ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

นักปรัชญา

ฟรานซิส เบคอน
เรอเน เดสการ์ตส์
บารุค สปิโนซา
กอทฟริด วิลเฮล์ม ไลบ์นิส
ยอร์ช เบร์คเลย์
เดวิด ฮิวส์
โธมัส ฮอบส์
จอห์น ล็อก
อิมมานูเอิล คานท์
ย็อช วิลเฮลม ฟริดริช เฮเกล
ฟริดริค นิตเช่
ฌอง ปอล ซาร์ตร์
เซอเรน เคียร์เคอกอร์

จอห์น ล็อก

จอห์น ล็อก (John Locke) (29 สิงหาคม พ.ศ. 2175-28 ตุลาคม พ.ศ. 2247) เป็นนักปรัชญา ชาวอังกฤษ ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 ความสนใจหลักของเขาคือสังคมและทฤษฎีของความรู้

แนวคิดของล็อกที่เกี่ยวกับ "ผู้ปกครองที่ได้รับการยอมรับจากผู้ใต้ปกครอง" และสิทธิธรรมชาติของมนุษย์ ที่เขาอธิบายว่าประกอบไปด้วย ชีวิต, เสรีภาพ, และทรัพย์สิน นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการทางปรัชญาการเมือง แนวคิดของเขาเป็นพื้นฐานของกฎหมายและรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งผู้บุกเบิกได้ใช้มันเป็นเหตุผลของการปฏิวัติ

แนวคิดด้านญาณวิทยาของล็อกนั้นมีอิทธิพลสำคัญไปจนถึงช่วงของยุคแสงสว่าง. เขามีทัศนะเกี่ยวกับทฤษฎีความรู้ว่า ความรู้จะต้องเกิดหลังประสบการณ์ และความรู้จะเกิดขึ้นโดยอาศัยการสัมผัส เมื่อมนุษย์ได้สัมผัสก็จะมีความรู้สึก และความรู้สึกจะทำให้มนุษย์นั้นคิด และความคิดนี้คือแหล่งกำเนิดแห่งความรู้ หากปราศจากการสัมผัสมนุษย์ก็จะไม่คิด เพราะจิตโดยธรรมชาติจะมีสภาพอยู่เฉย. เขาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับนักประสบการณ์นิยมชาวบริติช ซึ่งประกอบไปด้วยเดวิด ฮูม และจอร์จ บาร์กลีย์ ล็อกมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับโทมัส ฮอบบส์

ผลงานที่สำคัญ ได้แก่

  1. An Eassy Concerning Human Understanding
  2. Two Treatises of Civil Government

พื้นฐานทางความคิด
จอห์น ล็อค เป็นนักปรัชญาที่มีความคิดเห็นเป็นกลางๆ หลักการหาความรู้ไม่ได้เคร่งครัดอยู่กับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสหรือเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาเป็นนักประจักษ์นิยมหรือประสบการณ์นิยม เขาคิดว่าเนื้อหาของความรู้ได้มาโดยอาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส และการไตร่ตรองด้วยเหตุผล เขาไม่ใช่นักประจักษ์นิยมแบบเคร่งครัด ส่วนหนึ่งเขาคล้อยตามพวกเหตุผลนิยม คือ ความเห็นหรือความเชื่อต่างๆ ต้องนำมาวิเคราะห์ไตร่ตรองด้วยเหตุผลเสียก่อน และคิดว่าไม่ควรใช้อารมณ์และความรู้สึกมาเป็นพื้นฐานในการตัดสินด้วยเหตุผล ล็อคไม่ได้ปฏิเสธความจริงทางจิตหรือวิญญาณ กฏเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติตลอดจนการเปิดเผยของพระเจ้า

ล็อคได้รับแรงกระตุ้นอย่างมากจากการอ่านงานของเดส์การ์ตส์ โดยเฉพาะเรื่องการใช้เหตุผล ล็อคพยายามวิเคราะห์ว่าเหตุผลนั้นเชื่อถือได้เพียงใด ทำอย่างไรจึงเรียกว่ามีเหตุผล เขาศึกษาเรื่องนี้อยู่นานจึงได้เขียนหนังสือเรื่อง An Essay Conerning Human Understanding ซึ่งได้วิจารณ์เรื่องความคิดติดตัวมาแต่กำเนิด

ญาณวิทยาหรือทฤษฎีความรู้
ล็อคสรุปว่า ความรู้นั้นอยู่ที่ความคิด คำว่าความคิด หมายถึงความคิดที่เกิดขึ้นจากวัตถุที่เรามีประสบการณ์ และต้นกำเนิดของความคิดคือประสบการณ์ ล็อคอธิบายว่าประสบการณ์ได้มาสองทางคือ ทางผัสสะ กับการไตร่ตรอง หมายความว่า ความคิดทุกความคิดเกิดจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสที่เรามีต่อโลก และเกิดจากการไตร่ตรองเกี่ยวกับความคิดอันเกิดจากผัสสะ การไตร่ตรองถือเป็นประสบการณ์ภายใน สิ่งที่ล็อคเน้นก็คือ เราไม่สามารถมีประสบการณ์เกี่ยวกับการไตร่ตรอง จนกว่าเราจะได้มีประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส ล็อคปฏิเสธทฤษฎีความคิดติดตัว เราเกิดมาในโลกพร้อมกับความคิดติดมากับจิตของเราแล้ว

ปฏิเสธความคิดติดตัว
ความคิดทุกชนิดมาจากประสบการณ์ ทฤษฎีที่ว่าความคิดหรือหลักการบางอย่างที่มนุษย์เข้าใจ ติดตัวมนุษย์มาแล้วแต่แรกเกิดนั้น เป็นเพียง ความเห็นที่กำหนดขึ้นระหว่างคนบางคน ล็อคคืดว่าความเห็นเช่นนี้เป็นอันตรายถ้ามีผู้นำไปใช้ในทางที่ผิด ล็อคพยายามชี้ให้เห็นคำสอนเรื่องความคิดติดตัวมาแต่เกิดนี้เป็นความเชื่อที่ไร้พื้นฐานที่น่าเชื่อถือเป็นอคติหรือความเห็น ไม่ใช่ความรู้ ล็อคเห็นว่า ความคิดติดตัว เป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น ล็อคเชื่อมั่นว่า ไม่มีอะไรที่เขาสามารถอธิบายได้ในรูปที่ว่าต้นกำเนิดของความรู้นั้นมาจากประสบการณ์

ความคิดเชิงเดี่ยวและความคิดเชิงซ้อน
ความรู้คือการค้นพบวัตถุที่ทำให้เกิดความรู้จิตเปรียบเหมือนกระดาษขาว ไม่มีความคิดใดๆ อยู่ก่อนเลย ความคิดเหตุผล และความรู้ได้มาจากประสบการณ์เท่านั้น ประสบการณ์แบ่งเป็นสองอย่างคือ ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสหรือผัสสะ และประสบการณ์จากการไตร่ตรอง

ผัสสะคือ แหล่งกำเนิดทางความคิดที่ใหญ่ที่สุดที่เรามี ประสบการณ์คือ การไตร่ตรองซึ่งเป็นกิจกรรมของจิต ที่ทำให้เกิดความคิด โดยการให้ความสนใจต่อความคิดที่ได้มาโดยประสาทสัมผัส ความคิดของมนุษย์ทั้งหมดสามารถสืบสาวได้ว่า ไม่มาจากผัสสะก็ต้องมาจากการไตร่ตรอง และความคิดเหล่านี้ ถ้าไม่เป็นความคิดเชิงเดี่ยวก็ต้องเป็นความคิดเชิงซ้อน

ความคิดเชิงเดี่ยว เกิดจากวัตถุที่เป็นต้นกำเนิดของความรู้ ประสาทสัมผัสรับมาและผ่านเข้าไปในจิตในลักษณะที่เป็นหน่วยเดียวเกิดความคิดเกี่ยวกับวัตถุหรือภาพของวัตถุนั้นขึ้นในจิตของเรา เช่น ดอกมะลิสีขาวกลิ่นหอม แต่ความคิดที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงความคิดเดียวคือ ความคิดเกี่ยวกับดอกมะลิ ไม่ใช่ความคิดที่แยกเป็นความขาวและความหอม

ความคิดเชิงซ้อน ไม่ใช่สิ่งที่จิตรับมาโดยตรงจากวัตถุภายนอกแต่เป็นความคิดเชิงเดี่ยวที่จิตนำมารวมกันเข้า คือ การเชื่อมโยงความคิด การนำความรู้มาอยู่ด้วยกัน และการทำความคิดให้เป็นสากล เช่น จิตรวมเอาความคิดเกี่ยวกับความขาว ความแข็ง และความหวาน มาสร้างเป็นความคิดเชิงซ้อนขึ้นเป็นก้อนน้ำตาล จิตนำเอาความคิดต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน

คุณสมบัติปฐมภูมิและทุติยภูมิ
ล็อคแยกคุณสมบัติออกเป็นสองชนิดคือคุณสมบัติปฐมภูมิกับคุณสมบัติ คุณสมบัติปฐมภูมิคือ คุณสมบัติที่มีอยู่จริงๆ ในวัตถุ ความคิดที่เกิดจากปฐมภูมิจะเหมือนกับคุณสมบัตินั้นๆ ในวัตถุ ก้อนหิมะที่เราดูว่ากลมมันก็กลมจริงๆ กำลังเคลื่อนไหว ก็เคลื่อนไหวจริง คุณสมบัติทุติยภูมิเป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นในจิตของเรา แต่ไม่มีอยู่ในตัววัตถุ เรามีความคิดเกี่ยวกับเย็น เมื่อเราสัมผัสสะหิมะ และความคิดเกี่ยวกับขาว เมื่อเราเห็นหิมะ แต่ไม่มีความขาวความเย็นในก้อนหิมะ

  • คุณสมบัติปฐมภูมิหรือคุณสมบัติที่เป็นของวัตถุ ได้แก่ ความแข็ง การกินที่ รูปทรง การเคลื่อนไหว หรือการอยู่นิ่ง และจำนวน
  • คุณสมบัติทุติยภูมิ ได้แก่ สี เสียง รส กลิ่น ไม่ได้เป็นของวัตถุหรือส่วนประกอบของวัตถุ เป็นเพียงอำนาจที่ทำให้เกิดความคิดในตัวเรา

สาร
ล็อคถือว่าสารประกอบขึ้นเป็นวัตถุที่เราสามารถรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัส สารมีสองชนิด คือ วัตถุ กับจิต



ความแน่นอนของความรู้
ความรู้ได้มาจากความคิด ความรู้เกิดได้ 3 ระดับคือ

  1. ความรู้จากอัชฌัตติกญาณ เป็นความรู้ที่เห็นแจ้งได้ทันที แน่นอน ไม่เป็นที่สงสัย ไม่ต้องพิสูจน์ เช่น วงกลมไม่ใช่สี่เหลี่ยม หรือ 6 ไม่ใช่ 9 เป็นต้น
  2. ความรู้จากเหตุผล เกิดจากการพยายามค้นหาความเข้ากันได้หรือไม่ได้ของความคิด ความคิด 2 เรื่อง เข้ากันได้โดยมีการคิดเรื่องที่ 3 เป็นตัวกลางสำหรับเปรียบเทียบความคิดที่ 3 นี้ เป็นสิ่งที่เห็นจริงแล้ว อาจได้จากประสบการณ์โดยตรงหรือเป็นสิ่งที่พิสูจน์มาแล้วจนเชื่อถือได้ ความรู้ที่ต้องอาศัยความรู้อื่นเป็นตัวกลางหรือเป็นสื่อ เรียกว่า ความรู้จากการอ้างเหตุผล
  3. ความรู้จากประสาทสัมผัส เป็นความรู้ที่มีความแน่นอนน้อยที่สุด โลกภายนอกเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกเป็นสิ่งไม่แน่นอน และหาขอบเขตจำกัดได้ยาก

ความรู้จากอัชฌัตติกญาณทำให้เรารู้ว่าตัวเรามีอยู่อย่างแน่นอน ความรู้จากเหตุผลแสดงให้เห็นว่าพระเจ้ามีอยู่และความรู้จากประสาทสัมผัส ทำให้เรามั่นใจว่า ตัวตน และสิ่งอื่นๆ มีอยู่ แต่มีอยู่เท่าที่มันปรากฏแก่เราขณะเรามีประสบการณ์ต่อมัน

จริยศาสตร์
ล็อคไม่เห็นด้วยที่ว่า กฎทางศีลธรรมเป็นกฎสากลและฝังลึกอยู่ในมโนธรรมตั้งแต่เกิด เราได้รับกฎเกณฑ์เหล่านี้จาก การศึกษา สิ่งแวดล้อม และขนบธรรมเนียมประเพณี

มนุษย์โดยธรรมชาติจะแสวงหาความสุขหรือความพอใจและหลีกเลี่ยงความทุกข์หรือความเจ็บปวด ล็อคกล่าวว่าสิ่งที่เราเรียกว่าดี คือสิ่งที่ทำให้เกิดหรือเพิ่มความพอใจ สิ่งที่ชั่วคือ สิ่งที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เป็นเครื่องวัดเป็นความคิดที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า รตินิยม (Hedonism)

ล็อคคิดว่า มนุษย์มีเหตุผลเพียงพอที่ทำให้ค้นพบแบบอย่างของการประพฤติปฏิบัติตน เพื่อก่อให้เกิดความสุขความพอใจต่อส่วนรวม แบบอย่างอันนี้ก็คือกฎที่มนุษย์จะต้องกระทำตาม ล็อคแบ่งกฎออกเป็น 3 ชนิดคือ กฎแห่งความเห็น กฎของประชาชน และกฎของพระเจ้า กฎทั้ง 3 นี้ มีความสัมพันธ์กัน

กฎแห่งความเห็น เป็นการกำหนดขึ้นของสังคม ว่ามนุษย์ต้องประพฤติอย่างไรจึงจะมีความสุข คือเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ในสังคม การปฏิบัติตามกฎนี้ได้ถือว่ามีคุณธรรมและคุณธรรมของแต่ละสังคมจะแตกต่างกันไปตามกฎที่สังคมนั้นๆ กำหนดขึ้น

กฎของประชาชน เป็นกฎที่กำหนดขึ้นโดยรัฐและบังคับใช้โดยศาลและกฎอันนี้มีแนวโน้มที่จะเดินตามกฎข้อแรก

กฎของเทพเจ้า เป็นกฎที่มนุษย์จะรู้ได้ก็โดยเหตุผลของตนเองหรือโดยการเปิดเผยของพระเจ้า เป็นกฎที่เป็นจริงเพื่อเป็นจริงเพื่อเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ กฎของประชาชนควรจะต้องกำหนดให้คล้อยตามกฎของพระเจ้า

ปรัชญาการเมือง
ล็อคเริ่มต้นทฤษฎีการเมืองของเขาเหมือนกับฮอบส์ คือเริ่มจากการกล่าวถึง ธรรมชาติของมนุษย์และสภาวะธรรมชาติ สภาวะธรรมชาติเป็นสภาวะที่ทุกคนมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์คนสามารถกระทำตามที่ตนเลือกภายในขอบเขตที่กฎธรรมชาติกำหนดไว้ สภาวะธรรมชาติเป็นสภาวะที่ทุกคนมีความเสมอภาคมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ใดมีสิทธิและอำนาจมากกว่าผู้ใดนี่เป็นสิทธิตามธรรมชาติ เป็นสิทธิที่มีอยู่ก่อนการเกิดของสังคมการเมือง คนเสมอภาคกันในแง่ของสิทธิ ไม่ใช่เสมอกันในความสามารถ

มนุษย์มีความจำเป็นต้องเข้ามารวมกันเป็นสังคมการเมืองและจัดตั้งรัฐบาลขึ้น โดยการรวมกันในลักษณะเป็นสัญญาประชาคม

สัญญาประชาคมของล็อคมีสองลักษณะคือ เป็นสัญญาระหว่างปัจเจกชนที่มารวมกันเป็นสังคม สัญญานี้ไม่มีการบังคับเป็นการยินยอมพร้อมใจของบุคคลยอมสละสิทธิและเสรีภาพในสภาวะธรรมชาติบางประการ เพื่อให้เกิดประชาคมโดยหวังจะทำให้การดำรงชีวิตสะดวกสบาย ปลอดภัย และสงบสุขยิ่งขึ้น

การปกครองสังคมนั้นจะต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก เพราะเสียงข้างมากนั้นสะท้อนให้เห็นเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ในสังคม

ล็อคเห็นว่า รัฐบาลจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่โอนให้ใครไม่ได้ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้พ้นจากอำนาจทางการเมือง นั่นคือรัฐบาลจะเข้าไปก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเกินกว่าที่ประชาชนได้ยอมสละให้แล้วไม่ได้ความคิดทางการเมืองของล็อค มีอิทธิพลในทาปฏิบัติไม่น้อย ความคิดเรื่องสิทธิในทรัพย์สินส่วนอิทธิพลต่อการปฏิวัติในฝรั่งเศสและอเมริกา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย