ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
สมถะวิปัสสนา
ธรรม ๓ ประการ
นิมิต ลมอัสสาสะ ลมปัสสาสะ ไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว เพราะไม่รู้ธรรม ๓ ประการ จึงไม่ได้ภาวนา นิมิต ลมอัสสาสะ ลมปัสสาสะ ไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว เพราะรู้ธรรม ๓ ประการ จึงจะได้ภาวนา ฉะนี้แล
ธรรม ๓ ประการนี้ไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว เป็นธรรมไม่ปรากฏ จิตไม่ถึงความฟุ้งซ่าน จิตปรากฏเป็นประธาน จิตให้ประโยคสำเร็จ และบรรลุคุณวิเศษอย่างไร
เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เขาวางไว้ ณ ภาคพื้นที่เรียบ บุรุษเอาเลื่อยต้นไม้นั้น สติของบุรุษย่อมเข้าไปตั้งอยู่ด้วยสามารถ แห่งฟันเลื่อยที่ถูกที่ต้นไม้นั้น บุรุษนั้นไม่ได้ใส่ใจฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไป ฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไปจะปรากฏก็หามิได้ จิตเป็นประธาน จิตเป็นประโยคสำเร็จ และบรรลุผลวิเศษ ความเนื่องกันเป็นนิมิต เหมือนต้นไม้ที่เขาวางไว้ ณ ภาคพื้นที่เรียบ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เหมือนฟันเลื่อย ภิกษุนั่งตั้งสติไว้มั่น ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปาก ไม่ใส่ใจถึงลมอัสสาสะ ปัสสาสะออกหรือเข้า ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ออกหรือเข้าจะไม่ปรากฏก็หามิได้ จิตปรากฏเป็นประธาน จิตให้ประโยคสำเร็จ และบรรลุถึงผลวิเศษ เหมือนบุรุษตั้งสติไว้ด้วยสามารถฟันเลื่อยอันถูกที่ต้นไม้ เขาไม่ใส่ใจถึงฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไปจะไม่ปรากฏก็หามิได้ จิตปรากฏเป็นประธาน จิตให้ประโยคสำเร็จ และบรรลุถึงผลวิเศษ ฉะนั้น
ลมอัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ปัสสาสะ คือลมหายใจออก นิมิต คือการตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก หรือริมฝีปาก
จิตปรากฏเป็นประธาน คือ แม้กาย แม้จิต ของภิกษุผู้ปรารภความเพียร ย่อมควรแก่การงานนี้เป็นประธาน จิตให้ประโยคสำเร็จคือ จิตของภิกษุปรารภความเพียรย่อมละอุปกิเลสได้ วิตกย่อมสงบไปบรรลุถึงผลวิเศษคือ ภิกษุผู้ปรารภความเพียรย่อมละสังโยชน์ อนุสัยย่อมถึงความพินาศไป ก็ธรรม ๓ ประการนี้
ภิกษุใดเจริญอนาปานสติให้บริบูรณ์ดีแล้ว อบรมแล้วความลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นเมฆหมอกฉะนั้น
เหมือนจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ความว่ากิเลสเหมือนหมอก อริยญาณเหมือนดวงจันทร์ ภิกษุเหมือนจันทร์เทพบุตร ภิกษุพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสวเปล่งปลั่ง และไพโรจน์เหมือนดังจันทร์พ้นจากหมอก พ้นจากควันและธุลีในแผ่นดิน พ้นจากฝ่ามือราหู ยังโอกาสโลกให้สว่างไสวเปล่งปลั่ง และไพโรจน์ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ญาณในโวทาน ๑๓ ประการนี้แล