ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
ชื่อมหาวัคค์ (เป็นวินัยปิฎก)
การทำกรรมที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม
ภิกษุชื่อกัสสปโคตร เป็นผู้เอื้อเฟื้อดีต่อภิกษุที่เป็นอาคันตุกะ เมื่อมีภิกษุอาคันตุกะมาก็ต้อนรับถวายความสะดวกด้วยประการต่าง ๆ ภิกษุที่มาติดใจพักอยู่ด้วย แต่เมื่อพักอยู่นานไป ภิกษุชื่อกัสสปโคตรก็ไม่ขวนขวายอาหารให้ เพราะถือว่ารู้ทำเลบิณฑบาตแล้ว ถ้าขืนขวนขวายมาก ก็จะต้องรบกวนชาวบ้านเป็นการประจำ.
ภิกษุอาคันตุกะไม่พอใจ สวดประกาศยกเธอเสียจากหมู่ (ลงอุปเขปนียกรรมอย่างผิด ๆ). เธอจึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถาม.
พระองค์ตรัสสั่งให้เธอกลับไปอยู่ที่เดิม ทรงชี้แจงว่า ภิกษุที่ลงโทษเธอนั้น ทำไปโดยไม่เป็นธรรม เธอไม่มีอาบัติอะไร.
ฝ่ายภิกษุพวกที่ลงโทษ ร้อนตัว จึงมาขอขมาต่อสมเด็จพระบรมศาสดา พระองค์ประทานอภัยแล้ว จึงทรงแสดงการทำสังฆกรรมที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมหลายอย่างหลายประการ พร้อมทั้งทรงกำหนดจำนวนสงฆ์ที่ทำกรรมดังนี้
๑. สงฆ์ ๔ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้ เว้นแต่การอุปสมบท, การปวารณา, และสวดถอนจากอาบัติ สังฆาทิเสส. (แสดงว่ากฐินก็ใช้สงฆ์ ๔ รูปได้ แต่อรรถกถาแก้ว่า กฐินต้อง ๕ รูป ซึ่งปรากฏในอรรถกถา เล่ม ๓ เมื่ออรรถกถาแย้งกับบาลี จึงต้องฟังทางบาลี)
๒. สงฆ์ ๕ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้ เว้นไว้แต่การอุปสมบทกุลบุตรในมัธยมประเทศ และการสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส
๓. สงฆ์ ๑๐ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้ เว้นแต่การสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส
๔. สงฆ์ ๒๐ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้
๕. สงฆ์เกิน ๒๐ รูปขึ้นไป ทำกรรมทั้งปวงได้
แต่ทุกข้อนี้ ต้องประชุมพร้อมเพรียงกันโดยธรรม ถูกต้องตามพระวินัย. ครั้นแล้วทรงอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสงฆ์ ๔ รูป ๕ รูป ๑๐ รูป ๒๐ รูป ซึ่งทำกรรมต่าง ๆ กันโดยพิสดาร.
อุกเขปนียกรรม (ยกจากหมู่)
ครั้นแล้วทรงแสดงหลักการลงอุปเขปนียกรรม คือการสวดประกาศยกเสียจากหมู่ ไม่ให้ใครร่วมกินร่วมนอน หรือคบหาด้วย ว่าจะทำได้ในกรณีที่ไม่เห็นอาบัติ, ไม่ทำคืนอาบัติ, ไม่สละความเห็นที่ชั่ว. ต่อจากนั้นทรงอธิบายการทำกรรมที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมแก่พระอุบาลี.
ตัชชนียกรรม (ข่มขู่)
ทรงแสดงหลักการลงตัชชนียกรรม คือการสวดประกาศลงโทษเป็นการตำหนิภิกษุผู้ชอบหาเรื่อก่อการทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์.
นิยสกรรม (ถอดยศหรือตัดสิทธิ)
ทรงแสดงหลักการลงนิยสกรรม คือการถอดยศ หรือตัดสิทธิแก่ภิกษุผู้มากด้วยอาบัติ คลุกคลีกับคฤหัสถ์ในลักษณะที่ไม่สมควร.
ปัพพาชนียกรรม (ขับไล่)
ทรงแสดงหลักการลงปัพพาชนียกรรม คือการไล่เสียจากวัดแก่ภิกษุผู้ประจบคฤหัสถ์ (ยอมตัวให้เขาใช้) มีความประพฤติชั่ว
ปฏิสารณียกรรม (ขอโทษคฤหัสถ์)
ทรงแสดงหลักการลงปฏิสารณียกรรม คือการให้ไปขอโทษคฤหัสถ์แก่ภิกษุผู้ด่า บริภาษคฤหัสถ์
ครั้นแล้วทรงแสดงวิธีระงับการลงโทษทั้งห้าประการนั้น (รายการพิสดารเรื่องนี้ ยังจะมีในพระไตรปิฎก เล่ม ๖ ตอนกัมขันธกะ ว่าด้วยสังฆกรรม เกี่ยวด้วยการลงโทษ).
จัมมขันธกะ(หมวดว่าด้วยหนัง)
เภสัชชขันธกะ (หมวดว่าด้วยยา)
ทรงถอนข้ออนุญาตสำหรับยามข้าวยาก
กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน)
จีวรขันธกะ (หมวดว่าด้วยจีวร)
การทำกรรมที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม
โกสัมพิขันธกะ
พระวินัยเล่มที่ ๑
พระวินัยเล่มที่ ๒
พระวินัยเล่มที่ ๓
พระวินัยเล่มที่ ๔
พระวินัยเล่มที่ ๕
พระวินัยเล่มที่ ๖
พระวินัยเล่มที่ ๗
พระวินัยเล่มที่ ๘