ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
เล่มที่ ๑๐
ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์
เล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์ เป็นพระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๒)
๔.มหาสุทัสสนสูตร สูตรว่าด้วยพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์
พระสูตรนี้เท่ากับเป็นการขยายความในมหาปรินิพพานสูตร ตอนที่ตรัสตอบพระอานนท์ เรื่องกรุงกุสินาราเคยเป็นราชธานีนามว่า กุสาวตี ซึ่งพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ทรงปกครอง
พระผู้มีพระภาคทรงพรรณาความมั่งคั่งสมบูรณ์ของกรุงกุสาวตี และทรงพรรณนาถึงรัตนะ ๗
ประการ ที่เกิดขึ้นแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักพรรดิ์ คือ??-
๑. จักรแก้ว ซึ่งหมุนไปในทิศต่าง ๆ ได้ นำชัยชนะมาสู่.
๒. ช้างแก้ว เป็นช้างเผือก ชื่ออุโบสถ.
๓. ม้าแก้ว สีขาวล้วน ชื่อวลาหก.
๔. แก้วมณี เป็นแก้วไพฑูรย์.
๕. นางแก้ว รูปร่างงดงาม มีสัมผัสนิ่มนวล.
๖. ขุนคลังแก้ว (คฤปติรตนะ ) ช่วยจัดการทรัพย์สินอย่างเลิศ.
๗. ขุนพลแก้ว ( ปริณายกรตนะ ) . บัณฑิตผู้สั่งสอนแนะนำ
อนึ่ง พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ . ทรงมีความสำเร็จ ( ฤทธิ์ ) ๔ ประการ คือ ?-
๑. รูปงาม
๒. อายุยืน
๓. มีโรคน้อย
๔. เป็นที่รักของพราหมณ์และคฤหบดี ( ประชาชน ).
นอกจากนั้นยังทรงพรรณนาถึงสระโบกขรณี, ทรัพย์สิน , ปราสท อันวิจิตรงดงามน่าชื่นชม.
การบำเพ็ญฌานและพรหมวิหาร
ครั้นแล้วทรงแสดงว่าพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ทรงเห็นว่า ผลดีต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะผลแห่งกรรมดีคือทาน ( การให้ ) ทมะ ( การฝึกจิต ) และ สัญญมะ ( การสำรวมจิต ). จึงทรงบำเพ็ญฌานสงบความตรึกทางกาม ความตรึกทางพยาบาท และความตรึกทางเบียดเบียน ได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ ทรงแผ่พระมนัสอันประกอบด้วยเมตตา ( คิดให้เป็นสุข ) กรุณา ( คิดให้พ้นทุกข์ ) มุทิตา ( พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) และอุเบกขา ( วางใจเป็นกลาง ) ไปทั่งสี่ทิศ.
ทรงสั่งลดการเข้าเฝ้าให้น้อยลง ( เพื่อทรงมีเวลาอบรมทางจิตใจได้มากขึ้น ) ภายหลังพระราชเทวีพระนามว่า สุภัททา สั่งจัดจตุรังคินีเสนา ( ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ ทัพเดินเท้า ) ซึ่งขุนพลแก้วก็จัดให้ พระนางเดินทางไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ขอให้ทรงเห็นแก่สมบัติ เห็นแก่ชีวิต . แต่กลับตรัสตอบขอให้พระราชเทวีทรงขอร้องใหม่ในทางตรงกันข้าม คืออย่าเห็นแก่สมบัติ อย่าเห็นแก่ชีวิต เพราะการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นของธรรมดา การตายของผู้มีความกังวล ห่วงใย เป็นทุกข์ และถูกติเตียน.
พระราชเทวีก็ทรงกรรเเสง และฝืนพระหฤทัย เช็ดน้ำพระเนตร ขอร้องใหม่ ตามที่พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงแนะนำนั้น และต่อมาไม่ช้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะก็สวรรคต และเข้าถึงพรหมโลก เพราะเจริญพรหมวิหาร.
ตรัสสรุปเป็นคำสอน
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสสรุปว่า พระองค์เองได้เป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์นั้น พรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วยสมบัตินานาประการ แม้จะมีนครอยู่ในปรกครองมากหลาย . ก็อยู่ครอบครองได้เพียงนครเดียว คือนครกุสาวตี. แม้จะมีปราสาทมากหลาย แต่อยู่ครอบครองได้เพียงปราสาทเดียว คือธัมมปราสาท . แม้จะมีเรือนยอดมากหลาย แต่ก็อยู่ครอบครองได้เพียงหลังเดียว คือเรือนยอดชื่อมหาวิยูหะ. แม้จะมีบัลลังก์มากหลาย แต่ก็ได้ใช้คราวละเพียงบัลลังก์เดียว. แม้มีช้างมากหลาย แต่ก็ขี่ได้เพียงคราวละตัวเดียว คือพญาช้างอุโบสถ. แม้จะมีม้ามากหลาย แต่ก็ขึ้นขี่ได้เพียงละคราวเดียว คือพญาม้าวลาหก. แม้จะมีรถมากหลาย แต่ก็ขึ้นสู่ได้เพียงคราวละคันเดียว คือรถเวชยันต์. แม้จะมีสตรีมากหลาย แต่ก็มีสตรีที่ปฏิบัติรับใช้เพียงคราวละคนเดียว. แม้จะมีคู่ผ้า ( ผ้านุ่งผ้าห่ม ) มากหลาย แต่ก็นุ่งห่มเพียงคราวละคู่เดียว. แม้จะมีถาดอาหารมากหลาย แต่บริโภคได้อย่างมากเพียงจุทะนานเดียว พร้อมทั้งกับข้าว. ดูเถิด อานนท์ ? สังขารทั้งปวงเหล่านั้น ล่วงไปแล้ว ดับแล้ว ปรวนแปรแล้ว. สังขารไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าวางใจอย่างนี้ จึงควรที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ควรเพื่อจะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะพ้นไปเสีย.
- มหาปทานสูตร สูตรว่าด้วยข้ออ้างด้วยของใหญ่
- มหานิทานสูตร สูตรว่าด้วยต้นเหตุใหญ่
- มหาปรินิพพานสูตร ว่าด้วยมหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
- มหาสุทัสสนสูตร สูตรว่าด้วยพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์
- ชนวสภสูตร สูตรว่าด้วยยักษ์ชื่อชนวสภะ
- มหาโควินทสูตร สูตรว่าด้วยมหาโควินทพราหมณ์
- มหาสมยสูตร สูตรว่าด้วยการะประชุมใหญ่
- สักกปัญหาสูตร สูตรด้วยปัญหาของท้าวสักกะ
- มหาสติปัฏฐานสูตร สูตรว่าด้วยการตั้งสติอย่างใหญ่
- ปายาสิราชัญญสูตร สูตรว่าด้วยพระเจ้าปายาสิ