ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

อรูป 4

คำว่า อรูป นี้ ก็คือ สิ่งที่ไม่ใช่รูป ได้แก่  สิ่งที่เป็นนามธรรมที่มีความละเมียดละไมขึ้นไปโดยลำดับ  เป็นชื่อของฌานที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญเพียรซึ่งเราเรียกว่า พระโยคาวจร พระโยคาวจร ผู้บำเพ็ญเพียร เมื่อได้บรรลุรูปฌาน 4 แล้วพิจารณาถึงปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นจากการเจริญกสิณข้อใดข้อหนึ่งเป็นอารมณ์ จนมองเห็นกสิณนั้นเป็นเพียงช่องว่างในที่สุดแล้วละความสนใจในปฏิภาคนิมิตของกสิณนั้นใช้สำนวนบาลีว่า เพิกกสิณ จากนั้นก็มาเพ่งพินิจทีอากาศเป็นอารมณ์ก็จะเดินเข้าไปสู่อรูปฌาน 4  คือ

  1. อากาสานัญจายตนะ อากาสานัญจายตนะนี้ ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ก่อนที่จะเจริญอากาสานัญจายตนะนี้ ท่านจะเข้าจตุตถฌานในกสิณกองใดกองหนึ่งแล้วให้เพิก คือ(ปล่อย)ไม่สนใจในกสิณนิมิตนั้นเสีย ใคร่ครวญว่า กสิณนิมิตนี้เป็นอารมณ์ที่มีรูปเป็นสำคัญ(ได้แก่) ความสุข ความทุกข์ (ซึ่ง)เป็นปัจจัยของภยันตราย มีรูปเป็นต้นเหตุ เราไม่มีความต้องการในรูปแล้วละรูปนิมิตกสิณนั้น ถืออากาศเป็นอารมณ์จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิตที่มีขอบเขตกว้างใหญ่ แล้วย่อให้สั้นลงมา อธิษฐานให้เล็กใหญ่ได้ตามประสงค์ ทรงจิตรักษาอากาศไว้โดยกำหนดใจว่า อากาศหาที่สุดมิได้ดังนี้ จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์ (อารมณ์วางเฉย จัด)เป็นฌาน 4 (แต่อยู่)ในอรูปฌาน
  2. วิญญาณัญจายตนะ อรูปฌานนี้กำหนดวิญญาณ(คือตัวรู้)เป็นอารมณ์ โดยจับอากาสานัญจายตนะ คือกำหนดอากาศจากอรูปฌาน(ที่หนึ่ง)เดิมเป็นปัจจัย แล้วถือนิมิตอากาศนั้นเป็นฐานที่ตั้งของอารมณ์ แล้วกำหนดว่า อากาศนี้ยังเป็นนิมิตที่รูปอาศัยอยู่ ถึงแม้จะเป็นอรูปก็ตามแต่ยังมีความหยาบอยู่มาก เราจะทิ้งอากาศเสีย ถือเฉพาะวิญญาณ(คือตัวรู้)เป็นอารมณ์ แล้วกำหนดจิตว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ (แล้วละ)ทิ้งอากาศและรูปทั้งหมดเด็ดขาด กำหนดวิญญาณคือถือวิญญาณ ตัวรู้ ซึ่งเป็นเสมือนจิต โดยคิดว่าเราต้องการจิตเท่านั้น รูปกายอย่างอื่นไม่ต้องการ จนจิตตั้งอยู่เป็นอุเบกขารมณ์ (อารมณ์วางเฉย)


  3. อากิญจัญญายตนะ อรูปฌานนี้กำหนดความไม่มีอะไรเลยเป็นสำคัญ โดยเข้าฌาน 4 (ให้เป็นบาทฐานที่ตั้ง)ในวิญญาณัญจายตนะ แล้วเพิกวิญญาณคือ(ปล่อย)ไม่ต้องการวิญญาณ(ตัวรู้)นั้น คือคิดว่าไม่มีอะไรเลยเป็นสำคัญ อากาศก็ไม่มี วิญญาณก็ไม่มี ถ้ายังมีอะไรสักอย่างหนึ่งแม้แต่น้อยหนึ่ง ก็เป็นเหตุของภยันตราย ฉะนั้นการไม่มีอะไรเลยเป็นการปลอดภัยที่สุด แล้วก็กำหนดจิตไม่ยึดถืออะไรทั้งหมด จนจิตตั้งเป็นอุเบกขารมณ์ เป็นจบอรูปฌานนี้ ส่วนในความเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่าในข้อนี้ยังไม่ชัดเจนสำหรับผู้ศึกษาใหม่ จึงขอนำเอาบทความของผู้ใช้นามปากกาว่า ศรีสารภี จากเว็บไซท์วิชาการดอทคอมมาอธิบายเพิ่มเติมไว้ ณ ตรงนี้กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจริญวิญญาณัญจายตนะบ่อยๆ จนชำนาญจิตนิ่งอยู่ที่วิญญาณคือตัวรู้ ก็จะรู้สึกขึ้นมาว่า อากาศอันไม่มีที่สิ้นสุดก็ดี หรือวิญญาณคือตัวรู้ เช่นรู้ว่าอากาศนั้นไม่มีที่สิ้นสุดก็ดี จริงๆแล้วก็คือความไม่มีอากาสานัญจายตนะที่เป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนะ (เมื่ออากาสานัญจายตนะไม่มี วิญญาณัญจายตนะคือตัวรู้ก็จึงไม่มีด้วย) ผู้ปฏิบัติจึงน้อมเอาสภาพที่ไม่มีอะไรเลยมาเป็นอารมณ์ ในการเจริญกรรมฐาน2
  4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ กำหนดว่ามีสัญญา(ความจำได้)ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญา(จำไม่ได้)ก็ไม่ใช่ คือ ทำความรู้สึกตัวเสมอว่า ทั้งมีสัญญาอยู่นี้ก็ทำความรู้สึกเหมือนไม่มีสัญญา คือไม่ยอมรับรู้จดจำอะไรหมด ทำตัวเสมือนหุ่นที่ไร้(ทั้ง)วิญญาณ(และหน่วยความจำ คือไม่มีการประมวลผล) ไม่รับรู้ ไม่รับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น หนาวก็รู้ว่าหนาวแต่ไม่เอาเรื่อง ร้อนก็รู้ว่าร้อนแต่ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย มีชีวิตทำเสมือนคนตาย คือไม่ปรารภสัญญาความจดจำใดๆ ปล่อยตามเรื่องเปลื้องความสนใจใดๆ ออกจนสิ้น จนจิตเป็นเอกัคคตาและอุเบกขารมณ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย