ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พุทธชยันตี 2600 ปี พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม
ปีพุทธศักราช 2555 มีความสำคัญเพราะเป็นปีครบรอบ 2600 ปีที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
แล้วทรงเมตตาสั่งสอนเผยแผ่อีก 45 ปีจึงปรินิพพาน แล้วจึงเริ่มนับพุทธศักราช
โดยฝ่ายอินเดีย ลังกา นับปีปรินิพพานเป็น พ.ศ.1
ในขณะที่ข้างฝ่ายไทยและประเทศในแถบนี้นับเป็น พ.ศ.1 เมื่อครบรอบปี
ในลังกามีการเฉลิมฉลองเมื่อวิสาขบูชาปีที่แล้ว
อินเดียเริ่มฉลองตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ เรียกกันทั่วไปว่า
พุทธชยันตี หมายถึงการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีต่อความทุกข์
อันหมายถึงกิเลส มาร สิ่งไม่ดีงามทั้งปวง
พระมหาเถระทั้งหลาย อาทิ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)
สมเด็จพระพุทธ-ชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ได้ชี้แนะว่าควรที่ชาวพุทธและชาวไทยจะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองด้วยการช่วยกันเผยแผ่และส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักธรรมของพระพุทธองค์มาปฏิบัติเพื่อการชนะอย่างพุทธะ
คือผู้รู้ ผู้ตื่น และ เบิกบาน ด้วยการเจริญใน ทาน ศีล สมาธิ และ ภาวนา ให้ยิ่ง ๆ
ขึ้น
พุทธชยันตี หรือ สัมพุทธชยันตี (Sambuddha
jayanthi) เป็น เทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาเถรวาท
ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา คำว่า พุทธชยันตี มาจากศัพท์ พุทธ+ชยันตี
(สันสกฤต) ที่แปลว่า วันครบรอบ ในภาษาสันสกฤต พุทธชยันตีจึงแปลว่า
การครบรอบวันเกิดของพระพุทธเจ้าหรือวันครบรอบชัยชนะของพระพุทธเจ้า ก็ได้
โดยคำนี้ใช้เรียกการจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้า เช่น ครบรอบ
2500 ปี แห่งปรินิพพาน หรือ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้
โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชันตี สัมพุทธชยันตี
แต่ทั้งหมดก็คือการจัดกิจกรรมพุทธชยันตี เพื่อ
มุ่งหมายการถวายเป็นพุทธบูชาในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้านั่นเอง
พุทธชยันตี เป็นคำที่ใช้ทั่วไปในประเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า
และผู้นับถือพระพุทธศาสนาในประเทศอื่น ๆ บางประเทศ
โดยใช้คำนี้ในการจัดกิจกรรมวิสาขบูชา โดยวัตถุประสงค์ของพุทธชยันตีในประเทศต่าง ๆ
มุ่งการจัดกิจกรรมเป็นวาระพิเศษตลอดทั้งปีนั้น เช่น การจัดกิจกรรมพุทธบูชา
การปฏิบัติธรรม และการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม
เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธเจ้าในวันวิสาขบูชานั่นเอง
คำว่า สัมพุทธชยันตี หรือ พุทธชยันตี
สันนิษฐานว่าเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500
ในประเทศศรีลังกาและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า
ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
ท่านได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาล
ให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก โดยเรียกว่า การฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ
(2500th Buddha Jayanti Celebration)
โดยนำคำ Buddha Jayanti ซึ่งเป็นคำเรียกวันครบรอบของชาวอินเดียและเนปาลมาใช้
เพื่อให้เกียรติประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธสังเวชนียสถาน
และมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น
เช่น ประเทศ พม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25
พุทธศตวรรษในครั้งนั้น ในประเทศอินเดีย ได้มีการจัดกิจกรรมฟื้นฟูพระพุทธศาสนา
โดยการนำของ ดร.บี.อาร์.อามเพฑกร นำชาวอินเดียประมาณ 2 แสนคน ปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ
การสร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลีเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้
และนอกจากนี้ ฯพณฯ ชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย
ยังได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนพุทธอุบัติภูมิอีกด้วย
ในประเทศพม่า ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างปาสาณคูหาเพื่อการทำฉัฏฐสังคีติสังคายนาพระไตรปิฎก
สำหรับในประเทศศรีลังกา ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง
เพื่อเป็นการประกาศศักยภาพของประเทศศรีลังกาหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ.
2491 ด้วย
โดยในส่วนของประเทศไทย ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ก็ได้มีการฉลองเนื่องในโอกาสพุทธชยันตีนี้ด้วย
โดยจัดเป็นงานฉลองทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย มีการจัดสร้างพุทธมณฑล
การประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ
มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมพระราชบัญญัติล้างมลทิน
มีการออกประกาศพระบรมราชโองการ
พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลสำหรับจัดงานฉลองในครั้งนี้เป็นการชั่วคราวด้วย
นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
เป็นกรณีพิเศษด้วย
ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยที่รัฐบาลมีการออกเหรียญที่ระลึก
และแพรแถบ เนื่องในโอกาสสำคัญทางศาสนา อย่างไรก็ดี การจัดงานครั้งนั้นในประเทศไทย
ได้ใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ" ทำให้คำว่า
"พุทธชยันตี" ไม่แพร่หลายในประเทศไทยเหมือนประเทศอื่น ๆ
ที่มา :
- หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี