ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน
พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของ ภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)
ตอนที่ 10
ทรงประกาศพระธรรม
ในขณะนี้
พระองค์ทรงมีอาการเปรียบเสมือนบุคคลที่ได้พยายามว่ายน้ำฝ่ากระแสคลื่นลมมาเป็นเวลานาน
จนกระทั่งได้ถึงฝั่งด้วยความปลอดภัย
แล้วนอนลงชั่วครู่หนึ่งเพื่อบรรเทาความเมื่อยล้าของแขนและขา
แล้วยืนมองดูกระแสน้ำ
ซึ่งเต็มไปด้วยภัยอันตรายอันพระองค์ได้ว่ายฟันฝ่ามาด้วยความยากลำบาก
จนกระทั่งถึงฝั่งด้วยความสวัสดี
หรือมิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุคคลซึ่งได้ไต่ขึ้นไปด้วยความยากลำบาก
จนถึงยอดภูเขาสูง มีอากาศเย็นสบายนั่งลงพักเหนื่อย มองดูโดยรอบข้าง
มีความสบายกายและสบายใจ
เหลียวลงมาดูแผ่นดินเบื้องล่างอันเต็มไปด้วยลมร้อนและฝุ่นร้อนที่ตนได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลัง
ก็รู้สึกเป็นสุขใจ
คือบัดนี้ความพยายามฟันฝ่าอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของพระองค์ได้ประสพผลสำเร็จโดยครบถ้วน
ในท่ามกลางความเงียบสงัดของป่าตำบลอุรุเวลานั่นเอง
พระองค์ผู้ทรงประสพชัยชนะในสงครามอันโหดร้ายนี้แล้ว
ได้เสด็จประทับพักผ่อน เสวยวิมุติสุข
คือความสุขเกิดจากความรอดพ้นจากการทนทรมานนานาประการในการต่อสู้กับกิเลส
และได้ทรงลิ้มรสของศานติธรรมอันพระองค์ทรงชนะแล้ว
และเป็นผลของความรู้หรือความจริง ซึ่งพระองค์ได้ทรงประสพในบัดนี้
เมื่อพระองค์ได้เสด็จประทับอยู่ภายใต้ต้นไม้แห่งชัยชนะ กล่าวคือต้นโพธิ์นั้น
จนเป็นที่พอพระทัยแล้ว ก็ได้เสด็จไปยังต้นไทรในบริเวณใกล้เคียงกันอีกต้นหนึ่ง
ซึ่งพวกเด็กเลี้ยงแพะในถิ่นนั้นใช้เป็นที่นั่งพักร้อนเฝ้าสูงแพะในเวลากลางวัน
เมื่อพระองค์กำลังประทับอยู่ ณ ที่นั้น
เผอิญมีพราหมณ์คนหนึ่งผ่านมาทางนั้น ได้ทักทายพระองค์ตามธรรมเนียม
แล้วได้ตั้งคำถามขึ้นถามพระองค์ว่า “ท่านโคดม !
อะไรที่ทำคนให้เป็นพราหมณ์ที่แท้จริงได้
คุณสมบัติอะไรบ้างที่เขาจะต้องแสวงหามาใส่ตน
เพื่อทำให้เขาเป็นบุคคลแห่งวรรณะสูงอย่างแท้จริง ”
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงรู้สึก
หรือไม่ทรงสนพระทัยในความเย่อหยิ่งของพราหมณ์ผู้นั้น
ที่กล่าวแก่พระองค์ด้วยอาการออกชื่อสกุลตรงๆ อันเป็นความไม่เคารพ
แทนที่จะกล่าวด้วยคำเป็นต้นว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า” หรือ
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า”ดังนี้เป็นต้น
พระองค์ได้ตรัสตอบอย่างตรงไปตรงมาด้วยคำซึ่งผูกขึ้นเป็นกาพย์มีใจความว่า
“พราหมณ์ที่แท้จริง คือผู้ที่ลอยบาปเสียได้ทั้งหมด ละความเย่อหยิ่งได้
สำรวมคนได้ ไร้มลทิน รอบรู้และประพฤติพรหมจรรย์
คนเช่นนี้เท่านั้นที่ควรเรียกว่าเป็นพราหมณ์ได้
เขาเป็นผู้ที่ไม่ประพฤติอย่างชาวโลกอีกสืบไป”
พราหมณ์ผู้นั้นได้เดินหลีกไป พร้อมกับบ่นพึมพำกับตัวเองว่า
“พระสมณะโคดมนี้ รู้เรื่องในใจของเรา พระสมณะโคดมนี้ รู้เรื่องในใจของเรา”
ดังนี้
สองสามวันต่อมา
ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังคงประทับอยู่ที่โคนต้นไม้ของเด็กเลี้ยงแพะนั้น
มีพ่อค้า 2 คน ซึ่งนำสินค้ามาขายยังประเทศนี้ได้เดินผ่านมา
เขาได้เห็นพระองค์ประทับนั่งอยู่ใต้ต้นไม้นั้น ด้วยอาการอันสงบและอิ่มเอิบ
เหมือนบุคคลที่ได้ประสพชัยชนะในการต่อสู้อย่างใหญ่หลวงแล้วกำลังพอใจในผลแห่งชัยชนะนั้นอยู่
เขาได้น้อมนำอาหารอย่างดีเข้าไปถวาย
และจับอกจับใจในถ้อยคำและความงามสง่าของพระองค์
และได้ทูลขอร้องให้พระองค์ทรงยอมรับเขาเป็นสาวกผู้นับถือพระองค์
ด้วยเหตุนี้พ่อค้าสองคนนี้ ซึ่งมีนามว่า “ตปุสสะ” และ
“ภัลลิกะ”จึงได้เป็นบุคคลแรกในโลก
ซึ่งได้เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้
เมื่อพระองค์ทรงพักผ่อนเป็นเวลานานพอแก่พระประสงค์แล้ว
ก็ทรงเริ่มพระดำริถึงสิ่งที่พระองค์ควรกระทำต่อไป
พระองค์ได้ทรงพบสิ่งซึ่งพระองค์ทรงแสวงแล้ว
และทรงรู้สึกว่าไม่ควรจะเก็บความรู้อันประเสริฐนี้ไว้เงียบๆ
ควรจะเผยแผ่ให้รู้กันทั่วๆ ไป
เพื่อให้คนเหล่าอื่นมีส่วนได้รับประโยชน์จากความรู้อันประเสริฐนี้ด้วย
พระองค์ทรงดำริเช่นนี้ขึ้นในพระทัยเป็นข้อแรก
แต่แล้วความคิดอีกอันหนึ่งได้เกิดขึ้นขัดขวาง โดยทรงรำถึงแก่พระองค์เองว่า
“สิ่งที่เราได้รู้แล้วนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก
มันเป็นของที่ลึกซึ้งและละเอียดสุขุม คนที่มีความคิดจริงๆ มีปัญญาแจ่มใสจริงๆ
เท่านั้น จึงจะสามารถจับฉวยเอาใจความได้อย่างถูกต้องจนได้รับผล
แต่คนที่มีความคิดและปัญญาอันแจ่มใสนั้นมีอยู่ที่ไหน
คนส่วนมาไม่ประสงค์จะทนความยากลำบากในการคิดและพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้ง
เขาชอบกันแต่สิ่งง่ายๆ ชอบกันแต่สิ่งที่ทำความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่ตน
หัวใจของเขาเอียงไปแต่ในสิ่งซึ่งเขาเห็นว่าจะนำความสนุกสนานบันเทิงเริงรื่นมาให้แก่เขาเท่านั้น
เขาทั้งหมดพากันปล่อยตัวไปในเรื่องความเพลิดเพลินทางกามารมณ์
หากเราจะสั่งสอนธรรมะนี้แก่เขา เขาก็ไม่เข้าใจว่าเราได้พูดถึงเรื่องอะไรกะเขา
เขาจักไม่สนใจ แล้วเราก็จักเหนื่อยเปล่า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริในพระหฤทัยเช่นนี้
จนมีพระทัยน้อมไปในทางที่จะไม่ทรงสั่งสอนสิ่งซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้แก่ผู้ใด
แต่จะทรงเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์แต่ผู้เดียว
เพราะไม่ทรงเห็นว่าจะมีผู้ใดในโลกที่ต้องการจะทราบหรือจะพอใจ
ในเมื่อพระองค์จะบอกเล่าสิ่งนี้ให้แก่เขา แต่อย่างไรก็ตาม
ความดำริของพระองค์หาได้หยุดเสียเพียงเท่านี้ไม่ เพราะถ้าเป็นดังนั้นแล้ว ใครๆ
ก็หามิได้รู้ธรรมะของพระองค์ ดังเช่นทุกวันนี้
พระองค์ได้ทรงพยายามตีปัญหาเรื่องนี้ต่อไปอีก
จนกระทั่งเกิดมีความคิดอันใหม่ขึ้นแก่พระองค์ดั่งต่อไปนี้
“ถูกแล้ว
มันเป็นความจริงในข้อที่ว่าคนแทบทั้งหมดในโลกนี้ไม่ปรารถนาจะฟังธรรมะซึ่งเราได้ค้นพบ
และจะไม่เข้าใจแม้ว่าเราจะได้พยายามบอกกล่าวแก่คนประเภทนี้
เขารักแต่สิ่งที่ง่ายๆ สนุกสนานและไม่ทำให้เขายุ่งยากใจในการคิด
แต่แม้จะเป็นอย่างนั้น คนทุกคนในโลกไม่เหมือนกัน
มีคนบางพวกแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก
ซึ่งกำลังไม่ประสพความพอใจด้วยวิถีแห่งการดำเนินชีวิตชนิดที่เขากำลังกระทำอยู่
เขากำลังต้องการจะรู้ให้มากไปกว่าที่เขารู้อยู่ในบัดนี้
เขาไม่พอใจที่จะดำเนินตนไปในทางที่เอาแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
มันจะเป็นที่น่าสมเพชสักเพียงใดถ้ารู้ธรรม
ซึ่งสามารถนำความสุขกายสุขใจมาให้แก่คนประเภทนี้ได้
แต่แล้วกลับเก็บเงียบไว้ไม่บอกกล่าวให้เขาได้ยินได้ฟังเลย
ไม่ได้ ! เราจักไม่ทำเช่นนั้น เราจักออกไปเดี๋ยวนี้แล้ว
และจะทำคนจำพวกนั้นทุกคนที่เราพบ
ให้ได้รู้ได้เข้าใจถึงความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ซึ่งเราได้ค้นพบแล้ว
คือความจริงเรื่องทุกข์ และต้นเหตุของมัน เรื่องความไม่มีทุกข์เลย
และวิธีที่จะให้ได้รับความไม่มีทุกข์นั้น คนที่ฟังแล้วพอจะเข้าใจได้ก็ยังมีอยู่
แม้จะมีเพียงจำนวนน้อยก็ตาม
มันเหมือนกับในสระบัว ซึ่งมีบัวหลายๆ ชนิดเกิดอยู่ เป็นสีชมพูบ้าง
น้ำเงินบ้าง ขาวบ้าง บัวส่วนมามีดอกอ่อนโผล่ขึ้นมาจากกอ
ซึ่งยังจมอยู่ใต้ดินได้หน่อยหนึ่ง พอพ้นจากโคลนบ้าง
ขึ้นมาได้ครึ่งทางระหว่างพื้นดินกับผิดน้ำบ้าง ขึ้นโผล่มาถึงผิวน้ำบ้าง
ถูกสัตว์กัดกินเสียก่อนที่จะได้บานบ้าง
ส่วนที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำรับแสงแดดเบิกบานอยู่ในอากาศนั้น
มีเป็นจำนวนน้อยกว่าก็จริง แต่ก็ยังมีอยู่! ข้อนี้ฉันใด
สัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น
บางพวกใจของเขาเอาแต่จะจมอยู่ในโคลนแห่งกิเลสแลตัณหา
แต่บางพวกมิได้จมอยู่ในโคลนมากเหมือนอย่างนั้น
มีกิเลสแลตัณหาครอบงำแต่เพียงเล็กน้อย
คนจำนวนหลังนี้เองจะสามารถเข้าใจคำสั่งสอนของเรา
เมื่อเขาได้ยินได้ฟังเราจักออกไปเดี๋ยวนี้ จะต้องให้เขาได้ยินได้ฟัง
และสอนคนทุกคนที่ควรสอน”
พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงเริ่มระลึกว่าพระองค์ควรจะสอนบุคคลใดเป็นคนแรก ซึ่งจะพอใจฟังและเข้าใจได้โดยเร็ว
ลำดับนั้น พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์เก่าของพระองค์เอง คือดาบสชื่อ อาฬาระ กาลามะ
ซึ่งมีความรู้ ความคิด ความเฉลียวฉลาด และความบริสุทธิ์อยู่เป็นอันมาก
แล้วพระองค์ทรงรำพึงแก่พระองค์เองว่า เราจักไปสอนดาบสอาฬาระ กาลามะ ก่อนใครอื่น
ท่านผู้นี้จักเข้าใจได้โดยรวดเร็ว
เมื่อพระองค์ทรงเตรียมพร้อมที่จะเสด็จไปสู่สำนักดาบสอาฬาระ กาลามะ
ก็มีใครบางคนได้มาแจ้งข่าวแก่พระองค์ว่า อาฬาระดาบสนั้นได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว
พระองค์จึงทรงนึกถึงบุคคลอื่นสืบไป ก็ระลึกได้ถึงดาบส อุทกะ รามบุตร
ผู้ซึ่งมีสติปัญญาพอที่จะรู้ธรรมะนี้ได้โดยแล้ว อย่างเดียวกัน แต่ในที่สุด
ก็ทรงทราบว่าดาบสผู้นี้ถึงแก่กรรมเสียแล้วเมื่อคืนที่แล้วมา
พระองค์ทรงระลึกหาบุคคลที่เหมาะสม ที่จะรับคำสั่งสอนเป็นคนแรกที่สุด
ต่อไปอีก ในที่สุดก็ทรงระลึกได้ถึง ภิกษุห้ารูป
ที่เคยอยู่เฝ้าพระองค์ในคราวเมื่อทรงบำเพ็ญตบะทรมานกาย ณ ตำบลอุรุเวลา
เมื่อได้ทรงทราบว่าบัดนี้ภิกษุเหล่านั้นอาศัยอยู่ที่ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน
ใกล้เมืองพาราณสี แล้ว ก็เสด็จจากตำบลอุรุเวลา ตรงไปยังเมืองพาราณสี
(ซึ่งมีระยะทางประมาณ 150 ไมล์) เมื่อพบกับภิกษุเหล่านั้น
พระองค์ได้เสด็จไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งเย็นวันหนึ่ง ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมิคทายวัน
อันเป็นที่ซึ่งนักบวชห้ารูปนั้นกำลังพักอาศัยอยู่ * (* ในระหว่างทางตอนนี้
พระองค์ได้พบอาชีวก ชื่ออุปกะ และได้สนทนาโต้ตอบกันขณะหนึ่ง เขาไม่เชื่อว่า
พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ธรรม
และไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการได้พบกับพระองค์)
เมื่อนักบวชห้ารูปนั้น เห็นพระองค์เสด็จดำเนินมาแต่ไกล
ก็ได้กล่าวแก่กันและกันว่า “ดูโน่น ! พระสมณโคตมะกำลังตรงมาที่นี่
พระสมณโคตมะผู้มักมาก ซึ่งได้สละความเพียร
เวียนกลับไปสู่ความเป็นผู้อยู่อย่างสะดวกสบาย พวกเราอย่าพูดกะท่าน
พวกเราอย่าออกไปต้อนรับ และแสดงความเคารพใดๆ อย่าออกไปรับบาตรจีวร
เราเพียงแต่ตั้งอาสนะไว้ผืนหนึ่งที่นี่ ถ้าท่านอยากนั่ง จะได้นั่ง ถ้าท่านไม่นั่ง
ก็ให้ท่านยืน ใครที่ไหนจะไปต้อนรับคนที่ไม่มีอะไรแน่วแน่เช่นท่านผู้นี้ ”
แต่ในที่สุดเมื่อพระองค์ได้เสด็จดำเนินใกล้เข้ามา
นักบวชทั้งห้านั้นได้สังเกตเห็นอะไรบางอย่างอันแสดงว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นอย่างที่เขาเคยนึกมาแต่ก่อน
ในบัดนี้มีอะไรบางอย่างปรากฏอยู่ที่พระองค์ เป็นความสง่างามและสูงส่ง
มีแววแห่งความประเสริฐอย่างที่เขาเหล่านั้นไม่เคยเห็นมาก่อน
นักบวชทั้งห้านั้นได้มีความตื่นเต้นในใจจนกระทั่งลืมตัวเอง
และลืมข้อนัดหมายที่ได้ตกลงกันไว้ ได้พากันกระทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ตนอยากจะทำ
ในบัดนั้นบางคนได้รีบเดินตรงไปต้อนรับพระองค์ ถวายความเคารพ
และรับบาตรรับจีวรจากพระองค์ด้วยความนอบน้อม
บางคนรีบเร่งตระเตรียมอาสนะเสียใหม่เป็นพิเศษสำหรับพระองค์
และบางคนรีบไปหาน้ำมาชำระพระบาทของพระองค์
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะ ซึ่งนักบวชทั้งห้านั้นจัดถวายแล้ว
ได้ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า “ฟังก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราได้พบหนทางแห่งอมฤตธรรมแล้ว
เราจะบอกท่าน เราจะแนะให้ท่าน ถ้าท่านทั้งหลายฟังและศึกษาและปฏิบัติตามที่เราบอก
ไม่นานเลย ท่านทั้งหลายจักรู้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอถึงชาติหน้า
แต่จักรู้ได้ที่นี่ ในบัดนี้ ในชีวิตนี้ว่าถ้อยคำที่เรากล่าวนั้นมีความจริงเพียงใด
และท่านทั้งหลายจักเข้าถึงสิ่งซึ่งอยู่เหนือความเกิดและความตายได้ ด้วยตนเอง
เป็นธรรมดาอยู่เอง
ที่นักบวชทั้งห้านี้จะต้องมีความฉงนเป็นอันมากในการที่ได้ฟังพระองค์ตรัสเช่นนี้
เขาเหล่านั้นได้เห็นพระองค์บำเพ็ญตบะอดอาหารและทรมานกาย
แล้วมาเลิกเสียเพื่อให้บรรลุธรรม
และบัดนี้ยังมาบอกแก่เขาว่าพระองค์ได้บรรลุธรรมนั้นแล้วด้วย
นักบวชเหล่านั้นไม่ยอมเชื่ออย่างง่ายๆ และได้กล่าวโต้พระองค์นานาประการ
เขาได้กล่าวแก่พระองค์ว่า “เพื่อโคตมะ! ทำไมเล่า เมื่อพวกเราอยู่กับท่าน
ท่านปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการบำเพ็ญตบะทรมานกายทุกชนิดดังเช่นนักบวชทั้งหลายประพฤติกันอยู่ทั่วชมพูทวีป
พวกเราจึงได้นับถือท่านเป็นอาจารย์ผู้สั่งสอน
ท่านบำเพ็ญตบะอย่างเคร่งครัดเช่นนั้นแล้ว ก็ยังไม่บรรลุธรรมที่ท่านต้องการ
มาบัดนี้ท่านจะบรรลุธรรมนั้นได้อย่างไร ในเมื่อท่านกลับมาเป็นคนอยู่อย่างมักมาก
ละทิ้งความเพียรเสียแล้ว หมุนไปหาความสะดวกสบายตามพอใจเช่นนี้ ”
พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ! พวกท่านเข้าใจผิด
เราไม่ได้ละความเพียรแต่อย่างใดเลย เราไม่ได้เป็นอยู่อย่างหลงใหลตามใจตัวเอง
เอาแต่สนุก จงฟังเราก่อน เราได้บรรลุวิชชาและญาณอันสูงสุดแล้วจริงๆ
เราสามารถสอนท่านทั้งหลายให้ท่านบรรลุธรรมนั้นได้ โดยตัวท่านเองด้วย”
นักบวชทั้งห้าเหล่านั้นไม่สามารถจะปลงใจเชื่อ ในถ้อยคำของพระองค์
มันปรากฏแก่เขาในทำนองที่เป็นไปไม่ได้
แม้พระองค์จะได้ทรงขอร้องให้คนเหล่านั้นฟังและเชื่ออีกครั้งหนึ่ง
เขาก็ยังไม่อาจจะเชื่อ เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าคนเหล่านั้น
ไม่ยอมเชื่อว่าพระองค์บรรลุธรรมที่อยู่เหนือความตายจริงๆ แล้ว
พระองค์ได้ทรงมองที่ใบหน้าของคนเหล่านั้น
อย่างเพ่งจ้องและเอาจริงเอาจังพร้อมทั้งตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย ! จงฟังก่อน
จงนึกดูให้ดีๆ ว่า ตลอดเวลาที่ท่านทั้งหลายอยู่กับเรา ในครั้งกระโน้น
เราได้เคยพูดเช่นนี้กับท่านทั้งหลายบ้างหรือเปล่า
เราได้เคยบอกท่านทั้งหลายว่าเราได้บรรลุวิชชาและญาณอันสูงสุด
อันทำอยู่เหนือความเกิดและความตายเช่นนี้หรือเปล่า จงคิดดู !”
นักบวชทั้งห้านั้น ต้องตอบแก่พระองค์ว่า
เป็นความจริงที่พระองค์ไม่เคยตรัสคำเช่นนี้แก่พวกเขามาก่อนเลย
พระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า “บัดนี้จงฟังเราก่อน
ในเมื่อเราได้ยืนยันว่าเราได้ถึงหนทางแห่งอมตธรรมแล้วจริงๆ
ก็จงฟังให้รู้ว่าเราได้พบอะไรและอย่างไรเสียก่อนจะดีกว่า”
พระองค์ได้ตรัสถ้อยคำเหล่านี้อย่างองอาจ และตรึงใจ
ขณะเมื่อตรัสพระองค์ได้ทรงเพ่งจ้องมองด้วยลักษณะของบุคคลผู้มีเมตตา
และซื่อตรงอย่างบริสุทธิ์ จนนักบวชเหล่านั้นหมดความสงสัย
ไม่ปฏิเสธในการที่จะตั้งใจฟังพระองค์อย่างแท้จริง
นักบวชทั้งห้าได้ขอร้องให้พระองค์ทรงยับยั้งอยู่เพื่อสอนเขาเหล่านั้น
ด้วยสิ่งซึ่งพระองค์ทรงค้นพบ คำสอนเรื่องแรกที่พระองค์ได้สอนเขานั้นเรียกว่า
ปฐมเทศนา หรือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่าด้วยอริยสัจ 4 อย่าง และมรรคมีองค์ 8 ประการ
พระองค์ได้ทรงสอนนักบวชทั้งห้า ซึ่งเคยเป็นศิษย์เก่าของพระองค์เหล่านั้น
ด้วยธรรมที่พระองค์เพิ่งตรัสรู้ใหม่ๆ ทุกวันๆ จนครบถ้วน เป็นเวลาสองสามเดือน
ประทับอยู่กับนักบวชเหล่านั้น โดยทรงสอนนักบวชสามคน
เมื่อนักบวชอีกสองคนไปบิณฑบาตเพื่อนำอาหารมาเลี้ยงกัน และทรงสอนนักบวชอีกสองคน
ในเมื่อนักบวชสามคนนั้นได้ไปบิณฑบาต ผลัดเปลี่ยนกันโดยทำนองนี้ตลอดเวลาอย่างผาสุก
เพราะเหตุที่ได้อาจารย์อันประเสริฐสุดในโลก นักบวชทั้งห้านั้นก็ได้ลุถึงธรรม
ดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงบรรลุ เขาได้ประสพผลแห่งการปฏิบัติขั้นสูงสุด คือนิพพานได้
ในภาพทันตาเห็นนี้เอง ในบรรดานักบวชห้าคนนั้นผู้ที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
ในคำสอนของพระองค์เป็นคนแรก มีนามว่า โกณฑัญญะ อีกสี่คนนอกนั้นมีนามว่า ภัททิยะ
อัสสชิ วัปปะ และมหานามะ นักบวชทั้งห้านี้ ได้เป็นพระอรหันต์จำนวนห้าองค์แรกในโลก
คำ “อรหันต์” นี้ เป็นที่ชื่อที่ใช้สำหรับบุคคลผู้บรรลุนิพพานได้ด้วยตนเอง
ในชีวิตทันตาเห็น
นับว่าพระอรหันต์ทั้งห้าองค์นี้เป็นชุดแรกของหมู่สงฆ์สาวกประเภทที่มีพระพุทธองค์เป็นผู้ทรงสั่งสอนและแนะนำด้วยพระองค์เองโดยตรง
คำสอนที่ทำให้ท่านเหล่านั้นได้เป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้งห้าองค์นั้น เรียกว่า
อนัตตลักขณสูตร
เมื่อพระองค์ยังประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนะนั้น
มีชายหนุ่มลูกเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสีคนหนึ่งชื่อ ยสะ
ได้มาพบพระองค์เข้าโดยบังเอิญในโอกาสวันหนึ่ง เมื่อเขาได้ฟังธรรมะของพระองค์
และทราบถึงผลของการปฏิบัติธรรมะนั้นแล้ว ก็มีความพอใจจนถึงกับขอบวช
และอยู่อาศัยกับพระองค์เพื่อศึกษาและปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปอีก
ในเย็นวันนั้นเอง
ได้มีชายสูงอายุคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์และทูลว่าลูกชายได้หายมาจากบ้าน
ตั้งแต่เมื่อเช้านี้ เข้าใจว่ามาทางนี้ มารดาของเขากำลังร้องไห้คร่ำครวญโดยคิดว่า
เขาอาจจะถูกคนร้ายฆ่าเสียในถิ่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกให้เศรษฐีผู้นั้น
ทราบว่าลูกของเขาปลอดภัย ไม่ต้องเป็นห่วง
และพระองค์ได้ตรัสธรรมะอันเหมาะสมให้เศรษฐีผู้นั้นฟัง
เพื่อให้เศรษฐีผู้นั้นทราบว่าธรรมะนั้นเป็นอย่างไร
จึงได้เป็นที่พอใจแก่ลูกชายของเขาจนถึงกับขอบวช ในที่สุดแห่งการตรัส
เศรษฐีผู้นี้ก็ได้พอใจและเลื่อมใสในธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสก
รับถือธรรมของพระองค์เป็นสรณะจนตลอดชีวิตสืบไป เขาได้ทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทั้งพระยสะด้วย ไปฉันอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในวันพรุ่งนี้ ต่อจากนั้นมา
เพื่อสนิทของพระยสะเศรษฐีบุตรอีกสี่คนได้ออกบวชตามพระยสะ เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
และได้มีคนหนุ่มอีกจำนวนมากพากันบวชตามโดยทำนองนี้ที่ป่าอิสิปตนะนั้น
จนกระทั่งรวมด้วยกันทั้งหมดประมาณ 60 รูป ผู้บวชใหม่เหล่านี้ทุกคน
ล้วนแต่มีเชื้อชาติสกุลดี
มีความพากเพียรพยายามในการศึกษาและการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ภายใต้การควบคุมสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง ในเวลาไม่นานเลย
ทุกคนได้รู้และได้ลุถึงวิชชาและญาณอันสูงสุดด้วยตนเอง
และเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทุกคน
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงยอมให้พระสาวกเหล่านั้นอยู่อาศัยในที่แห่งเดียวกันนั้น
เพราะว่าบัดนี้ทุกๆ รูปได้เรียนรู้และปฏิบัติได้ผลครบถ้วน ตามที่พระองค์ทรงสอนแล้ว
พระองค์รับสั่งแก่พระสาวกเหล่านั้นว่า
ท่านเหล่านั้นต้องออกเดินทางไปเพื่อทำการสั่งสอนคนเหล่าอื่น
เพื่อว่าคนที่พร้อมที่จะรับคำสั่งสอนเหล่านั้น จะได้มีโอกาสได้ยินๆ ได้ฟังคำสอน
ครั้นได้ศึกษาและปฏิบัติแล้ว เขาจักเป็นผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เช่นเดียวกัน
พระองค์ได้ตรัสแก่พระสาวกทั้งหลายเหล่านั้นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป จงแสดงธรรมซึ่งมีความงามในเบื้องต้น
มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในเบื้องปลาย
จงประกาศแบบแห่งการครองชีวิตอันสมบูรณ์อันประเสริฐ และบริสุทธิ์
ในโลกนี้ยังมีคนบางพวกซึ่งมีธุลี คือกิเลสแลตัณหาแต่เพียงเบาบาง
หากไม่ได้ฟังธรรมแล้ว จักเสียประโยชน์อันใหญ่หลวง
คนพวกนี้แหละจักฟังธรรมและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง”
พระพุทธองค์ได้ทรงส่งพระสาวกชุดแรกจำนวน 60 รูป ออกไปประกาศพระศาสนา
ทรงระบุไม่ได้ไปเป็นคู่หรือเป็นหมู่ แต่ให้ไปเพียงสายละรูปๆ โดยทิศทางต่างๆ กัน
เพื่อให้ธรรมนี้แพร่หลายไกลออกไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
พระสาวกเหล่านี้ได้สนองพระพุทธบัญชา
ตามพระพุทธประสงค์และออกไปเผยแพร่พระธรรมวินัยของพระองค์ทุกทิศทุกทางทั้งทางเหนือและทางใต้
ทางตะวันออกและทางตะวันตก
พระสาวกเหล่านี้เป็นบุคคลพวกแรกที่สุดในโลก
ที่ได้ออกทำการเผยแพร่คำสอนทางศาสนาของตนๆ ตามถิ่นต่างๆ
ว่าโดยที่แท้แล้วท่านเหล่านี้เป็นคณะเผยแพร่ศาสนา
ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างฉับพลันทันทีที่ตนได้บรรลุธรรม
นับเป็นพวกแรกที่สุดที่โลกได้เคยเห็น ทุกองค์มีความกล้าหาญ
ทำการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นพวกแรกที่สุดในโลก โดยลักษณะดังกล่าวนี้
» วัยกุมาร
» เทวทัต