ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน

พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของ ภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)

ตอนที่ 2

วัยกุมาร

        ตามที่พระฤษีผู้สูงอายุและนักปราชญ์ทั้งหลาย ผู้ได้ประชุมกันวันขนานนามของพระสิทธัตถะ ได้มีความเห็นพ้องกันว่าพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะองค์นี้ มิได้เป็นกุมารตามธรรมดานั้น คำกล่าวข้อนี้ได้ปรากฏเป็นความจริงยิ่งขึ้นทุกวันๆ  เมื่อได้รับการทะนุถนอมจาก พระเจ้าแม่น้า ผู้รักพระกุมารอย่างกะว่าเป็นพระโอรสของพระองค์เอง มาจนกระทั่งพระกุมารมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา พระราชาได้ประทานครูบาอาจารย์ เพื่อให้การศึกษาแก่พระกุมารในการอ่านการเขียนและวิชาคำนวณ โดยอาศัยการแนะนำของครูอาจารย์เหล่านี้ พระกุมารได้ศึกษาวิชาความรู้ทุกอย่างที่ควรศึกษานั้น ได้อย่างรวดเร็ว ว่าโดยที่แท้แล้ว พระกุมารทรงศึกษาได้อย่างรวดเร็วและอย่างดียิ่ง จนเป็นที่ฉงนสนเท่ห์ของคนทุกคน รวมทั้งครูอาจารย์ทั้งพระราชบิดาและพระมารดาเลี้ยงด้วย เรื่องใดที่พระองค์จักต้องทรงศึกษาเรื่องนั้นไม่มีความยากลำบากแก่พระองค์เลย ได้รับการบอกการแนะนำวิชาอย่างใดๆ เพียงครั้งเดียว ก็จำได้ทันทีไม่มีลืม และลักษณะอย่างนี้ มีมากเป็นพิเศษขนาดที่เรียกว่าผิดธรรมดา ในการเรียนวิชาคำนวณของพระองค์ ทุกๆ คนเห็นชัดได้โดยง่ายว่าพระองค์ทรงมีอะไรๆ เหนือคนธรรมดาสามัญมากมายจริงๆ แม้พระองค์จะทรงมีอัจฉริยลักษณะอันสูงสุดในการศึกษาถึงเพียงนี้ ทั้งยังอยู่ในสถานะมกุฎราชกุมารผู้จะครองบัลลังก์ในอนาคตก็ตาม พระองค์ไม่ได้ทรงละเลยที่จะแสดงความเคารพนอบน้อมในฐานะเป็นศิษย์ต่อครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เพราะทรงระลึกสำนึกอยู่ว่า โดยอาศัยบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งมวลนี่เอง คนเราจึงได้รับสิ่งซึ่งมีค่าสูงสุด กล่าวคือวิชาความรู้ พระกุมารมีปรกติสุภาพเรียบร้อยเป็นนิสัย ทรงประพฤติต่อทุกๆ คน และโดยเฉพาะต่อครูบาอาจารย์เป็นพิเศษ ในการแสดงความสุภาพอ่อนโยนเคารพนบนอบ
       ในทางกำลังกายก็เหมือนกัน พระองค์ทรงประกอบไปด้วยคุณสมบัติไม่น้อยกว่าคุณสมบัติในทางจิตและทางมรรยาท ไม่ต้องกล่าวถึงความสุภาพทางกิริยาอาการ ไม่ต้องกล่าวถึงข้อที่พระองค์เป็นสุภาพบุรุษเต็มตามความหมายที่ดีที่สุดของคำๆ นี้ พระองค์ยังเป็นผู้ที่กล้าหาญ ไม่ครั่นคร้ามในการแสดงฝีมือทางกีฬาสำหรับผู้ชายแห่งประเทศของพระองค์ด้วย ในฐานะที่ได้รับการอบรมมาอย่างผู้มีกำเนิดในวรรณะกษัตริย์คือนักรบ พระองค์ทรงเป็นนักขี่ม้าที่ใจเย็นและห้าวหาญ ทั้งเป็นนักขับรถที่สามารถและเชี่ยวชาญมาแต่เล็ก ในการกีฬาอย่างหลังนี้ เคยแข่งชนะคู่แข่งที่ดีที่สุดในประเทศของพระองค์ แม้กระนั้นเมื่อถึงคราวเอาจริงเอาจังในการที่จะชนะการแข่งขัน พระองค์ก็ยังมีเมตตากรุณาต่อม้าของพระองค์ ที่เคยช่วยให้พระองค์มีชัยชนะอยู่เสมอๆ โดยทรงยอมให้พระองค์เป็นฝ่ายแพ้เสีย แทนที่จะขับเคี่ยวม้าให้มากเกินกำลังของมันไปเพื่อเห็นแก่ความชนะถ่ายเดียว


       พระองค์ใช่จะทรงปรานีเฉพาะแต่ม้าของพระองค์เท่านั้นก็หาไม่ แม้สัตว์อื่นๆ ทุกชนิด ก็ได้รับความเอื้อเฟื้อและความเมตตากรุณาอย่างเดียวกัน พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดินไม่เคยทรงประสพความทุกข์ ความลำบากอย่างใดเลยก็จริง แต่น้ำพระทัยของพระองค์ก็ยังทรงหยั่งทราบถึงจิตใจของสัตว์เหล่าอื่น ด้วยความเห็นใจว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ปรารถนาความเจ็บปวดเช่นเดียวกัน ไม่ว่าสัตว์นั้นๆ จะเป็นสัตว์มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน แม้เมื่อพระองค์ยังเป็นกุมารเล็กๆ อยู่ ก็มีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงหลีกเลี่ยงทุกอย่างทุกทาง ในการที่จะก่อความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่สัตว์อื่นอย่างมากที่สุดที่พระองค์จะทรงทำได้ ในที่ทุกแห่งและโอกาส และทรงพยายามที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของสัตว์ที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ทุกวิถีทาง
       ครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จออกไปเที่ยวเล่นนอกเมืองกับพระญาติ ลูกเรียงพี่เรียงน้องของพระองค์นามว่า เทวทัต ผู้ซึ่งได้พาคันศรและลูกศรติดไปด้วย เจ้าชายเทวทัต ได้ยิงหงส์ซึ่งกำลังร่อนผ่านมาบนศีรษะตัวหนึ่ง ลูกศรถูกปีกหงส์ทำให้มันต้องถลาตกลงมายังพื้นดิน มีแผลใหญ่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด เจ้าชายทั้งสองพระองค์ต่างก็วิ่งไปเก็บมัน แต่เจ้าชายสิทธัตถะไปถึงหงส์ตัวนั้นก่อน และได้อุ้มมันขึ้นอย่างระมัดระวัง พระองค์ได้ทรงชักลูกศรออกจากปีกนก ทรงยัดใบไม้มีรสเย็นเข้าไปในบาดแผลเพื่อให้โลหิตหยุดไหล และทรงลูบประคองไปมาอย่างเบาๆ เพื่อบรรเทาความเจ็บและความกลัวของนกนั้น เจ้าชายเทวทัตรู้สึกขัดเคืองพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระญาติของพระองค์มาแย่งเอานกไปเสียดั่งนี้ จึงได้เรียกร้องให้พระสิทธัตถะคืนนกให้แก่พระองค์ในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ยิงมันตกด้วยลูกศรของพระองค์เอง อย่างไรก็ตาม เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงปฏิเสธที่จะมอบนกเจ็บตัวนั้นให้ โดยตรัสตอบว่า ถ้านกตาย มันจึงจะเป็นของผู้ยิง แต่เมื่อมันยังมีชีวิตอยู่เช่นนี้ มันก็ต้องเป็นของผู้ที่พยายามช่วยชีวิตมันไว้ ดังนั้น พระองค์จึงไม่มอบให้ ฝ่ายเจ้าชายเทวทัตก็ยังคงยืนกรานว่า มันต้องเป็นของพระองค์ผู้ที่ยิงมันตกลงมาด้วยน้ำมือเอง ในที่สุด เจ้าชายสิทธัตถะเป็นฝ่ายเสนอขึ้นว่าข้อพิพาทรายนี้ควรจักต้องนำไปเพื่อรับการพิพากษาตัดสินชี้ขาดในที่ประชุมแห่งนักปราชญ์ของประเทศ ฝ่ายเจ้าชายเทวทัตก็ยินยอม
       ณ ที่ประชุมสำหรับวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ในวันนั้น ได้มีปัญหาเรื่องหงส์ตัวนี้ขึ้น มีการถกเถียงกันมา ในที่ประชุมนั้น บางท่านมีความเห็นอย่างหนึ่ง บางท่านมีความเห็นเป็นอย่างอื่น บางท่านว่า นกควรเป็นของพระสิทธัตถะ บางท่านว่า ควรเป็นของเจ้าชายเทวทัต โดยมีเหตุผลต่างๆ กัน ไม่เป็นที่ยุติลงไปได้ แต่ในที่สุดมีบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีใครในที่ประชุมนั้นรู้จักมาก่อน ได้ลุกขึ้นยืน และกล่าวว่า “โดยแท้จริง ชีวิตต้องเป็นของผู้ที่พยายามจะช่วยชีวิตนั้นไว้ ชีวิตต้องไม่เป็นของผู้ที่พยายามแต่จะทำลายมัน นกที่กำลังบาดเจ็บนี้ เมื่อกล่าวโดยสิทธิอันชอบธรรมแล้ว ต้องตกเป็นของบุคคลที่พยายามช่วยชีวิตมันไว้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ขอให้นกตัวนี้ตกเป็นของผู้ที่พยายามช่วยเหลือ คือเจ้าชายสิทธิธัตถะเถิด”  ทุกคนในที่ประชุม ลงความเห็นด้วยกับถ้อยคำอันมีเหตุผลเที่ยงธรรมนี้ การตัดสินก็เป็นว่า ให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้รับเอานกตัวซึ่งพระองค์ได้ทรงพยายามช่วยชีวิตนั้นไป พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในนกนั้นอย่างเอื้อเฟื้อที่สุด จนกระทั่งแผลของมันหายสนิท และได้ทรงปล่อยมันสู่ความเป็นอิสระกลับไปยังฝูงของมัน มีความสุขอยู่ในสระกลางป่าลึกสืบไป

» กำเนิดพระสิทธัตถะ

» วัยกุมาร

» ในวัยรุ่น

» ในวัยหนุ่ม

» ความเบื่อหน่าย

» การสละโลก

» พระมหากรุณาธิคุณ

» ความพยายามก่อนตรัสรู้

» ประสพความสำเร็จ

» ทรงประกาศพระธรรม

» สิงคาลมาณพ

» สารีบุตรและโมคคัลลานะ

» เสด็จกบิลพัสดุ์

» พุทธกิจประจำวัน

» พระนางมหาปชาบดี

» ปาฏิหาริย์

» พระพุทธดำรัส

» ความกรุณาของพระพุทธองค์

» เทวทัต

» ปรินิพพาน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย