เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

การแปรรูปผลผลิต

อาหารจากกระเจี๊ยบเขียว

         กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชยืนต้น อายุประมาณ 1 ปี มีความสูง 40 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร ลำต้นมีขนสั้น ๆ มีหลายสีแตกต่างตามพันธุ์ ใบมีลักษณะกว้าง เป็นแฉกคล้ายใบละหุ่ง แต่ก้านใบจะสั้นกว่า ดอกสีสีเหลืองโคนดอกด้านในสีม่วง เมื่อบานคล้ายดอกฝ้าย ฝักมีรูปเรียวยาว ปลายฝักแหลม มีทั้งชนิดฝักกลมและฝักเหลี่ยม 5-10 เหลี่ยม ขึ้นกับพันธุ์สีฝักมีตั้งแต่เขียวแก่ เขียวอ่อน เขียวเหลือบแดง ไปจนถึงสีม่วงแดง เมล็ดมีลักษณะกลมรี ขนาดเดียวกับถั่วเขียว เมล็ดอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่มีสีเขียวอมเทา กระเจี๊ยบเขียวสามารถปลูกได้ตลอดปีในประเทศไทย และเจริญเติบโตในดินทุกชนิดเหมาะที่จะปลูกเป็นพืชผักสวนครัวชนิดหนึ่ง


กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชผักที่เราใช้ฝักอ่อนเป็นอาหาร เมื่ออายุได้ 40 วัน จะเริ่มออกดอก หลังดอกบาน 5 วันฝักจะยาว 4-9 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เก็บเกี่ยวมาบริโภคได้แล้ว และจะมีคุณภาพดี คือ อ่อน ไม่มีเส้นใย การเก็บเกี่ยวฝักใช้มีดตัดขั้วออกอย่างระมัดระวัง เพราะฝักช้ำง่ายมาก การปลูกเป็นผักสวนครัวที่บ้านควรตัดฝักรับประทานทุกวัน ไม่ให้มีฝักแก่บนต้น ซึ่งจะต้องส่งอาหารมาเลี้ยงทำให้ออกฝักน้อยลง
ฝักกระเจี๊ยบเขียวที่เก็บมาแล้ว ควรนำไปบริโภคทันที ในการเก็บรักษา เมื่อเก็บฝึกมาแล้ว ควรล้างและแช่ในน้ำให้ฝักกระเจี๊ยบเย็น แล้วเก็บรักษาในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 7-10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95% จะเก็บรักษาได้ 3-10 วัน

กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะวิตามินเอ และแคลเซียม ดังนี้

คุณค่าทางอาหารของกระเจี๊ยบเขียวในส่วนที่บริโภคได้ 100 กรัม

กระเจี๊ยบเขียวมีสารในเชิงสมุนไพรรักษาโรค ซึ่งปรากฎสรรพคุณในตำราแพทย์แผนโบราณ และการทดลองการแพทย์แผนใหม่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในประเทศไทยมีรายงานการทดลองว่าสารสกัดจากกระเจี๊ยบเขียว ด้วยแอลกอฮอล์สามารถลำจำนวนพยาธิตัวจี๊ดในหนูถีบจักรได้ 1 ในต่างประเทศพบว่ากระเจี๊ยบเขียวรักษาโรคกระเพาะได้ดี เนื่องจากเป็นผักที่มีเมือกลื่นมาก เมือกลื่นนี้จะช่วยหล่อลื่น ฉาบ เคลือบ และบรรเทาอาการระคายเคืองของเนื้อเยื่อที่อักเสบ จึงใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดท้องได้ในรายที่เยื่อบุกระเพาะและลำไว้อักเสบ ซึ่งมีการนำมาทำเป็นยาทั้งยาผงและแคปซูล นอกจากกระเจี๊ยบเขียวจะใช้บรรเทาอาการปวดของโรคกระเพาะแล้วยังพบว่าเป็นยาระบายที่ดีอีกด้วย2 สำหรับในบ้านเราสามารถปลูกได้ตลอดปี จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นยาผง ควรรับประทานฝักสดหรือนำมาประกอบอาหารจะดีกว่า 

คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกระเจี๊ยบเขียวมาก โดยเฉพาะฝักสดย่างไฟจิ้มซอส สำหรับคนไทยบริโภคกระเจี๊ยบเขียวมานานแล้ว เพราะเป็นผักพื้นบ้าน แต่ในคนรุ่นใหม่ยังไม่รู้จักแพร่หลายนัก ฝักกระเจี๊ยบเขียวสามารถนำไปประกอบอาหารได้ ตั้งแต่รับประทานเป็นผักจิ้ม ชุบแป้งทอด ยำต่าง ๆ ประกอบอาหารอื่น ๆ เช่น แกงส้ม แกงเลียง แกงจืดต่าง ๆ และฝักกระเจี๊ยบเขียวตากแห้งสามารถทำชา ซึ่งมีกลิ่นหอมได้อย่างดี 

» กระเจี๊ยบเขียวที่ใช้เป็นเครื่องจิ้ม
» น้ำพริกกะปิ
» ยำกระเจี๊ยบเขียว
» แกงกะหรี่ปลาใส่กระเจี๊ยบเขียว
» ผัดเมล็ดกระเจี๊ยบเขียว
» กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด
» แกงส้มกระเจี๊ยบเขียว
» แกงเลียงกระเจี๊ยบเขียว
» แกงจีดกระเจี๊ยบเขียวยัดไส้
» ห่อหมกกระเจี๊ยบเขียว
» กระเจี๊ยบเขียวผัดผงกะหรี่
» กระเจี๊ยบเขียวผัดขิงอ่อน
» สลัดกระเจี๊ยบเขียว
» กระเจี๊ยบต้มกะทิปลาสลิด
» ชากระเจี๊ยบเขียว
» วิธีประกอบอาหารเพื่อลดเมือกของกระเจี๊ยบเขียว

  • ที่ปรึกษา : สมชาย สุคนธสิงห์ ,อำถา ตันติสิระ
  • ผู้จัดทำ : เฉลิมเกียติ โภคาวัฒนา ,ภัสรา ชวประดิษฐ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย