เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ปศุสัตว์

การเลี้ยงและการควบคุมโรคไก่พื้นเมือง

กองปศุสัตว์สัมพันธ์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การป้องกันและรักษาโรคไก่พื้นเมือง

ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงไก่คือ เรื่องโรค เช่น โรคนิวคาสเซิลโรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์ โรคฝีดาษ นอกจากนี้ยังมีโรคพยาธิต่าง ๆ ทั้งพยาธิภายนอก เช่น เหา ไร หมัด และพยาธิภายใน เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวแบน พยาธินัยน์ตาไก่

วิธีป้องกันและควบคุมโรคและพยาธิที่ดีที่สุดคือ

  • การสุขาภิบาลที่ดี
  • การให้วัคซีนป้องกันโรค โดยสม่ำเสมอ
  • การสุขาภิบาล เป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันโรคและพยาธิไก่เพราะถ้าการสุขาภิบาลไม่ดีจะเป็นสาเหตุให้ไก่สุขภาพเลวลง ไม่แข็งแรงเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้

    1. ควรดูแลทำความสะอาดเล้าและภาชนะต่าง ๆ ที่วางไว้ในเล้าไก่และบริเวณใกล้เคียงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และอย่าปล่อยให้เล้าชื้นแฉะเพราะจะเป็นที่หมักหมมของเชื้อโรค
    2. สร้างเล้าให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
    3. กำจัดแหล่งน้ำสกปรกรอบ ๆ บริเวณบ้านเล้าไก่และใกล้เคียง
    4. อาหารไก่ต้องมีคุณภาพดี อาหารที่กินไม่หมดให้ทิ้งอย่าปล่อยให้เน่าเสีย
    5. มีน้ำสะอาดให้ไก่กินตลอดเวลา
    6. ถ้ามีไก่ป่วยไม่มากนัก ควรกำจัดเสีย และจัดการเผาหรือฝังให้เรียบร้อยจะช่วยกำจัดโรคได้เป็นอย่างดี
    7. อย่าทิ้งซากไก่ลงแหล่งน้ำเป็นอันขาด เพราะเชื้อโรคจะแพร่กระจายไปได้
    8. กำจัดซากไก่โดยวิธีเผาหรือฝัง ไม่ควรนำไปจำหน่าย เพราะจะทำให้เกิดโรคแพร่ระบาดได้
    9. วิธีป้องกันโรคอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่ควรซื้อไก่สดจากตลาดหรือหมู่บ้านอื่นมากิน เพราะไก่พวกนี้อาจเป็นโรคมาแล้วก็ได้
    10. เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น เจ้าของไก่ควรติดต่อหารือกับสัตว์แพทย์โดยเร็ว
  • การใช้วัคซีนป้องกันโรคระบาดไก่

ถึงแม้ว่าเราจะได้มีการสุขาภิบาลที่ดีแล้ว แต่โดยปกติในสิ่งแวดล้อมจะมีเชื้อโรคอยู่ ซึ่งสามารถทำให้ไก่เป็นโรคได้ทุกเวลา เราจึงต้องสร้างความต้านทานโรคให้กับไก่ของเราโดยการ ใช้วัคซีนป้องกันโรค ควรให้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ และทำตามตารางที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการป้องกันโรคที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยและได้ผลค่อนข้างดี

การให้วัคซีนจะได้ผลดีที่สุดเมื่อ

  • สุขภาพของไก่ต้องแข็งแรงไม่เป็นโรค
  • วัคซีนมีคุณภาพดี เก็บรักษาดีโดยต้องเก็บในที่เย็น เช่น ใส่กระติกน้ำแข็งหรือตู้เย็น ไม่ควรให้ถูกแสงแดดจะทำให้วัคซีนเสื่อมใช้ไม่ได้ผล
  • เครื่องมือที่ใช้กับวัคซีนสะอาดและผ่านการต้มฆ่าเชื้อโรคแล้ว
  • ฉีดวัคซีนให้ครบตามขนาดที่กำหนด
  • ฉีดวัคซีนโดยสม่ำเสมอ และพยายามฉีดวัคซีนไก่ที่มีสุขภาพดีทุกตัวในฝูงเดียวกัน

สถานที่ซื้อวัคซีน

  • กรมปศุสัตว์ พญาไท กรุงเทพฯ
  • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ ทุกอำเภอ
  • การซื้อวัคซีต้องนำกระติกบรรจุน้ำแข็งไปเพื่อใส่วัคซีนที่ซื้อทุกครั้ง เพราะวัคซีนต้องเก็บรักษาในความเย็นมิให้ถูกแสงสว่าง เพื่อรักษาคุณภาพของวัคซีนมิให้เสื่อมใช้ไม่ได้ผล นอกจากวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ที่ไม่ต้องเก็บไว้ในความเย็น

    และถ้าท่านยังไม่เข้าใจวิธีใช้วัคซีนให้สอบถามจากเจ้าหน้าที่ผู้ขายวัคซีน

โรคระบาดไก่ที่สำคัญที่ต้องใช้วัคซีนป้องกัน

ไก่มักจะเป็นโรคนิวคาสเซิล โรคอหิวาต์ โรคฝีดาษ หลอดลมอักเสบ เป็นประจำ เกษตรกรจึงควรใช้วัคซีนป้องกันโรคตามตารางที่กำหนด

โรคนิวคาสเซิล

เป็นโรคระบาดไก่ที่ร้ายแรงที่สุด มีระบาดทั่วไป ถ้าเกิดขึ้นในฝูงใดมักจะทำให้ตายหมดเล้า ในไก่ใหญ่ทำให้ไข่ลด

อาการ

  • ปกติจะแสดงอาการป่วยหลังได้รับเชื้อโรคเป็นเวลา 3-6 วัน โดยแสดงอาการหายใจลำบาก มีเสียงดังในเวลาหายใจ มีน้ำมูกไหล ท้องเสีย กระตุก คอบิด ขาและปีกเป็นอัมพาต ใช้การไม่ได้ บางรายอุจจาระร่วงเป็นสีเขียว แม่ไก่ที่กำลังไข่จะหยุดไข่ทันที และมักตายภายใน 1 อาทิตย์
  • ไก่ที่หายจากโรคนี้มักจะพิการ คอบิด ขาและปีกใช้งานไม่ได้ดี และจะเป็นตัวอมโรคต่อไป
    สาเหตุและการติดต่อ
    โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การติดต่อของโรคเป็นไปรวดเร็วมากดังนี้
  • ติดต่อกันโดยตรงในไก่ป่วยที่อยู่ใกล้ชิดกัน กินน้ำและอาหารร่วมกัน
  • ติดไปกับอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ คนและสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ตลอดจนนก หนู และแมลงวันก็เป็นตัวนำโรคได้
  • จากการชำแหละไก่ที่ป่วยและตายด้วยโรคนี้ ซึ่งในซากไก่จะมีเชื้ออยู่ในปริมาณสูงมากพอที่จะแพร่ระบาดไปยังไก่ตัวอื่น ๆ ในเล้าและไก่บริเวณใกล้เคียงได้

การป้องกัน

โดยการใช้วัคซีนป้องกันซึ่งมี 2 ชนิด ด้วยกันคือ ชนิดหยอดจมูกและชนิดแทงปีกซึ่งใช้กับไก่อายุ 3 เดือนขึ้นไป

โรคฝีดาษไก่

เป็นโรคระบาดที่พบได้มากในลูกไก่และไก่รุ่น นอกจากนี้นกพิราบก็เป็นโรคนี้ได้ ติดต่อได้รวดเร็วมาก มักจะทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมาก ตัวที่ไม่ตายจะแคระแกรนไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

อาการ

หลังจากไก่ได้รับเชื้อโรคแล้วประมาณ 1 อาทิตย์จะแสดงอาการ ซึ่งอาจพบได้ 2 ลักษณะคือ

  1. เกิดตุ่มฝีดาษลักษณะคล้ายหูดเกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน เช่น บริเวณหน้า หงอน เหนียง หนังตา และขา ระยะแรกเป็นเม็ดตุ่มเล็ก ๆ ต่อมาจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น ที่หัวของฝีเป็นแผลมีสะเก็ดสีน้ำตาลปิดอยู่ ต่อมาจะแห้งและลอกหลุดออกไป
  2. ตุ่มฝีดาษ ชนิดที่เป็นแผลเกิดขึ้นในลำคอ ทำให้กินอาหารลำบากน้ำลายไหลยืด มีกลิ่นเหม็นเป็นมาก ๆ จะทำให้ไก่ตายได้

สาเหตุและการติดต่อ

เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้หลายทางดังนี้

  • ทางบาดแผล เช่น แผลที่เกิดจากถูกของมีคม แผลจากการจิกตีกันในฝูง
  • ยุงเป็นพาหนะที่สำคัญในการนำเชื้อโรคไประบาดในไก่ตัวอื่น ๆ โดยยุงกินเลือดสัตว์ป่วยในระยะที่มีเชื้อโรคอยู่ในกระแสเลือด เชื้อโรคก็จะเข้าไปอยู่ในตัวยุง เมื่อยุงไปกัดดูดเลือดไก่อีกตัวหนึ่งก็จะปล่อยเชื้อโรคเข้าไปทำให้ไก่เป็นโรค

การป้องกันและรักษา

  1. ในการเลี้ยงลูกไก่เล็ก ควรระวังอย่าให้ยุงกัด
  2. ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนทาตามตุ่มฝีที่เกิดขึ้นเพื่อลดการอักเสบของฝีและให้ยาปฏิชีวนะละลายน้ำให้กินติดต่อกัน 3-4 วัน
  3. การทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่ ใช้เข็มแทงปีก โดยแทง 1 ครั้งทำกับไก่อายุ 1 อาทิตย์ขึ้นไป ไก่จะมีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษได้นาน 1 ปี

โรคอหิวาต์เป็ด-ไก่

เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่พบได้ในไก่ เป็ด ห่าน และนกอีกหลายชนิดระบาดได้ทุกฤดูกาล

สาเหตุและการติดต่อ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อได้หลายทาง เช่น

  • โดยกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไปและติดต่อกันต่อไปในสัตว์ป่วยที่อยู่ใกล้ชิดกัน
  • เชื้อโรคติดไปกับอุปกรณ์การเลี้ยง คน และสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ตลอดจน นก หนู ก็เป็นตัวนำโรคได้
  • เป็ด-ไก่ที่เลี้ยงใกล้แหล่งน้ำ ซากเป็ด-ไก่ที่เป็นโรคและสิ่งขับถ่ายที่ตกลงในน้ำนั้น เชื้อโรคจะแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำได้
  • จากการชำแหละเป็ด-ไก่ ที่ป่วยและตายด้วยโรคซึ่งเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปสู่เป็ด-ไก่ ตัวอื่น ๆ ในเล้าและเป็ด-ไก่บริเวณใกล้เคียงได้

อาการ

ถ้าเป็นอย่างร้ายแรงเป็ด-ไก่อาจตาย โดยไม่แสดงอาการให้เห็น ถ้าเป็นอย่างอ่อน ไก่อาจจะป่วยเป็นแรมเดือน มีอาการหงอยซึม เบื่ออาหารกระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลืองหรือเขียว หงอนและเหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ

ในรายที่เป็นอย่างเรื้อรัง เหนียงจะบวม บางตัวจะบวมที่ข้อขา ทำให้เดินไม่สะดวก

การป้องกันและรักษา

  • การสุขาภิบาลสำคัญมากในการป้องกันโรค ต้องระวังความสะอาดภายในเล้าไก่ การสร้างโรงเรือนต้อง โปร่ง เย็นสบาย ไม่อบอ้าว ไม่สกปรก
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาห์เป็ด-ไก่ เมื่อไก่อายุ 1-3 เดือน ฉีดวัคซีนแทงเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง จำนวน 1 ซี.ซี. ไก่จะมีภูมิคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน หรือไก่อายุ 3 เดือนขึ้นไป ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อหรือได้ผิวหนังเช่นกัน แต่ใช้จำนวน 2 ซี.ซี. ไก่ก็จะมีภูมิคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน และต้องทำซ้ำทุก 3 เดือน
  • การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาซัลฟาบางตัวละลายน้ำให้ไก่กินติดต่อกัน 2-3 วัน และควรหารือกับสัตวแพทย์ในท้องที่

โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ

เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ เกิดได้กับไก่ทุกอายุ แต่ในลูกไก่เล็กจะติดโรคนี้ได้ง่ายกว่าและตายมากกว่าในไก่ใหญ่

อาการ

ไก่แสดงอาการคล้ายเป็นหวัด โดยเฉพาะในลูกไก่จะมีอาการหายใจลำบาก อ้าปากเวลาที่หายใจและมีเสียงดังครืดคราด ตาแฉะ หงอยซึม ลูกไก่มักตายเพราะหายใจไม่ออก เนื่องจากจะมีน้ำเมือกอุดในหลอดลม
ส่วนในแม่ไก่จะตายน้อยกว่า แต่มีผลกระทบต่อการไข่ ทำให้ไข่ลดลงอย่างรวดเร็ว คุณภาพของไข่เลวลง เช่น เปลือกไข่บาง นิ่ม ขรุขระ ไข่ขาวเหลวเป็นน้ำ ฟักออกเป็นตัวน้อย

สาเหตุและการติดต่อ

เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ระบาดรวดเร็วมาก ไก่จะได้รับเชื้อโรคโดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่ปลิวฟุ้งอยู่ในอากาศ หรือการกินเอาเชื้อโรค ที่ปนอยู่ในอาหารหรือน้ำเข้าไป

การป้องกัน

ในการป้องกันมิให้เกิดโรค มีข้อแนะนำ ดังนี้

  1. อย่าเลี้ยงลูกไก่ต่างรุ่นปนเปกัน ควรเลี้ยงไก่เล็กให้อยู่ห่างจากไก่ใหญ่
  2. หมั่นดูแลความสะอาดเล้าไก่ และภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในเล้าไก่และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค
  3. อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ต้องเป็นอาหารที่มีคุณภาพดี อาหารที่ไก่กินไม่หมดให้ทิ้ง อย่าปล่อยให้เน่าเสีย ควรกวาดล้างให้หมด
  4. โรคนี้ไม่มียารักษาโดยตรง วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การให้วัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า โดยใช้วัคซีนหยอดตาหรือหยอดจมูกลูกไก่ เมื่ออายุได้ 2 อาทิตย์ และหยอดซ้ำทุก ๆ 3 เดือน

โรคพยาธิที่สำคัญ

พยาธิภายนอก

พยาธิภายนอกได้แก่ เหา หมัด ไร ที่อาศัยอยู่ตามผิวหนังและขนไก่จะดูดเลือดและกัดกินผิวหนังและขนไก่ ทำความรำคาญทั้งกลางวันและกลางไก่ไม่มีความสุข สุขภาพไก่อ่อนแอ ซูบผอมลง โลหิตจางและความต้านทานโรคลดลง

การรักษา
โดยใช้ยากำจัดพยาธิภายนอกที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เช่น โรทิโนนมาลาไทออนใช้ละลายน้ำฉีดพ่นบริเวณเล้าไก่และกรงไก่เป็นประจำอย่าให้ถูกตัวไก่ แต่เวลาพ่นจะต้องระวังเพราะเป็นอันตราย โดยใช้มาลาไทออน 5% แต่อาจใช้ละลายน้ำอย่างอ่อน ๆ ในขนาดเพียง 0.5% จุ่มไก่ลงในน้ำยาเพื่อฆ่าหมัดหรือไรตามตัวไก่ ที่ใช้ทั่ว ๆ ไป ได้แก่ โล่ติ๊น ทุบแช่น้ำให้น้ำขาวออกแล้วผสมน้ำลงไปพอประมาณ จับไก่ลงจุ่ม หรือจะใช้ยาผงสำเร็จรูปโรยตามตัวไก่โดยตรงก็ได้ หรืออาจใช้ยาสูบอย่างฉุนแช่น้ำในปี๊บให้เข้มข้นแล้วจับตัวไก่จุ่มลงไปหรือจะตำยาสูบอย่างฉุนให้ป่นแล้วนำไปโรยตามรังไข่และบริเวณเล้าไก่ก็ได้
หรืออีกวิธีหนึ่ง ให้ทำที่เกลือกฝุ่น โดยนำกล่องสี่เหลี่ยมลึกประมาณ 1 คืบ ใช้ยาสูบอย่างฉุนต่ำให้ป่นเป็นแป้งผสมกับปูนขาว (หรือขี้เถ้า) และดินใส่ไว้ในลัง ราดน้ำให้ชุ่มนิดหน่อยเพราะไก่ชอบเกลือกวิธีนี้จะช่วยลดเหาะและไรไก่ลงได้ ทั้งประหยัดและได้ผลดี

พยาธิไส้เดือนของไก่

พยาธิไส้เดือนของไก่พบในไก่พื้นเมืองบ่อย ๆ พยาธิชนิดนี้จะทำอันตรายไก่ระหว่างอายุ 1-3 เดือนได้มาก ถ้าป้องกันมิให้ไก่เป็นพยาธินี้จนอายุ เกิน 3 เดือนไปแล้ว อันตรายและความเสียหายจะมีน้อยลง
ไข่พยาธิจะปนออกมากับอุจจาระ เมื่อความร้อนและความชุ่มชื้นพอเหมาะ ไข่พยาธิจะเจริญเป็นระยะติดต่อซึ่งจะมีตัวอ่อนอยู่ภายใน ไก่จะติดพยาธิโดยกินไข่ระยะติดต่อเข้าไป
ไก่อายุ 1-3 เดือน เมื่อเป็นโรคพยาธิชนิดนี้จะมีอาการซูบผอม เบื่ออาหาร ขนหยอง ปีกตก เติบโตช้า ท้องเสีย ถ้ามีพยาธิมาก ลูกไก่อาจตายภายใน 10 วัน ในไก่ใหญ่ จำนวนไข่ลดลงจนสังเกตเห็นได้ชัด

การป้องกันและกำจัดพยาธิ

  1. ทำความสะอาดคอก กวาดอุจจาระบ่อย ๆ แล้วนำไปทิ้งให้ไกลจากที่เลี้ยงไก่ หรือเอาไปใส่ถังไม้ 2 ชั้น ซึ่งระหว่างกลางใส่ขี้เลื่อยไว้และมีฝาปิด และทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ ไข่พยาธิจะถูกทำลายเอาอุจจาระไปใช้เป็นปุ๋ยได้
  2. อย่าให้คอกชื้นแฉะ และพยาธิให้คอกถูกแสงแดดเสมอ
  3. การเลี้ยงลูกไก่บนตะแกรงลวดตาข่ายจะป้องกันพยาธิได้ดี
  4. การรักษาพยาธิไส้เดือน ใช้ยาพวกปิปเปอราซีนชนิดแคปซูล ขนาด 200 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวไก่ 1 กก. หรือใช้ผสมลงในอาหารให้ไก่กินในขนาด 0.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไก่อายุได้ 2-3 เดือน ไม่ควรให้อาหารมากเกินไป ควรผสมให้ไก่กินอาหารได้หมดในวันเดียว หรืออาจจะให้ไก่อดอาหารก่อนให้ยาก็ได้ เพื่อทำให้ไก่อยากกินอาหารมากขึ้น ในวันที่ให้ยาถ่ายพยาธิ ต่อไปให้ซ้ำเป็นระยะ ๆ ทุก 3-4 เดือน จะช่วยให้ไก่แข็งแรงสมบูรณ์ หรือถ้าไม่สะดวกในการหาซื้อจะใช้ของที่มีอยู่ในพื้นบ้านก็ได้ โดยใช้หมากแข็งที่ใช้กินนำมาแช่น้ำให้อ่อนตัวแล้วตำให้แหลก ปั้นให้เป็นเม็ดขนาดเมล็ดข้าวโพดให้ไก่กินตัวละ 1 เม็ด

พยาธินัยน์ตาไก่

พยาธินัยน์ตาไก่มักพบได้เสมอในไก่ที่เลี้ยงปล่อยให้หากินตามที่รกหรือในเล้าที่มีแมลงสาบอาศัยอยู่ จะพบว่านัยน์ตาไก่จะมีพยาธิตัวเล็ก ๆ สีขาว ยาวประมาณครึ่งเซนติเมตร อยู่ในมุมตาด้านหัวตาของไก่

สาเหตุ
แมลงสาบเป็นพาหะชั่วคราวที่พยาธิจะไปเจริญเติบโตจากไข่เป็นตัวอ่อนอยู่ภายในแมลงสาบ เมื่อไก่กินแมลงสาบเข้าไป ก็จะติดโรคพยาธินี้ ตัวอ่อนพยาธิจะเคลื่อนตัวจากปากของไก่เข้าไปทางช่องจมูกแล้วเข้าไปในท่อน้ำตาไปสู่ที่หัวตา

อาการ
ไก่จะกะพริบตาบ่อย ๆ น้ำตาไหล ถูตากับหัวปีก พยาธิจะรบกวนตาไก่ทำให้ตาอักเสบเป็นหนอง ตาบวมปิดและจะพบพยาธินัยน์ตาไก่ซ่อนอยู่ที่มุมตาด้านหัวตาของไก่

การป้องกันและรักษา
ต้องกำจัดแมลงสาบให้หมดไปจากบริเวณเล้าไก่ รักษาความสะอาดของเล้าไก่ และที่เก็บอาหาร อย่าให้รกรุงรังเป็นที่อาศัยของแมลงสาบได้

การรักษาโดยใช้ไม้พันสำลี เขี่ยเอาก้อนหนองที่นัยน์ตาออกแล้วใช้น้ำเกลือหรือน้ำมะเกลือนั้น หรืออาจใช้ยาฉุนแช่น้ำจนได้น้ำสีชาอ่อน ๆ หยอดนัยน์ตาไก่ แล้วเขี่ยเอาพยาธิออก หยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มียาปฏิชีวนะ เช่น คลอแรมเฟนนิคอล เพื่อลดการอักเสบของตา วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ประมาณ 2-3 วัน จนกว่าจะหายเป็นปกติ

เรียบเรียงโดย
งานสัตว์ปีก ฝ่ายส่งเสริม กองส่งเสริมการปศุสัตว์

» คุณสมบัติที่ดีของไก่พื้นเมือง
» การเลี้ยงไก่พื้นเมือง
» อาหารไก่พื้นเมือง
» การฟักไข่
» การเลี้ยงแม่ไก่และลูกไก่
» การคัดเลือกพันธุ์ไก่
» วิธีเลี้ยงไก่พื้นเมืองไว้กินไข่
» การป้องกันและรักษาโรคไก่พื้นเมือง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย