ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด

จังหวัด » จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว

» ย้อนกลับ หน้าถัดไป

ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ภาคตะวันออก(3)

ส่วนนายทองอยู่น้อย (หรือนายทองอยู่ นกเล็ก) หนีไปได้ ค่ายไทยแตกกระจัดพลัดพราย ภายหลังพาสมัครพรรคพวกมาตั้งมั่นที่เมืองชลบุรี นัยว่าขณะนั้นชลบุรีเป็นเมืองร้าง ผู้คนพากันหนีพม่าเข้าไปอยู่ป่า ครั้นนายทองอยู่ นกเล็ก มาตั้งมั่น ชาวเมืองชลบุรีก็อพยพเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธและพระยารัตนาธเบศ ทราบว่าค่ายปากน้ำโยธกาแตกต่างก็ตกใจไม่คิดอ่านที่จะต่อสู้กับทัพพม่า จึงพาสมัครพรรคพวกหนีขึ้นไปทางช่องเรือแตก (ช่องทางเทือกเขาใหญ่ที่จะผ่านไปเมืองนครราชสีมา) ผ่านด่านหนุมาน (ภายหลังยกเป็นเมืองกระบินทร์บุรี) ไปยังเมืองนครราชสีมา กรมหมื่นเทพพิพิธไปเกลี้ยกล่อม เจ้าพระยานครราชสีมาไม่ได้ จึงไปเกลี้ยกล่อมพระพิมาย

พระยาพิมายยอมเข้าด้วยและได้คิดอ่านจับพระยานครราชสีมาประหารเสีย และแต่งตั้งพระพิมายเป็น "เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์" บุตรชายทั้งสองของพระพิมายเป็น "พระยามหามนตรี" และ "พระยาวรวงศาธิราช" กรมหมื่นเทพพิพิธมีอำนาจเหนือเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมา เรียกว่า "ก๊กเจ้าพิมาย" ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พวกเชื้อพระวงศ์และนายทัพนายกองที่หนีเอาชีวิตรอดต่างก็มุ่งหน้าไปรวมกับเจ้าพิมายเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นก๊กเจ้าพิมายจึงมีกำลังเข้มแข็งมากหลังเสียกรุงฯ เหตุการณ์ที่กองทัพพม่าตีค่ายปากน้ำโยธกา นั้นเป็นระยะเวลาก่อนกรุงฯ แตก คือในปี พ.ศ.2308 หัวเมืองภาคตะวันออกยังไม่ถูกกองทัพพม่ายกมาปล้นสะดม ครั้นเมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธพาพรรคพวกหนีไปตั้งมั่นที่เมืองพิมาย ชาวหัวเมืองภาคตะวันออก บางส่วนก็ติดไปกับกองทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธ และกำลังส่วนใหญ่ยังไม่ได้เคลื่อนไปที่ใด

กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาแรมปี และส่งกองทหารเที่ยวปล้นสะดม เข่นฆ่าประชาชนตามนิคมคามรายรอบกรุงศรีอยุธยา ส่วนทหารในกองทัพรักษากรุงฯ ต่างก็อิดโรยอ่อนกำลังลงมากประจวบกับพม่าโหมกำลังเข้ามาตั้งค่ายประชิดกำแพงเมืองทางด้านหัวรอ สภาพในกำแพงพระนครนั้นผู้คนก็หวั่นไหวเกรงกลัวทัพพม่า นอกจากนี้พระราชพงศาวดารยังบันทึกเหตุการณ์อาเพศต่างๆ ไว้ด้วย เช่น สมเด็จพระสังฆราชสวรรคต โดยเฉพาะวันเสาร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จ.ศ.1128 (พ.ศ.2308) ก่อนเสียกรุงเพียง 2-3 เดือน (เสียกรุงวันอังคารขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ตรงกังวันสงกรานต์ คือวันเนาว์เปลี่ยนปีเป็นปีกุน นพศก จ.ศ.1129 ตรงกับ พ.ศ.2310) เกิดไฟไหม้บ้านเรือนในกำแพงเมืองตั้งแต่ท่าทรายลามติดไปยังสะพานช้าง คลองข้าวเปลือก ย่านป่าถ่าน ไหม้วัดสำคัญไปหลายวัด เช่น วัดราชบูรณะ วัดพระศรีมหาธาตุ เป็นต้น

พระยากำแพงเพชร (พระเจ้าตากสิน) ตั้งค่ายอยู่ที่วัดพิชัย ได้ปรึกษากันระหว่างนายทัพนายกองค่ายวัดพิชัย เห็นว่าบ้านเมืองคงจะรักษาไว้ไม่ไหวแล้ว จึงคบคิดกันตีแหวกกองทัพพม่าหนีออกไปทางภาคตะวันออกดีกว่า จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกพลทหารได้ประมาณพันหนึ่ง เก็บรวบรวมสรรพาวุธ พร้อมกับนายทหารผู้ใหญ่ คือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี รวมเป็น 5 นาย กับขุนหมื่นผู้น้อยอีกจำนวนหนึ่ง พระยากำแพงเพชรทิ้งค่ายวัดพิชัยยกไปทางบ้านหันตรา (ทุ่งหันตรา อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ตอนเวลาพลบค่ำ วันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศกนั้นเอง กองทัพพม่ายกไล่ตีตามจนมาถึงบ้านข้าวเม่า บ้านสัมบัณฑิตต่อสู้กันบริเวณนั้นจนถึงเที่ยงคืน กองทัพพม่าถอยไป วันรุ่งขึ้นเดินทัพไปยังบ้านโพสังหาร กองทัพพม่าตามมาตีอีก ครั้งนี้ต่อสู้กันเป็นสามารถ เสียกำลังพลไปมากทั้งสองฝ่าย กองทัพพม่าล่าถอยไปเก็บศัสตราวุธได้จำนวนหนึ่งจึงถอยไปหยุดพักแรมอยู่บ้านพรานนก ในครั้งนั้นกองทัพพระยากำแพงเพชรขาดเสบียงอาหารแต่กองทัพพม่าก็ตามตีติดๆ ไป

» ย้อนกลับ หน้าถัดไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย