วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
ขุนช้าง-ขุนแผน
ฉบับร้อยแก้ว
เรื่องขุนช้างขุนแผน มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และเล่ากันต่อ ๆมาจนกลายเป็นนิยายพื้นเมืองของเมืองสุพรรณบุรี ต่อมาได้มีผู้นำเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งเป็นกลอนเสภาเพื่อใช้ในการขับเสภา จึงทำให้เรื่องนี้เป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้น ครั้นเสียกรุงแล้วบางตอนก็สูญหายไป บางตอนยังมีต้นฉบับเหลืออยู่ เรื่องไม่ติดต่อกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้กวีหลายคนช่วยกันรวบรวมและแต่งขึ้นเรียกว่า เสภาหลวง
การชุมนุมกวีครั้งนั้นจึงเป็นการประกวดฝีปากเชิงกลอนอย่างเต็มที่ ทำให้เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน มีความไพเราะเพราะพริ้งมากอย่างไรก็ตามได้มีนักขับเสภาระยะหลังได้แต่งเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ขึ้นอีกหลายสำนวนเพื่อใช้ขับเสภาเป็นตอน ๆ ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ หอพระสมุดวชิรญาณได้ชำระหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนขึ้นเพราะมีเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนหลายฉบับ ทั้งฉบับหลวงและฉบับราษฎรโดยมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ทรงเป็นประธานการชำระได้คัดเลือกเอาสำนวนที่ดีที่สุดมารวมกันจนครบทุกตอน บางตอนก็ไม่สามารถทราบนามผู้แต่ง