ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

สมถะวิปัสสนา

อารมณ์และข้าศึกของยุคลธรรม

กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ

ความสงบระงับแห่งกาย ชื่อว่า กายปัสสัทธิ ความสงบระงับแห่งใจ ชื่อว่าจิตตปัสสัทธิ ในสองอย่างนี้ได้แก่ขันธ์สามมี เวทนา สัญญา สังขาร ก็โดยทำคุณทั้งสองอย่างนี้รวมกัน ความสงบระงับแห่งกายและจิต มีความเข้าไปสงบแห่งความกระวนกระวาน ทางกาย และจิต มีลักษณะแห่งความย่ำยีแห่งความกระวนกระวาย ทางกายและ จิต เป็นรส มีความไม่ซ่านและเยือกเย็น แห่งกาย และจิต เป็นเครื่องปรากฏ มีกายและจิต เป็นปทัฏฐาน พึงทราบว่าเป็นข้าศึกแห่งกิเลส มี อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เป็นต้น อันทำความไม่สงบแห่งกายและจิต

กายลหุตา จิตตลหุตา

ความเป็นสภาพเบาแห่งกายชื่อว่า กายลหุตา ความเป็นสภาพเบาแห่งใจชื่อว่า จิตตลหุตา คุณสองอย่างนี้มีอันเข้าไปสงบกาย และสงบจิตเป็นลักษณะ มีความย่ำยีความหนักแห่งกาย และจิตเป็นรส มีความไม่เฉื่อยชาแห่งกาย และจิต เป็นเครื่องปรากฏมี กายและจิตเป็นปทัฏฐาน พึงทราบว่าเป็นข้าศึกต่อกิเลส มี ถีนมิทธะ และความง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น ซึ่งความหนักแห่งกาย และจิต

กายมุทุตา จิตตมุทุตา

ความเป็นสภาพอ่อนแห่งกายชื่อว่า กายมุทุตา ความเป็นสภาพอ่อนแห่งจิต ชื่อว่า จิตตมุทุตา คุณสองอย่างนี้มีอันเข้าไปสงบความกระด้างแห่งกาย และจิต เป็นลักษณะ มีความย่ำยีความกระด้างแห่งกายและจิตเป็นรส มีอันไม่ขัดข้องเป็นเครื่องปรากฏมีกาย และจิต เป็นปทัฏฐาน พึงทราบว่าเป็นข้าศึกต่อกิเลส ทิฏฐิ และมานะ เป็นต้น อันทำความกระด้างแห่งกายและจิต

กายกัมมัญญตา จิตกัมมัญญตา

สภาพควรแก่การงานแห่งกาย ชื่อว่า กายกัมมัญญตา สภาพควรแก่การงานแห่งจิต ชื่อว่าจิตตกัมมัญญตา คุณสองอย่างนี้มีความเข้าไปสงบแห่งความเป็นสภาพ ไม่ควรแห่งการงาน และจิต เป็นลักษณะมีอันย่ำยีเป็นสภาพไม่ควรแก่การงานแห่งกาย และจิตเป็นรส มีสมบัติอันมีอารมณ์แห่งกาย และจิต เป็นเครี่องปรากฏ มีกาย และจิตเป็นปทัฏฐาน พึงทราบว่าเป็นข้าศึกต่อนิวรณ์ธรรมที่เหลือ คือ กามฉันท์ พยาบาท วิจิกิจฉา เป็นต้น ความไม่ควรแก่กายและจิต เป็นคุณนำความเลื่อมใสในวัตถุ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เป็นคุณอันนำภาวะอันควรปรับปรุง ในการทำประโยชน์

กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา

ความเป็นสภาพคล่องแคล่วแห่งกาย ชื่อว่า กายปาคุญญตา ความเป็นสภาพคล่องแคล่วแห่งจิต ชื่อว่า จิตปาคุญญตา คุณสองอย่างนี้มีความไม่เฉื่อยชา กาย และจิตเป็นลักษณะ มีความย่ำยีแห่งกาย และจิต เป็นรสมีโทษเป็นเครื่องปรากฏ มีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน พึงทราบว่าเป็นข้าศึกต่อความไม่เชื่อเป็นต้น อันทำความเฉื่อยชาแห่ง กายและจิต

กายุชุคคตา จิตตุชุคคตา

ความเป็นสภาพตรงแห่งกาย ชื่อว่า กายุชุคคตา ความเป็นสภาพตรงแห่งใจ ชื่อว่า จิตตุชุคคตา คุณสองอย่างนั้นมีความตรงแห่งกาย และจิต เป็นลักษณะ มีความย่ำยีเป็นสภาพคดแห่งกาย และจิต เป็นรส มีการไม่หลอกลวงเป็นเครื่องปรากฏมีกาย และจิต เป็นปทัฏฐานพึงทราบว่าเป็นปฏิปักต่อ มายาสาไถ อันทำความโกง แห่งกายและจิต

<< ย้อนกลับ | สารบัญ | หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย