เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การให้อาหารโคนมโดยใช้คะแนนร่างกายเป็นเกณฑ์
สำนักงานส่งเสริมและฝึกอบรม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
ควรใช้การให้คะแนนร่างกายเป็นเกณฑ์ในระยะเวลาใด
กรณีแม่โค
ระยะพักการรีดนม (ดราย)
ผู้เลี้ยงควรจะให้แม่โคได้รับอาหารข้นมากพอที่จะก่อให้เกิดการสะสมพลังงานในช่วงท้ายของรอบการให้น้ำนม
และแม่โคในระยะพักการรีดนมควรมีคะแนนร่างกาย 3.5 ในระยะพักการรีดนมนี้
ผู้เลี้ยงจะต้องให้อาหารเพื่อให้แม่โคสามารถรักษาระดับคะแนนร่างกาย 3.5
จนกระทั่งคลอด ไม่ควรให้แม่โคมีคะแนนร่างกายมากหรือน้อยกว่านี้
แม่โคที่มีคะแนนร่างกายมากกว่า 4.0 ในระยะพักการรีดนมนั้น
จะมีโอกาสก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับการใช้สารอาหารในร่างกายผิดปกติ เช่น โรคไขมัน
โรคคีโตซีส ฯลฯ
ดังนั้นผู้เลี้ยงควรจะให้อาหารที่มีพลังงานเพียงพอสำหรับรักษาสภาพคะแนนร่างกาย 3.5
ก็พอแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในช่วงท้าย ๆ ของรอบการให้น้ำนมและระยะพักการรีดนม
แม่โคมีความสามารถในการสะสมพลังงานส่วนเกินมากกว่าที่จะนำพลังงานส่วนเกิน
ดังกล่าวไปสร้างเป็นน้ำนม ในทางตรงกันข้ามถ้าในระยะพักการรีดนมจนกระทั่งคลอด
แม่โคมีคะแนนร่างกายน้อยกว่า 3
จะมีผลทำให้ปริมาณน้ำนมของแม่โคที่จะให้ต่อไปได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นและก่อให้เกิดปัญหาการไม่เป็นสัดและหรือการผสมไม่ติดตามมา
ทั้งนี้เป็นเพราะแม่โคมีพลังงานสะสมไม่เพียงพอต่อขบวนการสร้างน้ำนมนั่นเอง
อย่างไรก็ตามในช่วง 15 วันก่อนคลอด
แม่โคควรจะต้องได้รับอาหารทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบ
ชนิดเดียวกันกับอาหารแม่โคหลังคลอด
โดยผู้เลี้ยงจะต้องให้อาหารข้นแม่โคเพิ่มขึ้นวันละ 0.5 กิโลกรัม/ตัว
จนกระทั่งแม่โคได้รับอาหารข้นมากที่สุดไม่เกิน 4 กิโลกรัม/ตัว/วัน จนกระทั่งวันคลอด
ทั้งนี้เพื่อให้จุลินทรีย์ในกระเพาะผ้าขี้ริ้ว ได้มีโอกาสปรับตัวเตรียมรับสภาพที่แม่โคจะต้องได้รับอาหารข้นในปริมาณมาก ๆ ในช่วงหลังคลอด
ขณะคลอด
ในขณะคลอด แม่โคมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ คือ มีคะแนน
ร่างกาย 3.5
ทั้งนี้เพื่อให้แม่โคในระยะหลังคลอดแสดงความสามารถในการผลิตน้ำนมได้มากที่สุด
ตามความสามารถทางพันธุกรรม ไขมันแต่ละ 1 กิโลกรัมที่สะสมในร่างกายของแม่โค
สามารถที่ จะถูกเป็นพลังงานในการสร้างน้ำนมได้ 7 กก.
อย่างไรก็ตามถ้าแม่โคมีสภาพร่างกายที่อ้วนมากเกินไป คือมีคะแนนร่างกายมากกว่า 4.0
จะมีผลทำให้แม่โคมีปัญหาในการคลอดยาก การใช้ประโยชน์จากสารอาหารในร่างกายผิดปกติ
และง่ายต่อการเกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ นอกจากนั้นยังจะทำให้ ความอยากกินอาหารลดลง
ซึ่งทำให้แม่โคมีความจำเป็นที่จะต้องสลายไขมันที่สะสมในร่างกายมาสร้างเป็นน้ำนม
เป็นผลให้แม่โคน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วและผอมโทรม ในทางตรงกันข้าม
ถ้าแม่โคมีคะแนนร่างกายน้อยกว่า 3.0 ในขณะคลอด
จะมีผลทำให้แม่โคให้น้ำนมน้อยกว่าความสามารถจริง ๆ ที่แม่โคจะผลิตได้
ดังนั้นในช่วงหลังคลอดจะต้องเอาใจใส่ให้อาหารที่มีคุณภาพ
และให้แม่โคได้กินอาหารได้มากที่สุด
เพื่อให้แม่โคนำอาหารที่กินได้ไปสร้างเป็นน้ำนมและลดอัตราการสลายอาหารที่สะสมในร่างกายของแม่โคมาสร้างเป็นน้ำนมทำให้แม่โคมีสภาพร่างกายเปลี่ยนไปอย่างช้า
ๆ เป็นผลให้แม่โคให้น้ำนมได้สูงสุดและการพัฒนาระบบสืบพันธุ์เป็นไปอย่างปกติ คือ
ผสมติดง่าย
ระยะสูงสุดของการให้น้ำนม
ในระหว่างหลังคลอด 7 วันเป็นต้นไป จนถึงระยะสูงสุดของการให้น้ำนมแม้จะมีการดูแลให้
อาหารเพื่อให้แม่โคกินอาหารได้มากที่สุด
ถึงแม้ว่าอาหารส่วนใหญ่ที่กินจะมุ่งไปสู่การสร้างน้ำนม
แต่อาหารที่กินเข้าไปก็ยังไม่เพียงพอต่อความสามารถในการสร้างน้ำนมของเต้านม
แม่โคจะต้องสลายอาหารที่สะสมในร่างกายออกมาเพิ่มเติม
ซึ่งเป็นผลทำให้น้ำหนักของแม่โคลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ย 400-600 กรัม/วัน ฉะนั้น
สภาพร่างกายของแม่โคในช่วงระยะสูงสุดของการให้น้ำนม (5-7 สัปดาห์หลังคลอด)
ควรมีคะแนนร่างกายร่างกายประมาณ 2.5 (สำหรับแม่โคที่ให้น้ำนม มากกว่า 25 กิโลกรัม
ในระยะสูงสุดของรอบการให้น้ำนม อาจจะมีคะแนนร่างกายประมาณ 2.0)
ในช่วงระยะสูงสุดของการให้น้ำนม จำเป็นจะต้องให้แม่โคได้รับอาหารที่มีพลังงานสูง
(อาหารข้น) อย่างเต็มที่ เพื่อให้แม่โคนำไปสร้างน้ำนมได้มากที่สุด
และเพื่อให้แม่โคเริ่มทำการสะสมอาหารในร่างกายแม่โค ผลผลิตน้ำนมในระดับปานกลาง
(16-20 กิโลกรัม/วัน) ที่มี คะแนนร่างกายต่ำกว่า 2.5 แสดงว่าแม่โคตัวนั้น
ได้รับอาหารไม่พอ จะต้องให้อาหารข้นแก่ แม่โคเพิ่มขึ้นอีก
แต่ถ้าแม่โคที่ให้ผลผลิตน้ำนมปานกลางจะมีคะแนนร่างกายประมาณ 3.0
แสดงว่าแม่โคได้รับอาหารที่มีโปรตีนและแร่ธาตุอาหารหรือน้ำไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตามใน ช่วงระยะสูงสุดของการให้น้ำนมนี้ ถ้าแม่โคมีคะแนนร่างกายต่ำกว่า 1.5
แล้ว แสดงว่าแม่โค ไดรับอาหารน้อยกว่าความต้องการ
ระยะกลาง-ปลาย ของรอบการให้น้ำนม (180-240 วันหลังคลอด)
ในระหว่างระยะกลาง-ปลายของการให้น้ำนม แม่โคควรที่จะได้รับอาหารในปริมาณที่มากพอ
ที่จะก่อให้เกิดการสะสมอาหารในร่างกายเพิ่มขึ้น
เนื่องจากอาหารที่แม่โคได้รับในช่วงนี้ปกติ จะลดความสำคัญที่จะนำไปสร้างน้ำนมลง
แต่จะให้ความสำคัญในการนำไปเสริมสร้างร่างกาย และการตั้งท้อง
จนกระทั่งได้คะแนนร่างกายที่สมบูรณ์ตามความต้องการ จนกระทั่งได้คะแนน
ร่างกายที่สมบูรณ์ตามความต้องการเพื่อที่จะส่งผลให้รอบของการให้น้ำนมถัดไปดีขึ้น
ในช่วง ตั้งแต่ 120 วันหลังคลอดเป็นต้นไป
แม่โคควรจะได้รับอาหารในปริมาณที่มากพอเพื่อเริ่มสะสม อาหารในร่างกาย
น้ำหนักของแม่โคควรเพิ่มโดยเฉลี่ยประมาณ 200-400 กรัม/วัน จนกระทั่งใน ช่วง 180-240
วัน แม่โคควรจะมีคะแนนร่างกายประมาณ 3.0 ถ้าแม่โคมีคะแนนร่างกายในช่วงนี้ มากกว่า
3.5 ควรจะลดอาหารพลังงาน (อาหารข้น) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแม่โคอ้วนเกินไป แต่ถ้า
แม่โคมีคะแนนร่างกายน้อยกว่า 3.0 แสดงว่าแม่โคได้รับอาหารที่มีพลังงานไม่พอ
ควรจะเพิ่ม อาหารข้นให้แก่แม่โค
ฉะนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าในระยะกลาง-ปลายของรอบการให้น้ำนม จะ
เป็นระยะที่ปรับสภาพความสมบูรณ์ร่างกายของแม่โคได้ดีที่สุด
เพราะเป็นระยะที่ลูกในท้องยัง ไม่ต้องการอาหารมาก
อาหารที่กินเข้าไปจะนำไปสร้างเป็นน้ำนมและสะสมในร่างกายมากกว่า
ดังนั้นในระยะนี้จึงง่ายต่อการปรับคะแนนร่างกาย
กรณีโคสาว
ระยะอายุ 6 เดือน
ในระยะตั้งแต่อายุ 6 เดือนจนถึงระยะก่อนการผสมพันธุ์
จัดว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญ ระยะหนึ่ง
เพราะเป็นระยะที่เต้านมมีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าการเจริญเติบโตทางร่างกาย
โดยเฉพาะเมื่อโคเพศเมียมีอายุ 9 เดือน
อัตราการเจริญของเต้านมจะมากกว่าอัตราการเจริญทาง ร่างกายถึง 3.5 เท่า
ซึ่งปกติแล้วโครุ่น-โคสาว จะมีอัตราการเจริญเติบโตดีมาก สุขภาพแข็งแรง
ฉะนั้นการให้อาหารโคในระยะนี้จะต้องไม่ทำให้การเจริญเติบโตของโคหยุดชะงัก เพราะ
นอกจากจะทำให้โคเป็นสาวช้าแล้ว ยังทำให้อัตราการเจริญของเต้านมลดน้อยลงด้วย ในทาง
ตรงกันข้าม ไม่ควรให้อาหารโดยเฉพาะอาหารข้น จนโคอ้วนมากเกินไป เพราะจะมีผลเสียทำ
ให้ที่เต้านมเกิดการสะสมเนื้อเยื่อไขมันเข้าไปสอดแทรกแทนกลุ่มของเนื้อเยื่อสร้างน้ำนม
ทำให้
เต้านมพัฒนาเป็นเต้าน้ำมากกว่าเต้าเนื้อซึ่งจะส่งผลให้เจริญเป็นแม่โคที่ให้น้ำนมน้อยต่อไป
อย่างไรก็ตามโครุ่นในระยะ 6 เดือนนี้ เกษตรกรจะต้องให้อาหารโค
เพื่อให้มีคะแนนร่างกาย 2.5-3.0
ซึ่งจัดเป็นคะแนนร่างกายโครุ่นมีสภาพสมบูรณ์ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป
มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 400-600 กรัม/วัน
ถ้าหากโครุ่นมีคะแนนร่างกายต่ำกว่านี้ เกษตรกรผู้เลี้ยง
โคนมจะต้องให้อาหารข้นเพิ่มขึ้น แต่ถ้าโครุ่นมีคะแนนร่างกายมากกว่านี้
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จะต้องให้อาหารข้นลดน้อยลง
ระยะผสมพันธุ์
ถ้าโคเพศเมียได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีตั้งแต่แรกคลอดจนถึงโคสาวแล้ว
จะสามารถทำการผสมพันธุ์ ได้ในช่วงอายุ 16-18 เดือน ซึ่งมีน้ำหนักตัวประมาณ 300
กิโลกรัม ในระยะผสมพันธุ์ของโคสาวนี้
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะต้องให้อาหารข้นเพิ่มขึ้น
เพื่อให้โคสาวแสดงอาการเป็นสัดรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตามโคสาวในระยะผสมพันธุ์ควรจะมีคะแนนร่างกาย 3.0-3.5 ถ้าโคสาวตัวใดมีคะแนน
ร่างกายต่ำกว่า 3.0 เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะต้องให้อาหารข้นเพิ่มมากขึ้น
แต่ถ้าโคสาวตัวใดมีคะแนนร่างกายสูงกว่า 3.5 ก็ควรลดอาหารข้นลง
โคสาวในระยะนี้ที่ผอมหรืออ้วนมากเกินไปจะก่อให้เกิดปัญหาการผสมติดยาก
หลังจากโคสาวผสมติดแล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะต้องเอาใจใส่ดูแลให้อาหารข้นเพื่อให้โคสาวท้องให้โคสาวท้องมีการเจริญเติบโตปกติ
คือมีสภาพคะแนนร่างกาย 3.5
อย่าให้โคสาวต้องชะงักการเจริญเติบโตเพราะเป็นระยะที่มีการสร้างระบบท่อนและเซลล์สร้างน้ำนม
ของเต้านม หรือ อย่าให้อาหารข้นจนโคสาวอ้วนมากเกินไป
เพราะจะทำให้มีปัญหาการคลอดยากตามมา เมื่อโคสาวท้องได้ 7 เดือนหรือก่อนคลอด 2 เดือน
เกษตรกรผู้เลี้ยงจะต้องย้ายโคสาวท้องไปไว้รวมกับฝูงแม่โคพักการรีดนม (โคดราย)
เพื่อที่จะได้เลี้ยงดูเช่นเดียวกับโคดรายต่อไป
ขณะคลอด
ในขณะคลอดโคสาวท้องควรจะมีร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์ คือ มีคะแนนร่างกาย 3.0-4.0
ถ้าในขณะคลอดโคสาวมีคะแนนร่างกายเพียง 3.0
จะทำให้การให้นมในช่วงหลังคลอดได้ไม่มากเท่าที่ควรแต่โคสาวจะคลอดง่าย
ถ้าในขณะคลอดโคสาวมีคะแนนร่างกาย 4.0 จะทำให้การให้นมในช่วงหลังคลอดดีมาก
แต่อาจจะมีปัญหาการคลอดยาก
ฉะนั้นเพื่อให้การให้นมของแม่โคสาวค่อนข้างดีและลดปัญหาการคลอดยาก
จึงควรให้โคสาวท้องในขณะคลอดมีคะแนนร่างกาย 3.5
»
การให้คะแนนร่างกายคืออะไร
»
การให้คะแนนร่างกายทำกันอย่างไร
» ควรใช้การให้คะแนนร่างกายเป็นเกณฑ์ในระยะเวลาใด
»
สรุปการให้อาหารโคนมโดยใช้คะแนนร่างกายเป็นเกณฑ์