ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

ชาติก่อนมีจริงหรือ

บทความโดย หลวงพ่อปราโมทย์

ในช่วงที่ผู้เขียนเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นช่วงที่แนวความคิดของท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ มีอิทธิพลต่อนักศึกษาอย่างสูง หลักการสำคัญของแนวทางนี้ก็คือ ท่านเน้นที่การดับทุกข์ในปัจจุบัน ทำให้ลูกศิษย์ซึ่งฟังคำสอนอย่างไม่รอบคอบเข้าใจว่า ท่านอาจารย์ปฏิเสธเรื่องชาติก่อนและชาติหน้า คิดว่าท่านอาจารย์เชื่อว่าตายแล้วสูญ คิดว่าท่านอาจารย์เห็นว่า โอปปาติกสัตว์ เช่นเทวดาและพรหม ไม่มีจริง และทุกอย่างที่แปลกๆ จะถูกอธิบายด้วยเรื่องภาษาคน ภาษาธรรม เช่นอธิบายว่าสวรรค์คือจิตที่เป็นสุข นรกคือจิตที่เป็นทุกข์ อธิบายว่าพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานในวันเดียวกัน หมายถึงว่าการตรัสรู้ คือการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า และกิเลสก็นิพพานจากพระทัยของท่านในขณะเดียวกัน เป็นต้น มีการตีความธรรมะออกไปอย่างกว้างขวางและสมเหตุสมผล รวมทั้งสอนกันเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวง

ผู้เขียนเป็นศิษย์หน้าโง่ของท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างเต็มภูมิ ตอนนั้นเชื่อสนิทว่า เมื่อตายแล้วก็สูญ พระไตรปิฎกตัดทิ้งเสียบ้างก็ได้ พระพุทธรูปก็ไม่ต้องไหว้ เพราะเป็นก้อนอิฐและทองเหลือง ตอนไปบวชที่วัดชลประทานก็ได้รับคำสอนว่า ให้รู้จักถือศีลอย่างฉลาด กิเลสก็เลยพาฉลาดแกมโกงไปเลย เช่นฉันข้าวจนเกือบๆ จะเที่ยง เพราะไม่ถือมั่นในสิ่งทั้งปวง

ขนาดรู้เห็นภพภูมิต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก แต่พอเป็นวัยรุ่นที่ร้อนแรงเข้า กลับเชื่อลัทธิวัตถุนิยมเต็มหัวใจ ความน่ากลัวของสังสารวัฏนั้น มันน่ากลัวขนาดนี้ทีเดียวครับ คืออาจจะหลงผิดเมื่อไรก็ได้ แล้วแต่ความคิดปรุงแต่งจะพาไป

บุญที่ผู้เขียนได้พบท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ท่านได้กรุณาชี้แจงให้ฟังว่า ผู้เขียนกำลังหลงผิดด้วยอุทเฉททิฏฐิ (คือเชื่อว่าตายแล้วขาดสูญ) ผู้เขียนจึงเริ่มเฉลียวใจ หันมาศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ด้วยจิตใจที่เปิดกว้างกว่าเดิม แทนที่จะเชื่อตามๆ ที่ได้รับคำบอกเล่ามา ตั้งใจอ่านพระไตรปิฎกจนจบ ส่วนใดสงสัยก็กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุชีพฯ เรื่อยมา

เมื่อได้ครูบาอาจารย์ทางปฏิบัติอย่างหลวงปู่ดูลย์ และหลวงปู่เทสก์ และปฏิบัติอย่างจริงจังจนเข้าใจจิตตนเองอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ผู้เขียนจึงทราบว่า ชาติก่อนและชาติหน้ามีจริง แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจมาแต่เดิมว่า พอร่างกายแตกดับ จิตก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ ซึ่งทัศนะนั้นเกิดจากความเห็นผิดว่าจิตเป็นอัตตา

 

เหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนเชื่ออย่างหมดใจก็คือ เมื่อผู้เขียนมีสติระลึกรู้ลงในกายในจิตของตนเอง ผู้เขียนเห็นสันตติ คือเกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลาของรูปและนาม เหมือนสายน้ำที่ไหลผ่านมาอย่างไม่ขาดสาย ส่วนที่ดับไปแล้วก็เป็นอดีต หาประโยชน์อะไรไม่ได้ ส่วนที่ยังมาไม่ถึง แต่มีเหตุปัจจัยอยู่ มันก็จะต้องมาถึงในอนาคต จะห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้นก็ไม่ได้ ส่วนปัจจุบันเองก็สั้นจนหาระยะเวลาไม่ได้ แม้จะมีอยู่ ก็เหมือนไม่มีอยู่ เพราะจับต้องอะไรไม่ได้เลย เพียงแต่ปรากฏแล้วก็ผ่านไป ๆ เท่านั้น ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย จึงเป็นไปด้วยอำนาจของสัญญาและสังขาร คือตามหลงสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้วบ้าง เพ้อเจ้อไปถึงสิ่งที่เป็นอนาคตบ้าง ส่วนปัจจุบันจริงๆ เหมือนความกว้างของเส้นๆ หนึ่ง คือไม่มีความกว้างพอที่สิ่งใดจะตั้งลงได้ เว้นแต่มหาสติเท่านั้น ที่จะหยั่งลงในปัจจุบันได้

ผู้เขียนเป็นคนมีความจำดี เรื่องที่ผ่านมาแล้วบางเรื่อง ที่เป็นอารมณ์อันรุนแรงประทับใจ ก็ยังจำได้แม้วันเวลาจะผ่านไปนานนักหนาแล้ว สิ่งนี้เป็นเครื่องมือเฉพาะตัว ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าชาติก่อนมีอยู่ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นตามได้ ผู้เขียนจึงไม่เคยเปิดเผยมาก่อน นอกจากกับคนใกล้ชิดจริงๆ เท่านั้น ไม่เหมือนการตามรู้วาระจิตผู้อื่น ซึ่งผู้ถูกรู้สามารถเป็นพยานให้กับผู้เขียนได้ แต่เนื่องจากในลานธรรมแห่งนี้มีแต่กัลยาณมิตร ปรึกษากับคุณดังตฤณแล้ว ก็เห็นว่าน่าจะพูดกันได้บ้าง

ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างเล็กน้อย เพียง 3 ชาติสุดท้ายนี้ ในช่วงประมาณสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ผู้เขียนบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำใกล้จังหวัดนนทบุรี จิตใจในชาตินั้นท้อแท้ต่อการค้นหาสัจจธรรมอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะหันหน้าไปทางใด ก็มีแต่ผู้ไม่รู้เหมือนๆ กัน ความทอดอาลัยนั้น ทำให้กลายเป็นพระขี้เกียจ วันหนึ่งๆ เอาแต่นั่งเหม่ออยู่ที่ศาลาท่าน้ำบ้าง ดูพระอื่นแกะสลักไม้ทำช่อฟ้าและหน้าบันบ้าง

ในชาตินั้นผู้เขียนอายุสั้น ด้วยผลกรรมในอดีตห่างไกลมาแล้ว จึงเป็นลมตกน้ำตายตั้งแต่ยังหนุ่ม และเพราะอกุศลกรรมที่สั่งสมในการปล่อยจิตหลงเหม่อไปเนืองๆ ประกอบกับที่เป็นพระขี้เกียจ ฉันข้าวของชาวบ้านโดยไม่ทำประโยชน์ใดๆ ผู้เขียนจึงพลาดลงสู่อบายภูมิ ไปเกิดเป็นวัวของชาวบ้านข้างวัดนั้นเอง และถูกนำตัวมาถวายวัด กลับมาอยู่ในวัดเดิมในฐานะใหม่

เมื่อสิ้นอายุขัยลง ผู้เขียนได้ตามครูบาอาจารย์ไปเกิดทางตอนใต้ของจีน แซ่ฉั่ว ชื่อเอ็ง ต่อมาได้บวชเป็นเณรในวัดเซ็นอยู่บนเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง ผู้เขียนก็หัดดูจิตอยู่เสมอๆ ตอนเป็นหนุ่มขึ้นมาเกิดไปหลงรักสาวซึ่งถวายดอกลิลลี่มาให้ ประกอบกับทางบ้านไม่มีผู้สืบตระกูล จึงลาสิกขากลับมาทำนา เรื่องนี้ชาวบ้านไม่ค่อยชอบใจอยู่แล้ว เพราะพระจีนนั้นเมื่อบวชแล้วมักนิยมบวชเลย นอกจากนี้ ผู้เขียนยังทำตัวไม่เหมือนชาวบ้านทั้งหลาย ซึ่งนอกจากจะทำนาแล้ว เพื่อนบ้านยังเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และจับปลา ส่วนผู้เขียนสมาทานมั่นในศีลสิกขา แม้จะอดอยากเพียงใดก็ไม่ยอมฆ่าสัตว์ ชีวิตความเป็นอยู่จึงแร้นแค้นกว่าคนอื่นๆ และเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของชาวบ้านทั่วไป ว่าเป็นคนไม่รู้จักทำมาหากิน กระทั่งพวกเด็กๆ เมื่อเจอผู้เขียน ก็ร้องเป็นเพลงเล่นว่า ฉั่วเอ็งเป็นคนประสาท ฉั่วเอ็งเป็นคนอ่อนแอ ผู้เขียนถือมั่นในศีลอยู่ท่ามกลางแรงกดดันนั้นด้วยความอดทนอย่างยิ่ง

ต่อมาเกิดฝนแล้งต่อกัน 2 - 3 ปี คราวนี้ทั้งหมู่บ้านเผชิญกับความอดอยากอย่างยิ่ง กระทั่งคนที่เคยจับปลาก็ไม่มีปลาให้จับ ถึงตอนนั้นชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจำต้องทิ้งถิ่นเข้าไปหางานทำในเมือง ผู้เขียนและครอบครัวก็ไปกับเขาด้วย และไปพบการเกิดจราจลในเมือง พลอยถูกลูกหลงตายไปด้วย

ในบรรดาศิษย์ของหลวงปู่ดูลย์นั้น มีพระที่ทรงอภิญญาเลื่องชื่ออยู่หลายองค์ เช่นหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และเจ้าคุณโชติ แห่งวัดวชิราลงกรณ์ ส่วนในบรรดาศิษย์รุ่นหลัง ที่จะหาผู้ทรงอภิญญาเสมอด้วยหลวงพ่อกิม ทีปธัมโม แห่งวัดป่าดงคู ผู้เขียนยังไม่เคยพบเลย

หลวงพ่อกิมสนิทกับผู้เขียนมาก แต่ท่านก็ไม่ค่อยยอมเล่าเรื่องแปลกๆ ให้ผู้เขียนฟังอย่างเปิดเผย เพราะติดด้วยพระธรรมวินัย แต่ถ้าแสดงธรรมอยู่แล้วพาดพิงไปถึง ท่านก็จะยอมเล่าให้ฟัง

เคยถามท่านว่า อะไรเป็นเหตุให้ท่านเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ ท่านตอบว่า ท่านเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด บางชาติเกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ บางชาติตกนรกหมกไหม้ หรือมาเป็นสัตว์เดียรัจฉาน มีชาติหนึ่งเกิดเป็นวัว เจ้าของเอาไปผูกกับหลักไม้ไว้กลางนาตั้งแต่เช้า แล้วเขาไปทำธุระโดยคิดว่าไม่นานจะกลับมา ปรากฏว่าเขาติดธุระจนเย็นจึงกลับมาพาท่านกลับบ้าน ท่านบอกว่าวันนั้นแดดร้อนจัด ท่านกระหายน้ำทรมานมาก พอเห็นคนเดินผ่านไปมา ก็นึกดีใจว่าเขาคงเอาน้ำมาให้ดื่มบ้าง แต่คนกลับกลัววัวที่ดิ้นไปดิ้นมา ไม่กล้าเข้าใกล้ จนเย็นเจ้าของจึงมาพากลับเข้าคอก

หลังจากท่านทิ้งขันธ์แล้ว พระอุปัฏฐากท่านจึงเล่าเรื่องอันหนึ่งให้ฟังว่า หลวงพ่อกิม ท่านบอกว่าเมื่อชาติก่อนหลวงปู่ดูลย์ และหลวงพ่อกิมเป็นพระจีน ในชาตินี้มาเกิดที่เมืองไทย และมีศิษย์ในยุคนั้นตามมาอีก 10 คน ขณะที่ท่านเล่านั้น เป็นพระ 3 รูป อุบาสก 3 คน และอุบาสิกา 4 คน

สังสารวัฏนี้ยาวนานนัก ไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงกล่าวว่า คนที่มาพบกันนั้น ที่จะไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกันมา หาได้ยากนัก

จากการที่ผมจำอดีตได้ยาวไกลมาก จึงได้ข้อสรุปมาอย่างหนึ่งว่า นิสัยของคนเรานั้น หมื่นปี ก็ยังแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย เว้นแต่จะตั้งอกตั้งใจพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง จึงจะพัฒนาไปในทางที่ดีได้

คนที่เคยขี้เกียจมาอย่างไร ก็มักจะขี้เกียจอย่างนั้น แล้วก็จะขี้เกียจต่อไปอีก คนที่ชอบศึกษาปริยัติธรรม ก็จะชอบศึกษาปริยัติธรรม แล้วชาติหน้าก็จะชอบอย่างนั้นอีก

สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงคนได้เร็วที่สุด คือการเจริญมหาสติปัฏฐาน แต่ถึงจะปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์แล้ว บรรดาวาสนาคือความเคยชินต่างๆ ก็ยังติดอยู่เหมือนเดิม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย