สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
พัฒนาการสังคมไทย
ดุจฤดี คงสุวรรณ์
สมัยสุโขทัย
(พุทธศตวรรษที่ 19-20)
ภาคเหนือตอนล่างเคยเป็นจุดผ่านระหว่างเมืองเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก
จึงมีการติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้บ้านเมืองเกิดความเจริญ
เปลี่ยนจากสังคมหมู่บ้านเป็นสังคมเมือง
ในช่วงต้นอาณาจักรสุโขทัยนั้นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมขอมซึ่งคงเป็นวัฒนธรรมระลอกเดียวกันกับที่ลพบุรีได้รับในช่วงปลายสมัย
ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อชนชั้นปกครองของสุโขทัยในสมัยนั้น
ยุคสมัยสุโขทัยได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระจากขอม
เมื่อสุโขทัยเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจโดยสมบูรณ์แล้วนั้น
มีการสร้างเมืองเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการระบุไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า
“รอบเมืองสุโขทัยนี้ ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา” ตรีบูรหมายถึง กำแพงเมือง 3 ชั้น
และยังอาจมีความหมายเชิงสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์
คือเป็นเมืองสวรรค์ในชั้นดาวดึงส์ซึ่งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ โดยมีวัดพระศรีมหาธาตุ
สุโขทัย ที่มีเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมเป็นประธานของวัด
เป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ของราชอาณาจักรนี้
กำแพงเมืองสามชั้นนี้นอกจากจะมีไว้เพื่อเป็นแนวป้องกันข้าศึก
ยังใช้ประโยชน์ในการกักเก็บและระบายน้ำ
ทั้งนี้ด้วยสภาพภูมิประเทศไม่ค่อยอำนวยต่อการเพาะปลูกจึงเป็นเหตุให้เกิดรูปแบบงานชลประทานของชาวสุโขทัย
บางส่วนได้รับอิทธิพลมาจากเขมร เช่น การขุดตระพังหรือการฝังท่อระบายน้ำดินเผา
การสร้างเขื่อน สรีดภงส์คือสร้างถนนพระร่วง
เป็นเขื่อนทำนบบังคับน้ำจากที่สูงให้กระจายไปสู่ที่ลุ่มบริเวณเพาะปลูกตอนล่าง
ตลอดจนขุดคูน้ำเข้าสู่ตัวเมืองและขุดเหมืองฝายขนาดเล็กซึ่งชาวบ้านอาจขุดขึ้นเองในบริเวณที่ลุ่มนอกตัวเมือง
การชลประทานของสุโขทัยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับราษฎรไม่ได้เป็นการเกณฑ์แรงงานโดยตรง
ดังนั้นการควบคุมคนจึงไม่เข้มงวดมากนัก
กลุ่มคนในสังคมสุโขทัยนั้นประกอบด้วย กษัตริย์ ขุนนาง พระสงฆ์ ไพร่
และทาส
- พระมหากษัตริย์ คือ ผู้ปกครองสูงสุด
ในนามบุคคลแรกของผู้ปกครองกรุงสุโขทัยมีพระนาม “พ่อขุน” นำหน้า เช่น
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบานเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ส่วนพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “พระ” นำหน้าพระนาม คือ
พระมหาธรรมราชาที่ 1 จนถึงพระมหาธรรมราชาที่ 4 จึงอาจตีความได้ว่า
พระมหากษัตริย์ 3
พระองค์แรกเป็นช่วงที่สภาพทางสังคมยังเป็นแบบประเพณีดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมา
เพราะมหากษัตริย์มีความใกล้ชิดกับประชาชนในฐานะพ่อปกครองลูก
ต่อมาในสมัยราชการหลัง ๆ
ฐานะของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามแบบข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย
และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบธรรมราชา
หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งจะเห็นเด่นชัดในสมัยพญาลิไท หรือพระมหาธรรมราชาที่
1 ระบบการปกครองที่เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามสภาพความซับซ้อนและขนาดของสังคม
ยิ่งสังคมมีประชากรมากขึ้นเท่าใดความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์และประชาชนก็จะยิ่งน้อยลงไป
- เจ้านายและขุนนาง คือ
กลุ่มผู้ปกครองระดับรองลงมาจากพระมหากษัตริย์ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นเจ้าเมืองมีศักดิ์เป็น
“ขุน” มีอำนาจปกครองในเขตเมืองของตนโดยเด็ดขาดเมืองสำคัญรองลงไปจากกรุงสุโขทัย
คือ เมืองศรีสัชนาลัย หรือ เชลียง ถือว่าเป็น “ราชธานีแฝด” ของสุโขทัย
ตัวเมืองเดิมอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำยม
ตอนหลังย้ายมาทางฝั่งตะวันตกมีกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ใกล้กันนั้นมีแหล่งชุมชนโบราณที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก
เมืองนี้ใช้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช ก่อนที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์
ดังที่ปรากฏในศิลาจารึก เช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเจ้าเมือง
“ศรีสัชนาลัยสุโขทัย” ส่วนเมืองเครือข่ายที่สำคัญและเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้
คือ เมืองพิจิตร ทางทิศตะวันตกคือเมืองกำแพงเพชร
ส่วนราชธานีชั่วคราวคือเมืองพิษณุโลก
เมืองเหล่านี้มักจะให้เจ้านายและขุนนางชั้นรองๆลงมาปฏิบัติราชการช่วยเหลือเจ้าเมืองและพระมหากษัตริย์ที่เมืองหลวงด้วย
เรียกว่า ลูกเจ้าลูกขุน
- พระสงฆ์
มีหน้าที่สั่งสอนธรรมะให้แก่ประชาชนตามแนวทางที่สอดคล้องกับความประสงค์ของกษัตริย์
ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและเกื้อกูลกันเช่นเดียวกับสังคมล้านนา
นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ในการส่งเสริมงานศาสนสถาน พระสงฆ์ในสุโขทัยแบ่งเป็น 2
ฝ่าย คือ คามวาสี หมายถึงกลุ่มพระสงฆ์ที่จำพรรษาในเมืองเน้นการศึกษาพระคัมภีร์
ส่วนอรัญวาสี คือ กลุ่มพระสงฆ์ที่จำพรรษานอกชุมชน เน้นการปฏิบัติธรรม
นอกจากนั้นยังมีการจัดสถาบันพระสงฆ์ขึ้น คือ สังฆราช มหาเถร เถร และปู่ครู
- ไพร่ คือ ประชาชนธรรมดาที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เรียกในสมัยนั้นว่า
“ไพร่ฟ้าหน้าใส” เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตราชธานีและตามหัวเมืองต่าง ๆ
ไพร่มีภาระผูกพันกับรัฐโดยต้องเป็นทหารในยามสงคราม
หรือเสียภาษีให้กับรัฐบางส่วน แต่ก็เป็นการควบคุมอย่างหลวมๆ
มีความยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของลักษณะงานไพร่เหล่านี้สามารถร้องเรียนพระมหากษัตริย์
หรือเจ้าเมืองให้ช่วยเหลือในยามทุกข์ร้อนหรือเมื่อมีคดีความได้
ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกว่า เป็นพวก “ไพร่ฟ้าหน้าปก” นั่นเอง
- ทาส คือ ประชาชนที่ไม่มีอิสระในตัวเอง เรียกในสมัยกรุงสุโขทัยว่า “ไพร่ฟ้าข้าไท” คำว่าข้าเป็นคำเรียกชนชั้นทาส ซึ่งปรากฏในดินแดนใกล้เคียง ข้าและทาส ข้าคือราษฎรที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจจากการกู้หนี้ยืมสิน และยอมขายตัวเป็นคนรับใช้คนอื่น ข้ามีฐานะเป็นเหมือนทรัพย์สิ่งของตกทอดอยู่ในกลุ่มตระกูล เจ้าของมรดกผู้เป็นนายจะขายหรือใช้งานอะไรก็ได้ ข้าในสมัยอาณาจักรสุโขทัย มีทั้งข้าวัด และข้าที่เป็นของมูลนาย ส่วนทาสในสมัยอาณาจักรสุโขทัย คือ ทาสเชลยจากศึกสงคราม ไม่มีอิสระในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง
ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงผู้คนในสังคมสุโขทัยเลื่อมใสในพุทธศาสนานิการเถรวาท แบบลังกาวงศ์ รวมทั้งช่วงรัชกาลของพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1) ได้ทรงผนวชและส่งสมณะทูตไปศึกษา พุทธศาสนาที่ลังกา ความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนาดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการเผยแผ่ศาสนากันกับทางล้านนา ทำให้วัฒนธรรมบางอย่างได้เข้ามาปรากฏที่สุโขทัยด้วยเช่นกัน พุทธศาสนาจึงมีบทบาทสูงในการวางรากฐานความคิด ความเข้าใจ และการรับรู้ร่วมกันระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมอาณาจักรสุโขทัย ยังผลให้สังคมอาณาจักรสุโขทัยเป็นสังคมซึ่งมีกลุ่มคนหลายกลุ่มที่มีหน้าที่และฐานะต่างกัน แต่มีกรอบความคิดในสังคมในแนวทางเดียวกัน
» สังคมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคใต้
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคกลาง