ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน

 พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของ ภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)

            พุทธประวัติสำหรับยุวชนเล่มนี้ แก้ไขปรับปรุงขึ้นมาจากพุทธประวัติต่างประเทศฉบับหนึ่ง ซึ่งแต่งโดย ภิกษุสีลาจาระ (J.F Mc Kechnie) นักศึกษาทางพุทธศาสนาที่รู้จักกันดีทั่วโลกผู้หนึ่ง แต่งขึ้นใช้สำหรับสอนเด็กในลังกา เหตุผลที่ต้องแก้ไขปรับปรุงบางประการนั้น ได้กล่าวไว้ในบันทึกท้ายเล่มของหนังสือเล่มนี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขความขาดแคลนหนังสืออ่านสำหรับยุวชนชาวพุทธในประเทศไทย ไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้
          ทำไมกองตำราของคณะธรรมทานจึงไม่แต่งหนังสือเล่มนี้ขึ้นใหม่เอง โดยไม่ต้องอาศัยฉบับที่กล่าวนั้น ข้อนี้เป็นเพราะรู้สึกเคารพต่อ ความสามารถในการแต่งของผู้แต่งคนที่กล่าวนี้ซึ่งทำไว้เป็นอย่างดี ถึงกับเมื่อได้แก้ไขสิ่งบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นเสียแล้วก็เป็นหนังสือ ที่เหมาะสมที่สุด และเกินความสามารถของพวกเราที่จะทำได้โดยไม่เห็นตัวอย่าง และแม้เห็นตัวอย่างก็ไม่อาจทำได้ดีกว่า ข้าพเจ้าขอประกาศ และเทอดทูนความดีของท่านผู้นี้ในกรณีนี้ไว้ในที่นี้ด้วย และพร้อมกันนี้ขออุทิศส่วนกุศลแห่งการแปลและเรียบเรียงแก้ไขจนสำเร็จรูปเป็น หนังสือเล่มนี้ขึ้นแด่ท่านภิกษุสีลาจาระผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยกุศลเจตนาทั้งสิ้น เพื่อบูชาเกียรติคุณของท่านผู้นี้ไว้ตลอดกาลนาน
          ข้าพเจ้ายอมรับว่าในหนังสือเล่มนี้มีถ้อยคำสำนวนและเนื้อเรื่องที่มุ่งให้เกิดผลทางอารมณ์ทำนองนวนิยายปนอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นผลดี ในทางกล่อมเกลานิสัยยุวชนโดยส่วนเดียว หาโทษอันใดมิได้
          มีเรื่องบางเรื่องที่ผู้อ่านอาจฉงน เช่นกล่าวถึงการหามศพผ่านย่านตลาดและเผากันในลักษณะง่าย ๆ เช่นนั้น เรื่องเช่นนี้ผู้ที่เคยไปอินเดีย มาแล้วย่อมยืนยันได้ว่า แม้กระทั่งในบัดนี้ก็ยังเป็นสิ่งหาดูได้ ไม่ต้องกล่าวถึงพุทธกาลเลย สำหรับเรื่องพระองคุลีมารถูกขว้างบาตรแตกกระจาย ผู้ที่ไม่เคยทราบว่าครั้งพุทธกาลมีการใช้บาตรดินเผากันเป็นปรกติ ก็จะค้านว่ากล่าวพล่อย ๆ เพราะว่าเคยเห็นแต่บาตรเหล็ก ฉะนั้นขอให้ท่าน ผู้อ่านได้ศึกษาในเรื่องนั้น ๆ ให้พอสมควรเสียก่อน ก่อนที่จะวินิจฉัยอะไรโดยผลุนผลัน
          การจัดหน้าหนังสือเป็นข้อ ๆ และมีเลขกำกับข้อนี้เป็นความคิดใหม่ มุ่งหวังให้เกิดความสะดวกในการศึกษาจดจำและอ้างอิง ซึ่งจะทำได้ละเอียด ลงไปกว่าการอ่านเลขหน้า ในการทำปทานุกรมก็ได้อ้างถึงเลขประจำข้อนี้แทนการอ้างถึงเลขหน้า
          เรื่องที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในการทำหนังสือเรื่องนี้ท่านอภิปุญฺโญภิกฺขุได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างมากในการช่วย สอบทานสิ่งที่อาจพลั้งพลาดในการคัดลอกและอื่น ๆ ตลอดจนการพยายามทำปทานุกรมท้ายเล่มขึ้นด้วยความอุตสาหะพากเพียร จนสำเร็จ รูปดังที่เห็นอยู่นี้ ขอบรรดาผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการนี้จงได้อนุโมทนาโดยทั่วกัน
        ในที่สุด คณะธรรมทานมีความหวังว่าหนังสือเล่มนี้จักเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนหนังสืออ่านสำหรับยุวชนชาวพุทธในประเทศไทย ได้บ้างไม่มากก็น้อย พุทธทาส อินทปัญโญ
ในนามกองตำราคณะธรรมทาน
ไชยา
12 สิงหาคม 2497

» กำเนิดพระสิทธัตถะ

» วัยกุมาร

» ในวัยรุ่น

» ในวัยหนุ่ม

» ความเบื่อหน่าย

» การสละโลก

» พระมหากรุณาธิคุณ

» ความพยายามก่อนตรัสรู้

» ประสพความสำเร็จ

» ทรงประกาศพระธรรม

» สิงคาลมาณพ

» สารีบุตรและโมคคัลลานะ

» เสด็จกบิลพัสดุ์

» พุทธกิจประจำวัน

» พระนางมหาปชาบดี

» ปาฏิหาริย์

» พระพุทธดำรัส

» ความกรุณาของพระพุทธองค์

» เทวทัต

» ปรินิพพาน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย