ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อชา สุภัทโท
สงบจิตได้ปัญญา
ตั้งใจในความรู้สึกเฉพาะหน้า อาตมาจะอธิบายการนั่งสมาธิหรือการทำสมาธิหรือการกำหนดจิตต่อไป ขอโยมทั้งหลายนั่งในความสงบ อย่าไปรำคาญในเสียงอาตมาที่แนะนำในการปฏิบัติ ให้มันเป็นคนละอย่าง หูให้ได้ยินจิตใจให้ได้รู้จัก อาตมาว่าอย่างไร ให้จิตเป็นสมาธิอยู่ และความรู้สึกนั้นมันจะรู้สึกของมันเอง การนั่งสมาธินี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกหัดจิตของพวกพุทธบริษัททั้งหลายสมัยนี้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งถึงจะมีศีลมีทาน ก็ยังไม่เป็นบ่อเกิดแห่งความสงบได้อย่างแน่นอน แต่เมื่อเรามาทำจิตของเราให้สงบเรียบร้อย เป็นสมาธิ ปัญญาจึงจะเกิดขึ้นที่จิต ความรู้จะเกิดขึ้นที่จิต สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราดังนั้นวันนี้โยมจึงสัญจรมาจากถิ่นฐานของตน มีศรัทธามีจิตประสงค์ อยากจะมากราบไหว้อาตมาและอยากจะพบหน้าตา ความจริงนั้นมาถึงได้เห็นแล้วก็นึกว่าจะกลับเลยแต่ว่ามันเปลี่ยนจิต อยากจะพบธรรมะคำสั่งสอน อยากฝึกเรื่องการทำสมาธิเพื่อถือเป็นแบบอย่างต่อไป ฉะนั้นจงเตรียมตัวนั่งสมาธิ ขาขวาทับขาซ้ายตั้งกายให้ตรงและให้มีความรู้สึกว่าบัดนี้เราจะทำการปฏิบัติไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องคิดถึงบ้านไม่ต้องคิดถึงช่อง หรือเป็นห่วงนี่เป็นใยนั่น แต่ให้ความรู้สึกว่ามันรู้อยู่ เมื่อนั่งมือขวาทับมือซ้ายขาขวาทับขาซ้ายตั้งกายให้ตรงแล้ว เราก็ต้องเลือกหาว่าอะไรเป็นส่วนใหญ่ในกายของเรานี้ คำตอบก็คือจิต จิตนี้เป็นส่วนใหญ่ มันเป็นส่วนรวมของทุกสิ่งทุกอย่างในสกลกายนี้ คือมีจิตเป็นใหญู่ เราฝากคนก็รู้กันอยู่แล้ว เมื่อมีจิตเป็นใหญ่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็เป็นลูกน้องเป็นบริวารของจิตนั้น เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงจับผู้เป็นตัวการ ผู้เป็นหัวหน้า คือจิตนี้เองมาฝึก
จิตนี้คืออะไร จิตนี้มันก็ไม่คืออะไร จิตนี้มันก็คือจิต เพ่งเอาตัวผู้รู้ ผู้รู้สึกอารมณ์ อย่างอาตมาพูดอยู่นี้ได้ยินด้วยหูก็รู้สึกที่ใจ ผู้รู้สึกนั้นคือใคร ก็คือผู้รู้สึกอันสมมติว่าจิต ผู้รับรู้อารมณ์ต่างๆที่เกิดมาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่แหละผู้รู้ที่เกิดขึ้น นี่ขอให้โยมเข้าใจอย่างนี้ ผู้รู้นี่มีทุกคน มีคำพูดคำหนึ่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า..... ผู้รู้นั่นแหละ เรียกว่าหรือคล้ายว่าเป็นจิต ผู้ที่รับรู้อารมณ์นั้น
จะทำให้จิตมีกำลังต้องออกกำลังทางจิต กำลังของจิตกับกำลังของกายต่างกัน
กำลังของกายต้องเคลื่อนไหวอย่างทางโลกเขาทำโยคะหรือการวิ่งเคลื่อนไหวทำให้กายมีกำลัง
เป็นสิ่งที่ทำให้สุขภาพสมบูรณ์ อันนั้นมันเป็นเรื่องของกาย
ส่วนเรื่องของจิตนั้นมันเป็นนามธรรม มันไม่มีรูปร่างแต่มันมีความรู้อยู่อย่างนั้น
ทีนี้จิตนี้เราไม่ค่อยได้ฝึก ตั้งแต่เราเกิดมาพ่อแม่ก็ฝึกไปทางอื่น
ฝึกไปในทางทำมาหากิน อะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างในทางโลก
ดังนั้นจิตใจของเราทั้งหลายจึงสับสนมาก คือฝึกให้จิตคิดมากๆ อะไรให้มากๆ
ไม่อยู่กับตัวเรา บางทีคิดไปที่ไหนๆยังไม่รู้ตัวเลย นานๆ จึงกลับมารู้ตัวเราทีหนึ่ง
เพราะคิคมากอะไรมากอย่างนั้นจะไม่ให้มันยุ่งเหยิงได้อย่างไร
เพราะเราฝึกมันมาอย่างนั้น พ่อแม่เราก็ฝึกอย่างนั้น
ตัวเราก็ฝึกอย่างนั้นคนอื่นก็ฝึกอย่างนั้น
ผลที่เกิดจากการฝึกมาอย่างนั้นก็เป็นปัญูหาเรื่อยมา ตลอดมา จนทุกวันนี้
เมื่อมีปัญูหาเรื่อยมาก็เป็นคนวุ่นวายตลอดเวลา นั่นเรียกว่าทำจิตไม่ให้มีกำลัง
ให้มีกำลังน้อย อันนั้นมันเป็นเรื่องของจิต
ส่วนทำจิตให้มีกำลังนี้จะต้องทำจิตให้มีสมาธิ สมาธิ แปลว่าความตั้งใจมั่น มั่นในคำใดคำหนึ่ง แม่นในอันใดอันหนึ่ง ยกตัวอย่างวันนี้เราตั้งใจอะไร จะให้มันแน่วแน่ในธรรมอันใด จะยกอันใดขึ้นเป็นหลัก อย่างเรายกเอาอานาปานสติ ลมหายใจของเรานี้เป็นหลัก คือทำความรู้ให้รู้ตามลมหายใจ คติความระลึกได้ สัมปชัญูญูะความรู้ตัว ให้รู้สึกว่าบัดนี้เราทำอะไรทั้งหลับตาและไม่หลับตาให้เรารู้สึกว่ามีลมหายใจนี้เป็นสิ่งสำคัญู เป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมที่สุด แม้เรานอนหลับอยู่เราก็หายใจ เราตื่นอยู่เราก็หายใจ เดินอยู่เราก็หายใจ นั่งอยู่เราก็หายใจ ทำอะไรมันก็หายใจทั้งนั้น อันนี้คือเป็นยอดอาหารทั้งหมด อาหารที่เราท่านสักชั่วโมงสองชั่วโมงมันก็พออยู่ได้ ฉะนั้นขอให้เราเข้าใจอย่างนี้ ดังนั้นควรจะยกเอาความรู้ไว้ที่ลม ดูกันว่าลมมันอยู่ตรงไหน รู้ไหม รู้แล้วมันรู้อย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นเราจะต้องเอาความรู้สึกมาปักเข้าที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากข้างบนสุด คือหมายความว่าลมออกลมเข้าในส่วนจมูกเองให้เป็นอย่างนี้ แต่อย่าไปตั้งใจจนมากมายเกินไป อย่าไปปรับใจจนเกินไปจนเสียอารมณ์เรา ให้กำหนดว่าลมมันออกอย่างนี้ ลมมันเข้าอย่างนี้ แล้วก็สูดลมเข้าไป แล้วก็หายใจออกมา นี่มันคลี่คลายๆอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เมื่อหายใจเข้าไปอีกแล้วก็ปล่อยมันไป ถึงที่สุดแล้วก็อัดลมเข้าไปอีก หายใจออกหายใจเข้าอยู่อย่างนี้
บัดนี้เรารู้จักอะไรมันเป็นอะไร ที่จมูกมันเป็นอย่างไรความรู้สึกมันเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็กำหนดลม คำว่ากำหนดลมนั้นคืออย่าไปบังคับลม หายใจเข้าไปตามสบาย ไม่ให้มันยาวนัก หายใจออก เอาลมออกมา ลมออกอย่าให้มันยาวนัก ลมเข้าอย่าให้มันยาวนัก ให้มันพอดีๆ จะได้ทำความคิดว่ายาวแค่ไหนมันสบาย สั้นแค่ไหนสบาย แรงแค่ไหนสบายค่อยแค่ไหนสบาย สภาพอย่างไรที่มันพอสบายไม่อึดอัดไม่ต้องแต่งลม พอจะรู้ว่าลมหายใจเข้าออกอยู่เสมอ และก็กำชับผู้รู้นั้นให้ไปรู้ลมออกพอดี ลมเข้าพอดี ให้มีสติจับตามลม สูดลมเข้าเราเห็นพุทธ หายใจออกเราเรียกว่าโธ ก็ได้ คือพุทโธนี่เป็นแต่เพียงความรู้สึก ไม่ต้องพูดให้มีเสียง หายใจเข้าเรียกว่า พุทธ หายใจออกเรียกว่า โธ เจริญในใจว่าพุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนี้ เอาสติกำหนด รู้ตามลมหายใจเข้าหายใจออกอยู่อย่างนี้ ไม่ให้นึกไปข้างบนไม่ให้นึกไปข้างล่าง ไม่ให้นึกไปข้างซ้ายไม่ให้นึกไปข้างขวาไม่ให้นึกไปข้างหน้าไม่ให้นึกไปข้างหลัง จิตอยู่กลางๆ คล้ายๆ กับว่าเราเดินทางถึงเมืองหนึ่ง มันเป็นทางสี่แพร่งเราก็ยังอยู่ในวงกลม ข้างซ้ายเราก็ไม่ไปข้างขวาเราก็ไม่ไปข้างหน้าเราก็ไม่ไปข้างหลังเราก็ไม่ไป ทำความรู้สึกเฉพาะจิตใจของเรา ให้หยุดอยู่กับลมอย่างนั้น อยู่กับลม จ่ออยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปข้างหน้าไม่ต้องไปข้างหลัง ไม่ต้องไปข้างซ้ายไม่ต้องไปข้างขวา รู้ลมที่มันออกมาแล้วก็เข้าไป รู้อาการที่มันออกแล้วเข้าอยู่อย่างนั้น
หน้าถัดไป >>
» ตามดูจิต
» ธาตุ 4
» มรรค 8