ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

มารยาทการฟัง

การฟัง หมายถึง การตั้งใจสดับ คอยรับฟังด้วยหู ได้ยิน ขยายความได้ว่า การฟังเริ่มจากการได้ยินเสียงก่อน ขั้นที่ ๒ จึงติดตามเรื่องราวของสิ่งที่ได้ยินไปด้วย พอถึงขั้นที่ ๓ ต้องสามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยิน หรือตีความหมายของสิ่งที่ได้ยินได้ และขั้นสุดท้าย ต้องเกิดความคิดคล้อยตามหรือโต้แย้งสิ่งที่ได้ยินนั้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ประโยชน์ของการฟัง

๑. ช่วยให้มีความรู้และสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นผู้ทันโลกและทันเหตุการณ์เพราะฟังมากย่อมรู้มาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติของความเป็นนักปราชญ์หรือผู้เป็นพหูสูต
๒. ช่วยให้นำสิ่งที่ได้รับฟังนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การตัดสินปัญหา หรือมีความคิดสร้างสรรค์
๓. ช่วยให้เกิดทักษะการฟัง คือ สามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่ฟัง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้
๔. ช่วยให้มีวิจารณญาณในการฟัง คือ สามารถพิจารณาไตร่ตรองได้ว่า สิ่งใดบ้างเป็นข้อเท็จจริง สิ่งใดบ้างผิดและสิ่งใดบ้างถูกต้อง

จุดประสงค์ของการฟัง

ผู้ฟังมีจุดประสงค์ใหญ่ในการฟังเพียง ๓ ประการ คือ
๑. ฟังเพื่อให้ความความรอบรู้และความรู้ แยกได้ดังนี้
๑.๑ ฟังเพื่อให้เกิดความรู้ การฟังชนิดนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียน
๑.๒ ฟังเพื่อให้เกิดความรอบรู้เป็นการฟังที่ช่วยสร้างเสริมเพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ฟังข่าว
๒. ฟังเพื่อหาเหตุผลมาโต้แย้งหรือคล้อยตาม เป็นการฟังที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ฟังมีวิจารณญาณในการฟังเป็นสำคัญ คือเมื่อฟังอะไรแล้วต้องรู้จักคิด รู้จักไตร่ตรองว่าสิ่งที่ตนได้ฟังมานั้นมีเหตุมีผลสมควรเชื่อถือหรือไม่ อันจะเป็นการฝึกให้เป็นคนสุขุมรอบคอบ ไม่เชื่อสิ่งใดงมงาย
๓. ฟังเพื่อความเพลิดเพลินและซาบซึ้งเป็นการฟังด้วยความนิยมชมชอบ ผู้ฟังจะได้รับทั้งความสนุกสนานและ เพลิดเพลิน การฟังอย่างนี้ถือเป็นการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ช่วยผ่อนคลายความเครียด

ลักษณะผู้ฟังที่ดี

การฟังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตบุคคลทั่วไป เราจึงควรทราบลักษณะของผู้ฟังที่ดี ซึ่งมี ดังนี้
๑. มีสมาธิในการฟัง พุ่งความสนใจไปในเรื่องที่ตนกำลังฟัง
๒. ตั้งจุดมุ่งหมายในการฟัง ฟังเพื่ออะไร
๓. วิเคราะห์เจตนาของผู้พูด ว่าผู้พูดมีความประสงค์อย่างไร มีสิ่งใดแอบแฝงอยู่หรือไม่
๔. สนใจและจับประเด็นสำคัญของเรื่องที่ฟังให้ได้
๕. ต้องวางใจเป็นกลางไม่มีอคติใด ๆ ต่อผู้พูด
๖. ฟังด้วยความอดทนและตั้งใจ ตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
๗. ฟังอย่างสำรวม ให้เกียรติผู้พูด และมีมารยาทอันงาม
๘. ใช้ศิลปะในการฟัง ควรใช้ไหวพริบในบางโอกาส เพื่อช่วยให้ผู้พูดสามารถถ่ายทอดความรู้ ความคิดของตนไปสู่จุดหมายปลายทางตามที่ผู้ฟังต้องการ
๙. ขณะฟังควรบันทึกสิ่งสำคัญ หากสงสัยหาโอกาสซักถามให้เหมาะสม
๑๐. หลังการฟัง ผู้ฟังควรมีเวลาคิดทบทวนว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่ฟังไปนั้นตรงกับข้อเท็จจริงและมีเหตุผลน่าเชื่อถือเพียงใด

มารยาทในการฟัง

๑. ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย
๒. ผู้ฟังที่ไปถึงก่อน ควรนั่งเก้าอี้ที่เขาจัดไว้แถวหน้า ๆ ผู้ที่มาหลังจากนั้นก็ควรนั่งถัดกันลงมาข้างหลังตามลำดับ
๓. ควรไปถึงสถานที่ฟังก่อนที่ผู้พูดเริ่มพูด
๔. ควรฟังด้วยความสนใจ ไม่ควรแสดงสีหน้าท่าทางให้ผู้พูดเห็นว่าผู้ฟังเริ่มเบื่อหน่าย
๕. ควรให้เกียรติผู้พูดด้วยลักษณะต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ เช่น ปรบมือ
๖. ถ้าเกิดข้อสงสัยต้องการซักถาม ควรยกมือขึ้นเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงค่อยถาม
๗. ไม่ลุกเดินเข้าออกบ่อยโดยไม่จำเป็น ถ้าจะต้องลุกขึ้นเพื่อออกก่อนเวลาควรเลือกนั่งใกล้ประตูทางออก
๘. ไม่นำอาหารหรือเครื่องดื่มหรือของขบเคี้ยวเข้าไปรับประทานเพราะจะไปรบกวนผู้อื่นและอาจทำให้สถานที่สกปรก
๙. ไม่แสดงอาการที่ไม่เหมาะสมต่อเพื่อนต่างเพศในที่ประชุมหรือในการชมมหรสพ เพราะกาลเทศะ แสดงถึงการขาดวัฒนธรรมอันดีงาม
๑๐. ควรปรบมือเป็นการให้เกียรติแก่ผู้พูดเมื่อมีการแนะนำผู้พูดและเมื่อจบการพูด รวมทั้งปรบมือให้แก่สถานที่เมื่อการแสดงสิ้นสุดลง อันเป็นมารยาทที่ดีงาม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย