองแต่กรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่สิ้นคนดี คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พาสมัครพรรคพวกยกออกจากรุงศรีอยุธยา ไปรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตลอดบริเวณหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก ต่อแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชลบุรี ซึ่งขณะนั้นหัวเมืองต่าง ๆ ที่มิได้ถูกกองทัพพม่าย่ำยี มีกำลังคน กำลังอาวุธ ก็ถือโอกาสตั้งตัวเป็นอิสระ เป็นชุมชนต่าง ๆ ขึ้น และหวังที่จะเป็นใหญ่ในเมืองไทย

เมื่ออยุธยาเสียแก่พม่า พระพิมายเจ้าเมืองถือราชตระกูล และมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นใหญ่ ณ เมืองพิมาย ตั้งเป็นชุมนุม มีอาณาเขตบริเวณหัวเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือจดแดนลานช้าง กัมพูชา ตลอดลงมาจนถึงสระบุรี   ครอบคลุมเมืองนครราชสีมาและเมืองชัยภูมิ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในอาณาบริเวณนี้ก็ตกอยู่ในอำนาจของกรมหมื่นเทพพิพิธแห่งชุมนุมพิมาย

พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพมาปราบชุมนุมพิมายได้สำเร็จและให้ขึ้นต่อเมืองนครราชสีมาตามเดิมและในช่วง 15 ปี ของสมัยธนบุรี ประวัติเมืองชัยภูมิไม่ได้กล่าวไว้เลย แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตเมืองพิมาย และเมืองนครราชสีมา ก็รวมอยู่เขตเมืองชัยภูมิและ การปกครองก็มีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะฉะนั้นเมืองชัยภูมิก็ยังขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาเช่นเดิม ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เดิมท้องที่ชัยภูมิ มีผู้คนอาศัยมาก กระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ในความปกครองของเมืองนครราชสีมา ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ในสมัยนี้ใครเป็นผู้นำหรือเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ อาจจะเป็นเพราะในเขตนี้ผู้คนยังน้อย ยังไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนจึงยังไม่สมควรที่จะแต่งตั้งใครมาปกครองเป็นทางการได้

ประมาณ พ.ศ. 2360 ได้มีขุนนางชาวเวียงจันทน์คนหนึ่ง มีนามว่า อ้ายแล (แล) ตามประวัติเดิมมีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงราชบุตรเจ้าอนุเวียงจันทน์ ได้ลาออกจากหน้าที่ แล้วอพยพครอบครัวและไพร่พลชาวเมืองเวียงจันทน์ ข้ามแม่น้ำโขง เลือกหาภูมิลำเนาที่เหมาะเพื่อตั้งหลักแหล่งทำมาหากินขั้นแรกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านน้ำขุ่นหนองอีจาน ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

ต่อมาได้อพยพมาอยู่ที่โนนน้ำอ้อม ทุกวันนี้ชาวบ้านเรียกบ้านชีลอง โดยมีน้ำล้อมรอบจริง ๆ โนนน้ำอ้อม อยู่ระหว่างบ้านขี้เหล็กใหญ่กับบ้านหนองนาแซง กับบ้านโนนกอก และได้ตั้งหลักฐานมั่นคง เมื่อ พ.ศ. 2362 คงใช้ชื่อเมืองตามเดิม คือเรียกว่าเมืองชัยภูมิ เวลานั้นเขียนเป็นไชยภูมิ

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย