ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
อริยมรรค ๘
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ที่เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นั้นได้แก่
อริยมรรค ซึ่งแปลว่า มรรค หรือ หนทางอันประเสริฐ มีองค์ประกอบอยู่ ๘ ประการ
คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ความเห็นชอบ หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดี
ได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บิดามารดามีพระคุณ เห็นว่า บุญมี บาปมี
เห็นหรือเข้าใจสภาพความเป็นจริงของชีวิต เช่น เห็นไตรลักษณ์
เห็นปฏิจจสมุปบาท
รู้เห็นปัญหาชีวิตเรื่องความทุกข์ต่างๆสามเหตุเกิดของปัญหาชีวิต
อุดมการณ์ของชีวิต และแนวทางสำหรับปฏิบัติเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์นั้น
ข้อสังเกตในที่นี้ก็คือว่า
การจะบรรลุอุดมการณ์อันสูงส่งของชีวิตที่เรียกว่า นิโรธ หรือ นิพพาน
นั้นต้องมีความเห็นถูกต้องตามแนวที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้ปฏิบัติมาแล้ว
มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดๆ ในชีวิตไป
อนึ่งคำว่า "เห็น" ในสัมมาทิฏฐินี้ หมายถึง เห็นด้วยใจ ใจเห็น ไม่ใช่ตาเห็น
ที่แท้จริงคือ รู้หรือเห็นนั่นเอง ความเห็นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
เพราะการที่จะลงมือปฏิบัติหรือกระทำอะไรลงไป
ก็มักจะเป็นไปตามที่เห็นที่รู้หรือเข้าใจ
ถ้าเห็นชอบก็จะทำให้เกิดการปฏิบัติที่ชอบที่ถูกที่ควร
แต่ถ้าเห็นผิดเสียแล้วก็จะทำให้การกระทำต่างๆพลอยผิดพลาดไปด้วย
เพราะฉะนั้นความเห็นชอบมีความรู้ที่ถูกต้องที่ชอบ
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงจัดไว้เป็นอันดับแรก
เป็นเรื่องของปัญญาของญาณสำหรับผู้ที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาแบบพ้นทุกข์
จะต้องเข้าถึงแบบผู้มีปัญญาหรือญาณ หรือ สัมมาทิฏฐินั่นเอง
๒. สัมมาสังกัปปะ
ความดำริชอบ หมายถึง ความคิดชอบ ความคิดถูกต้อง
หรือความตรึกตรองไปในทางที่ดี มีความหมาย ๓ อย่าง คือ
(๑) อวิหิงสาสังกัปปะ
ความดำริในอันไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ
ไม่คิดที่จะทำให้ใครได้รับความเดือดร้อน ทั้งทางกาย วาจา ใจ
แต่มีเมตตากรุณาต่อสัตว์อื่นต่อคนอื่น
(๒)อัพยาปาทสังกัปปะ
ความคิดดำริในอันไม่ผูกพยาบาทป้องร้ายผู้อื่น คือ ไม่คิดอาฆาตมาดร้าย
ปองร้ายใคร ๆหรือจองเวรกับใครๆ แต่พยายามกำจัดหรือบรรเทาความโกรธ
ความอิจฉาตาร้อนอยู่เสมอ
(๓)เนกขัมมสังกัปปะ
ความคิดดำริในอันจะปลดเปลื้องความเกี่ยวข้องในทางกาม คือ มุ่งไปสู่ความสงบ
อาจจะไม่ถึงกับต้องออกบวชเป็นพระนุ่งห่มผ้าเหลือง
แต่หมายถึงการตั้งใจปลีกใจออกจากความเพลิดเพลินในกามารมณ์ จะเรียกว่า
บวชใจ ก็ได้
คฤหัสถ์บางคนสามารถบำเพ็ญมรรคให้บริบูรณ์แล้วบรรลุอรหันต์ได้ก็มี
ข้อปฏิบัติสัมมาสังกัปปะนี้
แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มุ่งบรรลุนิพพานหรือคุณธรรมขั้นสูงนั้น
จะต้องเป็นผู้มีใจไม่อาฆาตมาดร้ายใคร นั่นคือ
มีใจสงบและมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น
ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่มีความดำริชอบดังกล่าวก็เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตก็ไม่สงบได้ง่ายๆ เลย เพราะอาจจะตกเป็นทาสของความรัก
ความชัง และความหลงผิด
๓. สัมมาวาจา
การเจรจาหรือวาจาชอบ เป็นทางปฏิบัติที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง อันหมายถึง
การสำรวมระวังในการพูดไม่ให้ผิด ให้พูดแต่วจีสุจริต กล่าวคือ
(๑)ไม่พูดคำเท็จทำให้ผู้อื่นเสียหาย
พูดแต่คำสัตย์คำจริง พร้อมกับจริงใจในการพูด
(๒)ไม่พูดส่อเสียดให้คนอื่นเข้าใจผิดทะเลาะเบาะแว้งกัน แตกความสามัคคี
พูดแต่คำที่จะเสริมสร้าง ความรักความสามัคคีในหมู่คณะ เน้นความประนีประนอม
ความรัก ความสามัคคีเป็นสำคัญ
(๓)ไม่พูดคำหยาบ
ไร้วัฒนธรรมให้เกิดความเสียหายกับอายกับผู้อื่น
พูดแต่คำที่ไพเราะอ่อนหวานมีวัฒนธรรมในการพูด ใช้คำพูดเหมาะสมกับผู้ฟัง
(๔)ไม่พูดเพ้อเจ้อที่เรียกว่าพูดพล่าม
หรือพูดจาเหลวไหลไร้สาระประโยชน์พูดแต่คำที่ถูกต้องประกอบด้วยสาระประโยชน์เหมาะสมกับกาลเทศะมุ่งประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญการดำเนินชีวิตด้วยสัมมาวาจามีแต่ก่อให้เกิดความเข้าใจกัน
ไว้วางใจกัน และมีจิตใจสงบ
สัมมาวาจาจึงจำเป็นในการรักษาใจไม่ให้ว้าวุ่นเดือดร้อน
๔. สัมมากัมมันตะ
การงานชอบหรือการกระทำที่ชอบ หมายถึง การประพฤติชอบทางกายที่เรียกว่า
กายสุจริต ๓ อย่าง คือ
(๑) เว้นจากความโหดเหี้ยม ฆ่า ทำร้าย
หรือทรมานร่างกายผู้อื่นสัตว์อื่นให้ลำบากด้วยวิธีการต่างๆ
แล้วมีจิตใจประกอบด้วยเมตตากรุณา มีความปรารถนาดีและสงสารผู้อื่นสัตว์อื่น
(๒)เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมยหรือโจร
อันได้แก่ ลัก ฉก ชิง วิ่งราว ขู่กรรโชก ขู่เข็ญ ปล้น จี้ ตู่ ฉ้อโกง หลอก
ลวง ปลอม ตระบัด เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ยักยอก และรับสินบน
แล้วเป็นผู้มี
ความขยันประกอบสัมมาชีพ บริจาคทาน
และเคารพในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น
(๓) เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
บุคคลต้องห้ามสำหรับฝ่ายชายคือ
(๑) ภรรยาคนอื่น
(๒) ผู้หญิงที่ยังอยู่ในความอุปการะของผู้อื่น
(ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่)
(๓) ผู้หญิงที่จารีตต้องห้าม (แม่ ย่า ยาย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว ชี
หญิงผู้เยาว์
บุคคลที่ต้องห้ามสำหรับฝ่ายหญิงคือ
(๑) สามีคนอื่น
(๒)ชายจารีตต้องห้าม (พ่อ ปู่ ตา พี่ชาย น้องชาย ลูกชาย พระภิกษุสามเณร
ชายผู้เยาว์
ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไม่ใช่เฉพาะ ห้ามแต่ร่วมสังวาสเท่านั้น
แม้แต่การเคล้าคลึง การพูดเกี้ยวพาราสี หรือการแสดงอาการ
ปฏิพัทธ์แม้แต่ด้วยสายตาเนตรสบเนตร เป็นต้น ก็ชื่อว่า
การละเมิดศีลข้อนี้แล้ว
เมื่อไม่ล่วงละเมิดศีลข้อนี้แล้วเป็นผู้สำรวมในกามยินดีแต่ในภรรยาของตนเท่านั้น
(สทารสันโดษ) จงรักภักดีแต่ในสามีของตน (ปติวัตร)
ถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ต้องมีกามสังวร
ตั้งตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม มีวัฒนะธรรมอันดีชนิดที่ว่า
"เข้าตามตรอกออกตามประตู"
ผู้มีกายสุจริตทั้ง ๓ อย่างดังกล่าวนี้ เป็นผู้มีการกระทำที่ชอบ
ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่เบีบดเบียนตนเองและผู้อื่น
นับว่าเป็นผู้ได้ปฏิบัติตามหนทางแห่งความพ้นทุกข์ข้อที่ ๔ (สัมมากัมมันตะ)
๕. สัมมาอาชีวะ
การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึงการเลี้ยงชีพโดยสุจริต
เป็นอาชีพที่สุจริตไม่เป็นอาชีพที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
หรืออาชีพที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมอันดีงาม
หรือมีอาชีพที่ถูกต้องเป็นสัมมาชีพ
แต่ตัวเองก็จะต้องไม่ประพฤติทุจริตในอาชีพนั้น เช่น
ประกอบอาชีพรับราชการที่ไม่ทุจริตในตำแหน่งหน้าที่
หรือทำธุรกิจค้าขายก็ไม่ค้ากำไรเกินควร หรือการหากินชนิด ทำนาบนหลังคน
อาชีพนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการยังชีพให้ยืนต่อไป
ถ้าเป็นมิจฉาอาชีวะก็หมายถึง ความไม่บริสุทธิ์ในการดำรงชีพ
ก็จะเป็นอุปสรรคในการบรรลุคุณธรรมชั้นสูง
โดยเฉพราะถ้าเป็นการค้าขายแล้วจะต้องเว้นจากการขายสินค้าต่อไปนี้คือ
(๑)ค้าขายเครื่องประหารที่ทำลายกันโดยส่วนเดียว เช่น ระเบิด
อาวุธต่างๆที่ใช้ทำร้าซึ่งกันและกัน
(๒)ค้าขายมนุษย์เพื่อไปเป็นทาสรับใช้ผู้อื่น
หรือหลอกลวงหญิงสาวไปขายเพื่อให้เป็นโสเภณี เป็นต้น
(๓) ค้าขายเนื้อสัตว์
อันหมายถึง การเลี้ยงสัตว์ต่างๆเพื่อฆ่าแล้วนำเนื้อไปขาย จะเป็น วัว ควาย
หมู เป็ด ไก่
ก็ตามผู้ต้องการจะพ้นทุกข์หรือปฏิบัติตามอริยมรรคควรจะต้องเว้น
(๔)
ค้าขายสุราน้ำเมาและยาเสพติดทุกชนิด
ซึ่งทำให้ผู้เสพมัวเมาหลงไหลขาดสติสัมปชัญญะพาตัวชั่วหายนะต่างๆ
หรือทำให้ผู้เสพทำลายสุขภาพและเป็นอันตรายต่อชีวิต เป็นการทำลายสังคม
และประเทศชาติ นำความหายนะมาให้โดยส่วนเดียว
(๕) ค้าขายยาพิษ
หรือสารพิษต่างๆซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายมนุษย์และสัตว์
ถือเป็นการค้าขายที่ผิดศีลธรรม
การค้าขายสินค้าต่างๆทั้ง ๕ นี้เป็นการค้าขายที่ผิด เรียกว่า มิจฉาวณิชชา ๕
เป็นการค้าขายที่ผู้เป็นอุบาสกอุบาสิกา
หรือผู้ปฏิบัติตามทางที่จะนำไปสู๋ความดับทุกข์จะต้องงดเว้นโดยเด็ดขาด
๖. สัมมาวายามะ
ความเพียรชอบ ความเพียรนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานทุกอย่าง
ยิ่งเป็นการบำเพ็ญเพียรทางจิตแล้ว
ก็ยิ่งจำเป็นมาก บุคคลจะล่วงทุกได้ก็เพราะความเพียร
ความเพียรพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น
ความเพียรทำให้งานที่ทำด้วยกายหรือใจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ถ้าขาดความเพียรแล้วก็มีแต่ถอยหลังปละประสบกับ
ความล้มเหลวในที่สุด เพราะฉะนั้นจะต้องมีความเพียร
แต่ความเพียรนั้นจะต้องเป็นความเพียรที่ชอบ ตัวอย่างความเพียร
ที่ชอบในที่นี้ หมายถึงความเพียร ๔ อย่าง คือ
(๑)สังวรปธาน เพียรระวังมิให้ความชั่วที่เป็นบาปอกุศล เช่นความโลภ ความโกรธ
ความหลง เกิดขึ้นในสันดานแห่งตน
หมายความว่าเพียรป้องกันอย่าให้ความชั่วร้ายใหม่เกิดขึ้นอีก
(๒) ปหานปธาน
เพียรพยายามละความชั่วร้ายที่เป็นบาปอกุศลซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วให้หมดสิ้นไป
หรือ พยายามกำจัดปัดเป่าความชั่วหรือความรู้สึกไม่ดีให้ออกจากจิตให้ได้
(๓) ภาวนาปธาน เพียรพยายามก่อสร้างความดีที่เป็นบุญกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น
เช่นการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น
ตัวอย่างให้ทานเสมอๆอยู่แล้วก็พยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น
แล้วก็พยายามเจริญสมาธิภาวนาในขั้นสูง ๆ ขึ้นไป
(๔) อนุรักขนาปธาน
เพียรรักษาคุณความดีที่เป็นบุญกุศลที่ได้ทำแล้วที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อมหรือลดน้อยถอยลง
พยายามรักษาเอาไว้อย่างมันคงเหมือนเกลือรักษาความเค็ม
โดยการทำความดีเช่นนั้นเสมอ ๆ เป็นอาจิณหรือเป็นนิสัย
รวมความว่า พยายามระวัง - กำจัดความชั่ว และพยายามทำ รักษาความดี
๗. สัมมาสติ
ความระลึกชอบ หมายถึง การสำรวมใจ หรือทำใจให้สงบตามแนวสติปัฏฐาน
(ที่ตั้งแห่งจิต) ทั้ง ๔
เป็นการพิจารณาให้รู้เห็นเนื่องๆ เพื่อมิให้เกิดความยึดมั่นถือมันในร่างกาย
ความรู้สึก จิตใจและธรรม ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศล กล่าวคือ
(๑) ตั้งสติระลึกชอบโดยพิจารณาเห็นกายในกาย
ที่ว่าเห้นกายในกาย คือ พิจารณาเห็นเรื่องต่างๆในร่างกาย เช่น
ลมหายใจ อิริยาบถ การเคลื่อนไหล ตลอดจนส่วนต่างๆของร่างกาย (ผม ขน เล็บ ฟัน
หนัง เนื้อ ฯลฯ) และความเกิดดับของร่างกาย
ให้เห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
เป็นเพียงสักแต่ว่ากาย เรียกว่า กายานุปัสสนา (เห็นกายในกาย)
(๒) ตั้งสติระลึกชอบโดยพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
ที่ว่าเห็นเวทนาในเวทนา คือ พิจารณากำหนดรู้เรื่องของเวทนา
ความสุข ความทุกข์ และความไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาเกิดขึ้นอย่างไร
ตั้งอยู่อย่างไร ดับไปอย่างไร เวทนานั้นมีอามิส
หรือหาไม่ ได้เห็นว่าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
เป็นเพียงสักแต่ว่าเวทนา เรียกว่า
เวทนานุปัสสนา (เห็นเวทนาในเวทนา)
(๓) ตั้งสติระลึกชอบเห็นจิตในจิต ที่ว่าเห็นจิตในจิต
หมายความถึงการกำหนดรู้พฤติการณ์ของจิตของตนอย่างละเอียด
จิตรักก็รู้ว่าจิตรัก จิตโกรธก็รู้ว่าจิตโกรธ จิตลุ่มหลงก็รู้ว่าจิตลุ่มหลง
จิตหดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯลฯ จิตไหวตัวอย่างไรก็รู้เท่าทัน
ไม่ว่าจะเศร้าหมองหรือผองแผ้วให้เห็ฯความจริงว่า สักว่าจิต หาใช่สัตว์
บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกว่า จิตตานุปัสสนา
(เห็นจิตในจิต)
(๔) ตั้งสติระลึกชอบโดยพิจารณษเห็นธรรมในธรรม
ที่เห็นว่าเห็นธรรมในธรรม คล้ายๆกับเห็นจิตในจิต แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว
คือ การเห็นจิตในจิตได้แก่ ร็ทันความเคลื่อนไหวของจิต
ส่วนการเห็นธรรมในธรรม ได้แก่ การรู้สิ่งที่มีอยู๋ในจิต เช่น จิตมีนิวรณ์
( กามฉันทะ พยาบาทถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และ วิจิกิจฉา )
ก็รู้เรื่องของนิวรณ์นั้นว่า นิวรณ์เกิดขึ้นในจิต มีอยู่ในจิต ดับไปจากจิต
ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม
ก็ให้เห็นความจริงว่าเป็นเพียงสักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา
เขาเรียกว่า ธัมมานุปัสสนา (เห็นธรรมในธรรม)
สติปัฏฐานนี้เอง พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "เป็นทางเอกหรือทางเดียว
เพราะเป็นทางปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของ
สัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามให้พ้นซึ่งความโศกหรือ ปริเทวนาการ
เพื่อบรรลุญาณและเพื่อทำพระนิพพานให้ให้ปรากฏแจ้ง"
๘.สัมมาสมาธิ
ความตั้งใจชอบ ความตั้งใจชอบเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์
ด่านสุดท้ายที่จะเผด็จศึกกับกิเลส
นับว่าเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญมาก เพราะธรรมชาติของใจย่อมร็กันดีว่า
มีสภาพกลับกลอกวอกแวกอยู่เสมอ เพราะความฟุ้งซ่านยากที่จะรักษาได้
จึงจำเป็นที่ผู้หวังความพ้นทุกข์จะต้องฝึกหัด ดัดใจให้เป็นสมาธิ
มีจิตใจแน่วแน่ อยู่ในอารมณ์ใดอารามหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านเป็น เอกัคคตา
มีอารมณ์เดียวจนเกิดความตั้งมั่นแห่งจิตใจขึ้น สัมมาสมาธในที่นี้
ก็หมายเอาความตั้งใจชอบโดยการเข้าสมาธิชนิดที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ
สมาธิแน่วแน่สมบูรณ์เต็มที่ (ไม่ใช่สมาธิชั่วขณะ หรือสมาธิเฉียดๆ)
เป็นสมาธิที่ปราศจากนิวรณ์โดยสิ้นเชิง เป็นสมาธิระดับฌาน
(ความเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ)
การเข้าสมาธิจนถึงระดับฌานนั้นจะยึดเอาอะไรมาเป็นอารมณ์เพื่อเป็นหลักในการทำสมาธิก็ได้
ในวิสุทธิมรรคเล่มที่ ๒ สมาธนิเทศ ท่านได้กล่าวถึง อารมณ์ของกรรมฐานไว้ ๔๐
อย่าง เช่น กสิณ ๑๐ มี น้ำ ลม สีแดง เป็นต้น อสุภะ ๑๐ เช่น
ส่วนต่างๆของซากศพที่เน่า เป็นต้น อนุสติ ๑๐ เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
และความตาย เป็นต้น
ระดับฌาน ๔ นั้น คือ รูปฌาน ๔ ได้แก่
(๑) ปฐมฌาน (ฌานขั้นแรก) มีองค์ ๕
คือ วิตก (ความตรึก) วิจาร (ความตรอง) ปีติ สุข และ เอกัคคตา
(ความที่จิตมีอารมณ์เดียว)
(๒) ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ ๓
คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
(๓) ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ ๒ คือ
สุข เอกัคคตา
(๔) จตุตถฌาน(ฌานที่ ๔) มีองค์ ๒ คือ
อุเบกขา (ความวางเฉย) และเอกัคคตา
คนที่ทำจิตให้แน่วแน่จนถึงจตุตถฌานแล้ว เรียกว่า
เป็นผู้ปฏิบัติสามารถพิจารณษสังขารด้วยวิปัสสนาปัญญา
ก็สามารถตัดกิเลสให้สิ้นไปได้
และถ้าจะทำจิตใจให้เป็นสมาธิยิ่งกว่านี้ก็ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้วเข้าสู่
อรูปฌาน อีก ๔ ชั้น คือ
- ชั้น อากาสานัญจายตนะ
(กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)
- ชั้นวิญญาณัญจายตนะ
(กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)
- ชั้น อากิญจัญญายตนะ
(กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆเป็นอารมณ์)
- ชั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ
(กำหนดภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่เป็นอารมณ์ )
เลยขึ้นไปกว่านั้นอีกชั้นหนึ่ง คือ
- สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
ซึ่งผู้เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธนี้จะหมดความรู้สึกทางกาย
เป็นอันที่สุดในการทำจิตให้เป็นสมาธิ ในชั้น สัญญาเวทยิตนิโรธนี้
จิตไม่มีสัญญาและเวทนา มีแต่ธรรมชาติบริสุทธิ์ผุดผ่อง
อริยมรรค หรือทางอันประเสริฐ ที่มีองค์ประกอบ ๘ ประการตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ
จนถึงข้อปฏิบัติประการสุดท้ายคือ สัมมาสมาธิ
ดังกล่าวแล้วว่าเป็นทางดำเนินไปเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางหรืออุดมการณ์อันสูงส่งของชีวิต
นั่นคือพระนิพพาน
อนึ่ง อริยมรรคซึ่งมีองค์ประกอบ ๘ประการดังกล่าว สามารถย่อให้สั้น
ลงในไตรสิกขา(ข้อควรศึกษา ๓) คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้
แต่ว่าในขั้ขแรกได้เรียงข้อปฏิบัติฝ่ายปัญญาไว้กาอน
เป็นการแสดงให้เห็นว่าการเข้าสู่พุทธศาสนาในแบบพ้นทุกข์
ให้ใช้หลักปัญญาเป็นหัวหน้าเป็นหลักการนำทาง ดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกัปปะ
๓.สัมมาวาจา
๔.สัมมากัมมันตะ
๕.สัมมาอาชีวะ
๖.สัมมาวายามะ
๗.สัมมาสติ
๘.สัมมาสมาธิ
ถ้าเปรียบก็เหมือนพระพุทธศาสนา คือ ประเทศไทย สิกขา ๓ ก็เหมือนกับการแบ่งเขตปกครองออกเป็น ๓ ภาค มรรคก็เหมือนจังหวัดต่างๆ ที่ขึ้นกับภาคนั้นๆ มรรค ๘ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้น เมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็นปัญญาข้อเดียวทำหน้าที่เป็นแสงสว่างภายในอันจะทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งในปัญหาชีวิตและปัญหาที่ลึกซึ้งทั้งปวง หรือกับทำหน้าที่แก้ปัญหาชีวิต คือ ดับทุกข์ได้ กล่าวคือ ทั้ง ๘ ประการนั้นเมื่อปฏิบัติให้สมบูรณ์ก็จะกลมกลืนกัน หรือหลอมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่เรียกว่า มรรคสมังคี ร่วมกันทำหน้าที่เป็นแสงสว่างกำจัดความมืด คือ ต้นเหตุแห่งความทุกข์ คือ ความทะยานอยากเสียได้ แล้วก็จะทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสตัณหา ดังพระพุทธพจน์ที่ ว่า "ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ คนจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา"(ขุ,สุ.)