ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

“อยู่กันด้วยความรัก”

(ปัญญานันทภิกขุ)

       ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เราถือว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น คือคิดว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลาย มีความสุข ความเจริญ งดเว้นจากการคิดเบียดเบียนกัน ริษยากัน พยาบาทอาฆาตจองเวรกัน ไม่มีอารมณ์เกลียด ไม่มีอารมณ์ชังต่อสิ่งใดๆ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนดี หรือว่าจะเป็นคนเสีย ถ้าเป็นคนดี เราก็ดีใจกับเขา ถ้าเป็นคนเสีย เราก็เสียใจกับเขา แล้วเราตั้งใจว่า ขอให้เขาดีเสียเถิด ขออย่าได้เป็นเช่นนั้นเลย ขอให้พ้นจากความชั่วความร้ายในชีวิตประจำวันเสียเถิด

เราอย่าไปโกรธเขา เราอย่าไปเกลียดเขา ให้นึกถึงอกเขาอกเราว่า เราต้องการความสุขอย่างใด เขาก็ต้องการความสุขอย่างนั้น เราเกลียดความทุกข์อย่างใด เขาก็เกลียดความทุกข์อย่างนั้น สิ่งใดเราไม่ชอบ สิ่งนั้นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน

เวลาเราพบใคร เราก็ควรนึกว่า ขอให้คุณเป็นสุข เป็นสุข ขอให้คุณปราศจากความทุกข์ความเดือดร้อน ขอให้คุณมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในการงาน เพียงแต่เราคิดเท่านั้น เราก็สบายใจแล้ว เพราะเป็นความคิดที่แผ่เมตตาปรารถนาดีต่อเขา ถ้าเราคิดให้คนอื่นสบาย เราก็สบาย ถ้าเราคิดให้คนอื่นเดือดร้อน เราก็มีความทุกข์ความเดือดร้อน

ลองพิจารณาตัวท่านเอง ขณะใดที่ท่านเกลียดคนอื่น โกรธคนอื่น ท่านคิดพยาบาทคนอื่น ท่านมีความริษยาคนอื่น ความรู้สึกในใจของท่านเป็นอย่างไร ท่านก็จะรู้ได้ด้วยตนเองว่า ใจของท่านร้อน ใจของท่านมืดมัว ใจของท่านวุ่นวาย ไม่มีความสงบเกิดขึ้น เราไม่ควรจะคิดอะไร พูดอะไร ทำอะไรที่เป็นไปในทางเหี้ยมโหด ดุร้าย แต่ควรจะคิด พูด ทำ แต่ในทางที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ของผู้อื่นอย่างแท้จริง

ความรัก มีความมุ่งหมายอย่างนี้ เราทั้งหลายจึงควรจะอยู่กันด้วยความรัก เลิกโกรธ เลิกเกลียด เลิกอาฆาตพยาบาท จองเวรแก่กันและกัน ถ้าหากว่าเรามีเรื่องผิดพ้องหมองใจกันกับใครๆ อยู่บ้าง เราก็เลิกจากสิ่งนั้น เรามาคิดสอนตัวเองว่า ตั้งแต่โกรธเขา เกลียดเขา พยาบาทจองเวรเขา มันมีอะไรดีขึ้นในชีวิตของเราบ้าง ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย แต่ว่าเราต้องมีความทุกข์ยากทางจิตใจ ต้องหวาดระแวงภัยอยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวว่าคนนั้น จะมาทำร้ายเรา จะมาเบียดเบียนเรา จะมาสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่เรา

การเป็นอยู่ในรูปอย่างนั้น มันจะมีความสุขที่ตรงไหน ไม่มีความสุขเลยแม้แต่น้อย เพราะเป็นความคิดที่เบียดเบียน ตรงกันข้าม ถ้าเราคิดไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำใครให้เดือดร้อน เราก็มีความสุขความสบาย ตามที่พระพุทธภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัพพะยาปัชฌัง สุชัง โลเก – การไม่เบียดเบียนกันเป็นความสุขในโลก” การไม่เบียดเบียนกันก็ต้องมีความรักกัน มีความเมตตากัน ความรักที่เป็นพื้นฐานของชีวิตนั้น เราจะรักอะไร เราควรจะรักพระพุทธเจ้า รักพระธรรม พระสงฆ์ ให้มาก

รักพระพุทธเจ้า รักพระธรรม รักพระสงฆ์ น่ะรักอย่างไร เราเอาความรักธรรมดามาคิดก็แล้วกัน เหมือนชายหนุ่มมีความรักหญิงสาว เขาทำอย่างไร เขาคิดถึงผู้นั้นบ่อยๆ กินก็คิดถึง นอนก็คิดถึง ทำอะไรก็คิดถึง ฉันใด เรารักพระพุทธเจ้า เรารักพระธรรม เรารักพระสงฆ์ เราก็คิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ ฉันนั้น

รักพระพุทธเจ้า

คิดถึงพระพุทธเจ้านั้น คิดในรูปใด เราคิดถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้ามีดีอย่างไรบ้าง พรุพุทธเขจ้าท่านมีความกรุณาปรานีต่อชาวโลกทั้งหลาย พระพุทธเจ้าท่านมีความบริสุทธิ์ในน้ำพระทัย ไม่มีอะไรเศร้าหมอง พรุพุทธเจ้าท่านมีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องความทุกข์ ในเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ ในเรื่องความดับทุกข์ได้และในเรื่องข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์อย่างเด็ดขาด เรามานึกคิดถึงพระคุณเหล่านั้นมาประทับไว้ในใจของเรา ใจของเราก็อยู่กับพระพุทธเจ้า ใจเราไม่ไปอยู่กับผีกับมาร ใจเราไม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่เป็นสัตว์นรก ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย ใจเราไม่เป็นผี แต่ใจเราเป็นพระอยู่ตลอดเวลา เรารักพระพุทธเจ้า

รักพระธรรม

เรารักพระธรรมก็คือรักคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า รักพระพุทธเจ้าแล้วก็ต้องรักพระธรรมคู่กัน เมื่อรักพระธรรม ก็หมายความว่าเราศึกษาธรรมะบ่อยๆ เราอ่าน เราฟัง เราเอาธรรมะนั้นมาเป็นกระจกคอยส่องมองดูตัวเราว่าเรามีความบกพร่องอะไรบ้าง เราไม่ดี ไม่งามที่ตรงไหน เหมือนกับคนมีกระจกบานน้อยคอยส่องดูหน้าตนบ่อยๆ เพื่อดูว่าหน้าของเราเป็นมันหรือเปล่า มีอะไรแปดเปื้อนหรือไม่ วัตถุที่เอาไปโปะ ไปทาไว้ มันเลือนหายไปอย่างไร ก็จะได้โปะ ได้ทากันใหม่ อันนี้คือการพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง เราก็เอากระจกธรรมะมาส่องดูตัวเรา เพื่อให้เห็นว่าเรามีอะไรไม่ดี ไม่เหมาะไม่ควร จะได้ปรับปรุงแก้ไขกระทำให้มันดีมันงามขึ้น การใช้ธรรมะเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็เหมือนเรามีดวงประทีปส่องทางให้เราเดินไม่ผิดทางเดินได้เรียบร้อยก้าวหน้า เป็นไปด้วยดี ชีวิตจะไม่ตกต่ำ จึงต้องหมั่นศึกษาธรรมะ อ่าน ฟัง เข้าใกล้ผู้รู้ แล้วนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน “ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง – ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ผู้ใดประพฤติธรรม ธรรมะย่อมรักษาผู้นั้นให้อยู่รอดปลอดภัย เราจึงควรจะได้นึกถึงพระธรรมไว้เสมอ จะไปไหน จะทำอะไร จะคบหาสมาคมกับใคร เราก็ต้องนึกถึงพระธรรมไว้ นึกถึงหลักธรรมะว่า เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไร สมมติว่า เราจะไปร้านขายสุราเมรัย เครื่องดองของเมา เราก็นึกถึงพระธรรม พระธรรมบอกว่า การดื่มของเมามีโทษ คือเสียทรัพย์ เกิดโรค ก่อการทะเลาะวิวาท หน้าด้าน ไม่รู้จักละอาย คนดีเขาดูหมิ่น สติปัญญาเสื่อมถอย ธรรมะว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนธรรมะให้เรารู้ว่าอย่างนั้น

เมื่อเรารู้อย่างนั้นแล้ว เราก็ยับยั้งชั่งใจ เราไม่ไปเที่ยวที่ร้านขายสุราเมรัย เพราะมันเป็นบาปเป็นโทษ ถ้าเราไปก็เรียกว่า เราไม่รักพระธรรม เราเป็นลูกนอกคอกนอกทาง จะเกิดความเสียหาย เราก็เอาธรรมะมาเป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจไว้บังคับตัวเองไว้ อดทนไว้ ไม่ไปสู่สถานที่นั้น หรือว่า เราจะไปเล่นการพนัน เราก็นึกถึงพระธรรม พระธรรมบอกว่า ลูกเอ๋ย การพนันมีโทษ ถ้าเธอชนะก่อเวร แพ้เสียดายทรัพย์ ทรัพย์ย่อมหมดไป สิ้นไปไม่มีใครเชื่อเธอต่อไป เกียรติยศชื่อเสียงหมดไป ฐานะไม่ดี ตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ เป็นโทษอย่างนี้ เราก็มองเห็น เพราะเรารักธรรมะ เราไม่ฝ่าฝืนธรรมะ เราไม่ไปเล่นการพนัน แต่เราจะขยันทำมาหากินตรมหน้าที่ของเรา เราก็ไม่เป็นผู้เสียหาย

รักพระสงฆ์

เรารักพระอริยสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น ท่านเป็นผู้มีปกติอยู่อย่างไร ท่านมีปกติ ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ เมื่อเรารักพระอริยสงฆ์ เราก็ทำตามพระอริยสงฆ์ เอาพระอริยสงฆ์เป็นผู้นำชีวิตเรา เราเดินตามพระ เราจะไม่เดินตามผีตามมาร เราเดินให้ดี เราเดินให้ตรง เดินให้เป็นธรรม เราเดินเพื่อออกไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ทำอะไรก็ต้องทำให้ดีทำให้ตรง ทำให้เป็นธรรม ทำให้เป็นการออกจากความทุกข์ความเดือดร้อน อย่างนี้ ก็เรียกว่า เรารักพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เมื่อมีความรักเป็นพื้นฐาน คือรักพระอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่า เรายืนอยู่บนฐานอันมั่นคงของชีวิต ชีวิตจะไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่หวั่นไหวด้วยสิ่งที่มากระทบ

รักหน้าที่

เราต้องรักหน้าที่การงานที่เราต้องปฏิบัติ พูดถึงหน้าที่แล้ว ทุกคนมีหน้าที่ด้วยกันทั้งนั้น หน้าที่เฉพาะตัวก็มี หน้าที่อันจะต้องทำแก่ส่วนรวมก็มี หน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีหน้าที่ที่จะทำตนให้เป็นมนุษย์ คือ ให้เป็นผู้มีใจสูง อย่าเป็นผู้อยู่อย่างคนใจต่ำ ให้อยู่เหมือนดอกบัวซึ่งเกิดในสระน้ำ น้ำไม่เปื้อนดอกบัว โคลนไม่เปื้อนดอกบัว ดอกบัวเป็นดอกไม้สะอาด ถึงจะอยู่ในที่สกปรก มันก็สะอาดฉันใด เราก็ควรมีชีวิตอยู่อย่างสะอาด ไม่สกปรก ไม่เศร้าหมอง ฉันนั้นเหมือนกัน หน้าที่ของความเป็นไทย เราก็ต้องทำใจให้เป็นอิสระไว้ อย่าเป็นทาสน้ำเมา อย่าเป็นทาสความสนุกสนานเหลวไหล อย่าเป็นทาสของความเกียจคร้าน ความเป็นไทยเป็นหน้าที่ของคนไทย คนไทยไม่มีหน้าที่จะเป็นทาสของใครๆ เพราะความเป็นทาส มันขัดกับหลักของความเป็นไทย เราเป็นพุทธบริษัท ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำตนให้เป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทต้องเป็นผู้รู้ ต้องเป็นผู้ตื่น ต้องเป็นผู้เบิกบานแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา พุทธบริษัทต้องเป็นคนตื่นตัว ต้องเป็นคนว่องไว ต้องเป็นคนที่มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติกิจในชีวิตประจำวัน เราเป็นพ่อ เราเป็นแม่ ก็ต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ รักความเป็นพ่อ รักความเป็นแม่ รักความเป็นครู รักความเป็นทหาร เป็นตำรวจ รักความเป็นผู้แทนราษฎร ฯลฯ ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะใด ในตำแหน่งใด เราจะต้องรักสิ่งนั้น ต้องบูชาสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นด้วยชีวิต ด้วยความเสียสละ ด้วยความอดทน ด้วยความคิดนึกเสมอว่า นี้คือหน้าที่ของเรา เรารักสิ่งนี้ คนที่ทำด้วยใจรักนั้น เขาทำอย่างประณีต อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการกระทำนั้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าทำอะไรสักว่าผ่านพ้นไป จึงได้ชื่อว่าเป็นคนรักหน้าที่ที่เราจะต้องกระทำอยู่ในชีวิตประจำวัน

รักครอบครัว

เราควรจะรักครอบครัวของเราเพราะเราอยู่เป็นครอบครัว เป็นวงศ์สกุล แล้วก็รวมเป็นชาติ เป็นประเทศ เอาส่วนน้อยก็รักครอบครัว เราก็ต้องเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์แห่งความสุขส่วนรวม คือครอบครัว เช่น สามีภรรยาอยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างอยู่เพื่อกันและกัน สามีก็อยู่เพื่อภรรยา ภรรยาก็อยู่เพื่อสามี มีลูกมีเต้า เราก็อยู่เพื่อลูกต่อไป ทำอะไรทุกอย่างเพื่อลูก สามีภรรยาจะไม่แตกแยกกัน จะไม่แตกร้าวกันเพราะเราไม่ได้อยู่เพื่อตัวเรา แม้บางคนจะพูดว่า “อยู่กันไม่ไหว” “รสนิยมมันไม่ตรงกัน” ทำไมไม่ปรับให้มันตรงกัน ที่ไม่ปรับให้ตรงกันก็เพราะขาด “ความรัก” นั่นเอง เมื่อไม่มีความรัก ก็ไม่อยากจะอยู่ด้วยกัน เห็นหน้าแล้วมันหมั่นไส้ มันเบื่อ มันเซ็ง เลยอย่ากัน หย่ากันแล้วลูกก็ลำบาก ไม่รู้จะไปหาใคร

เด็กเกเรเกตุงที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้น เกิดจากเรื่องปัญหาในครอบครัวทั้งนั้น พ่อแม่แตกแยกกัน อยู่กินกันไม่เรียบร้อย พ่อแม่ประพฤติเหลวไหล พ่อขี้เหล้า แม่ขี้ไพ่ ประพฤติไม่ดีงาม ลูกก็เลยทรามไปด้วย นั่นเป็นบาปอันยิ่งใหญ่ เป็นบาปที่ลึกซึ้ง เป็นบาปที่ไม่ใช่เกิดแต่ตนคนเดียว เกิดแก่ครอบครัว เกิดแก่ประเทศชาติ เป็นการทำลายสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีไม่งามทั้งนั้น

เราควรอธิษฐานใจ เมื่อเรามีครอบครัวว่า เราจะรักครอบครัว เช่น พ่อบ้านรักครอบครัวก็ไปทำงานด้วยใจรัก ทำงานเพื่อครอบครัว ทำด้วยความอดทน ด้วยความหนักแน่น ไม่เบื่อหน่ายในงาน เพื่อให้งานเจริญ ตนก็พลอยเจริญไปด้วย เลิกงานแล้วก็ไม่เถลไถล ไม่ไปเที่ยวสโมสร ไม่ไปเที่ยวบาร์ เที่ยวไนต์คลับ ไม่ไปกับเพื่อนชั่วๆ ทั้งหลายที่ชอบสนุกเฮฮาไม่เข้าเรื่อง หาเรื่องให้สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้เรื่องอะไร เราก็รีบกลับบ้าน เพราะเรามีพันธะทางครอบครัว มีคนคอยอยู่ที่บ้าน เราควรจะไปหาเขา ไปอยู่ด้วยกัน กินข้าวพร้อมกัน นั่งดูโทรทัศน์ด้วยกัน พร้อมกับเมียและลูก เมื่อดูกันก็อธิบายให้ลูกฟังว่า อันนั้นเป็นเรื่องดี อันนั้นเป็นเรื่องชั่ว อันนั้นเป็นเรื่องบาป อันนี้เป็นเรื่องบุญ ให้ลูกได้รู้ได้เข้าใจ สอนแนวทางชีวิตให้ลูกด้วยในตัว แล้วก็ดูให้ลูกอ่านหนังสือ ทำการบ้าน เราช่วยกันคิด ช่วยกันสอนให้แก่เขา

รักประเทศชาติ

รักชาติ ก็คือรักพวกพ้องนั่นเอง รักคนในชาติ เราปรารถนาให้คนทุกคนในชาติของเราอยู่เย็นเป็นสุข เรียกว่า “รักชาติ” อีกอย่างหนึ่ง “รักชาติ” ก็หมายความว่า เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม ของชาติ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ทำงานอะไรก็ทำเพื่อส่วนรวม ของชาติ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ทำงานอะไรก็ทำเพื่อส่วนรวม ไม่ทำเพื่อส่วนตัว แล้วคิดถึงตัวเป็นใหญ่ ทำอะไรก็นึกว่าตัวจะมีอะไร ตัวจะได้อะไรจากการกระทำนั้น นั่นเป็นการกระทำที่มีแต่ความโลภ มีแต่ความอยากได้ ไม่มีความเสียสละ เกิดการทุจริต งานก็เสียหาย

การคอรัปชั่น กินสินบาทคาดสินบนเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะคนไม่รักชาติแท้จริง แต่รักตัวเองมากกว่า ทำอะไรๆ ก็เพื่อตัวเองไม่ได้ทำเพื่อชาติ เพื่อประเทศ เราจึงควรเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ว่า ตัวเรานี้มันเล็กน้อย ชาติใหญ่กว่า เราทำอะไรก็ต้องนึกถึงชาติของเรา ประเทศของเรา เวลานี้เราต้องการคนรักชาติ รักประเทศอย่างแท้จริง เสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะผู้ทำงานในการบริหารประเทศชาติ เช่น ข้าราชการ เห็นแก่ส่วนรวม พึงทำงานนั้นด้วยใจบริสุทธิ์ ยุติธรรม สม่ำเสมอ อย่าทำอะไรด้วยความลำเอียง เพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัว เพราะหลง อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว อย่าเอาตำแหน่งหน้าที่ไปหาผลประโยชน์เข้าข้างตัว อย่าเอาความรู้ความสามารถไปหาผลประโยชน์แต่เฉพาะตัว

พระพุทธเจ้าทรงติไว้ว่า “อัตตัตถะ ปัญญา อสุจีมะนุสสา” บุคคลผู้ใช้สติปัญญาความสามารถเพื่อประโยชน์ตนถ่ายเดียว เป็นคนสกปรก เป็นคนใช้ไม่ได้ เราอย่าอยู่อย่างคนสกปรก ให้อยู่อย่างคนสะอาด ปราศจากสิ่งชั่ว สิ่งร้าย จึงจะเป็นการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางพระพุทธศาสนา อันนี้ เรียกว่า “เรารักชาติ” เห็นแก่ประโยชน์สวนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ใครที่รักชาติเพื่อท้องเพื่อกระเป๋าของตัวก็เลิกรักชาติแบบนั้น เลิกกอบโกยแต่ว่าเริ่มเสียสละเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขส่วนรวม ขอให้มีหลักปรัชญาประจำจิตใจไว้สักหน่อยว่า คนเราเกิดมามือเปล่าตัวเปล่า ตายไปก็มือเปล่า ไม่ได้เอาอะไรไป เราจะโลภโมโทสันอะไรกันนักหนา เราควรจะเกิดมาเพื่อเสริม เพื่อเติม เพื่อแต่งให้ชาติของเราเจริญก้าวหน้าต่อไปดีกว่าที่จะอยู่ด้วยความมักมากอยากได้ จะเป็นประวัติศาสตร์ในทางร้ายไว้ในบ้านเมืองต่อไป

ตื่นแต่เช้า ควรจะอธิษฐานว่า “วันนี้ ข้าพเจ้าจะมีชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ส่วนรวม เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ขอให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นกำลังใจให้แก่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้ามีใจซื่อสัตย์ มีความเข้มแข็งอดทน มีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว” ให้ตั้งใจไว้อย่างนั้น ก็เรียกว่า เรามีพื้นฐานแห่งความรักชาติ รักบ้านเมือง อะไรๆ ก็จะดีขึ้น มีความเจริญก้าวหน้าขึ้น คนมีความรักถูกต้องก็เรียกว่าเป็นคนเจริญ มีคุณธรรม มีวัฒนธรรม มีอะไรๆ ดีงามทั้งนั้น

ประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ต้องการคนดี มีคุณธรรมประจำใจ ขอให้เราตั้งใจที่จะมีความรักเพื่อนมนุษย์ มีความรักพระพุทธศาสนา รักชาติ รักประเทศ รักหน้าที่การงาน รักครอบครัว ให้กันอยู่ด้วยความรักอยู่ด้วยความเตตา ปรารถนาดีต่อกันกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายทุกวันเวลา อย่าอยู่ด้วยความเหี้ยมโหดดุร้าย อย่าอยู่ด้วยความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท ความริษยาอาฆาต จองเวรกับใครๆ เพราะการเป็นอยู่เช่นนั้น เป็นการเป็นอยู่ที่สร้างปัญหา ความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งแก่ตน ทั้งแก่บุคคลอื่น เป็นการทำลายตน ทำลายท่าน เราไม่ได้เกิดมาเพื่อการทำลายกัน แต่เราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือกัน สร้างสรรค์กัน ให้มีความสุขความเจริญ สมปรารถนา

จาก ปาฐกถาธรรม วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2524

วัฒนธรรมชาวพุทธไทย

  1. ขยันขันแข็ง , กล้า , ยอมตายถ้าถูกธรรม
  2. สุภาพ , อ่อนโยน ,เชื่อฟังผู้เฒ่าผู้แก่
  3. กตัญญู : รับรู้คุณ แม้สิ่งไม่มีชีวิต แม้อุปสรรคศัตรู
  4. มีศีล – มีสัตย์ , เปิดเผย – บริสุทธิ์ใจ
  5. ประหยัด – สันโดษ , รู้จักทำสิ่งร้ายให้กลายเป็นดี
  6. มีเมตตา – กรุณา , มีน้ำใจ – ไม่มีเขา ไม่มีเรา
  7. อดกลั้น – อดทน ด้วยใจแจ่มใส , คอยได้ – รอได้
  8. เป็นฝ่ายยอมได้ – ให้อภัยได้ เพื่อให้อะไรๆ มันลงกันได้
  9. ไม่ตามใจกิเลส แต่เลือกข้างถูกธรรม
  10. มีแบบฉบับในเรื่อง กิน – อยู่ – หลับ – นอน เกิด – แก่ – เจ็บ – ตาย เป็นของชาวพุทธเอง

พุทธทาสภิกขุ

  • พุทธธรรมอำนวยพร
    ขออวยพร วอนอ้าง คุณพระพุทธ
    ได้ปกป้อง ผองมนุษย์ โศกกษัย
    ขออ้างคุณ พระธรรม อันอำไพ
    ช่วยคุ้มสัตว์ ทั่วไป ไร้โรคา
    ขออวยพร วอนอ้าง คุณพระสงฆ์
    ช่วยธำรง สุขสันต์ กันทั่วหน้า
    ข้าร่ำร้อง ลำนำ พร่ำภาวนา
    ทั่วโลกา สิ้นทุกข์ ผาสุกเอยฯ

  • พุทธทาสภิกขุ

    แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย