ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พิธีกรรมทางศาสนา

พิธีทอดกฐิน

            เพื่อให้ทราบสาเหตุที่พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตให้ภิกษุรับกฐิน และต่อมาทายกก็ได้ถือเป็นกุศลกรรมบำเพ็ญสืบต่อกันมา ตราบเท่าทุกวันนี้ เรื่องเดิมมีดังนี้ :-
            ครั้งหนึ่ง   ภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ 30 รูป มีความประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เมืองสาวัตถี จึงพากันเดินทางจากเมืองปาฐาไปเมืองสาวัตถี แต่พอไปถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ในระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ จึงจะถึงสาวัตถี ก็เผอิญถึงวันเข้าพรรษา ภิกษุเหล่านั้นจะเดินทางต่อไปไม่ได้ จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างจำพรรษามีความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้า พอออกพรรษาก็เดินทางไปสาวัตถีโดยเร็ว ในเวลานั้นฝนยังตกมากอยู่ ทางเดินเต็มไปด้วยโคลนตมเปรอะเปื้อน เมื่อมาถึงสาวัตถี ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทราบความลำบากของพระเหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำพิธีกรานกฐิน ในระยะเวลาภายหลังออกพรรษาไปแล้ว 1 เดือน พระภิกษุที่ได้รับกฐินและกรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ 5 ประการ ตามพระวินัยคือ :-
                1. เข้าบ้านโดยไม่ต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
                2. เดินทางไปโดยไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบ
                3. ฉันอาหารโดยล้อมวงกันได้
                4. เก็บจีวรที่ยังไม่ต้องการใช้ไว้ได้
                5. ลาภที่เกิดขึ้น ให้เป็นของภิกษุที่จำพรรษาในวัดนั้น ซึ่งได้กรานกฐินแล้ว
            การที่ผู้มีศรัทธานำผ้าไปถวายพระภายหลังวันออกพรรษาคือ ในระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งเรียกว่า ฤดูทอดกฐิน หรือกฐินกาล นั้น ตามหลักพระวินัย ภิกษุจะต้องนำผ้านั้นมาตัด เย็บ ย้อมตากให้แห้ง ควรแก่การใช้ได้ให้เสร็จภายในวันเดียว
    พิธีของกฐินนี้มีอยู่ 2 ระบบ คือ :-
            1. ระยะทายกนำผ้าไปถวายระยะหนึ่ง ซึ่งตกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันเพ็ญเดือน 12 ภายหลังออกพรรษาแล้ว
            2. ระยะที่พระท่านรับผ้าจากทายกแล้วประชุมกันทำกรรมวิธีการตัดเย็บ ย้อมแล้วกรานกฐินนี้ เป็นระยะหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับฆราวาสประการใดเป็นเรื่องพิธีกรรมทางพระวินัยของสงฆ์โดยเฉพาะ
            อนึ่ง การทอดกฐินนั้น ผู้มีศรัทธาประสงฆ์จะทอดวัดใดก็ตาม ตามธรรมดาจะต้องไปบอกกล่าวให้พระสงฆ์วัดนั้น ๆ ทราบล่วงหน้าก่อน หากไปทอดเฉย ๆ เรียกว่า "กฐินจร"  

ลำดับพิธีถวายกฐิน

            1. นำผ้ากฐินไปวัดที่จะถวาย ถ้ามีการแห่แหนไป เมื่อเข้าไปในวัดแล้วจะนำองค์กฐินเวียนโบสถ์ (วัดหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ) เช่นเดียวกับการนำนาคเวียนโบสถ์ด้วยก็ได้ หรือจะไม่เวียนก็ได้
            2. นำผ้ากฐินพร้อมด้วยบริวารกฐินไปตั้งไว้ ณ สถานที่ที่ถวายให้เรียบร้อย สถานที่ถวาย เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ จงพิจารณาดูว่า ที่ไหนจะเหมาะ (คำว่า เหมาะ หมายถึง ที่กว้างพอที่จะเข้าไปนั่งร่วมอนุโมทนาได้พอสมควร) เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์จะทำพิธีของท่าน (สังฆกรรม) ท่านจะต้องไปทำในโบสถ์เสมอ ทำนอกโบสถ์ไม่ได้ ถ้าวัดไม่มีโบสถ์ก็ต้องทำในเขตแม่น้ำ หรือในเขตสระใหญ่ ๆ
            3. เมื่อเจ้าภาพไปถึงสถานที่ถวายผ้ากฐินแล้ว ให้จุดเทียนธูปสักการะบูชาและกราบพระรัตนตรัยก่อน ดอกไม้ธูปเทียนสำหรับสักการะบูชาพระรัตนตรัยนี้ เจ้าภาพจะนำไปด้วยก็ได้ หรือจะให้คนไปจัดไว้ที่วัดก่อนก็ได้ เรื่องนี้ตามประเพณีนิยมถือกันว่า ไปวัดทั้งทีควรมีดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะบูชาด้วย การนำไปพร้อมกับเจ้าภาพไม่ยุ่งยาก เพียงให้คนถือตามไปมีเทียน 2 เล่ม ธูป 3 ดอก ดอกไม้ 1 กำ ก็พอแล้ว เมื่อไปถึงก็นำไปสักการะบูชา ณ สถานที่จัดไว้ ถ้าให้คนไปจัดไว้ที่วัดก่อน ควรมีโต๊ะสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ปูผ้าขาว ตั้งแจกัน 1 คู่ พร้อมด้วยธูป 3 ข้างหน้าวางหมอนไว้ 1 ใบ ถ้าไม่มีหมอนก็ใช้ ผ้าขาวปูไว้แทน จะใช้ผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดขนาดเหมาะสมก็ได้ เมื่อเจ้าภาพไปถึง ก็ให้จุดเทียนธูปสักการะบูชาพระรัตนตรัยที่จัดไว้นี้ แล้วกราบพระ 3 ครั้ง
            4. ตามประเพณีนิยมในต่างจังหวัด ในบางถิ่น ถ้ามีการทอดกฐินชาวบ้านที่ทำบุญในวัดที่จะทอดนั้น จะพากันไปร่วมอนุโมทนาด้วยเป็นจำนวนมาก เวลาถวายผ้ากฐินก็ร่วมถวายด้วย ถ้าในถิ่นที่ชาวบ้านนิยมประเพณีนี้ก็ควรอนุโลม คือ ใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกกับผ้าไตรกฐิน (อย่าผูกให้แน่นนักจะแก้ออกลำบากให้ผูกเป็นเงื่อนกระตุกได้) เมื่อผูกแล้วโยงมาวงเครื่องบริวารกฐินให้รอบ ที่เหลือจากนั้น ให้ผู้ที่มาร่วมอนุโมทนาถือด้วยกันทุกคน เวลาจะโยงวงบริวารกฐิน ให้เว้นด้ายสายสิญจน์ไว้ในระยะประมาณจากที่ตั้งองค์กฐิน ไปถึงหัวอาสน์สงฆ์ เพราะเวลานำผ้ากฐินไปประเคนนั้น ยังไม่ได้แก้ด้ายสายสิญจน์ออก ประเคนผ้ากฐินแล้วจึงแก้ออก ทั้งนี้ถือกันว่าผู้ร่วมอนุโมทนาได้ประเคนร่วมด้วย เพราะเขาถือกันว่า การทำบุญถ้าได้ประเคนกับมือตนเองได้บุญมาก เรื่องด้ายสายสิญจน์นี้ ถ้าในท้องถิ่นที่ไม่นิยมก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพียงแต่ประนมมือว่าคำถวายตามไปด้วยก็พอแล้ว
            5. เมื่อพร้อมแล้ว ถึงเวลาถวายผ้ากฐิน ให้เจ้าภาพหยิบผ้าห่มพระ (ผ้าห่มพระประธาน) มอบให้แก่มรรคนายก เพื่อนำไปห่มพระประธาน แล้วประเคนตาลปัตรแด่พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน เพื่อท่านจะได้ใช้ในการให้ศีล
            6. มรรคนายกหรือพิธีกรอาราธนาศีล เจ้าภาพพร้อมด้วยผู้มาร่วมอนุโมทนากฐิน ตั้งใจรับศีลโดยพร้อมเพรียงกัน
            7. มรรคนายกหรือผู้ช่วยพิธีกรนำผ้ากฐินมามอบให้ประธาน ส่วนพานแว่นฟ้าที่วางผ้ากฐินนั้น ให้นำไปตั้งไว้เบื้องหน้าพระสงฆ์รูปที่ 2 หรือที่ 3 นับจากหัวอาสน์สงฆ์ เพื่อว่าเมื่อกล่าวคำถวายผ้ากฐินเสร็จแล้ว จะได้นำผ้ากฐินไปวาง ณ ที่นั้น ทั้งนี้หมายความว่าผ้ากฐินตั้งไว้ รวมกับเครื่องบริวารกฐิน การตั้งรวมไว้เป็นหมวดหมู่ก็เพื่อความสวยงาม ไม่ได้ไปตั้งไว้ที่หัวอาสน์สงฆ์ก่อน เมื่อผู้เป็นประธานรับผ้ากฐินแล้ว ให้อุ้มประคองประนมมือหันหน้าไปทางพระปฏิมาประธาน (ในการทอดกฐินนี้ ถ้าสามีภรรยาไปทอดด้วยกัน จะจับผ้ากฐินด้วยกันก็ได้ และก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะว่าได้ทำบุญร่วมกันจริง ๆ ) เมื่อหันหน้าไปทางพระประธานแล้ว ให้ตั้งนะโม ... 3 จบ แล้วหันหน้าไปทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ดังนี้
            (สำหรับวัดมหานิกาย)   "อิมัง   ภันเต,  สะปะริวารัง,  กะฐินะ จีวะระ ทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ" (ว่า 3 หน)
            (สำหรับวัดธรรมยุต)   "อิมัง   ภันเต  สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน  ภันเต, สังโฆ,   อิมัง,  สะปะริวารัง,   กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตตะวา  จะ, อิมินา, ทุสเสนะ กะฐินัง  อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ
            การกล่าวคำถวาย ถ้าจะไม่ว่าคำแปลด้วย ให้ทอดเสียงสองคำสุดท้าย (สำหรับวัดมหานิกาย คือ โอโณชะยามะด้วย) สำหรับวัดธรรมยุตคือ "หิตายะ สุขายะ" ให้ยาวหน่อย เพื่อให้พระสงฆ์สังเกตได้ว่าจบแล้ว ท่านจะได้กล่าวรับด้วยคำว่า "สาธุ" ขึ้นพร้อมกัน
            8. เมื่อกล่าวคำถวายจบ พระสงฆ์รับ "สาธุ" ขึ้นพร้อมกันแล้ว ให้นำผ้ากฐินไปประเคนแด่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ประเคนองค์ที่ 2 หรือองค์ที่ 3 ก็ได้ เพื่อท่านจะได้รับไว้แทนพระสงฆ์ เพราะผ้ากฐินยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อท่านรับแล้ว ต่อไปนี้เป็นเรื่องของพระสงฆ์ ซึ่งจะได้พิจารณามอบผ้ากฐินให้แก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้สมควร
            9. เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีของท่านเสร็จแล้ว ให้มรรคนายก หรือผู้ช่วยส่งไตรคู่สวดให้เจ้าภาพประเคน เพื่อท่านจะได้ออกไปครองผ้าพร้อมกัน (การถวายผ้ากฐินนี้ ถ้าถวายที่วิหาร หรือศาลาการเปรียญ เวลาท่านจะไปทำสังฆกรรมในโบสถ์ ก็ให้ถวายไตรครองพระคู่สวดเสียก่อน ท่านจะได้ครองผ้าในโบสถ์ พร้อมกับองค์ครองกฐินเลยทีเดียว ไม่ต้องกลับมาแล้วให้ท่านครองอีกเป็นการเสียเวลา)
            10. พระสงฆ์ครองผ้ากลับเข้ามานั่งบนอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว มรรคนายกหรือพิธีกรส่งของให้เจ้าภาพประเคน ให้ส่งเครื่องบริวารกฐินถวายองค์ครองให้เสร็จก่อน แล้วประเคนพระคู่สวดพระอันดับตามลำดับ ถ้ามีสามเณรก็ให้มารับไทยธรรมตอนนี้ด้วย การประเคนของพระและสามเณรนี้ เจ้าภาพจะมีใจเอื้อเฟื้อให้ผู้มาร่วมอนุโมทนา ประเคนด้วยก็ได้ ทั้งนี้เฉพาะผู้ที่อยู่ในเครือญาติ หรือผู้ที่เคารพนับถือและรู้จักมักคุ้น
            11. ประเคนเครื่องไทยธรรมเสร็จแล้ว มรรคนายกหรือพิธีกรนำน้ำกรวดไปให้เจ้าภาพ พระสงฆ์อนุโมทนาว่า (ยถา ...) เจ้าภาพกรวดน้ำ ถ้าภาชนะปากแคบ ให้เทโกรกลงในที่รองอย่าเอานิ้วรองรับสายน้ำให้หยดติ๋ง ๆ เมื่อรพสงฆ์ว่า "ยถา....." จบ ให้เทน้ำลงไปในที่รองกรวดให้หมด แล้วประนมมือฟังพระสงฆ์อนุโมทนาต่อไปจนจบ

เสร็จพิธี

            เรื่องการประเคนผ้ากฐินนี้ พระสงฆ์บางวัดรับประเคน แต่มีบางวัดไม่รับ เพราะฉะนั้น ขอให้ส่งผู้แทนไปซักซ้อมเรียนถามเสียก่อน จะได้เป็นการเรียบร้อยด้วยกันทั้งสองฝ่าย   สำหรับวัดที่ท่านไปประเคน ประธารพึงวางผ้ากฐินไว้บนพานแว่นฟ้า ตรงเบื้องหน้าพระสงฆ์เถระนั้น

» พิธีทำบุญทั่วไป

» พิธีทำบุญตักบาตร

» พิธีบรรพชาอุปสมบท

» พิธีศพ

» พิธียกเสาเอก

» พิธีทอดกฐิน

» พิธีถวายสังฆทาน

» พิธีทำบุญวันสงกรานต์

» พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่

» พิธีทำบุญครบรอบ 60 ปี

» พิธีวางศิลาฤกษ์

» พิธีทำบุญเลี้ยงพระ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย