ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน

พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของ ภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)

 

ตอนที่ 14

พุทธกิจประจำวัน

       พระองค์ได้ทรงทำการเทศนาสั่งสอนมหาชน รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 45 ปี ตลอดเวลาเหล่านี้ พระองค์ได้เสด็จท่องเที่ยวไปในดินแดนแห่งประเทศอินเดียภาคเหนือ ซึ่งบัดนี้เป็นมณฑลอูธและเบ็งกอลเหนือเป็นส่วนใหญ่ นอกจากในฤดูฝนแล้ว พระองค์ไม่ค่อยทรงพักค้างคืนที่ใดเกินกว่า 2-3 คืน ในฤดูฝนอันเป็นเวลาจำพรรษา ส่วนมาพระองค์ประทับอยู่ที่สวนเวฬุวัน ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารน้อมถวาย ใกล้นครราชคฤห์ หรือที่เชตวันซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ใกล้นครสาวัตถี ตลอดเวลาเหล่านี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจประจำวันดั่งนี้ คือพระองค์ทรงตื่นจากบรรทมก่อนเวลารุ่งสาง ทรงชำระพระสรีรกายแล้ว ทรงกระทำสมาธิสอดส่องอุปนิสัยสัตว์ทั้งหลายว่า ผู้ใดมีอุปนิสัยแก่กล้าสมควรได้รับธรรมเทศนาในวันนี้ ก็จักเสด็จไปโปรดเขาในวันนั้น
       ครั้นเวลารุ่งสว่างแล้ว พระองค์ทรงจีวรถือบาตรในพระหัตถ์ เสด็จไปบิณฑบาตตามหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ใกล้ที่ที่พระองค์ประทับ ทอดพระเนตรจับอยู่ที่พื้นดิน จากบ้านโน้นสู่บ้านนี้ ทรงรับอาหารตามแต่ผู้มีใจบุญจะถวายสิ่งใด โดยใส่ลงในบาตรของพระองค์ บางคราวเสด็จไปแต่พระองค์เดียว บางคราวเสด็จไปพร้อมกับภิกษุสงฆ์ เดินเป็นแถวเดียวเรียงองค์ไม่ลักลั่น ทุกองค์ถือบาตรอยู่ในมือ มีกิริยาอาการสงบเสงี่ยม และแช่มชื่นเหมือนกันหมด ในบางคราวมีคนบางคนอาราธนาพระองค์ให้ฉันอาหารบิณฑบาตตามบ้านเรือนเขา ในกรณีเช่นนี้ที่เป็นการสมควรได้ทรงรับอาราธนา ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดถวาย ทรงฉันอาหารจากบาตรที่เขารับไปจากพระองค์ เพื่อบรรจุอาหารที่ดีที่สุดแล้วนำกลับมาถวายแก่พระองค์ เมื่อเสร็จขากการฉันและล้างพระหัตถ์แล้ว พระองค์จักตรัสสนทนากับบุคคลที่อยู่ในที่นั้น โดยทรงแนะนำชี้แจงให้เขารู้จักสิ่งที่ดีและชั่ว ที่เป็นไปเพื่อสุขและทุกข์ ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น ทรงชี้ชวนให้บุคคลเหล่านั้นมีความกล้าหาญในการที่จะปฏิบัติ หลังจากนั้นพระองค์จักเสด็จกลับไปสู่ที่ประทับที่พระอาราม
       ณ ที่นั้น พระองค์จะประทับนั่งเงียบๆ อยู่ในเรือนพักตามโคนต้นไม้ในบริเวณใกล้เคียง ทรงรอคอยจนกระทั่งภิกษุทั้งหลายซึ่งอยู่อาศัยกับพระองค์เสร็จจากการฉันอาหารบิณฑบาตด้วยกันทุกองค์ และพระองค์จักเสด็จไปทรงพักผ่อนในที่ประทับส่วนพระองค์ ทรงล้างพระบาทแล้วเข้าไปสู่ห้องที่ประทับชั่วขณะหนึ่ง เมื่อภิกษุประชุมพร้อมกันในโรงที่ประชุมเพื่อการสนทนาแล้ว พระองค์จักเสด็จไปตรัสข้อความเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเหมาะสมแก่ที่ประชุมนั้น หรือที่ภิกษุเหล่านั้นกำลังพูดค้างอยู่ พระองค์จักทรงเร้าใจให้ภิกษุเหล่านั้นมีความพากเพียรในการศึกษา และการปฏิบัติพระธรรมวินัย ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ลุถึงจุดหมายปลายทาง คือนิพานเสียแต่ในชาติอันเป็นปัจจุบันนี้ทุกคราวไป
       เมื่อพระองค์ตรัสข้อความเหล่านั้นจบลงแล้ว มักจะมีภิกษุบางรูปทูลขอให้พระองค์ทรงบอกข้อธรรมสำหรับการบำเพ็ญภาวนาของตนโดยเฉพาะในข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งเหมาะแก่อุปนิสัยของตน พระองค์ก็จะทรงพินิจพิจารณาและประทานบทธรรมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับภิกษุรูปนั้น จะเป็นบทที่ยากหรือง่ายย่อมแล้วแต่พระองค์จะเห็นสมควรว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้มีความสามารถเพียงใด และได้บำเพ็ญมาแล้วอย่างไร ภิกษุทั้งหลายจักเลิกประชุมเมื่อถึงเวลาสมควร ต่างรูปต่างจักไปสู่ที่สงัด มีโคนไม้หรือป่าไม้หรือเรือนร้างเป็นต้น เพื่อบำเพ็ญภาวนาตามบทธรรมที่ได้รับมาจากพระพุทธองค์ ส่วนพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปสู่ที่ประทับที่เป็นส่วนพระองค์
       หากเป็นฤดูร้อน พระองค์จักทรงพักผ่อนอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จนกระทั่งเพียงพอแก่พระอัธยาศัย ในขณะนี้เป็นโอกาสที่ประชาชนตามหมู่บ้าน หรือจังหวัดใกล้เคียงจักมาเฝ้าพระองค์ในตอนเย็น บางพวกก็นำสิ่งของมาถวาย บางพวกก็มาเพื่อฟังธรรม พระองค์จะแสดงธรรมด้วยพระกิริยาวาจาที่น่าเลื่อมใส โดยวิธีที่จะให้คนทุกคนในที่นั้นได้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน หรือคนมั่งมี คนเรียนมากหรือคนเรียนน้อย ทุกคนในที่นั้นจะรู้สึกราวกะว่าพระองค์ได้ตรัสตอบข้อความเหล่านั้น เพื่อเขาเองโดยเฉพาะจนตลอดเวลา ไม่มีความรู้สึกว่ามีเรื่องอื่นที่ตรัสสำหรับบุคคลอื่นแม้แต่หน่อยเดียว เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว ทุกคนมีความพอใจ และปลาบปลื้มสรรเสริญพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นผู้รับนับถือพระธรรมและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จนตลอดชีวิตต่อพระพักตร์ของพระองค์ ทุกคนกลับไปบ้านด้วยใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรมะที่ตนได้ยินได้ฟังทั้งหมดในวันนั้น
       เมื่อคนเหล่านั้นกลับไปแล้ว พระองค์จักเสด็จไปสู่ที่สรงน้ำแห่งใดแห่งหนึ่งในพระอาราม ถ้ามีสระหรือบึงที่เหมาะสมแก่การสรงในบริเวณใกล้เคียงพระองค์จักเสด็จไปสรง ณ ที่นั้น เป็นการชำระภายในเวลาเย็น หลังจากนั้นแล้วจักทรงพักผ่อนระงับพระทัยด้วยสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเวลาพอสมควร


       ตอนนี้เป็นเวลาเย็นมากแล้ว เป็นโอกาสของภิกษุบางพวกซึ่งไม่ได้อยู่อาศัยกับพระองค์ ได้เดินทางมาจากที่อื่นเพื่อเฝ้าพระองค์เพื่อการเยี่ยมเยียน หรือเพื่อขอรับพระพุทธโอวาทอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความปรารถนา พระองค์ทรงต้อนรับปราศรัยแก่ภิกษุเหล่านั้น และประทานคำสั่งสอนชี้แจงตลอดจนถึงทรงอธิบายธรรมะที่ยากๆ ให้เป็นที่เข้าใจแก่ภิกษุเหล่านั้นจนกระทั่งทูลลาพระองค์กลับไปด้วยความพอใจและร่าเริง
       พระองค์ได้ทรงพยายามกระทำกิจเหล่านี้ ด้วยความกรุณาและความอดกลั้นอดทน และเต็มพระทัยอย่างยิ่ง ตลอดเวลา 45 ปี ที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อภิกษุทั้งหลายเป็นประจำวันทุกๆ วัน มิได้ขาด ในการตอบปัญหาและอธิบายข้อยุ่งยากต่างๆ ไม่เคยมีสักครั้งเดียว ที่พระองค์ได้ทรงขัดพระทัยในการถามของผู้ถาม หรือทรงรำคาญขัดเคืองแก่ผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้ทูลถาม ไม่ว่าเขาจะมาถามอย่างมิตรหรืออย่างศัตรู และไม่มีปัญหาใดๆ ที่มีผู้ถามแล้วพระองค์จะทรงตอบไม่ได้
       พระองค์ทรงพร้อมอยู่เสมอ ที่จะตรัสแก่บุคคลนานาชนิดที่มาเฝ้าพระองค์ ด้วยถ้อยคำอันเหมาะสม ไม่ว่าเขาจะมาถามเพราะอยากรู้อยากเข้าใจหรือว่าจะมาล่อถามให้พระองค์ทรงติดกับจนมุมในถ้อยคำของพระองค์เอง สำหรับผู้ที่มาถามด้วยความอยากรู้ในข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ นั้น พระองค์ได้ประทานคำตอบที่สำเร็จประโยชน์แก่คนเหล่านั้น และเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง สำหรับบางคนที่มาเพื่อท้าทายหรือลองดีกับพระองค์นั้น ก็มีอยู่บ่อยๆ ที่ได้พ่ายแพ้แก่พระปรีชาของพระองค์ จนถึงกับยอมรับนับถือถ้อยคำของพระองค์ หรือยอมบวชเป็นสาวกผู้จงรักภักดีต่อพระองค์จนตลอดชีวิต
       ในตอนพลบ เมื่อทรงเหน็ดเหนื่อยด้วยการนั่งตลอดวัน พระองค์จักทรงดำเนินไปมาในที่ใดที่หนึ่ง ในพระอารามนั้น เพื่อเป็นการบำบัดความเมื่อยขัดที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายของพระองค์ จนกระทั่งมีความสดชื่นและคล่องแคล่วดังเดิม เมื่อได้ทรงจงกรมดังกล่าวนี้ จนพอแก่พระอัธยาศัยแล้ว พระองค์ก็พร้อมที่จะทรงสนทนากับภิกษุสงฆ์อีกระยะหนึ่ง ในตอนค่ำทุกๆ คืน
       ในเวลาจวนดึก เป็นโอกาสที่บุคคลชั้นสูงมีพระราชาแห่งนครนั้นๆ เป็นต้น จะได้พากันไปเฝ้าเพื่อทรงสนทนา และไต่ถามปัญหาบางประการตามที่อยากจะทราบ พระองค์จะตรัสตอบแก้ไขปัญหาของอิสรชนเหล่านั้นจนเป็นที่พอใจและพากันกลับไป ในเวลาอันสมควร หลังจากนั้นแล้ว พระองค์จักทรงพักผ่อนบรรทมหลับด้วยอาการที่เรียกกันว่า ประทับสีหเสยยา คือการนอนตะแคงทางเบื้องขวา มีเท้าซ้อนเหลื่อมกัน มีพระหัตถ์วางพาดไป ตามยาวแห่งลำตัว พระหัตถ์ข้างหนึ่งงอพับเข้ามาวางแนบอยู่ข้างพระเศียร ดังที่จะเห็นได้จากแบบพระพุทธรูปบรรทมทั่วๆ ไป ทรงกำหนดสติในการลุกเมื่อถึงเวลาจะต้องลุก แล้วก็บรรทม พระองค์ทรงตื่นบรรทมในเวลาประมาณ 2 ชั่วนาฬิกาก่อนเวลาย่ำรุ่ง แล้วทรงบำเพ็ญพุทธกิจด้วยการเข้าสมาธิภาวนา ตรวจส่องอุปนิสัยของสัตว์ผู้ควรรับธรรมเทศนาในวันรุ่งขึ้นสืบไปอีก
       ตลอดเวลา 45 พรรษา แห่งการเทศนาสั่งสอนของพระองค์นั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจอย่างครบถ้วน ดังกล่าวนี้ทุกๆ วัน เว้นแต่คราวเดินทาง พระองค์ได้ทรงใช้เวลาของพระองค์ให้หมดไปในการสั่งสอน มิใช่เพียงแต่ทางธรรมะในพระศาสนาเท่านั้น แต่ยังได้ทรงตอบปัญหาและชี้แจงข้อความอันเกี่ยวกับการครองชีวิตอย่างชาวโลก แก่ผู้ที่ประสงค์จะทราบพร้อมกันไปด้วยในหมู่ประชาชน ซึ่งพระองค์ได้เสด็จผ่านไปอย่างเหมาะสมแก่เหตุการณ์และบุคคลในที่นั้นๆ ด้วยพระปัญญาอันรอบรู้และเฉียบแหลมของพระองค์
       ตัวอย่างในเรื่องนี้ คือครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์ประทับอยู่ที่พระอารามเชตวันใกล้เมืองสาวัตถี ประชาชนชาวนครกบิลพัสดุ์และชาวนครโกลิยะกำลังวิวาทกันด้วยเรื่องการทดน้ำเพื่อทำนา เวลานั้น เป็นคราวที่ฝนแล้งไม่ตกเป็นเวลานานเกินไป ลำธารที่มีอยู่ในระหว่างเนื้อนาของชนชาวนครกบิลพัสดุ์และชาวโกลิยะ ได้แห้งขอด จนมีน้ำเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย คนเหล่านั้น ต่างฝ่ายต่างต้องการจะได้น้ำทั้งหมดนั้นมาเป็นของตัว โดยไม่แบ่งให้อีกฝ่ายหนึ่งเลยจึงเกิดทะเลาะวิวาทกัน เตรียมพร้อมที่จะรบกันและฆ่ากันเพื่อให้ได้น้ำตามความต้องการของตน
       ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ล้วนแต่เป็นพระญาติวงศ์ และเป็นบุคคลในประเทศของพระองค์โดยตรง เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าคนเหล่านี้ จะทำการรบพุ่งล้างผลาญพวกโกลิยะ ก็ทรงสังเวชพระทัย ในการที่พระญาติวงศ์ของพระองค์เองจักทำการล้างผลาญผู้อื่น หรือถึงกับล้างผลาญตัวเองด้วยเพื่อประโยชน์แต่น้ำหน่อยเดียว ดังนั้นพระองค์จึงได้เสด็จไปสู่สถานที่ ซึ่งคนทั้งสองฝ่ายกำลังเตรียมอาวุธพร้อมจะประหัตประหารกันอยู่แล้ว เมื่อพระองค์ได้เสด็จไปถึงที่นั่นได้ตรัสแก่คนเหล่านั้นและทรงโต้ตอบกัน ดังต่อไปนี้
       “ดูก่อนเจ้าศากยะ และนักรบทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังเราพูดก่อน ท่านทั้งหลายจงตอบเราตามที่เป็นจริงท่านทั้งหลายเตรียมพร้อมที่จะฆ่าฟันกันและกันด้วยเรื่องอะไร ”
       “เราจะรบกันเพื่อน้ำในลำธารนี้ ซึ่งเราแต่ละฝ่ายต้องการจะได้น้ำไปหล่อเลี้ยงนาอันแห้งแล้งของเรา”เสียงตอบมาจากทั้งสองฝั่งของลำธาร
       “ถูกแล้ว แต่จงบอกเราตามที่เป็นจริงก่อนว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่ากัน ในระหว่างสิ่งทั้งสอง คือน้ำนิดหนึ่งในลำธารนี้ กับโลหิตในเส้นเลือดของคนจำนวนมากโดยเฉพาะก็คือโลหิตในการของบรรดาเจ้าชายและนักรบผู้กล้าหาญทั้งหลายเหล่านี้ ”
       “เลือดในกายของบรรดาเจ้าชายและนักรบทั้งหลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าน้ำในลำธารนี้มากนัก”
       “เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว เป็นการถูกต้องและสมควรหรือ  ในการที่จะนำเอาโลหิตอันมีค่ามากนั้นมาพร่าเสีย เพื่อประโยชน์แก่น้ำอันมีค่าเพียงนิดเดียว ”
       “ข้าแต่พระองค์ เป็นการไม่สมควรจริงๆ มันเป็นการไม่ถูกต้อง ไม่สมควรในการที่จะเอาของมีค่า มาพร่าเสียเพื่อของมีค่านิดหน่อยเช่นนี้”
       “ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ท่านทั้งหลายจงรบความโกรธของท่านทั้งหลายให้ชนะเถิด  จงวางอาวุธสำหรับฆ่าฟันกันนั้นเสีย แล้วมาทำความตกลงกันด้วยความสงบ ในระหว่างพวกท่านผู้ฆ่าความโกรธได้แล้วด้วยกันทุกคน”
       พวกกบิลพัสดุ์และพวกโกสิยะทั้งสองฝ่าย ได้รู้สึกละอายในความโง่เขลาขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเอง ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ให้เห็น จึงได้พากันทำตามคำแนะนำของพระองค์ ทำความตกลงแบ่งปันน้ำให้แก่กันและกันโดยเสมอภาค และอยู่กันอย่างเป็นสุขสืบมา

» กำเนิดพระสิทธัตถะ

» วัยกุมาร

» ในวัยรุ่น

» ในวัยหนุ่ม

» ความเบื่อหน่าย

» การสละโลก

» พระมหากรุณาธิคุณ

» ความพยายามก่อนตรัสรู้

» ประสพความสำเร็จ

» ทรงประกาศพระธรรม

» สิงคาลมาณพ

» สารีบุตรและโมคคัลลานะ

» เสด็จกบิลพัสดุ์

» พุทธกิจประจำวัน

» พระนางมหาปชาบดี

» ปาฏิหาริย์

» พระพุทธดำรัส

» ความกรุณาของพระพุทธองค์

» เทวทัต

» ปรินิพพาน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย