สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กษัตริย์

๓. พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้บัญญัติรองรับพระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ในหลาย ๆ เรื่องดังนี้

๓.๑ พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติถึงพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไว้ดังนี้

๓.๑.๑พระราชสถานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของราชอาณาจักรไทยและของปวงชนชาวไทย ตามมาตรา ๒

“มาตรา ๒ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

๓.๑.๒ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามมาตรา ๘

“มาตรา ๘ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

๓.๑.๓ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ตามมาตรา ๙

“มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”

เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติรับรองไว้ในหมวดพระมหากษัตริย์ มาตรา ๙ ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธ มามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนี้มีความหมายว่า เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของรัฐจึงต้องทรงเป็นพุทธมามกะ คือ เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ และในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในขอบขัณฑสีมา โดยไม่ทรงแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใดด้วย

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อสะท้อนความจริงในประวัติศาสตร์ที่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ทุกพระองค์ล้วนมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระมหากษัตริย์บางพระองค์ถึงกับทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุในระหว่างเวลาที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ได้แก่ สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

ส่วนบทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกนั้น ได้บัญญัติขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นมาในประวัติศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน พระมหากษัตริย์ของไทยได้ทรงเป็นตัวแทนของชาติประกาศความมีน้ำใจกว้างขวาง ไม่รังเกียจกีดกันผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสศาสนาต่างกัน ทุกคนล้วนแต่เป็นข้าแผ่นดินผู้อยู่ในข่ายแห่งพระมหากรุณาเสมอกัน

๓.๑.๔ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ตามมาตรา ๑๐

“มาตรา ๑๐ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย”

ในอดีตตามธรรมเนียมนิยม ผู้เป็นประมุขของรัฐทั้งหลายพึงมีหน้าที่ปกป้องอาณาเขตของตนให้พ้นจากการรุกรานของศัตรู ซึ่งพระมหากษัตริย์ของไทยก็ได้ทรงกระทำหน้าที่สำคัญนี้มาโดยตลอดตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และในยุคแรกเริ่มแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ยังทรงนำทัพออกต่อสู้กับข้าศึกพม่าด้วยพระองค์เอง จวบจนสมัยปัจจุบันแม้การรบในลักษณะดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นมิ่งขวัญของเหล่าทหารหาญ และเหนือสิ่งอื่นใด ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม” และหลังจากนั้น รัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นในภายหลังก็ได้มีบทบัญญัติทำนองเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ทุกฉบับ ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย

๓.๒ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามครรลองประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามมาตรา ๓

“มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

๓.๓ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งคณะองคมนตรี

ในระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์จะมีคณะที่ปรึกษาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ถวายความคิดเห็นในพระราชกิจทั้งปวงที่ทรงปรึกษาหรือมีพระบรมราชโองการให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งถวาย คณะบุคคลดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน แต่โดยทั่วไปจะเรียกว่า “คณะองคมนตรี” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และมีองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคน ทั้งนี้ การทรงเลือกและทรงแต่งตั้ง หรือทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นพระราชอำนาจที่ทรงใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัยโดยไม่ต้องรับการถวายคำแนะนำจากผู้ใด ซึ่งรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือให้พ้นจากตำแหน่ง และให้ประธานองคมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง โดยผู้มีหน้าที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ ว่า

“มาตรา ๑๒ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๑๓ การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย”

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง”

๓.๔ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรองรับให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์ รวมทั้งการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ ว่า

“มาตรา ๑๗ การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์และสมุห ราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย”

๓.๕ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรองรับให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อจะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ อาทิ ทรงพระประชวรเป็นเวลานาน ๆ หรือทรงพระผนวช เป็นต้น และยังกำหนดไว้ว่า หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือไม่สามารถทรงแต่งตั้งได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ และในระหว่างที่ยังไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างรอการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งในกรณีนี้ คณะองคมนตรีต้องเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีแทนเป็นการชั่วคราว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ ดังนี้

“มาตรา ๑๘ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มาตรา ๑๙ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๘ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๒๐ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน”

๓.๖ พระราชอำนาจแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะทรงแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ โดยเฉพาะในกรณีนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นตามพระราชดำริเพื่อทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อทรงเห็นชอบและลงพระปรมาภิไธยแล้ว ประธานรัฐสภาก็มีหน้าที่ต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามที่ประธานองคมนตรีแจ้งไป และเมื่อแจ้งให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาทราบพร้อมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ดังที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง”

๓.๗ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งพระรัชทายาท

ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระ รัชทายาทไว้ คณะองคมนตรีมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในกรณีนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ประธานรัฐสภาก็มีหน้าที่อัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ และประกาศให้ประชาชนทราบ อนึ่ง หากราชบัลลังก์ว่างลงโดยพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ เพื่อเรียกประชุมให้รัฐสภารับทราบร่วมกัน และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญพระรัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ แล้วจึงประกาศให้ประชาชนทราบ ดังที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๗๖ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๒ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่งหรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง”

๓.๘ พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

การพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง การพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แก่ผู้ต้องโทษประเภทต่าง ๆ ให้ได้รับการปล่อยตัวหรือลดโทษ โดยมีทั้งการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลแก่ผู้ต้องโทษซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณาขึ้นมา และในรูปของการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษ

พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์นี้ ได้มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๕๐ ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ” ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจเฉพาะพระองค์โดยแท้ หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ก็ได้บัญญัติรับรองพระราชอำนาจดังกล่าว จนกระทั่งปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้มีบัญญัติรับรองไว้เช่นเดียวกันในมาตรา ๒๒๕ ว่า

“มาตรา ๒๒๕ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ”

๓.๙ พระราชอำนาจในการสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์ รวมทั้งพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจเกี่ยวกับการสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์ รวมทั้งพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจโดยเฉพาะไว้ดังนี้“มาตรา ๒๒๖ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์”

๓.๑๐ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับกระบวนการ นิติบัญญัติ

๓.๑๐.๑พระราชอำนาจในการตราพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระ

มหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในการตรากฎหมายทางรัฐสภา ซึ่งเรียกกฎหมายนั้นว่า “พระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” เมื่อรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติหรือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วก็ยังไม่เป็นกฎหมาย จะเป็นกฎหมาย ใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา การที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย มีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติไม่อาจใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ถือว่าทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้น อย่างไรก็ตาม หากรัฐสภาลงมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยอีกภายใน ๓๐ วัน ก็ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ดังที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ และมาตรา ๙๔

“มาตรา ๙๒ ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา

มาตรา ๙๓ ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา ๙๔ ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”

๓.๑๐.๒พระราชอำนาจในการตราพระราชกำหนด

พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมี ๒ กรณี คือ กรณีแรก เมื่อมีกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นการตราเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๘ และกรณีที่สอง เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากรหรือเงินตรา ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๐

พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ จึงต้องนำมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ พระราชกำหนดนั้นก็ตกไปตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศการไม่เห็นชอบในราชกิจจานุเบกษา แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินการที่ได้กระทำไปแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๑๘ ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติหรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

หากพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่งมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด และพระราชกำหนดนั้นต้องตกไปตามวรรคสาม ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก มีผลใช้บังคับต่อไปนับแต่วันที่การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นมีผล

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การพิจารณาพระราชกำหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภาในกรณียืนยันการอนุมัติพระราชกำหนด จะต้องกระทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ

มาตรา ๒๒๐ ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

๓.๑๐.๓พระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา

พระราชกฤษฎีกานั้น พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี โดยจะขัดต่อพระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพระราชกำหนดไม่ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๒๑ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย”

ทั้งนี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงใช้พระราชอำนาจตราพระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกาขึ้นใช้บังคับแล้ว รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้บทกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป ตามมาตรา ๒๓๒

“มาตรา ๒๓๒ บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยพลัน”

๓.๑๐.๔พระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเลือกตั้งทั่วไปไว้ดังนี้

“มาตรา ๑๑๕ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

มาตรา ๑๓๑ เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา ๑๖๘ ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่”

๓.๑๐.๕พระราชอำนาจในการเรียกประชุม เปิดประชุม ปิดประชุม และขยายเวลาประชุมของรัฐสภา

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก เปิดและปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปและสมัยประชุมนิติบัญญัติ เปิดและปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ และขยายเวลาประชุมของรัฐสภา ไว้ดังนี้

“มาตรา ๑๕๙ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมครั้งแรก

ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญทั่วไปและสมัยประชุมนิติบัญญัติ

วันประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด ในกรณีที่การเริ่มประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่งมีเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทินไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติปีนั้นก็ได้

ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ให้รัฐสภาดำเนินการประชุมได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด ๒ หรือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

มาตรา ๑๖๐ สมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

มาตรา ๑๖๑ พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม

พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรกตามมาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง ด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้

มาตรา ๑๖๒ เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้”

๓.๑๐.๖พระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ซึ่งต้องกระทำโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูลและนำร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ดังนี้

“มาตรา ๑๑๖ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”

๓.๑๐.๗พระราชอำนาจในการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

รัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งแต่ละสภาจะต้องมีประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยจะมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานวุฒิสภาคนหนึ่งหรือสองคนให้เป็นไปตามมติของแต่ละสภา แล้วแต่กรณี ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งประธานและรองประธานของแต่ละสภา ไว้ดังนี้

“มาตรา ๑๕๑ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่ละสภา มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา”

๓.๑๐.๘พระราชอำนาจในการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ไว้ดังนี้

“มาตรา ๑๒๐ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกในสังกัดของพรรคตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคนั้น มิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่มีเสียงสนับสนุนเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่ง ที่ว่าง”

๓.๑๑พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งและให้พ้นจากตำแหน่ง

๓.๑๑.๑พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้

“มาตรา ๒๐๑ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๑๘ (๗) ในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี”

๓.๑๑.๒พระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ดังนี้

“มาตรา ๒๑๗ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ”

๓.๑๑.๓พระราชอำนาจในการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายทหารและข้าราชการฝ่ายพลเรือนในตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่าไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๒๗ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย”

๓.๑๑.๔พระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไว้ดังนี้

“มาตรา ๑๓๖ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตามวรรคหนึ่ง”

๓.๑๑.๕พระราชอำนาจในการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ไว้ดังนี้

“มาตรา ๑๙๖ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีจำนวนไม่เกินสามคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา และการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว”

๓.๑๑.๖พระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไว้ดังนี้

“มาตรา ๑๙๙ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว”

๓.๑๑.๗พระราชอำนาจในการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของผู้พิพากษาและตุลาการ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งผู้พิพากษาและตุลาการ ไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๕๑ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย

การแต่งตั้งและการให้ผู้พิพากษาและตุลาการในศาลอื่นนอกจากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร พ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนอำนาจพิพากษาคดีและวิธีพิจารณาของศาลดังกล่าว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลนั้น”

๓.๑๑.๘พระราชอำนาจในการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๕๕ ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกสิบสี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนห้าคน

(๒) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสองคน

(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา ๒๕๗ จำนวนห้าคน

(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา ๒๕๗ จำนวนสามคน

ให้ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ

ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”

๓.๑๑.๙พระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๙๗ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกแปดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา

กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต้องเป็นผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๕๖

การสรรหาและการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๕๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจำนวนสิบห้าคน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน เป็นกรรมการ

ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ”

๓.๑๑.๑๐พระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและการให้พ้นจากตำแหน่งผู้พิพากษาและตุลาการ ไว้ดังนี้

“มาตรา ๓๑๒ การตรวจเงินแผ่นดิน ให้กระทำโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระและเป็นกลาง

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่น

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหน่วยธุรการของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระ โดยมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง หรือด้านอื่น

ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ”

๓.๑๒พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

๓.๑๒.๑พระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก ไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก”

๓.๑๒.๒พระราชอำนาจประกาศสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับการประกาศสงคราม ไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๒๓ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

มติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง และการลงมติต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่”

๓.๑๒.๓พระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศ ไว้ดังนี้

“มาตรา ๒๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”

นอกจากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กล่าวข้างต้นแล้ว ตามหลักทั่วไป พระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งพระราชอำนาจเหล่านี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (Convention) ซึ่งมีค่าบังคับเป็นรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เหตุที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่า แต่เดิมพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิขาดในทุก ๆ เรื่อง และทุก ๆ กรณี ต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญมาจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงเป็นที่ยอมรับกันว่า ถ้าในกรณีใดไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดขอบเขตหรือเงื่อนไขของการใช้พระราชอำนาจไว้ พระมหากษัตริย์ก็ยังคงมีพระราชอำนาจเช่นนั้นอยู่โดยผลของประเพณี อาทิ พระราชอำนาจที่จะทรงพิจารณาฎีกาที่ประชาชนผู้เดือดร้อนทูลเกล้า ฯ ถวาย

อ่านต่อ >>>

วิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
บรรณานุกรม
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย