เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ไม้ผล ไม้ยืนต้น

การปลูกลองกอง

โรคแมลงและการป้องกันกำจัด

หนอนชอนใต้ผิวเปลือก เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของลองกอง เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อที่จะอาศัยและกัดกินอยู่ใต้ผิวเปลือก ทำให้กิ่งหรือลำต้นที่มีหนอนทำลายเป็นสะเก็ดและมีขุยคล้ายเศษไม้ผุ ๆ รอบกิ่งหรือลำต้น เปลือกไม้มีรอยแตก หรือเผยอจากเนื้อไม้ กิ่งและลำต้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ซึ่งการกัดกินอยู่ใต้ผิวเปลือกในช่วงที่ตาดอกกำลังพัฒนาจะเป็นการทำลายฐานตาดอก ทำให้ตาดอกเหี่ยวแห้งและร่วงหล่นไป ซึ่งถ้าไม่ทำการป้องกันกำจัดให้เหมาะสม นอกจากไม้ได้ผลผลิตในปีนั้นแล้ว เมื่อหนอนระบาดทำลายมาก ๆ ลองกองจะทรุดโทรมจนไม่สามารถให้ผลผลิตในปีต่อ ๆ มา ซึ่งตัวหนอนที่พบมี 3 ชนิด มีขนาดแตกต่างกัน จึงเรียกว่า หนอนขนาดเล็ก หนอนขนาดกลาง และหนอนขนาดใหญ่ โดยที่หนอนขนาดใหญ่นอกจากจะอาศัยและกัดกินลองกองแล้ว ยังทำลายเงาและลิ้นจี่ด้วย
การป้องกันกำจัด แนะนำให้ใช้วิธีผสมผสาน ซึ่งประกอบด้วย

  • การเลี้ยงศัตรูธรรมชาติ ที่ชอบกินหนอนไว้ในสวน และตามต้นลองกอง เช่น การเลี้ยงมดง่ามไว้ตามโคนต้นหรือกิ่ง ด้วยมูลสัตว์ กากมะพร้าว หรือผลมะพร้าวผ่าซีกซึ่งมดง่ามจะขยายพันธุ์และจับกินตัวหนอนและดักแด้เป็นอาหาร การปล่อยให้กิ้งก่าอาศัยอยู่ในสวน และตามต้นลองกองโดยไม่ปล่อยให้คนงานจับกิ่งก่ามากินเป็นอาหาร

    รวมทั้งควรงดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชในสวนลองกอง ให้ใช้วิธีตัดหรอดายหญ้าแทนเพื่อจะได้ไม่ทำลายศัตรูธรรมชาติที่ไปจับกินหนอน
  • การฉีดพ่นด้วยไส้เดือนฝอย ให้หมั่นตรวจดูแลต้นลองกองในสวนอยู่เสมอ ถ้าพบการทำลายในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง หรือมีฝนตกบ้างให้ฉีดพ่นด้วยไส้เดือนฝอย ตามคำแนะนำดังนี้

    ช่วงเวลา ควรพ่นในตอนเย็น (หลัง 5 โมงเย็น) หรือวันที่ฝนตกพรำ ๆ เพราะไส้เดือนฝอยจะมีชีวิตและเคลื่อนไหวได้ในที่มีความชื้น รวมทั้งไม่ทนต่อแสงแดด ในกรณีที่อากาศแห้งควรพ่นน้ำให้ความชุ่มชื้นกับกิ่งและลำต้นให้ทั่วก่อนพ่นไส้เดือนฝอย

    วิธีการเตรียมไส้เดือนฝอย ให้ขยำฟองน้ำที่มีไส้เดือนฝอยในน้ำสะอาด ตามอัตราที่แนะนำข้างถุง แยกฟองน้ำทิ้ง ตักน้ำที่มีไส้เดือนฝอย 1 ช้อนโต๊ะไปส่องด้วยแว่นขยาย ถ้าเห็นไส้เดือนฝอยขนาดเส้นด้ายเคลื่อนไหวไปมา แสดงว่าไส้เดือนฝอยยังมีชีวิตแข็งแรง สามารถทำลายตัวหนอนได้

    วิธีการฉีดพ่น ฉีดพ่นน้ำที่มีไส้เดือนฝอยโดยใช้เครื่องพ่นยาแบบแรงดันสูงหรือสะพายหลัง ปรับหัวฉีดให้เป็นฝอยละเอียด พ่นที่กิ่งและลำต้นให้ทั่วถึง ยิ่งถ้าใช้เครื่องแรงดันสูงยิ่งดี เพื่อให้ไส้เดือนฝอยมีโอกาสปะทะและเข้าไปทำลายภายในตัวหนอน ไม่ควรพ่นจนน้ำไหลโชก เพราะไส้เดือนฝอยจะไหลลงสู่โคนต้นโดยเปล่าประโยชน์

    ตัวหนอนที่มีไส้เดือนฝอยเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ภายในจะตายภายใน 24-48 ชั่วโมง
  • การขูดกิ่งร่วมกับการใช้สารเคมี เมื่อพบว่ามีหนอนทำลายมาก ต้องตรวจสอบปริมาณตัวหนอนโดยให้ขูดผิวเปลือกออกเป้นพื้นที่ขนาด 6x6 นิ้ว ในระดับความสูงเกินกว่า 1.5 เมตรขึ้นไป จำนวน 5 จุดต่อต้น ถ้าพบว่าแต่ละจุดมีตัวหนอนมากกว่า 2 ตัวขึ้นไป ให้ฉีดพ่นสารเคมีเมทามิโดฟอส อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ตามกิ่งและลำต้นให้ทั่วทั้งต้น โดยปรับหัวฉีดให้เป็นละอองฝอยเล็ก ๆ แต่พึงระวังว่าการใช้สารเคมีจะเป็นการทำลายศัตรูธรรมชาติ และการขูดกิ่งก็ต้องระวังว่าจะไปทำลายตาดอก
  • การใช้กับดักแสงไฟ เพื่อดักผีเสื้อตัวเต็มวัยก็จะช่วยลดปริมาณหนอนทั้ง 3 ชนิดได้

    ผีเสื้อมวนหวาน เป็นผีเสื้อกลางคืนที่ดูดกินผลลองกองเป็นรอยแผลเป็นวงสีน้ำตาลและมีน้ำเยิ้ม ทำให้ผลเน่าป้องกันกำจัดโดยใช้เหยื่อพิษล่อ ทำด้วยสับปะรดสุก หั่นและจุ่มสารเคมีเซฟวิน85 เปอร์เซ็นต์ ใช้ลดเกี่ยวและแขวนไว้ในพุ่นลองกอง

    แมลงวันทอง ลักษณะคล้ายแมลงวันแต่มีสีทอง ตัวเต็มวัยจะวางไข่บนผลอ่อนและแก่จวนสุก ไข่จะฟักเป็นตัวหนอนกัดกินอยู่ภายในผล ป้องกันกำจัดโดยใช้สารล่อเมธิลยูจินอล และสารเคมีกำจัดแมลงมาลาไธออนล่อแมลงวันทองเพศผู้เข้าไปในกับดัก หรืออาจใช้เหยื่อพิษล่อ โดยใช้สารยีสต์โปรตีนไฮโดรไลซิส 400-800 ซีซี ผสม มาลาไธออน 60-80 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเป็นจุด ๆ ในทรงพุ่มลองกอง

    หนอนชอนใบ เป็นหนอนขนาดเล็กสีเขียวอ่อน จะชอนกัดกินอยู่ใต้ใบอ่อน ทำให้ใบแห้งและร่วงหล่น ต้นลองกองจะขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากการแตกใบอ่อนของลองกองต้องใช้อาหารที่สะสมอยู่ในลำต้น แต่ใบอ่อนนั้นไม่มีโอกาสเจริญเป็นใบแก่และสังเคราะห์แสงสร้างอาหารกลับคืนให้แก่ลำต้น ป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี คาร์โบซัลแฟน ฉีดพ่นในช่วงแตกใบอ่อน

โรคราสีชมพู

ระบาดมากในช่วงฤดูฝนและในต้นที่มีทรงพุ่มแน่นทึบ ลักษณะอาการจะเห็นเส้นใบของเชื้อราเป็นสีขาวปกคลุมบาง ๆ บริเวณโคนกิ่ง และลุกลามจนรอบกิ่ง เส้นใยของเชื้อราจะหนาแน่นขึ้นกลายเป็นสีชมพู ใบที่อยู่บนกิ่งนั้นจะเริ่มเหลือง ร่วงและกิ่งแห้งตายในเวลาต่อมา ถ้าเฉือนเปลือกบริเวณที่มีเชื้อราปกคลุม จะเห็นเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล ป้องกันกำจัดโดยการตัดแต่งกิ่งแต่พอเหมาะ อย่าให้ทรงพุ่มแน่นทึบหรือโปร่งเกินไป โดยควรเลือกตัดเฉพาะกิ่งแห้ง หรือกิ่งที่ไม่มีประโยชน์ออกเท่าที่จำเป็น ตัดกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลาย ทารอยแผลที่ตัดออกด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ สำหรับกิ่งที่เชื้อราเข้าทำลายใหม่ ๆ ควรถากเปลือกส่วนที่เป็นโรคออก แล้วทาด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ และควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราในช่วงที่มีการระบาดเพื่อลดปริมาณเชื้อราที่มีอยู่ในสวน

โรคราสีขาว

ลักษณะอาการจะพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวหยาบ ปกคลุมบริเวณปลายกิ่งและลุกลามขึ้นปกคลุมใบ มักจะพบการทำลายของเชื้อราชนิดนี้คู่กับหนอนชอบใต้ผิวเปลือก ป้องกันกำจัดโดยตัดกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลายและพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา

โรคราดำ

จะพบครบราดำเคลือบผิวผล ทำให้ผลเสียคุณภาพ เนื่องจากมีแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย มาดูดกินน้ำเลี้ยงแล้วถ่ายมูลไว้เป็นอาหารของราดำ รวมทั้งน้ำหวานที่ผลลองกองปล่อยออกมาจากต่อมน้ำหวานที่ผิวเปลือก ก็เป็นอาหารของราดำเช่นกัน จึงควรป้องกันกำจัดแมลงโดยใช้สารเคมี ชนิดเมธิดาไธออน หรือมาลาไธออน 7-10 วันครั้ง ควบคู่กับการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อรา

โรคผลเน่า

การเน่าของผลลองกองในช่วงที่ใกล้สุก นอกจากจะเกิดจากการทำลายของผีเสื้อมวนหวานและแมลงวันทองแล้ว ยังพบการทำลายที่เกิดขึ้นจากเชื้อรา โดยผิวเปลือกของผลที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและค่อย ๆ เข้มขึ้น ผลเริ่มนิ่มและยุบตัวป้องกันกำจัดโดยการเขี่ยหรือปลิดผลที่ถูกทำลาย นำไปเผาหรือฝัง รวมทั้งทำการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราชนิด เบนโนมิล หรือ ไธอะเบนดาโซล

» สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
» พันธุ์
» การขยายพันธุ์
» การปลูก
» การปฏิบัติดูแลต้นลองกองหลังปลูก
» การปฏิบัติดูแลลองกองในช่วงที่ให้ผลผลิตแล้ว
» การเตรียมต้นลองกองให้พร้อมที่จะออกดอก
» การกระตุ้นการออกดอกและเร่งการพัฒนาของช่อดอก
» การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตของลองกอง
» การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาช่อผลลองกอง
» วิธีการเก็บเกี่ยว
» โรคแมลงและการป้องกันกำจัด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย