ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๖
เล่มที่ ๓๙
๓. อินทริยยมก
( ธรรมที่เป็นคู่คืออินทรีย์ ได้แก่ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน )
๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยบัญญัติ
อินทรีย์มี ๒๒ มีอินทรีย์คือตา เป็นต้น มีอินทรีย์ของพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้สัจจธรรมเป็นที่สุด ( ดูรายละเอียดที่พระอภิธรรมเล่ม ๒ ) ในหัวข้อ ๕. อินทริยวิภังค์ แจกอินทรีย์
ก. อุทเทส หรือบทตั้ง
ตาเป็นอินทรีย์คือตา อินทรีย์คือตา เป็นตา ; หู เป็นอินทรีย์คือหู อินทรีย์คือหู เป็นหู ; จมูก เป็นอิทรีย์คือจมูก อินทรีย์คือจมูก เป็นจมูก ฯ ล ฯ.
ข. นิทเทส หรือบทอธิบาย
ตาเป็นอิทรีย์คือตาใช่หรือไม่ ? ตา คือตาทิพย์ ตาปัญญา มิใช่อินทรีย์คือตา ส่วนอินทรีย์คือตา เป็นตาด้วย เป็นอินทรีย์คือตาด้วย . อินทรีย์คือตา เป็นตาใช่หรือไม่ ? ใช่ . หู เป็นอินทรีย์คือหูใช่หรือไม่ ? หูที่เป็นหูทิพย์ ที่เป็น ตัณหาโสตะ ( กระแสคือตัณหา ) ไม่ใช่อินทรีย์คือหู ส่วนอินทรีย์คือหู เป็นหูด้วยเป็นอินทรีย์คือหูด้วย . อินทรีย์คือหู เป็นหูใช่หรือไม่ ? ใช่ จมูก เป็นอินทรีย์คือจมูกใช่หรือไม่ ? ใช่ . อินทรีย์คือจมูก เป็นจมูกใช่หรือไม่ ? ใช่ ฯ ล ฯ
๒. ปวัตติวาร วาระว่าด้วยความเป็นไป
อินทรีย์คือ ตา เกิดขึ้นแก่ผู้ใด อินทรีย์คือ หู ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ผู้กำลังเกิดเป็นสัตว์ที่มีตา แต่ไม่มีหู อินทรีย์คือตาย่อมเกิดขึ้น แต่อินทรีย์คือหูย่อมไม่เกิดขึ้น. ผู้กำลังเกิดเป็นสัตว์ที่มีทั้งตาทั้งหูทั้งอินทรีย์คือตาอิทรีย์คือหูย่อมเกิดขึ้น . อนึ่ง อินทรีย์ หู เกิดขึ้นแก่ผู้ใด อินทรีย์คือ ตา ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ? ผู้กำลังเกิดเป็นสัตว์ที่มีทั้งหู แต่ไม่มีตา อินทรีย์คือหูย่อมเกิดขึ้น แต่อินทรีย์คือตาย่อมไม่เกิดขึ้น. ผู้กำลังเกิดเป็นสัตว์ที่มีทั้งหูทั้งตา ทั้งอินทรีย์คือหูทั้งอินทรีย์คือตาย่อมเกิดขึ้น ฯ ล ฯ
๓. ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้
ผู้ใดกำหนดรู้อินทรีย์คือ ตา ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้อินทรีย์คือ หู ใช่หรือไม่ ? ใช่ อนึ่ง ผู้ใดกำหนดรู้อินทรีย์คือ หู ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้อินทรีย์คือ ตา ใช่หรือไม่ ? ใช่ .
ผู้ใดกำหนดรู้อินทรีย์คือ ตา ผู้นั้นย่อมละได้ซึ่งอินทรีย์คือ โทมนัส ( ความเสียใจ ) ใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ . อนึ่ง ผู้ใดละได้ซึ่งอินทรีย์คือ โทมนัส ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้อินทรีย์คือ ตา ใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่ ฯ ล ฯ
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๙
- จิตตยมก
- ธัมมยมก
- อินทริยยมก