เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ไม้ผล ไม้ยืนต้น

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร

การเลี้ยงไหม

ไข่ไหม

หลังจากผีเสื้อทำการผสมพันธุ์แล้ว แม่ผีเสื้อจะวางไข่ ไข่ที่ถูกวางใหม่ ๆ จะมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม เมื่อไข่ไหมมีอายุประมาณ 8 วัน จะเกิดจุดสีน้ำเงินเข้มบริเวณขอบไข่ไหม ในวันต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือดำตลอดทั้งฟอง และฟักออกเป็นตัวไหมขนในวันรุ่งขึ้น รวมระยะเวลาตั้งแต่วางไข่จนกระทั่งฟักออกเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน

การจัดการเกี่ยวกับไข่ไหม

เกษตรกรจะต้องวางแผนการเลี้ยงไหมในแต่ละปีเพื่อทำแผนการจองไข่ไหมจากหน่วยราชการ เช่น
กรมส่งเสริมการเกษตร หรือบริษัทเอกชน เพราะจะได้ไข่ไหมพันธุ์ดีให้ผลผลิตสูง ปลอดโรค เกษตรกรไม่ควรผลิตไข่ไหมใช้เอง เพราะไข่ไหมจะไม่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตต่ำ และอาจจะก่อให้เกิดโรคเพบรินระบาดได้ เมื่อเกษตรกรได้รับไข่ไหมแล้วควรปฏิบัติดังนี้

การรับไข่ไหมของเกษตรกร

ปัจจุบันเกษตรกรจะได้รับไข่ไหมใน 2 ลักษณะด้วยกันคือ ไข่ไหมที่ยังไม่ได้ผ่านการกกไข่ไหม และไข่ไหมที่ผ่านการกกไข่ไหมแล้วจากแหล่งผู้ผลิต ดังนั้น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเกษตรกรจะต้องทราบด้วยว่าไข่ไหมที่ได้รับมาเลี้ยงในแต่ละรุ่นนั้นเป็นไข่ไหมลักษณะใด เพราะวิธีการปฏิบัติและดูแลไข่ไหมก่อนการฟักเป็นตัวอ่อนจะมีความแตกต่างกันดังนี้

1. ไข่ไหมที่ยังไม่ได้ผ่านการกกไข่ไหม
เมื่อเกษตรกรได้รับไข่ไหมแล้วจะต้องรีบนำเข้าห้องเลี้ยงไหมและจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการกกไข่ไหม คือ อุณหภูมิประมาณ 24-25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90% โดยอาจจะนำเอากาบกล้วยหรือฟองน้ำที่ชุบน้ำจนชุ่มมาวางล้อมรอบแผ่นไข่ไหม และควรให้ได้รับแสงสว่างอย่างน้อยวันละ 16 ชั่วโมง และสังเกตการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ เมื่อไข่ไหมเกิดจุดน้ำเงินเข้มประมาณ 30% ของจำนวนทั้งหมด ให้ปิดไฟหรือห่อแผ่นไข่ไหมด้วยกระดาษดำ จากนั้นอีก 2 วัน ให้เพิ่มความชื้นไม่ต่ำกว่า 90% ในวันที่ 3 ก็ทำการเปิดห่อไข่ไหมเพื่อให้ไข่ไหมฟักออกเป็นตัวอ่อนและเริ่มเลี้ยงไหมได้เป็นมื้อแรก

2. ไข่ไหมที่ทำการกกไข่ไหมแล้วจากแหล่งผู้ผลิต
เมื่อเกษตรกรได้รับไข่ไหมที่ผ่านการกกไข่แล้วก็ให้นำไปเก็บวางไว้ที่ชั้นหรือกระด้งเลี้ยงไหมเพื่อเตรียมการ เลี้ยงไหมในวันรุ่งขึ้น

ข้อควรปฏิบัติโดยทั่วไปเมื่อได้รับไข่ไหม

  • หากเกษตรกรเดินทางไปรับเองจากแหล่งผู้ผลิต ควรจะเดินทางไปรับในช่วงเวลาเช้าตรู่หรือช่วงเย็นเพื่อหลีก เลี่ยงสภาพอากาศร้อน ซึ่งอาจจะทำให้ไข่ไหมเป็นอันตรายและอ่อนแอได้
  • ระหว่างการเดินทางจากแหล่งรับไข่ไหมไปยังจุดเลี้ยงไหมในหมู่บ้าน หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรหยุดหรือแวะ ระหว่างทางเพื่อทำกิจกรรมอื่นและไม่ควรให้ไข่ไหมถูกแสงแดดโดยตรง
  • เมื่อได้รับไข่ไหมแล้วเกษตรกรควรจะนำไปวางในที่ได้จัดเตรียมไว้ทันที

» การเตรียมการก่อนการเลี้ยงไหม
» ไข่ไหม
» การเก็บรังไหม
» โรคและแมลงศัตรูไหม
» อุปกรณ์การเลี้ยงไหม
» วงจรชีวิตของตัวไหม
» วิธีเลี้ยงไหม
» การจำหน่ายผลผลิตไหม
» แมลงและศัตรูอื่น ๆ ที่สำคัญ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย