เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ปศุสัตว์

การเลี้ยงเป็ด

โดย ผศ.กระจ่าง วิสุทธารมณ์
ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การเลี้ยงดูเป็ด

  1. ลูกเป็ดอายุ 1 วันถึง 3 สัปดาห์ ควรให้ความอบอุ่น อาจใช้หลอดไฟฟ้ากก หรือกกด้วยตะเกียงน้ำมันก๊าด
  2. อย่าให้ลูกเป็ดเล็กลงเล่นน้ำ หรือภาชนะใส่น้ำควรมีที่กั้นไม่ให้เป็ดลงไปเล่น เพราะลูกเป็ดเล็กขนเปียกง่ายเพราะยังไม่มีต่อมน้ำมันที่ช่วยให้ขนเป็ดเป็นมันจึงเปียกน้ำได้ง่าย จะทำให้เป็ดหนาวและเป็ดปอดบวมได้ง่าย หรือตายได้
  3. ลูกเป็ดอายุ 1 วัน อาหารที่ให้ควรเป็นน้ำและกรวดหรือทรายหยาบ และให้กินพวกปลายข้าวละเอียดหรือข้าวโพดป่นบ้าง
  4. เมื่อลูกเป็ดอายุ 2-6 วัน ให้อาหารอ่อนที่ย่อยง่าย ใช้ข้าวสุก 2 ส่วนผสม อาหารลูกไก่ 1 ส่วน คลุกน้ำพอหมาดโปรยใส่ถาดให้กิน หรือจะให้อาหารผสมสำหรับลูกเป็ดกินเลยก็ได้
  5. เมื่อลูกเป็ดมีอายุ 1-4 สัปดาห์ จะเติบโตแข็งแรงควรหั่นผักสดหรือหญ้าขนหั่นฝอยปนด้วย ค่อยลดจำนวนข้าวสุกลง ให้อาหารผสมมากขึ้น หรือจะใช้รำละเอียดต้มกับปลาเป็ดหรือถั่วเขียวต้มหั่นผักผสมคลุกให้กิน
    การให้อาหารลูกเป็ดควรให้กินคราวละน้อย ๆ ในตอนแรก ๆ เมื่อลูกเป็ดกินอาหารเก่งแล้วให้อาหารทุก 2-3 ชั่วโมง และต่อไปลดลงให้วันละ 3 ครั้ง ให้มากพอที่ลูกเป็ดจะกินได้เกือบตลอดเวลาเมื่ออายุได้ 1 อาทิตย์ แต่อย่าให้จนเหลือ และต้องคอยดูความสะอาดอย่าให้เศษดินและสิ่งสกปรกลงไปในอาหาร หรือมดขึ้น
  6. อาหารเป็ดระหว่างอายุ 1-4 เดือน ระยะนี้เป็นระยะของการเจริญเติบโตเร็ว อาหารที่ให้จะเป็นอาหาร ผสมที่ขายตามร้านขายอาหารสัตว์ก็ได้ หรือจะใช้ปลายข้าวรำหยาบ รำละเอียด ผัก เศษปลาต้ม หรือปลาป่นผสมลงไปกับใบกระถินป่นเล็กน้อย คลุกให้เข้ากัน
  7. เมื่อเป็ดอายุ 4 เดือนขึ้นไป จะสาวเต็มที่และรอการไข่ อายุราว 4 1/2-5 เดือน ควรให้อาหารพวกปลาเป็ด หอยเล็ก ๆ รำหยาบ รำละเอียด ปลายข้าว หรือถ้าไม่มีปลาเป็ดก็ใช้ปลาป่นผสมลงไปกับใบกระถินป่นเล็กน้อย

การเลี้ยงดูเป็ดไข่

  1. การย้ายเป็ดสาวที่จะเข้าเลี้ยงในคอกเป็ดไข่ ควรย้ายก่อนที่เป็ดจะเริ่มไข่ประมาณ 2-3 อาทิตย์ เพื่อให้เป็ดเคยชินกับคอกใหม่
  2. การให้น้ำเป็ดไข่ควรมีน้ำสะอาด ให้กินตลอดเวลา ที่ให้น้ำควรทำเป็นลานคอนกรีต ป้องกันพื้นคอก ชื้นแฉะ เพราะเป็ดเวลากินน้ำชอบใช้ทำให้พื้นคอกเปียก ที่ให้น้ำควรมีที่รองพื้นและมีที่ระบายน้ำได้ดี
  3. การให้อาหาร ถ้าเลี้ยงแบบในน้ำหรือลำคลองเป็ดสามารถหาลูกกุ้ง ลูกปลา และหอยเล็ก ๆ กินได้ ก็ให้อาหารพวก รำหยาบ รำละเอียด ปลายข้าว หรือข้าวเปลือกผสมให้กิน
    หรือถ้าอยู่ในแหล่งที่มีปลาเป็ด ใช้ปลาเป็ดต้มหรือสับหรือบดผสมกับรำหยาบ รำละเอียด ปลายข้าวหรือ ข้าวโพดให้กิน หรืออาจจะให้อาหารผสมตามสูตรที่ให้มาก็ได้ หรือซื้อหัวอาหารเป็ดมาผสมกับพวกรำ ปลายข้าว ข้าวโพด ให้เป็ดไข่กินก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ผู้ที่จะเลี้ยง
  4. การให้แสงสว่าง ในระยะเป็ดไข่ ควรให้แสงสว่างวันละ 16-18 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการทำให้เป็ดไข่ดีขึ้น โดยใช้แสงไฟนีออนหรือหลอดไฟธรรมดา หรือใช้แสงสว่างตามธรรมชาติประมาณ 12 ชั่วโมง แล้วตอนหัวค่ำเปิด แสงไฟนีออนประมาณ 2 ชั่วโมง และเช้ามืดเปิดอีก 2-3 ชั่วโมง หลอดไฟแสงสว่างควรติดสูงจากพื้นดินประมาณ 2.4 เมตร หรือ 8 ฟุต ควรแขวนหลอดไฟให้กระจายทั่วคอก
  5. ควรมีรังไข่ ขนาดกว้าง 12 x 14 นิ้ว สูง 12 นิ้ว ด้านบนและด้านหน้าเปิด ใช้ฟางหรือแกลบรองพื้น รังไข่ ใช้อัตรา 1 รังต่อเป็ด 3-5 ตัว

การเลี้ยงดูเป็ดเนื้อ

การเลี้ยงเป็ดเนื้อ เป็นการค้าเพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทยไม่นานมานี้เอง เดิมนั้นใช้เลี้ยงเป็ดพื้นเมืองหรือลูกผสม โดยคัดเอาตัวผู้เป็นเป็ดเนื้อส่งตลาด ปัจจุบันเนื่องจากมีพันธุ์ไฮบริดเข้ามามาก ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่ายโดยเร็ว จึงนิยมเลี้ยงกันมากและการซื้อขายปัจจุบันเปลี่ยนแปลงมาจากการขายเหมาตัวแบบสมัยก่อน มาชั่งขายตามน้ำหนักทำให้ผู้เลี้ยงไม่ขาดทุน

  1. การเลี้ยงดูเป็ดเนื้อ การเลี้ยงดูเป็ดเล็ก ๆ ในช่วงอายุ 1-4 อาทิตย์ก็เลี้ยงเช่นเดียวกับเป็ดไข่ มีการกก ให้อาหารผสมสำหรับลูกเป็ด (โปรตีน 20-22 เปอร์เซ็นต์)
  2. เมื่อเป็ดเนื้อมีอายุได้ 4 อาทิตย์ จึงเริ่มให้อาหารระยะขุน ซึ่งมีโปรตีน 16-18 เปอร์เซ็นต์ อาหารพวกพืชผักสดคงให้กินตามเดิม อาจจะให้อาหารผสมที่ขายตามท้องตลาด หรืออาหารอัดเม็ดให้เป็ดเนื้อกินก็ได้ เมื่อเป็ดอายุ 6-7 อาทิตย์ จึงจับส่งตลาดได้
  3. ข้อควรระวังสำหรับการเลี้ยงเป็ดเนื้อพวกลูกผสมไฮบริด เนื่องจากเป็ดพวกนี้โตเร็ว ควรจะให้แร่ธาตุพวกแคลเซี่ยม ฟอสฟอรัสผสมในอาหารพร้อมทั้งไวตามินดีให้เพียงพอ หรืออาจจะเพิ่มเปลือกหอยใส่รางแยกให้กินต่างหาก ในระยะขุนเพื่อช่วยไม่ให้เป็ดขาอ่อนหรือขารับน้ำหนักตัวไม่ไหว
  4. การเลี้ยงเป็ดเนื้อควรเลือกพันธุ์เป็ดที่มีขนสีขาวเพราะสะดวกในการถอนขนและขายง่าย แต่พันธุ์เป็ดเนื้อปัจจุบันนี้ขนมักจะสีขาวตามความนิยมของตลาดอยู่แล้ว

» พันธุ์เป็ด
» โรงเรือนเป็ด
» อุปกรณ์เลี้ยงเป็ด
» การเตรียมตัว
» การเลี้ยงดูเป็ด
» โรคเป็ด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย