ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

พุทธวิธีควบคุมความคิด

พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีควบคุมความคิด ให้อยู่ในอำนาจใจไว้ว่า ถ้ามีสติรู้ว่ากำลังคิดในเรื่องไม่ควรคิด ซึ่งเมื่อกำลังพูดถึงการแก้โทสะ ก็หมายความได้ถึงเรื่องที่จะทำให้โทสะเกิด หรือเกิดอยู่แล้วแต่น้อยให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีสติรู้ว่ากำลังคิดเช่นนั้น ให้เปลี่ยนเรื่องคิดเสีย เช่น กำลังคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับนาย ก. กำลังเกิดโทสะเกี่ยวกับนาย ก. ก็ให้เปลี่ยนเป็นคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับนาย ข. เสีย โทสะที่กำลังจะเกิดเกี่ยวกับนาย ก. ก็จะดับไป

แต่ถ้าเปลี่ยนเรื่องคิดเช่นนั้น ก็ยังคอยแต่จะย้อนกลับไปคิดเรื่องเก่าที่ก่อให้เกิดโทสะอยู่นั่นเอง ท่านให้พิจารณาโทษของความคิดเช่นนั้น คือ พิจารณาให้เห็นว่า การคิดเช่นนั้นทำให้จิตใจเร่าร้อน ไม่สบาย ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่คิดเช่นนั้นแล้วจะสบาย ตนเองได้ประโยชน์จากความสบายนั้น แม้พิจารณาโทษของความคิดที่ไม่ดีนั้นแล้ว ก็ยังไม่อาจยับยั้งความคิดนั้นให้สงบลงได้ ท่านก็ให้ไม่ใส่ใจเรื่องนั้น คือ พยายามไม่สนใจเสียเลย พยายามลืมเสียเลย แต่ถ้าไม่สำเร็จอีก ลืมไม่ได้อีก คือยังใส่ใจอยู่อีก ท่านให้ใช้ความใคร่ครวญ พิจารณาหาเหตุผลว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น ขณะที่คิดหาเหตุผลอยู่นี้ ความโกรธจะลดระดับความรุนแรงลง

ท่านเปรียบเหมือนคนกำลังวิ่งเร็วก็จะเปลี่ยนวิ่งช้า กำลังวิ่งช้าก็จะเปลี่ยนเป็นเดิน กำลังเดินก็จะเปลี่ยนเป็นยืน กำลังยืนก็จะเปลี่ยนเป็นนั่ง และกำลังนั่งก็จะเปลี่ยนเป็นลงนอน ถ้าทำเช่นนั้นแล้วก็ยังไม่ได้ผล ความคิดเดิมยังไม่หยุดท่านให้ใช้ฟันกัดฟันให้แน่น เอาลิ้นกดเพดานไว้ เช่นนี้ความคิดจะหยุด เมื่อแก้ไขความคิดที่จะนำไปสู่ความมีโทสะได้สำเร็จ คือเลิกคิดในทางที่จะทำให้เกิดโทสะได้ ก็เท่ากับไม่เพิ่มเชื้อแก่ไฟโทสะ ไฟโทสะก็จะเย็นลง และหากบังคับความคิดเสมอๆ จนเคยชิน ให้ไม่คิดไปในทางที่จะทำให้เกิดโทสะ โทสะก็จะลดลง ทำให้ความร้อนในจิตใจเบาบางลง มีความเยือกเย็นเกิดขึ้นแทนที่นั้นแหละจะมีความสุข ทั้งตัวเองและทั้งผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดด้วยทั้งหลาย นับเป็นผลอันน่าปรารถนาที่เกิดจาการบริหารจิตตามหลักพระพุทธศาสนา

 

วิธีที่หนึ่ง:เปลี่ยนความคิด

จะอธิบายในข้อที่ว่า เมื่อโทสะเกิด ให้ใช้สติความระลึกพร้อมทั้งความรู้ตัว กับใช้ปัญญา ความรู้สำหรับพิจารณาให้รู้ความคิดของตน ว่ามีอะไรเป็นนิมิต คือเครื่องหมายกำหนดหรือเรื่องที่กำหนดคิด คำว่านิมิตนี้ใช้ในความหมายหลายอย่าง เป็นวัตถุก็มีเป็นเรื่องจิตใจก็มี เป็นวัตถุก็เช่นลูกนิมิตที่ฝังเป็นเครื่องหมายเมื่อผูกพัทธสีมาในโบสถ์ เป็นเรื่องจิตใจก็ฝังอยู่ในจิตใจ สำหรับจิตกำหนดหมาย คืออารมณ์ที่ได้เห็น ได้ยิน เป็นรูปเป็นเสียง แล้วมาฝังอยู่เป็นนิมิตในใจ เหมือนนิมิตโบสถ์

ให้รู้นิมิตหรืออารมณ์ที่ฝังในใจตนว่าเป็นเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องทำให้เกิดฉันทะ ความพอใจรักใคร่ โทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะ ความหลง ให้รู้ว่าเป็นอกุศลนิมิต คือลูกนิมิตในใจที่เป็นอกุศล เช่น มีโทสะก็หมือนมีลิ่มสลักปักอยู่ในใจ สมมติตนเป็นช่างไม้ เมื่อต้องการถอนสลักที่ปักใจอยู่ ก็ต้องเอาสลักอีกอันมาตอกถอนเอาออก คือต้องหาอารมณ์อย่างอื่นที่จะไม่นำให้เกิดโทสะมาเป็นนิมิตขึ้นในใจ

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องตั้งใจคิดถึงเรื่องอื่นให้แรง เรื่องที่คิดอยู่เกิดอันเป็นเหตุให้เกิดโทสะจะดับได้เมื่อคิดเรื่องใหม่แรงพอ เมื่อเรื่องที่คิดดับ อารมณ์อันเกิดจากเรื่องที่คิดนั้นก็จะดับด้วย คือโทสะดับนั่นเอง วิธีดับโทสะด้วยการเปลี่ยนนิมิต หรือเปลี่ยนเรื่องได้ผลแน่ แต่ก็เป็นการได้ผลชั่วระยะ คือชั่วระยะที่ใจยังไม่คิดเรื่องที่จะนให้เกิดโทสะ ถ้าใจคิดถึงเรื่องใดก็ตามที่จะนำให้เกิดโทสะ โทสะก็จะกลับเกิดได้อีกเพราะวิธีดับชนิดนี้ เป็นวิธีระงับมิใช่เป็นวิธีรักษาให้หายขาด

วิธีแก้กิเลสทุกประเภทรวมทั้งโทสะ ให้ลดน้อยถึงให้หายขาดไปได้นั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้ใช้เหตุผล คือใช้ปัญญา พิจารณาลงไปเป็นเรื่องๆ ว่าอะไรเป็นอะไร ทำไมจึงเกิดขึ้น ควรปล่อยให้เกิดอยู่ต่อไป หรือควรแก้ไขอย่างไร ควรปล่อยวางอย่างไร พิจารณาด้วยปัญญาดังกล่าวนี้ในเรื่องใดก็ตาม หากทำให้เรื่องนั้นคลี่คลายลงได้ เช่น กำลังเกิดโทสะในเรื่องใดอยู่ ทำให้หายได้ด้วยเห็นตามปัญญาพิจารณา โทสะในเรื่องนั้นจะไม่กลับมาเกิดอีก เรียกว่าใช้ปัญญาถอนรากถอนโคนให้เด็ดขาดไป

ตัวอย่างในกรณีที่เป็นคนงานที่มีผู้ร่วมงานหลายคนต้องเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างใกล้ชิด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องทำอะไรไม่ถูกใจกันบ้าง คนโทสะแรงจะหาความสุขได้ยากในที่ทำงานนั้น เพราะจะต้องเกิดโทโสอยู่เสมอ คนนั้นทำงานไม่ดีพอ คนนี้ทำได้ไม่ถูกใจ หรือไม่ก็คนนั้นมีความสามารถน้อยจนทำอะไรแล้วได้ผลออกมาเป็นการยั่วโทสะ รวมความแล้วก็คือ ไม่ว่าใครทำอะไรก็ต้องเกิดโทโสเป็นส่วนมาก

ที่จริงก็อาจเป็นจริงดังนั้น คือบางคนอาจจะทำงานได้ไม่ดีพอ หรือมีความสามารถไม่เพียงพอ แต่ก็อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องทำงานนั้น ผู้ใดจำเป็นต้องร่วมงานด้วย ก็ต้องร่วมงานไป และถ้าหากจะยอมเกิดโทโสเพราะผู้ร่วมงานอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นการบกพร่องของตนเองมิใช่ของผู้ร่วมงานอื่น เพื่อแก้โทสะที่เกิดในกรณีนี้ให้ลดลงหรือหมดไป ไม่ใช่ปล่อยให้ดับไปเป็นครั้งคราว ต้องใช้ปัญญาหาเหตุผล เช่นหาเหตุผลมาอธิบายให้ตัวเองเข้าใจและเห็นใจว่าทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น

ถ้ามีความตั้งใจจริงว่าจะต้องหาเหตุผลมาช่วยตัวเองให้เลิกเกิดโทโสเพราะเขาให้ได้ ก็จะต้องหาเหตุผลได้ เหตุผลที่จะทำให้คนเจ้าโทโสนที่ต้องการจะแก้ไขตนเองจริงๆ ได้รับความสำเร็จมีอยู่มากมาย ในกรณีดังตัวอย่างข้างต้นก็เช่น ให้คิดว่าคนเราเกิดมาไม่เสมอกัน สติปัญญาก็ไม่เท่ากัน ความคิดเห็นก็แตกต่างกัน เขาทำได้เช่นนั้นก็คงสุดความสามารถของเขาแล้ว เขาเห็นว่าดีแล้ว เขาไม่ได้แกล้ง

เขาทำด้วยความตั้งใจดี ผลที่ไม่ถูกใจเรานั้นมิได้เกิดจากเจตนาของเขาเลยสักครั้งเดียว เราจะไปเกิดโทโสให้ร้อนแก่ตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลสมควรทำไม ใจหนึ่งอาจจะแย้งว่า ก็มันยั่วโทโสที่ทำงานเช่นนั้น ใช้ไม่ได้เลย อาจจะแก้ว่า เกิดโทโสแล้วผลงานที่เขาทำดีขึ้นหรือถูกใจหรือ สบายใจขึ้นหรือ ถ้าเกิดโทโสแล้วผลงานของเขาเคยอย่างไรก็อย่างนั้นไม่ดีขึ้น ไม่ถูกใจขึ้น ยังร้อนใจเพราะอำนาจโทสะอีกด้วย เช่นนี้แล้วโทสะช่วยอะไรได้

ใจหนึ่งอาจจะเถียงอย่างดื้อดึงว่า ช่วยไม่ได้ก็ช่าง จะต้องโกรธ อยากทำอย่างนั้นให้ยั่วโทสะทำไม อาจจะตอบว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะยั่วโทสะ เขาอาจจะตั้งใจเอาใจเสียด้วยซ้ำ
 ทำไมเขาจึงจะมาตั้งใจทำงานซึ่งแสดงความสามารถของเขาให้เสียหายไป เขาทำได้เพียงเท่านั้นจริงๆ ให้หาเหตุผลโต้แย้งใจฝ่ายที่คอยจะเข้าข้างโทสะไปเรื่อยๆ ฝ่ายเข้าข้างโทสะแย้งอย่างไร ให้หาเหตุผลมาแก้อย่ายอมจำนน

มีเหตุผลเพียงไร ให้ยกมาแสดงตอบโต้จนฝ่ายเข้าข้างโทสะพ่ายแพ้ นั่นแหละโทสะจะไม่กลับเกิดขึ้นในกรณีนี้อีก จะขาดหายไปได้จริงๆ อย่างแน่นอนเด็ดขาด เกี่ยวกับโทสะที่เกิดในกรณีอื่นทุกกรณี ก็แก้ได้ทำนองเดียวกันนี้ คือให้หาเหตุผลแย้งอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง จนฝ่ายเข้าข้างโทสะจำนน โทสะก็จะดับ และจะเป็นการดับสนิทไปทุกกรณีที่นำมาพิจารณาเหตุผลตอบโต้ขัดแย้งกันดังกล่าว

สามัญชนทุกคนมีโทสะ มีเรื่องที่ทำให้เกิดโทสะกันเป็นประจำ ถ้าต้องการแก้ไขก็จะทำให้สำเร็จด้วยการตอบโต้ฝ่ายเข้าข้างโทสะอย่างไม่ยอมเป็นฝ่ายแพ้ ต้องให้ฝ่ายเข้าข้างโทสะแพ้ให้ได้ โทสะจึงจะดับอย่างไม่กลับเกิดขึ้นอีกเลยในแต่ละเรื่องนั้น ความเย็นใจก็จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ พร้อมกับที่โทสะแต่ละกรณีหมดไป

|| อ่านต่อ >>>

แสงส่องใจ
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร
พุทธวิธีควบคุมความคิด
วิธีสร้างบุญบารมี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย