เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ปศุสัตว์

เมื่อสัตว์เกิดโรคระบาดเกษตรกรควรทำอย่างไร

โรคระบาดสัตว์ หมายถึง โรคติดต่อที่เกิดขึ้นกับสัตว์ สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โรคบางชนิด สามารถติดต่อถึงคนได้ด้วย สาเหตุของโรคอาจเกิดจากเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น โรคระบาดสัตว์ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มีอยู่ 11 โรค คือ

โรคปากและเท้าเปื่อย (Food and Mouth desease)
โรคคอบวม (Heamorrhagic Septicemia)
โรครินเดอร์เปสต์ (Rinderpest)
โรคทริคิโนซีส (Trichinosis)
โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)
โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis)
โรคอหิวาต์สุกร (Swine Fever)
โรคกาฬโรคเป็ด (Duck plague)
โรคเซอร่า (Surra)
โรคสารติก (Epizootic lymphangitis)
โรคมงคล่อพิษ (Glanders)

โรคอื่น ๆ ที่จัดว่าเป็นโรคระบาด และมีอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ได้อยู่ในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เช่น โรควัณโรคโค (Bovine Tubercellosis), โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นต้น

นอกจากโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีโรคระบาดสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ และอาจติดถึงคนได้ด้วยที่สำคัญคือ ยังไม่มีการระบาดในประเทศไทยมาก่อน เช่น โรควัวบ้า (Bovine Spong iform Encephalopathy), โรคกาฬโรคสัตว์ปีก (Fowlplague), โรคปอดบวมในโค (Contagious Bovine pleuroneumonia), Efrican Swine Fever เป็นต้น

โรคระบาดสัตว์เป็นที่เกิดการแพร่กระจายจากตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง การจะทราบว่าสัตว์ป่วยด้วยโรคระบาดโดย

  1. มีสัตว์ป่วยหรือตายอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุและมีสัตว์ป่วยในเวลาเดียวกันหลาย ๆ ตัว ด้วยอาการที่คล้ายคลึงกัน
  2. เคยมีประวัติการเกิดโรคระบาดในพื้นที่นั้น ๆ มาก่อน

เมื่อสัตว์เกิดโรคระบาดขึ้นให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. รีบแจ้งสัตวแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยทันทีเพื่อขอคำแนะนำในการป้องกันและรักษาโรค
  2. แยกกักสัตว์ที่มีอาการป่วยออกจากฝูงจนกว่าจะรักษาหาย สิงขับถ่ายจากสัตว์ต้องกำจัดโดยการเผาหรือฝัง และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคคราดในโรงเรือนคอก และอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ด้วย นอกจากนี้ผู้ที่ดูแลสัตว์ป่วยไม่ควรไปดูแลหรือสัมผัสกับสัตว์ปกติเพราะอาจเป็นพาหนะนำโรคได้
  3. งดการเคลื่อนย้าย ซื้อขายสัตว์ หรือซากสัตว์ ภายในฝูงนั้น ๆ จนกว่าจะรักษาหายเพราะจะทำให้โรคแพร่กระจายไปที่อื่นได้ และหากจำเป็นที่จะต้องทำการเคลื่อนย้ายให้ปฏิบัติตามระเบียบการเคลื่อนย้ายสัตว์โดยเคร่งครัด
  4. ถ้ามีสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุไม่ควรจะนำมาบริโภค ควรทำการเผาหรือฝังซากลึก ๆ และราดด้วยยาฆ่าเชื้อเช่น ปูนขาว หรือโซเดียมคาร์บอเนต เป็นต้น
    นอกจากนี้โรคบางชนิดอาจติดต่อคนได้โดยการสัมผัส เช่น โรคกาลี หรือแอนแทรกซ์ เป็นต้น ดังนั้น ควรระมัดระวังในการสัมผัสหรือบริโภคสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย