ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
เพลงพื้นบ้าน
นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค
การแบ่งประเภทของเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านภาคใต้
เพลงพื้นบ้านภาคใต้ มีการจัดแบ่งเป็น 6 ลักษณะคือ
เพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันในกลุ่มชาวไทยมุสลิม
เพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นในกลุ่มไทยพุทธ เพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นในโอกาส
เทศกาลเพลงพื้นบ้านที่เล่นได้ทุกโอกาส
และเพลงกล่อมเด็กเพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นในกลุ่มชาวไทยมุสลิม ได้แก่ เพลงตันหยง
ลิเกฮูลูเพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นในกลุ่มชาวไทยพุทธ ได้แก่ เพลงกล่อมนาค เพลงเรือ
เพลงนาสวดมาลัย
เพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นในโอกาสงานเทศกาล ได้แก่ เพลงเรือ เพลงลา เพลงบอก
เพลงกล่อมนาค สวดมาลัย เพลงพื้นบ้านที่เล่นได้ทุกโอกาส ได้แก่
เพลงตันหยงหรือหล้อแหง็ง และลิเกฮูลู
เพลงบอก เพลงบอกนิยมเล่นกันในระหว่างสงกรานต์ เป็นการบอกชาวบ้านให้ทราบว่าได้ถึงวันขึ้นปีใหม่แล้วคณะเพลงจะออกไปร้องตามบ้านต่างๆเมื่อถึงบ้านใด เจ้าของบ้านจะยกหมากพลูเหล้ายาปลาปิ้งมาเลี้ยงตามธรรมเนียม
วิธีเล่น มีดนตรีประกอบคือฉิ่ง มีแม่เพลงขึ้นกลอนและลุกคู่รับต่อมา
เพลงบอกใช้ร้องในโอกาสอื่นๆได้คือ ร้องกล่อมขวัญหรือสรรเสริญความดีของบุคคล
จึงมีเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีกคือ ขลุ่ย ปี่ ทับ กรับ
ส่วนการรับของลุกคู่นั้นเมื่อแม่เพลงร้องจบวรรคแรก ลูกคู่ก็รับครั้งหนึ่ง
โดยรับว่าว่าเอว่าเห่ แม่เพลงอาจจะว่าวรรคแรกซ้ำอีกก็ได้
ถ้าว่าซ้ำลูกคู่จะรับว่าว่าทอยจ้า ฉ้าเอแล้วลูกคู่รับวรรคสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง
(รุ่ง) ปานนี้เปรียบเหมือนกับชูชก มันแสนสกปรกเหลือประมาณ
อ้ายเรื่องหัวไม้ขอทาน แล้วใครจะปานกับมัน
เปิดคนที่ขี้ขอ ยิ่งคนเขายอว่าสำคัญ
แล้วตัวมันยิ่งกินยอ เห็นว่าคนพอใจ
พัทลุงหรือสงขลา ตลอดมาถึงนคร
ถ้าปล่อยให้ปานขอก่อน แล้วคนอื่นไม่พักไขว่
(ปาน) จริงแหละรุ่งปานเหมือนชูชก แต่ปานจะยกรุ่งเป็นพระเวสสันดร
ครั้งชูชกเข้าไปวอน แล้วรุ่งให้ไม่เหลือไหร่
ถึงลูกเมียยังไม่แน่ ครั่งพอปานแวะเข้าไป
บางทีสิ่งไรที่รัก ใคร่ก็รุ่งต้องให้มา
เพลงกล่อมเด็กภาคใต้
ชื่อของเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ ซึ่งมีชื่อเรียก 4 อย่าง คือ
1) เพลงร้องเรือ สันนิษฐานว่าการที่เรียกเช่นนี้ อาจเป็นเพราะลักษณะของเปลผ้าที่ผูกเป็นรูปคล้ายเรือ คือเอาปลายของผืนผ้าทั้ง 2 ข้าง รวบผูกด้วยเชือกแขวนห้อยไว้ แล้ววางตัวเด็กให้นอนตรงส่วนกลาง เปลจึงดูมีท้องลึก ส่วนกลางกว้าง หัวท้ายเรียวสอบเข้าไปคล้ายลำเรือ
2) เพลงชาน้อง หรือ เพลงช้าน้อง ชา มาจากคำบูชา เป็นทำนองร้องขับสดุดีอย่าง ชาขวัญข้าว ซึ่งเป็นการสดุดีแม่โพสพ การ ชาน้อง คงหมายถึง การสดุดี แม่ซื้อ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผีที่ช่วยปกปักรักษาทารก
3) เพลงเสภา คำ เสภา นี้ ปรากฏว่าได้พบหลักฐานจากบทเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ในหลายท้องที่ เช่น จังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช เรียงเพลงกล่อมเด็กอย่างหนึ่งว่า เสภา
4) เพลงน้องนอน บางถิ่นเรียกเพลงกล่อมเด็กตรง ๆ ว่าเพลงน้องนอน การที่เรียกชื่อต่างกันเช่นนี้ สังเกตได้ว่า ถ้าเป็นการขับกล่อมให้เด็กนอนหลับ มักเรียกว่า เพลงชาน้อง ถ้ามุ่งถึงการขับร้องทั่ว ๆ ไป มักเรียกว่า เพลงร้องเรือ แต่ถ้านำเอาเพลงกล่อมเด็กไปเล่นเป็นทำนองกลอนสดหรือเป็นบทปฏิภาณ ที่มักเรียกว่า เพลงเสภา
วิเคราะห์วิธีการใช้ถ้อยคำในเพลงพื้นบ้านภาคใต้ ประเภทเพลงกล่อมเด็ก
1. เพลงที่มุ่งกล่อมเด็กให้หลับ และให้ความรักความอบอุ่นใจ มีคำเรียกเด็กว่า ขวัญอ่อน
ขวัญอ่อนเหอ นอนให้เป็นสุข
แม่ไม่มาปลุก อยาลุกรบกวน
ฟูกหมอนแม่ตั้ง รองหลังนิ่มนวล
อยาลุกรบกวน ขวัญอ่อนเจ้านอนปล
ขวัญอ่อน เป็นคำเรียกเด็ก แสดงความเมตตาต่อเด็กที่เป็นผู้ตกใจง่าย เด็กหญิงหรือชายที่มักขวัญหายบ่อย ๆ เรียกว่า ขวัญอ่อน เหอคือเอ๋ย (เป็นเสียงเอื้อน)
ขวัญอ่อนเหอ นอนให้สบาย
แม่เซ่อทั้งหลาย อยาได้หยิกหยอก
แม่เซ่อทั้งสี่ ชวนกันเข้าออก
อยาได้หยิกหยอก ขวัญอ่อนเจ้านอนเถิด
แม่เซ่อ คือแม่ซื้อ (เพี้ยนเสียงวรรณยุกต์) หมายถึงเทวดา หรือผีประจำทารก เชื่อกันว่าบางที่เด็กร้องหรือผวา เพราะแม่ซื้อมาหยิกหยอก จึงขอร้องว่าอย่าทำเช่นนั้น
เชิญนอนเถิดน้องนอน สายสมร อรทัยสุดใจพี่
ความเจ็บความไข้หาไม่มี ขวัญพี่อย่าร้องเลยน้องเหย
โปย่าตายายอยู่ใกล้แค่ ได้อุ้มชูดูและแม่ทรามเชย
ขวัญพี่อย่าร้องเลยน้องเหย เกิดมาเรามีกรรมเหอ
เหยคือ เอ๋ย
โปย่า คือ ปู่ย่า (ปู่ ออกเสียงเพี้ยนเป็นโป)บทนี้ใช้คำเรียกเด็กหญิงหลายคำ คือ สายสมร อรทัย ขวัญพี่ ทรามเชย วรรคสุดท้ายแสดงความเชื่อเรื่องกรรม
2. เพลงที่สร้างความบันเทิงเริงใจ
มีการกล่าวถึงสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทีทำงานอย่างคน ทำให้เกิดอารมณ์ขัน
ขึ้นเขาเหอ ไปแลงูเหาทำนา
ค้างคกถอนกล้า ปูนาช่วยดำ
หอยข้าวหอยโขง โก้งโค้งยังค่ำ
ปูนาช่วยดำ แล้วส่งนมโลก
มีการล้อเลียนหนุ่มที่ขี้อายไม่กล้าเกี้ยวสาว
ต้นยางยวนเหอ ต้นยางยวน
บ่าวน้อยหน้านวล เหตุไหรมานอนอยู่คนเดียว
โลกสาวแขากะโข บ่าวน้อยรูปโอไม่โส้เกี้ยว
เหตุไหรมานอนอยู่คนเดียว ให้คิวหมันชักตาย
บ่าวน้อย คือหนุ่มน้อยรูปโอ คือรูปงาม โอ่อ่าโลกสาว คือลูกสาว ( ลูกออกเสียงเพี้ยนเป๋นโลก)กะโข คือมีการโขโส้ คือสู้ ( ไม่กล้าเกี้ยว )ไหร คือไร ชาวใต้ชอบออกเป็นเสียงจัตวา ไร เป็นไหร (ใช้ ห.หีบ นำ ร. )มัน จึงเป็น หมัน ( ห. นำ ม. )คิว คือตะคิว หรือตะคริว อาการหดตัวของกล้ามเนื้อและค้างอยู่ ทำให้เจ็บปวด
3. เพลงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น
มีการกล่าวถึง พระบรมธาตุ ยอดเป็นทองคำ ที่เมืองนครศรีธรรมราช
เมืองนครเหอ แตกอนเขาเล่ามา
พระศรีธรรมโศกราชมีวาดหนา ได้กอมหาธาตุยอดทองคำ
ไว้เป็นที่บูชามหาชน ฝูงคนนับถืออุปถัมภ์
ที่ทรุดโทรมซ่อมไว้มิให้ดำ เช้าค่ำมีคนมาบูชาเหอ
บทนี้กล่าวถึงประวัติการสร้างพระมหาธาตุ กษัตริย์ที่ทรงสร้างคือพระเจ้าศรีธรรมโศกราชผู้พิชิตประเทศต่างๆ ภายหลังกลับมาสนพระทัยในพระพุทธศาสนา และทรงใช้หลักธรรมในการปกครอง ชาวเมืองเชื่อกันว่าพระองค์เป็นผู้ทรงสร้างพระบรมธาตุยอดทองคำ
วาดหนา คือวาสนา (ชาวใต้มักตัดพยางค์ให้คำสั้นลงเพื่อสะดวกในการออกเสียง
แตกอน คือแต่ก่อน ( ไม่ใช้วรรรณยุกต์เอก )
มีการให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองชุมพรที่ย้ายที่ตั้งเมือง
ส้มหลอดเหอ ทอดยอดโตงเตง
บ้านเมืองอยูแครง ผิดอย่างแตกอน
เมืองกอนจังหวัดอยู่นี่ เดี๋ยวนี้เขาย้ายไปชุมพร
ผิดอยางแตกอน ราษฎรไม่เคยเห็น
อยูเครง แปลว่าเดี๋ยวนี้ หมายความว่าเมื่อก่อนตัวจังหวัดอยู่ที่หลังสวน
ต่อมาย้ายไปอยู่ที่เมืองชุมพร บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปผิดกับแต่ก่อน
มีการเล่านิทานวรรณกรรมและนิทานพื้นเมืองนิทานที่นำมาเล่ามีหลายเรื่อง เช่นเรื่อง
นางมโนห์รา พระรถ เมรี วรวงศ์ นางอุทัย สังข์ทอง รามเกียรติ์ ฯลฯ
ที่เป็นวรรณกรรมเผยแพร่ไปจากภาคกลางก็มี เช่น ไชยเชษฐ์
ไกรทอง เป็นต้น ดังตัวอย่างการเล่าเรื่องมโนห์รา
ครือน้องเหอ น้องคือนางโนรา
เจ็ดองค์ลงมา เล่นน้ำในสระสรง
นายพรานจับได้ เอาไปถวายพระองค์
ลงเล่นน้ำในสระสรง หลงด้วยนายพรานป่า
ตัวอย่างเรื่องพระรถ เมรี
นางเมรีเหอ เสียทีที่เข้าไปชมสวน
พระรถถามถีและถามถ้วน ถามนางหน้านวลทุกสิ่งอัน
ลูกม่วงรู้หาวนาวรู้โห่ บอกให้พี่โร้ทุกสิ่งสรรพ์
ถามนางหน้านวลทุกสิ่งอัน เมรีเอววัลย์ สิ่งไหรไม่พรางผัว
น่าสังเกตว่า การเล่าเรื่องวรรณกรรม หรือนิทานพื้นบ้านนี้ ใช้คำน้อย แต่กินความครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในเรื่องมโนห์รามีการใช้ราชาศัพท์บ้าง เช่น สระสรง พระองค์
ในเรื่องพระรถ เมรี มีการใช้คำเรียกนางเมรีว่า นางหน้านวล (คงจะสวย) และเอววัลย์ ( คงจะมีเอวอ่อนไหวคล้ายเถาวัลย์ )สิ่งไหร คือสิ่งไร หมายความว่าพระรถถามถี่ถ้วนเรื่องราวเกี่ยวกับมารดาและป้าทั้งหลาย นางเมรีก็บอกหมดไม่ปิดบัง ลูกม่วง คือมะม่วง นาว คือมะนาว ( มะม่วงรู้หาว มะนาวรู้โห่ ) ไม่พราง คือไม่ปิดบัง
4. การสรรใช้คำขึ้นต้นเพลง
คำที่นำมาใช้เป็นคำขึ้นต้นเพลงกล่อมเด็ก เป็นคำที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเหมือนกระทู้ที่ตั้งขึ้นเพื่อขยายความ จึงพบว่ามีการสรรใช้ถ้อยคำอย่างประณีต และมีกฎเกณฑ์
เกณฑ์ในการเลือกคำมีอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1) เลือกถ้อยคำที่ง่ายแก่การเข้าใจ เป็นคำที่เกี่ยวกับวิถีดำเนินชีวิตของคนทั่วไป ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คนส่วนมากมีประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ
2) เลือกใช้คำขึ้นต้นเพลงที่บ่งบอกเนื้อหาสาระ หรือบอกบรรยากาศของเรื่อง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
ดังตัวอย่าง คำต่อไปนี้ต้นไม้ เช่น ต้นกล้วย ต้นมะพร้าวโหนด (โตนด ) ต้นหนุน (ขนุน) ฯลฯดอกไม้ เช่น ดาวเรือง ดาวกระจาย ดอกเมระ (มะลิ) ดอกทับทิม ฯลฯ
สัตว์ เช่น ไก่เถื่อน ไก่ป่า ไก่แจ้ นกเข้า นกจอก (กระจอก) ฯลฯ
ใช้สามานยนามที่เป็นสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว
ตัวอย่าง
ฮาเอ้อ ต้นพร้าวเหอ ต้นพร้าวทางปิด
เก้าคิดสิบคิด ต้นเหออย่าคิดกับสีกา
สีกาพาวรของต้นไป ต้นได้สไบสีกามา
ต้นเหออย่าติดกับสีกา ทำให้วัดวาผง
เก้าคิดสิบคิด อาจหมายถึง จะคิดอะไรก็คิดได้ แต่อย่าคิดรักสีกาเลย
ต้น คือพระภิกษุ วร คือจีวรของพระ ( ตัดพยางค์ จี )
บทนี้มีความหมายบ่งไปทางเรื่องชู้สาวระหว่างพระกับสีกา ถึงกับแลกเปลี่ยนสไบกับจีวรกัน ตอนท้ายตำหนิว่า ทำให้วัดวาผง คือเสียหายป่นปีเป็นผง หรือพังไป บทนี้เป็นการปรามพระว่าไม่ควรไปยุ่งกับสีกา เพราะจะทำลายชื่อเสียงของวัดเป็นการทำลายศรัทธาของชาวบ้านด้วย คำ ต้นพร้าว นี้ เป็นคำขึ้นต้นเพลงอีกหลายสำนวน
ใช้สภาพธรรมชาติเป็นคำขึ้นต้นเพลง
เช่น ฝนตก ฟ้าลั่น ลมพัด น้ำไหล น้ำเชี่ยว ไก่ขัน ฯลฯ
ตัวอย่าง
น้ำไหลเหอ ไหลมาโตรกโตรก
พ่อทุ่มเสียโลก ตามอี้โพกใหญ่
แม่เรากะยัง พ่อไม่ชอบใจ
ตามอีโพกใหญ่ ตามใจพ่อทูนหัว
พ่อทุ่มเสียโลก หมายความว่า พ่อทิ้งลูกไปเสีย
เป็นพ่อที่ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวพ่อตาม อีโพกใหญ่ ไป หมายถึง
ตามนางที่มีตะโพกใหญ่ไป
แม่เรากะยัง คือแม่เราก็ยังอยู่ ( ยัง แปลว่ายังมีอยู่, ยังมี )
บทที่เป็นคำตัดพ้อต่อว่าพ่อที่ทิ้งแม่และลูกไปมีเมียใหม่ เป็นการประท้วงการทำผิดปทัสถานของสังคม การรักษาปทัสถานของสังคมของชาวภาคใต้ ได้แก่การอนุรักษ์ประเพณีนิยม อันสอดคล้องกับค่านิยมและโลกทัศน์ของสังคมส่วนรวม
ใช้สรรพนามที่เรียกเครือญาติเป็นคำขึ้นต้นเพลง
เช่น พี่ชาย น้องสาว ฯลฯ ตัวอย่าง
ฮาเอ้อพี่ชายเหอ อย่านุ่งผ้าลายให้น้องแปลก
โพกหัวเช็ดหน้าภาษาแขก น้องแปลกว่าชาวตาหนี
น้องไม่สู้หาญทัก กลัวยอดรักอิบัดสี
น้องแปลกว่าชาวตาหนี แปลกหวาพี่คน เอิน
ให้น้องแปลก คำทำให้น้องจำไม่ได้ชาวตาหนี คือชาวปัตตานีไม่สู้หาญทัก คือไม่กล้าทัก
อิบัดสี แปลว่า จะอายหวา คือ กว่าพี่คนเอิน คือพี่คนอื่น ( อื่น ออกเสียงเพี้ยนเป็นเอิน )
ใช้กิริยาอาการต่างๆ
ในวิถีดำเนินชีวิตเป็นคำขึ้นต้นเพลงเช่น ทิ่มข้าว ขุดบ่อ ขึ้นเขา ตกเบ็ด ปลูกโพ (แฝก) ทอโหก (ทอหูก) ปลูกเรือน ขึ้นโหนด (โหนด) ไปปา ผูกเปล ร้องเรือ ฯลฯ
ตัวอย่าง
ฮาเอ้อ ตกเบ็ดเหอตกลงสองคันปลาจับพร้อมกันไม่โร้จะยังข้างไหนดี
ยักข้างบ้านสวน บ้านควนเสียที
ไม่โร้จะยังข้างไหนดี เสียทีคู่รักกัน
ตกเบ็ด เป็นคำเปรียบเทียบอาการกิริยาที่หญิงสาวพราวเสน่ห์ยั่วให้ชาย 2 คน มาหลงรักตนพร้อมกัน ทำให้สาวเกิดความลังเลใจว่าจะเลือกใครดี เพราะถ้าเลือกคนบ้านสวน ก็จะทำให้ คนบ้านควน (บ้านอยู่บนเนินสูง) ต้องเสียใจ เป็นคำกล่าวเชิงตำหนิหรือเสียดสีหญิงที่มีพฤติกรรมดังกล่าว
ใช้คำที่แสดงความรู้สึก หรืออารมณ์เป็นคำขึ้นต้นเพลง
เช่น แค้นใจ รักนุช มีกรรม ขวัญอ่อน รักกัน ร้อยชั่ง โฉมตรู ฯลฯ
ตัวอย่าง
ฮา เอ้อ แค้นใจเหอ ไถนาดินแห้ง
ยิ่งไถไปยิ่งแล้ง แตกแหงเหมือนรอยตีนนก
ก้มแลหัวหมูกะขัดใจ ก้มแลคันไถกะขัดอก
แตกแหงเหมือนรอยตีนนก ขัดอกน้องทุกสิ่ง
หัวหมู คือส่วนของไถตอนที่ติดผาล ส่วน ผาล นั้นเป็นเหล็กสำหรับสวมหัวหมู เครื่องไถ บทนี้ผู้ร้องเพลงแสดงความขัดอกขัดใจที่ไถนาไม่ได้ผล เพราะขาดน้ำ ทำให้ดินแห้งแตก (ระแหง) เหมือนรอยตีนนกตามที่ว่าในเพลง ชี้ปัญหาในการประกอบอาชีพทางการเกษตรของชาวบ้าน
5. การใช้สัญลักษณ์
เพลงกล่อมเด็กภาคใต้นิยมใช้คำที่เป็นสัญลักษณ์ คือ คำที่มีความหมายโดยนัย เอาสิ่งหนึ่งไปใช้แทนสิ่งหนึ่ง เมื่อใช้สิ่งใดเป็นสัญลักษณ์แทนสิงใด ก็มักจะถือเป็นขนบนิยม คือคำนั้นไม่ใช้เพลงอื่นๆ ในการใช้คำเป็นสัญลักษณ์นั้น มักนิยมใช้ที่คำขึ้นต้นมากที่สุด
หมากออน
เป็นสัญลักษณ์แทนจิตใจคนที่อ่อนแอ อ่อนไหวง่าย หรือโลเล หรือบางทีหมายถึงอ่อนวัย
อ่อนปัญญา มีจิตใจต่ำทราม หรือใฝ่ต่ำ ก็ได้ เช่นกล่าวพฤติกรรมของหญิงสาวว่า
หมากออนเหอ หยอนลายกะแหย้ ทิ้งเสียพ่อแม่ แล่นตามชายมา บุกน้ำมาเทียมนม
บุกตมมาเทียมกลางขา
เจ้าทองพันชั่ง
เป็นสัญลักษณ์แทนหญิงที่ดีพร้อมทุกประการ คุณลักษณะที่ควรยกย่องคือ ยิ่งผ่านอุปสรรคมากก็ยิ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นความดีเด่นชัดยิ่งขึ้น เปรียบดุจทองแท้ที่สุกปลั่งเสมอ ดังคำร้องที่ว่า เจ้าทองพันชั่งเหอ ยิ่งดีก็ยิ่งปลั่ง เจ้าทองพันชั่งไม่อับแสง ยิ่งดียิ่งสุกขึ้นทุกที ไม่มีราคีสีทองแดง
นกเขียว
เป็นสัญลักษณ์หมายถึงผู้เยาว์ ซึ่งยังพึ่งตนเองไม่ได้ ดังในคำร้องที่ว่า
นกเขียวเหอ เกาะเรียวไม้พุก
พ่อแม่อยู่หนุก โลกไปใช้นาย
ฝนตกฟ้าร้อง เขาอยู่หนุกบาย (สนุกสบาย)
โลกไปใช้นาย นั่งกินแต่น้ำตา
โลกไปใช้นาย หมายถึงการเอาลูกไปให้นายเขาใช้ ต้องเป็นทาสเขา
ส่วนพ่อแม่อยู่อย่างสบาย ปล่อยให้ลูกลำบาก
พร้าวทางตำ
เป็นสัญลักษณ์หมายถึงคนที่ไปหลงใหลโนรา จิตใจอ่อนไหวง่าย ดังคำร้องที่ว่า
บ้านนี้เหอ มีพร้าวทางตำ
เทียมโนราพุ่มเข้ามารำ ทำกรรมกับนางสาวน้อย
เวลาโนรายกเครื่องไป หัวใจนางให้เศร้าสร้อย
ทำกรรมกับนางสาวน้อย ถอดแหวนนิ้วก้อยยื่นให้ทองร้อยชั่ง
น้ำเชี่ยว
เป็นสัญลักษณ์แทนอุปสรรค คนเก่งงานย่อมสามารถสู้งานหนักได้จนงานสำเร็จ
ดังคำร้องที่ว่า
น้ำเชี่ยวเหอ พี่จะเคี่ยวให้เป็นน้ำหอม
ใสขวดปากรอม ใสหมอนให้พี่ชายให้หายหวัด
น้ำเหอว่าเชี่ยว พี่เคี่ยวให้เป็นน้ำยานัตถุ์
ใสหมอนพี่ชายให้หายหวัด ใสยาให้หายคัดจมูก
ชายในบทนี้แสดงความเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ซึ่งย่อมจะมีเป็นธรรมดา
อุปสรรคอาจเปรียบได้กับโรคหวัดที่ทำให้คัดจมูกเท่านั้น
6. การใช้อุปมาอุปไมย
น่าสังเกตว่ามีการใช้อุปมาอุปไมยในเพลงกล่อมเด็กภาคใต้อยู่หลายบท แสดงถึงศิลปะในการใช้ถ้อยคำอย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่าง
ในอกของพี่ดังหินถวง ในทรวงของพี่ดังศรปัก
ในบทนี้ ชายรำพันถึงทุกข์ในใจตนว่าหนักเหมือนมีหินถ่วงอยู่ และในทรวงก็เจ็บปวดดังถูกศรปักไว้ ความเปรียบเช่นนี้ถือว่ามีคุณค่าสูงทางวรรณศิลป์ เพราะมีเสียงสัมผัสที่ไพเราะ ทั้งความหมายก็เด่น ข้อความในวรรคแรกและวรรคหลังล้อกันทำให้เกิดดุลของเสียงอย่างน่าฟัง
ไปเหนือเหอ เซ่อเรือไม้เคียน
ทุกข้าวสามเกียน เหยียบแคมไม่ไหว
พี่พี่น้องน้อง นั่งคองเสาใบ
เหยียบแคมไม่ไหว ใจน้องเหมือนเวแปล
บทนี้เตือนสติคนที่คิดทำการใหญ่เกิดตัว ไม่คำนึงถึงฐานะของตนว่าเสี่ยงอันตราย อุปมาเหมือนเรือที่บรรทุกของเกินน้ำหนักพิกัด ก็เสี่ยงต่อการล่มจมกลางทะเล ความเปรียบที่กล่าวในวรรคสุดท้ายนั้น ให้ความหมายชัดเจน แสดงถึงความเป็นห่วงในใจว่ามีมากจนรู้สึกกว่าใจแกว่งเหมือนไกวเปลความหมายของคำมีดังนี้เซ่อ คือ ซื้อไม้เคียน คือไม้ตะเคียนทุกข้าว คือบรรทุกข้าวนั่งคองเสาใบ คือนั่งประคองเสาใบเวเปล คือไกวเปล
- เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ
- เพลงพื้นบ้านภาคใต้
- เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออก
- เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- เพลงพื้นบ้านภาคกลาง