เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกนุ่นและการจัดการ
กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร
นุ่นเป็นพันธ์ไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตเส้นใยจากผลหรือฝัก
สำหรับประเทศไทยผลผลิตส่วนใหญ่ใช้สนองความต้องการภายในประเทศ
อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนิยมปลูกไว้ใช้สอยในครัวเรือนตามหัวไร่ปลายนา
ส่วนในภาคกลางและภาคใต้บางจังหวัด เช่น ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราช
จะปลูกกันเป็นแบบการค้า ในแต่ละปีไทยจะผลิตนุ่นได้ประมาณ 35,000-40,000 ต้น
ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น ปัจจุบันการผลิต
นุ่นของไทยมีแนวโน้มลดลงเพราะเกษตรกรให้ความสำคัญน้อยลง หากไม่ส่งเสริมอย่างจริงจัง
ในอนาคตคาดว่าไทยอาจต้องนำเข้านุ่นจากต่างประเทศ
การใช้ประโยชน์
- ปุยนุ่น ทำไส้เบาะ ที่นอน หมอน ฯลฯ
- เมล็ด สกัดเป็นน้ำมันพืช กากที่เหลือใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
- ไส้นุ่น ใช้เพาะเห็นฟาง
- เนื้อไม้นุ่น ทำกระสวนทอผ้า เยื่อกระดาษ ส้นรองเท้า
- ราก ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์
การจำแนกนุ่น
1. แยกตามลักษระการแตกกิ่ง
- นุ่นทรงฉัตร แตกกิ่งและเจริญเติบโตในแนวระดับขนานกับพื้นดิน เติบโตเร็ว ลำต้นสูง มีการแตกกิ่งเป็นระยะ แต่ละระยะมี 2-3 กิ่ง
- นุ่นทรงพุ่ม แตกกิ่งและกิ่งจะเจริญเป็นมุมแคบกับลำต้น หรือเกือบขนานกับลำต้น แตกกิ่งมาก และติดฝักตามกิ่งย่อยทำให้ติดฝักมากและกิ่งหักง่าย
2. แยกตามขนาดและความยาวของฝัก
- นุ่นขนาดเล็ก ความยาวฝักต่ำกว่า 15 ซม. ฝักอ้วนป้อม แกนไส้ใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์ปุยน้อย จัดเป็นนุ่นพื้นเมือง พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นุ่นขี้นก นุ่นกระจิบ หรือนุ่นพวง
- นุ่นขนาดกลาง ความยาวฝัก 15-24 ซม. มีทั้งทรงฉัตรและทรงพุ่มเปลือกบาง เปอร์เซ็นต์ปุยสูงปลูกมากในภาคกลาง มีกลุ่มพันธุ์ต่าง ๆ มากที่สุด เช่น นุ่นลำสี นุ่นตองต้น นุ่นพวง เป็นต้น
- นุ่นขนาดใหญ่ ความยาวฝักตั้งแต่ 25 ซม. ขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นนุ่นทรงพุ่ม จึงมีความยาวฝักประมาณ 40-50 ซม. ถ้าเป็นทรงฉัตร จะมีความยาว 30-40 ซม. พบมากในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากมีฝักขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก จึงทำให้กิ่งหักง่าย ฝักเสียหายมาก เช่น นุ่นเขมร นุ่นเกษตร นุ่นโตโก นุ่นญี่ปุ่น เป็นต้น
สภาพแวดล้อม
นุ่นเจริญได้ดีในเขตร้อนทั่วไป ทนทานต่อสภาพดินเลวและแห้งแล้งได้ดี
สภาพแวดล้อมโดยทั่ว ๆ ไปทุกภาคในประเทศไทยสามารถปลูกนุ่นได้โดยไม่มีปัญหา
การเตรียมดิน
มีการไถพรวนและปรับพื้นที่เช่นเดียวกับการปลูกไม้ผลอื่น ๆ โดยเตรียมหลุมปลูกขนาด
50x50x50 ซม. ระยะปลูก 6x6 เมตร จนถึง 8x8 เมตร
เมื่อนุ่นยังเล็กอาจปลูกพืชไร่อายุสั้นแซมระหว่างแถวนุ่น
การเตรียมวัสดุ
- ปลูกด้วยกล้าจากเมล็ด เพาะกล้าในกะบะเพาะหรือในถุงพลาสติก จนกล้ามีความสูง 80-150 ซม. (หรือ 6-12 เดือน) จึงย้ายลงปลูกในไร่
- ปลูกด้วยกิ่งปักชำ เลือกตัดกิ่งแขนงของกิ่งใหญ่ไปปักชำในแปลงปักชำที่เตรียมดินอย่งดี ห่างกันประมาณ 10-15 ซม. หมั่นรดน้ำดูแลให้ดี ประมาณ 2-4 เดือน ก็นำไปปลูกในแปลงได้
การกำจัดวัชพืชและการใส่ปุ๋ย
ควรหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงเสมอ มีการดายหญ้า พรวนดินรอบหลุมปลูก
จะช่วยให้ต้นนุ่นเติบโตเร็ว ควรมีการใส่ปุ๋ยนุ่นทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยวิทยาศาสตร์
อย่างน้อยปีละครั้ง โดยโรยปุ๋ยคลุกดินรอบ ๆ ต้น อย่าให้ปุ๋ยที่โคนโดยตรง
ควรใส่ปุ๋ยหลังเก็บเกี่ยว หรือก่อนเข้าฤดูฝนนับว่าเหมาะที่สุด
ศัตรูนุ่น
โรค ไม่ค่อยร้ายแรง ส่วนใหญ่ที่พบเกิดจากเชื้อราที่ใบ เช่น โรคใบเหลือง
ส่วนโรคใบจุดและโรครากเน่าเกิดจากสภาพดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี แมลงศัตรู
ที่สำคัญคือ หนอนของด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น พบมากกับต้นนุ่นที่มีอายุมาก
นุ่นทรงพุ่มจะพบมากกว่าทรงฉัตร เพราะมีกิ่งหนาทึบกว่า
และยังมีหนอนของด้วงหนวดยาวอีก 2-3 ชนิด เข้าทำลายกิ่ง
ทำให้กิ่งหักแต่ไม่ร้ายแรงมากนัก แก้ไขโดยการอัดหรือกรอรสารฆ่าแมลงชนิดผง
หรือน้ำเข้าไปในรู เมื่อถูกตัวหนอนจะตายได้ หนอนผีเสื้อเจาะฝักนุ่น
ทำลายฝักนุ่นทำให้ปุยนุ่นสกปรก พบระบาดทั่วไปในจังหวัดกาญจนบุรี
และระบาดรุนแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แก้ไขโดยพ่นเซพวินในระยะที่นุ่นติดฝักแล้ว
7-15 วัน และหลังจากเก็บฝักแล้วควรขุดดินรอบโคนต้นลึก 3-4
นิ้วเพื่อเก็บดักแด้ของหนอนทำลายทิ้งเสีย
การเก็บเกี่ยว
นุ่นที่ปลูกจากเมล็ด จะเริ่มให้ผลผลิตเส้นใยเมื่อมีอายุ 3 ปีขึ้นปี ถ้าดูแลรักษาดีอาจให้ผลเร็วขึ้น นุ่นที่ปลูกจากกิ่งปักชำจะให้ผลเร็วกว่า 1-2 ปี ควรทยอยเก็บเฉพาะฝักที่แก่เต็มที่ อย่าเก็บพร้อมกันทั้งหมดเพราะนุ่นจะออกดอกและแก่ไม่พร้อมกัน นุ่นอายุ 3 ปี จะให้ผลผลิต 200-350 ฝักต่อต้น ถ้าอายุ 4-5 ปี จะให้ผลผลิต 400-500 ฝักต่อต้น และจะเก็บได้อย่างน้อย 600 ฝักต่อต้น เมื่อนุ่นมีอายุปีที่ 10 ซึ่งเป็นระยะที่ให้ผลผลิตสูงสุด ต่อจากนั้นผลผลิตจะลดลง จึงควรโค่นทำลายต้นนุ่นและปลูกทดแทนใหม่เมื่อมีอายุ 13-15 ปี
เรียบเรียง : ผ.ศ กัณหา บุญพรหมมา ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จัดทำ: เกตุอร ทองเครือ กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร