ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน  

พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของ ภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)

 

ตอนที่ 16

ปาฏิหาริย์

       เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปตามชนบทต่างๆ พร้อมกับภิกษุสงฆ์นั้น ทุกแห่งที่พระองค์เสด็จไป ได้มีประชาชนพากันจับกลุ่มเพื่อดูพระองค์ และฟังพระองค์ตรัสและแสดงธรรม มีคนจำนวนมากเลื่อมใสในพระองค์และคำสั่งสอนของพระองค์ จนถึงกับยอมเป็นสาวกของพระองค์ แต่พร้อมกันนั้นก็ยังมีศาสดาสอนศาสนาคนอื่นๆ ซึ่งได้สั่งสอนประชาชนให้เลื่อมใสอยู่ด้วยวิธีการต่างๆ กันอีกมิใช่น้อย และยังมีเจ้าลัทธิบางคนในจำนวนเจ้าลัทธิเหล่านั้น ได้แสดงสิ่งซึ่งประหลาดผิดธรรมดา อันเรียกว่า ปาฏิหาริย์ บางสิ่งบางอย่างในบางครั้ง ได้ทำให้มหาชนแตกตื่นกันไปดู และมีเป็นอันมากที่ได้เลื่อมใส และออกปากสรรเสริญการกระทำเช่นนั้น ได้อยู่เฝ้าคอยฟังคำสั่งสอนของเจ้าลัทธิเหล่านั้น จนกระทั่งกลายเป็นสาวกของเจ้าลัทธินั้นๆ ก็มีอยู่เป็นส่วนมาก
     ภิกษุทั้งหลายได้สังเกตเห็นเหตุการณ์ดั่งนั้น ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอร้องให้พระองค์ทรงกระทำสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ หรือที่เรียกกันว่าปาฏิหาริย์นั้น ให้ปรากฏแก่ประชาชนบ้าง เพื่อประชาชนจักได้เลื่อมใสพอใจและเข้ามาเป็นสาวก โดยทำนองเดียวกับที่เจ้าลัทธิเหล่าโน้นได้กระทำกันอยู่ พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบภิกษุ ซึ่งได้มาทูลขอเช่นนั้นว่า พระองค์ทรงรู้สึกละอายในการที่จะล่อประชาชนให้มีความเชื่อถือ ด้วยการกระทำที่แปลกประหลาดหรือปาฏิหาริย์ทำนองนั้น แต่พระองค์ทรงสามารถทำให้คนเกิดความประหลาดถึงขนาดรู้สึกมหัศจรรย์ในปาฏิหาริย์ที่แท้จริงอย่างอื่น
     พระองค์ได้ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมกระทำปาฏิหาริย์ แต่อย่างเดียวนี้เท่านั้นคือ เมื่อพระตถาคตทั้งหลายเห็นมนุษย์ประกอบไปด้วยกามกิเลสและตัณหา ก็ทรงเปลื้องประชาชนเหล่านั้นออกเสียจากกามกิเลสและตัณหา เมื่อทรงเห็นว่ามหาชนทั้งหลาย ตกเป็นทาสของโทสะและการผูกเวร ก็ทรงเปลื้องประชาชนเหล่านั้นเสียจากการตกเป็นทาสของโทสะและการผูกเวร เมื่อทรงทราบว่าประชาชนบอดเพราะความเขลาและอวิชชา ก็ทรงเปิดตาของคนเหล่านั้น ช่วยให้เขาพ้นจากความเขลาและอวิชชา ซึ่งเป็นความบอดมืดยิ่งเสียกว่าความมืดแห่งราตรี ภิกษุทั้งหลาย ! ปาฏิหาริย์อย่างเดียวดังกล่าวนี้เท่านั้น ที่พระตถาคตทั้งหลายพากันกระทำ ส่วนปาฏิหาริย์อย่างอื่นๆ นั้น ท่านเกลียดชังและประณาม ไม่ยอมกระทำปาฏิหาริย์เหล่านั้น”
     ครั้งหนึ่งมีคนบางคนได้มากราบทูลพระพุทธองค์ว่า ท่านพระปิณโฑละภารทวาชะ มีท่านพระโมคคัลลานะไปเป็นเพื่อนได้กระทำปาฏิหาริย์ด้วยอำนาจฤทธิ์ซึ่งท่านมีมากกว่าพระอรหันต์องค์อื่นๆ โดยเหาะขึ้นไปในที่สูงปลดเอาบาตรใบหนึ่ง ซึ่งมีผู้ให้นำขึ้นไปติดไว้ เพื่อเป็นการทดลองฤทธิ์ของบุคคลผู้มีฤทธิ์ ลงมาได้ พระองค์ไม่ทรงเห็นดีด้วย ในการกระทำเช่นนั้นของพระปิณโฑละภารทวาชะเป็นอันมาก ได้รับสั่งให้ไปตามพระปิณโฑละภารทวาชะ มาพร้อมทั้งบาตรในนั้นด้วย เมื่อท่านพระปิณโฑละภารทวาชะนำบาตรใบนั้นมาถึงแล้ว พระองค์รับสั่งให้ทำลายบาตรใบนั้นเสีย ต่อหน้าพระปิณโฑละภารทวาชะและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย จนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และรับสั่งห้ามมิให้กระทำเช่นนั้นอีกต่อไป พร้อมทั้งทรงบัญญัติว่า ภิกษุทั้งหลายต้องไม่ทำการล่อลวงคนเขลาทั่วๆ ไปให้นับถือบูชา ด้วยการกระทำปาฏิหาริย์ชนิดนั้น ถ้าขืนทำเพื่อให้เขาเลื่อมใสเช่นนั้น จักต้องไม่อยู่ร่วมกับพระองค์หรือภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอีกต่อไป ข้อบังคับอันนี้ได้มีอยู่สืบมาเป็นวินัยข้อสำคัญข้อหนึ่งของภิกษุในพระพุทธศาสนา ห้ามมิให้ภิกษุใดแสดงปาฏิหาริย์ เพื่อให้คนเลื่อมใส เพื่อลาภสักการะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเด็ดขาด


     พระพุทธองค์ไม่ทรงปรารถนาที่จะกระทำให้คนทั้งหลายหลงใหลเลื่อมใสในพระองค์ เพราะการกระทำปาฏิหาริย์ ชนิดซึ่งเป็นที่หลงใหลของคนสามัญทั่วไป แต่ถึงกระนั้นประชาชนได้พากันรู้สึกและเห็นชัดแจ้งขึ้นว่าพระองค์เป็นศาสดาที่แท้จริง และได้พากันแสดงความเคารพนับถือพระองค์ยิ่งขึ้น และได้พากันบำรุงด้วยสมณบริขารอย่างมากมายทั่วไป ทุกหนทุกแห่ง ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม สาวกของเจ้าลัทธิอื่นๆ เกิดความไม่พอใจที่ได้เห็นเช่นนั้น
     ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ และภิกษุได้เสด็จมาถึงนครโกสัมพี ซึ่งมีเจ้าลัทธิผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งอาศัยอยู่ พร้อมด้วยสาวกจำนวนมาก คนเหล่านี้ได้พากันด่าทอพระภิกษุสงฆ์ และบุคคลที่เลื่อมใสในพระพุทธองค์ด้วยถ้อยคำหยาบคายชั่วร้ายต่างๆ นานา พระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์และกราบทูลให้ทรงทราบถึงการที่คนเหล่านั้น ได้พากันคอยด่าทอภิกษุสงฆ์ด้วยถ้อยคำหยาบคายร้ายกาจไปเสียทุกหนทุกแห่ง และโดยเฉพาะเมื่อเวลาออกบิณฑบาต และได้กราบทูลพระพุทธองค์ในนามของภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ขอให้ทรงพาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย เดินทางออกไปเสียจากนครโกสัมพี เพื่อภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจักได้ไม่ถูกด่าทอในเวลาบิณฑบาตทุกๆ วันเช่นนั้นอีก
     พระพุทธองค์ได้ทรงนิ่งฟังท่านพระอานนท์กล่าวจนตลอด และในที่สุดได้ทรงโต้ตอบกับพระอานนท์ ดังต่อไปนี้
     “อานนท์, ถ้าหากว่าเราไปสู่ที่อื่นแล้ว ถูกคนในที่นั้นกระทำทารุณด่าทอต่อเราเข้าอีก จะทำอย่างไรเล่า ”
     “ถ้าเป็นอย่างนั้น พวกเราก็ควรจักไปสู่ที่อื่นต่อไปอีก”
     “ถ้าในที่แห่งใหม่นี้ เราก็ยังถูกด่าทอสบประมาทอยู่นั่นเองเล่า เราจะทำอย่างไรต่อไป ”
     “เราก็จะไปสู่ที่อื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
     พระพุทธองค์ได้ทรงนิ่งอยู่ขณะหนึ่งแล้ว ได้ทรงเหลียวมองดูพระอานนท์ด้วยสายพระเนตรที่อ่อนโยนอย่างยิ่ง และได้ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์, อดทนให้เหมาะๆ เสียสักหน่อยเท่านั้น ก็จะตัดความยุ่งยากลำบากทั้งหมด ในการที่ต้องเที่ยวโยกย้ายไปมาเสียได้โดยสิ้นเชิง มันไม่เป็นที่แน่นอนว่าเราจะหาพบที่แห่งใหม่ ซึ่งไม่มีใครด่าทอในโอกาสข้างหน้า แต่มันเป็นที่แน่นอนว่าเราจะหาพบที่เช่นนั้นได้ในที่ตรงนี้เอง ถ้าหากว่าเราเพียงแต่ประพฤติตนอดกลั้นอดทนกันเสียบ้าง โดยการอดกลั้นอดทนนี่เอง ที่นักปราชญ์ทั้งหลายพากันเอาชนะศัตรูได้โดยสิ้นเชิง”
     “อานนท์เอ๋ย, จงดูช้างซึ่งบุคคลพาเข้าไปสู่สนามรบ มันพุ่งตัวเข้าไปในท่ามกลางการต่อสู้อันชุลมุนวุ่นวาย มันไม่เอาใจใส่ต่อลูกศรหรือแหลนหลาว ซึ่งบุคคลพุ่งซัดเข้ามาโดยรอบตัวมัน มันตั้งหน้ากระโจนเข้าใส่ข้าศึกทำลายสิ่งต่างๆ ซึ่งเข้ามาเผชิญหน้ามันให้ราบเรียบไปหมด อานนท์เอ๋ย, ฉันจักเอาอย่างช้างตัวนั้น ฉันจักอยู่ที่นี่ในเมืองนี้ และจะพยายามเผยแผ่คำสอนที่ถูกต้องด้วยกำลังกายกำลังใจทั้งหมดและจะทำโดยไม่หยุดยั้ง ในการที่จะปลดเปลื้องคนชั่วช้าเหล่านั้นออกมาเสียจากข่ายแห่งกิเลส ซึ่งเขากำลังพากันติดแน่นอยู่ ฉันจะไม่เอาใจใส่แม้แต่หน่อยเดียวในคำกล่าวร้ายของฝ่ายปฏิปักษ์ซึ่งแกล้งกล่าวแก่ฉันและแก่สาวกของฉัน มันเหมือนกับคนที่ถ่มน้ำลายจะขึ้นไปบนฟ้า โดยคิดจะให้ฟ้าเปื้อน เขาจะได้พบความจริงว่าน้ำลายจะขึ้นไปเปื้อนฟ้าไม่ได้ แต่จะกลับตกลงมารดหน้าของผู้ถ่มนั้นเองต่อภายหลังนี้ฉันใด พวกคนที่น่าสมเพช ซึ่งแกล้งด่าทอเรา ก็จักได้ประสพในภายหลังว่า คำด่าทอนั้นจักกลับไปสู่พวกเขา เพราะเราไม่เอาใจใส่ต่อคำด่าทอเช่นนั้น”
     พระพุทธองค์ไม่ทรงกระทำตามคำขอร้องของท่านพระอานนท์ และภิกษุทั้งหลาย ยังคงประทับอยู่ ณ เมืองโกสัมพี และผลแห่งการอดกลั้นอดทนของพระองค์ ก็ได้ปรากฏออกมาอย่างแท้จริง ในเวลาอันไม่นานเลย เมื่อประชาชนชาวนครโกสัมพีทั้งหลายได้พากันเห็นว่า พระองค์และภิกษุสงฆ์มีความอดทนอย่างน่าสรรเสริญต่อถ้อยคำของสาวกแห่งเจ้าลัทธิอื่นๆ โดยไม่ปริปากกล่าวร้ายตอบ แม้แต่คำเดียวเช่นนั้น ก็พากันเกลียดชังนักบวชและสาวกของเจ้าลัทธิอื่นเป็นอันมาก ที่ทำการกล่าวร้ายต่อบุคคลผู้ไม่เคยกล่าวร้ายแก่ใครๆ คนหนุ่มตระกูลสูงแห่งนครโกสัมพีเป็นอันมากพากันนิยมชมชื่น ในการกระทำของพระพุทธองค์ และของภิกษุทั้งหลายที่ได้กระทำเช่นนั้น ได้พากันรับนับถือของพระพุทธองค์ถึงกับออกบวชเป็นภิกษุก็มีอยู่ไม่น้อย
     แต่อย่างไรก็ตาม นักบวชชาวโกสัมพีเหล่านี้ แม้บวชเป็นภิกษุแล้วบางพวกก็ยังไม่อาจละทิ้งนิสัยการทะเลาะเบาะแว้ง ชั่วเวลาไม่นาน ได้มีการทะเลาวิวาทกันเองด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติว่าใครจะปฏิบัติถูกกว่าหรือดีกว่า ในเรื่องกระจุกกระจิกหยุมๆ หยิมๆ พวกหนึ่งถืออย่างหนึ่ง อีกพวกหนึ่งถืออีกอย่างหนึ่ง ไม่ตกลงกันจนวิวาทกัน แม้พระพุทธองค์จะได้ทรงขอร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ระงับการวิวาทเหล่านั้นเสีย เพื่ออยู่กันด้วยความสงบโดยไม่ต้องวินิจฉัยให้แตกหักว่า ใครเป็นฝ่ายผิดและใครเป็นฝ่ายถูก ก็ยังพากันดื้อดึงวิวาทกันเรื่อยไปไม่ยอมหยุด ภิกษุเหล่านี้ไม่เอาใจใส่ในข้อที่พระองค์ได้ตรัสบอกให้ทราบว่า การทะเลาวิวาทมาดร้ายกันนั้น เป็นความผิดความเลวยิ่งไปกว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันเพียงเล็กๆ น้อยๆ อันเป็นมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทกันนั้นเสียอีก
     เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าภิกษุเหล่านั้นไม่เชื่อฟังพระองค์ จนไม่ยอมรับคำแนะนำ พระองค์ก็ได้เสด็จไปเสียจากนครโกสัมพี ทิ้งภิกษุเหล่านั้นไว้เบื้องหลัง เมื่อประชาชนชาวเมืองโกสัมพีได้ทราบว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จไปแต่พระองค์เดียว และภิกษุเหล่านั้นประพฤติตนเป็นคนขี้ทะเลาะเบาะแว้งเหมือนชาวบ้าน ไม่แตกต่างกับชาวบ้าน ก็ได้พากันงดการถวายอาหารบิณฑบาตและการบำรุงอื่นๆ โดยสิ้นเชิง การทำอย่างนี้ได้ทำให้ภิกษุเหล่านั้นสำนึกตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงได้หยุดการวิวาท ทำความปรองดองซึ่งกันและกัน เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์อย่างเคร่งครัด จนกระทั่งพระองค์ได้ทรงยินยอมให้ภิกษุเหล่านั้นอยู่ร่วม และร่วมการเดินทางกับพระองค์สืบไป

» กำเนิดพระสิทธัตถะ

» วัยกุมาร

» ในวัยรุ่น

» ในวัยหนุ่ม

» ความเบื่อหน่าย

» การสละโลก

» พระมหากรุณาธิคุณ

» ความพยายามก่อนตรัสรู้

» ประสพความสำเร็จ

» ทรงประกาศพระธรรม

» สิงคาลมาณพ

» สารีบุตรและโมคคัลลานะ

» เสด็จกบิลพัสดุ์

» พุทธกิจประจำวัน

» พระนางมหาปชาบดี

» ปาฏิหาริย์

» พระพุทธดำรัส

» ความกรุณาของพระพุทธองค์

» เทวทัต

» ปรินิพพาน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย