ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
เล่มที่ ๑๐
ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์
๕ ชนวสภสูตร สูตรว่าด้วยยักษ์ชื่อชนวสภะ
( พระสูตรนี้ก็มีข้อความขยายความแห่งมหาปรินิพพานสูตรเช่นเดียวกัน คือเล่าเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสเมื่อประทับ ณ โรงพักคนเดินทาง ทำด้วยอิฐที่นาทิกคาม ระหว่างเสด็จสู่กรุงเวสาลี).
พระอานนท์กราบทูลถามถึงว่า ผู้นั้นผู้นี้ตายไปเกิดที่ไหน และพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นราย ๆ ไป.
ในส่วนที่เกี่ยวกับพระเข้าพิมพิสาร พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า ได้มาปรากฏต่อพระองค์ ประกาศตนว่าไปเกิดเป็นยักษ์ . ชื่อชนวสภะ และว่าตนมีความหวังจะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ( คือพระเจ้าพิมพสารเป็นพระโสดาบันอยู่แล้ว จึงหวังจะได้บรรลุขั้นต่อไป คือการเป็นพระสกทาคามี ได้แก่พระอริยบุคคลผู้จะมาเกิดเพียงครั้งเดียว ) แล้วเล่าว่า ตนเคยไปประชุมที่ธรรมสภาในดาวดึงเทวโลก ได้เห็นว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ซึ่งไปเกิดในที่นั้นรุ่งเรืองเหนือเทพอื่น ๆ ทั้งผิวพรรณ และโดยยศ พร้อมทั้งได้เล่าถึงภาษิตต่าง ๆ ของสนังกุมารพรหม ซึ่งกล่าวในธรรมสภา ในใจความดังต่อไปนี้?-
๑. ผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ทำให้บริบูรณ์ในศีล ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ( สูงสุดในชั้นกาม ) ลงมาถึงชั้นจาตุมหาราช ( เทพประจำทิศทั้งสี่ ) อย่างต่ำที่สุด ก็เป็นคนธรรพ์ ( เทพที่สิงอยู่ ณ ต้นไม้).
๒. อิทธิบาท ( คุณให้บรรลุความสำเร็จ ๔ อย่าง ) ทำให้สมณพราหมณ์ในอดีต อนาคต ปัจจุบันแสดงฤทธิ์ได้ด้วยประการต่าง ๆ .
๓. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้โดยลำดับ ซึ่งการบรรลุโอกาส ๓ เพื่อบรรลุความสุข. โอกาส ๓ คือ ? ๑. คนที่เคยคลุกคลีด้วยกาม ด้วยอกุศลธรรม ภายหลังไม่คลุกคลี ย่อมได้สุขโสมนัส ( สุขกาย สุขใจ หมายถึง บรรลุฌานที่ ๑ ) ๒. คนที่มีเครื่องปรุงกาย เครื่องปรุงวาจา เครื่องปรุงจิตอันหยาบ อันไม่สงบระงับ ภายหลังสงบระงับได้ ย่อมได้สุขโสมนัสยิ่งขึ้น ( หมายถึงได้บรรลุฌานที่ ๒ ถึงที่ ๔ ) . ๓. คนที่ไม่รู้จักสิ่งที่เป็นกุศล , อกุศล , มีโทษ , ไม่มีโทษ , ควรเสพ , ไม่ควรเสพ , เลว , ประณีต , ดำ , ขาว และมีส่วนเปรียบ ตามความเป็นจริง ภายหลังได้สดับอริยธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงรู้จักสิ่งเหล่านั้นตามความจริงก็จะละอวิชาเสียได้ วิชชาก็จะเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีสุขโสมนัสยิ่งขึ้น ( หมายถึงได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล ).
๔. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่างไว้ดีแล้ว ( ทรงแสดงการตั้งสติพิจารณากาย , เวทนา , จิต , ธรรม ทั้งภายในภายนอก ).
๕. ธรรม ๗ ประการ คือ ความเห็นชอบ , ความดำริชอบ , การเจรจาชอบ , การกระทำชอบ , การเลี้ยงชีพชอบ , ความเพียรชอบ , การตั้งสติชอบ เป็นบริขารของสมาธิ เป็นไปเพื่อเจริญสมาธิ ทำสมาธิให้บริบูรณ์ . ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง อันแวดล้อมด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ ชื่อว่าอนิยสมาธิ อันเรียกว่า มีอุปนิสัย ( บริวาร ) บ้าง มีบริขาร (เครื่องประกอบ ) บ้าง.
หมายเหตุ ?- ในพระสูตรนี้ เรื่องที่เกี่ยวกับเทวดาและสวรรค์เป็นเรื่องที่พึงศึกษาและพิจารณา แต่สาระสำคัญได้ว่า อยู่ที่ข้อธรรมอันพึงปฏิบัติที่ย่อไว้ รวม ๕ ข้อดังกล่าวมาแล้ว.
- มหาปทานสูตร สูตรว่าด้วยข้ออ้างด้วยของใหญ่
- มหานิทานสูตร สูตรว่าด้วยต้นเหตุใหญ่
- มหาปรินิพพานสูตร ว่าด้วยมหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
- มหาสุทัสสนสูตร สูตรว่าด้วยพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์
- ชนวสภสูตร สูตรว่าด้วยยักษ์ชื่อชนวสภะ
- มหาโควินทสูตร สูตรว่าด้วยมหาโควินทพราหมณ์
- มหาสมยสูตร สูตรว่าด้วยการะประชุมใหญ่
- สักกปัญหาสูตร สูตรด้วยปัญหาของท้าวสักกะ
- มหาสติปัฏฐานสูตร สูตรว่าด้วยการตั้งสติอย่างใหญ่
- ปายาสิราชัญญสูตร สูตรว่าด้วยพระเจ้าปายาสิ