เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ปศุสัตว์

การเลี้ยงเป็ด

โดย ผศ.กระจ่าง วิสุทธารมณ์
ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โรคเป็ด

โรค คือ อาการที่ทำให้ร่างกายของสัตว์ผิดไปจากสภาพปกติ ร่างกายไม่สามารถปฏิบัติงานในทางสรีรวิทยาได้ เช่น ไม่กินอาหาร หงอย ซึม ร่างกายซูบ ผอม ทำให้เป็ดถึงแก่ความตายได้ จำนวนเป็ดป่วยในฝูงยิ่งมากขึ้น เท่าใดย่อมหมายถึงการสูญเสียมากขึ้นเท่านั้น โรคระบาดร้ายแรง อาจทำให้การเลี้ยงเป็ดต้องเลิกล้มได้

สาเหตุของโรคเป็ดแบ่งได้เป็น

1. โรคติดต่อ
เป็นโรคที่เป็นแล้วจะติดต่อกันและระบาดถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ส่วนมากจะเป็นโรคที่ติดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว เชื้อราและพยาธิต่าง ๆ

2. โรคที่ไม่ติดต่อ
ได้แก่โรคที่เป็นเฉพาะตัว เช่น โรคขาดธาตุอาหาร และไวตามิน เกลือแร่ต่าง ๆ โรคที่เกิดจากการบาดเจ็บ โรคที่เกิดจากสิ่งที่เป็นพิษ

โรคเป็ดที่สำคัญคือ

1. โรคตับอักเสบติดต่อของลูกเป็ด (Duck virus hepatitis)

  1. สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส มีอัตราการตายสูง มักเกิดกับลูกเป็ดอายุ 1 วันจนถึง 4 อาทิตย์ ส่วนลูกเป็ดอายุ 1 เดือนมักไม่เป็นโรคเพราะมีความต้านทาน
  2. อาการ ลูกเป็ดแสดงอาการโรคนี้ชนิดเฉียบพลัน คือ ไม่เคลื่อนไหวชั่วขณะแล้วจะล้มลงนอนตะแคง ชักอกแอ่น คอหงาย เท้าทั้งสองแสดงท่าพุ้ยน้ำไปข้างหลัง และตายภายใน 30 นาที ลูกเป็ดอายุ 1 วันหากได้รับเชื้อจะแสดงอาการของโรครวดเร็วมากภายใน 26 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ
  3. การป้องกันโรค ให้ทำวัคซีนโดยใช้แทงที่พังผืดเท้าเป็ดจะได้คุ้มโรคได้ภายใน 2 วัน หรืออาจ ใช้ซีรัมฉีดป้องกันโรคระบาด โดยเก็บโลหิตจากเป็ดที่เคยป่วยและหายจากโรคนี้แล้วนำมาแยกเอาซีรัม ใช้สำหรับฉีดป้องกันและรักษาโรคนี้ได้ หรือใช้พันธุ์ที่ต้านทานโรค

2. โรคเพล็ก (Duck plague)

เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยปี 2519 โรคนี้ระบาดรวดเร็วมากและมีอัตราการตายสูง

  1. สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส
  2. อาการ เป็ดจะแสดงอาการขาอ่อน นอนหมอบ ตัวสั่น ต่อมาไม่ช้าจะเกิดอาการอัมพาต เป็ดกระหายน้ำจัด บางทีมีน้ำลาย (dischrge) เหนียว ๆ ไหลออกจากปาก ตาแฉะ จมูกสกปรก หายใจมีเสียงครืดคราด ท้องเดิน อุจจาระสีขาว และจะตายภายใน 24 ชั่วโมง ระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ต้นจนแสดงอาการเหล่านี้ประมาณ 1 สัปดาห์
  3. การป้องกัน
    - ทำวัคซีนป้องกันโรคเพล็ก
    - ป้องกันพาหะนำเชื้อ
    - มีการจัดการสุขาภิบาลในฟาร์มที่ดี
    - ให้อาหารคุณภาพดี เพื่อให้เป็ดแข็งแรง
  4. การทำวัคซีน ครั้งแรกเมื่อเป็ดอายุ 1 เดือน-ครั้งที่ 2 อายุ 3 เดือน ครั้งที่ 3 อายุ 6 เดือน และทำซ้ำทุก ๆ 6 เดือน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอกหรือขา ตัวละ 1 ซีซี.

3. โรคอหิวาต์เป็ด (Duck cholera)

เป็นโรคระบาดที่สำคัญโรคหนึ่งของเป็ด

  1. สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
  2. อาการ เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด มีไข้สูง อุจจาระมีลักษณะเป็นมูกขาวต่อมามีสีเขียวอ่อนปน อัตราการตายสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็ดอาจตายโดยกระทันหัน มีผิวหน้าคล้ำ มักพบข้อหัวเข่าและข้อเท้าบวมในเป็ดบางตัว โรคนี้พบมากในเป็ดที่มีอายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป
  3. ป้องกัน
    - ทำวัคซีนป้องกันอหิวาต์ ฉีดตัวละ 1-2 ซี.ซี. ตามขนาดของเป็ด
    - การสุขาภิบาลในฟาร์มที่ดีเป็นสิ่งที่จำเป็น
    - ป้องกันพาหะนำเชื้อโรค
    - ให้อาหารอย่างสม่ำเสมอ เพียงพอ และมีคุณภาพดีเพื่อให้เป็ดแข็งแรงสามารถต้านทานโรคได้
    - ใช้ยาพวกซัลฟา ละลายน้ำให้กินหรือผสมในอาหาร
  4. การทำวัคซีนอหิวาต์ ทำเมื่อเป็นอายุได้ 1 เดือน และฉีดซ้ำทุก ๆ 3 เดือน โดยฉีดเข้ากล้าม ตัวละ 2 ซี.ซี.

4. โรคบิด (Coccidiosis)

โรคนี้เป็นอันตรายมากกับลูกเป็ด ถ้าพื้นโรงเรือนชื้นแฉะ มีโอกาสเป็นโรคได้ง่าย เพราะเป็ด ชอบน้ำ

  1. สาเหตุ เกิดจากเชื้อโปรโตซัว
  2. อาการ ท้องร่วงและอาจมีโลหิตปนมากับอุจจาระ เนื่องจากลำไส้อักเสบอย่างแรง
  3. การป้องกันรักษา
    - การจัดการสุขาภิบาลในฟาร์มให้ดีเป็นวิธีที่ดีที่สุด และหมั่นดูแลรักษาพื้นคอกให้แห้งอยู่เสมอ ที่ให้น้ำควรมีตะแกรงรอง และมีช่องระบายน้ำออก
    - อย่าเลี้ยงเป็ดต่างอายุปนกัน
    - ให้อาหารกินให้เต็มที่
    - ใช้ยาพวกซัลฟาผสมน้ำ หรืออาหาร เช่น ซัลฟาน๊อกซาลีน, ซัลฟาเมทาซีน หรือไนโตรฟิวราโซน

» พันธุ์เป็ด
» โรงเรือนเป็ด
» อุปกรณ์เลี้ยงเป็ด
» การเตรียมตัว
» การเลี้ยงดูเป็ด
» โรคเป็ด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย