วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร >>

มัทนะพาธา

ความเป็นมา

มัทนะพาธาเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นหนังสือที่แต่งดี ใช้ฉันท์เป็นบทละครพูดซึ่งแปลกและแต่งได้ยาก เป็นเรื่องที่มีตัวละครและฉากสอดคล้องกัน วัฒนธรรมภารตะโบราณและเข้ากับเนื้อเรื่องได้ดี

มัทนะพาธาแต่งเป็นบทละครพูด เป็นศิลปะการแสดงที่เพิ่งนิยมกันในปลายรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร  ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระองค์สนพระทัยละครพูดของตะวันตกมาก โปรดการเสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงละครพูดและต่อมาก็ได้ทรงวิจารณ์การละคร ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร ทรงจัดแสดงละครตลอดจนทรงแสดงละครเอง ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ

เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๔๕ ขณะทรงพระชนมายุ ๒๒ พรรษา ได้ทรงตั้งทวีปัญญาสโมสรขึ้นที่พระราชวังสราญรมย์ แล้วทรงสร้างโรงละครเล็กขึ้นสำหรับการแสดงละครพูดโดยเฉพาะ เรียกว่า โรงละครทวีปัญญา บทละครพูดที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในระยะแรกๆ เป็นเรื่องที่ทรงแปลแล้วดัดแปลงมาจากบทละครภาษาอังกฤษ เช่น เรื่องชิงนาง หาโล่ เห็นแก่ลูก เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้อยแก้ว ที่เป็นร้อยกรองก็เป็นบทละครพูดคำกลอน เช่น พระร่วง เวนิสวานิช เป็นต้น มีเพียงเรื่องเดียวที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นบทละครพูดคำฉันท์คือ มัทนะพาธา หรือตำนานดอกกุหลาบ

มัทนะพาธาเป็นบทละครพูดคำฉันท์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งเป็นช่วงที่มีพระราชกิจมาก ขณะทรงพระประชวรและประทับอยู่ ณ  พระราชวังพญาไท ต่อจากนั้นก็เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ประทับแรมตามที่ต่างๆ เช่น บางปะอิน สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี โดยได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธาไปด้วย จนเมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ วันที่  ๔  ตุลาคม ๒๔๖๖ และทรงพระราชนิพนธ์ต่อที่พระราชวังพญาไทจนจบเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม  ๒๔๖๖  ทรงใช้เวลาพระราชนิพนธ์ ๑ เดือน ๑๗ วัน

ต่อมาในเดือนมกราคม ๒๔๖๗ ได้ทรงแปลบทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธาเป็นร้อยแก้วภาษาอังกฤษพร้อมด้วยอภิธานศัพท์  เมื่อทรงแปลเสร็จในเดือนพฤษภาคม ๒๔๖๘ ก็ได้พระราชทานแก่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเพื่อให้พิจารณาทูลเกล้าฯ  ถวายความเห็น  พระวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรกราบบังคมทูลว่า ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมาก น่าจะทรงพระราชนิพนธ์เป็น  Blank  verse  (กลอนเปล่า ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่กำหนดจำนวนคำโดยไม่บังคับสัมผัส  แต่เน้นจังหวะของเสียง) ตามแบบบทละครพูดของเชคสเปียร์ได้ จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลใหม่เป็นร้อยกรองตามคำกราบบังคมทูล แต่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึงกลางองค์ที่ ๔ ก็ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งจะเริ่มทรงพระราชนิพนธ์ ได้ทรงพยายามหาคำบาลีสันสกฤตสำหรับชื่อดอกกุหลาบ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป ขณะยังเป็นรองอำมาตย์โทหลวงธุรกิจภิธาน) ค้นได้ศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า กุพชก แต่ได้ทรงพระราชวินิจฉัยว่าถ้าจะให้เป็นชื่อนางเอกอาจต้องเปลี่ยนเสียงพยางค์หลังเป็น กุพชกา ซึ่งมีเสียงน่าฟัง แต่จะไปตรงกับศัพท์ที่แปลว่า นางค่อม จึงทรงเลือกใช้คำว่า มัทนา เป็นชื่อนางเอก มัทนา มาจากศัพท์ มทน แปลว่า ความลุ่มหลง หรือ ความรัก นอกจากนั้นเมือทรงพบศัพท์มทนพาธาจากพจนานุกรมสันสกฤตซึ่งมีความหมายว่า ความเจ็บหรือเดือดร้อนแห่งความรัก ซึ่งตรงกับแก่นเรื่องของบทละครเรื่องนี้ จึงทรงใช้ชื่อว่า มัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย