เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ปศุสัตว์

การเลี้ยงเป็ด

โดย ผศ.กระจ่าง วิสุทธารมณ์
ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พันธุ์เป็ด

เป็ดที่เลี้ยงกันอยู่ทั่วไปมี 2 ประเภท คือ

  • เป็ดพันธุ์ไข่
  • เป็ดพันธุ์เนื้อ

1. เป็ดพันธุ์ไข่

  1. พันธุ์กากีแคมเบลล์ พัฒนาพันธุ์ในประเทศอังกฤษ จนได้เป็นเป็ดพันธุ์ที่ให้ไข่ดกที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่งโดยให้ไข่ปีละมากกว่า 300 ฟอง
    เป็ดกากีมีขนสีน้ำตาล แต่ขนที่หลังและปีกมีสีสลับอ่อนกว่า ปากดำค่อนข้างไปทางเขียว จงอยปากต่ำ ตาสีน้ำตาลเข้ม คอส่วนบนสีน้ำตาล แต่ส่วนล่างเป็นสีกากี ขาและเท้าสีเดียวกันกับขน แต่เข้มกว่าเล็กน้อย

    ตัวเมียเมื่อโตเต็มที่หนักประมาณ 2.0-2.5 กก. เริ่มไข่เมื่ออายุประมาณ 41/2 เดือน ส่วนตัวผู้ จะมีขนสีเขียวที่หัว คอ ไหล่ และปลายปีก ขนตัวสีกากีและน้ำตาลขาและเท้าสีกากีเข้ม โตเต็มที่หนักประมาณ 2.5-2.7 กก.
  2. พันธุ์อินเดียนรันเนอร์ เป็นเป็ดขนาดเล็ก ตัวผู้โตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ 1.7-2.5 กก. ตัวเมียมีน้ำหนัก 1.5-2.0 กก. เป็ดพันธุ์นี้มีอยู่ 3 ชนิด คือ สีขาว สีเทา และสีลาย
    ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ที่แปลกกว่าเป็ดพันธุ์อื่น ๆ คือการยืนคอตรงลำตัวเกือบตั้งฉากกับพื้น ปากสีเหลือง แข้งและเท้าสีส้ม ตัวเมียเริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 4 1/2 เดือน ให้ไข่ฟองโตและไข่ทน
  3. พันธุ์พื้นเมือง ที่นิยมเลี้ยง มี 2 พันธุ์ คือ
    เป็ดนครปฐม เลี้ยงกันมากในเขตจังหวัดนครปฐม เพชรบุรี สุพรรณบุรี และในพื้นที่ลุ่มซึ่งเป็นเขตน้ำจืด ตัวเมียมีขนสีลายกาบอ้อย ปากสีเทา เท้าสีส้ม ตัวผู้มีสีเขียวแก่ตั้งแต่คอไปถึงหัว คอควั่นขาว อกสีแดง ลำตัวสีเทา ปากสีเทา และเท้าสีส้ม ตัวผู้โตเต็มที่หนักประมาณ 3.0-3.5 กก. ตัวเมียหนัก 2.5-3.0 กก. เริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน
    เป็ดปากน้ำ เลี้ยงกันมากในเขตจังหวัดสมุทรปราการ (ปากน้ำ) สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ตลอดจนจังหวัดที่อยู่ชายฝั่งทะเลอื่น ๆ เป็นเป็ดพันธุ์เล็ก ตัวเมีย มีปาก เทา และลำตัว สีดำ อกสีขาว เฉพาะตัวผู้จะมีขนสีเขียวบรอนซ์ที่หัว ขนาดเล็กกว่าเป็ดนครปฐม ขนาดไข่ก็เล็กกว่าเริ่มให้ไข่เมื่ออายุ 5-6 เดือน ตัวผู้ของเป็ดพันธุ์พื้นเมืองนิยมนำไปเลี้ยงเป็นเป็ดเนื้อ
    ในปัจจุบัน เป็ดไข่พันธุ์พื้นเมืองแท้แทบจะหมดไปจากวงการเลี้ยงเป็ดไข่แล้ว เนื่องจากมีการผสมพันธุ์กันระหว่างพันธุ์กากีแคมเบลล์กับพันธุ์พื้นเมืองมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนกลายเป็นเป็ดพันธุ์ผสมแทบทั้งหมด พันธุ์แท้ส่วนใหญ่เหลืออยู่ตามสถานีทดลองของกรมปศุสัตว์เท่านั้น
  4. พันธุ์ลูกผสมกากีแคมเบลล์กับพื้นเมือง นิยมเลี้ยงกันมากกว่าพันธุ์แท้ เพราะเลี้ยงง่าย ทนทาน ให้เนื้อดี และให้ไข่ดก ประมาณ 260 ฟองต่อปี อายุที่เริ่มไข่ประมาณ 5 1/2-6 เดือน
  5. พันธุ์ลูกผสม ไฮ-บริด พัฒนาพันธุ์โดยบริษัทเอกชนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่แล้วนำเข้ามาเลี้ยงใน เมืองไทย เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการเลี้ยงเป็ดมากขึ้น พันธุ์ที่นิยมเลี้ยง เช่น ซุปเปอร์ดั๊ค

ลักษณะทั่วไปของเป็ดที่ให้ไข่ดก

  • เป็ดมีลำตัวลึกและกว้าง
  • ขนกร้านไม่สวยงาม ไม่พองฟู
  • นัยน์ตานูนเด่นเป็นประกายสดใส
  • ช่วงคอลึกและแข็งแรง
  • ก้นย้อยห้อยเกือบติดดิน
  • จับดูหน้าท้องจะบางและนุ่ม
  • กระดูกเชิงกรานกว้าง ทวารกว้างและชื้น

2. เป็ดพันธุ์เนื้อ

  1. พันธุ์ปักกิ่ง มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน รูปร่างใหญ่โต ลำตัวกว้างลึกและหนา ขนสีขาวล้วน ปากสีเหลือง-ส้ม แข้งและเท้าสีหมากสุก ผิวหน้าสีเหลือง เลี้ยงง่าย ไม่ฟักไข่ ให้ไข่ดีพอใช้ ประมาณ 160 ฟองต่อปี เปลือกไข่สีขาว เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้หนักประมาณ 4 กก. ตัวเมียหนัก 3.5 กก.
    เป็ดปักกิ่งมีนิสัยค่อนข้างตื่นตกใจง่าย ผู้เลี้ยงควรระวัง เพราะอาจกระทบกับการเจริญเติบโตได้ ใช้เลี้ยงไล่ทุ่งไม่ค่อยได้ผล ควรเลี้ยงในเล้าที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก จึงจะเติบโตดี นอกจากให้เนื้อแล้ว ขนเป็ดปักกิ่งยังเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมผลิตลูกขนไก่ และใช้ทำฟูกที่นอนได้ด้วย
  2. เป็ดเทศ (Muscovy) มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ เป็นเป็ดอีกพันธุ์หนึ่งต่างหาก เมื่อทำการผสม พันธุ์กับเป็ดพันธุ์อื่น จะให้ลูกเป็นหมัน เช่น เป็นพันธุ์ปั๊วฉ่าย
    เป็ดเทศใช้อาหารพวกพืชสดได้ดีคล้าย ๆ กับห่าน เป็นเป็ดที่ให้เนื้อดีแต่ให้ไข่น้อย และโตค่อนข้างช้า จึงไม่ค่อยมีผู้นิยมเลี้ยงเป็นการค้า เป็ดเทศชอบฟักไข่และเลี้ยงลูกไก่ มีนิสัยชอบบิน เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 4-4.5 กก. ตัวเมียมีน้ำหนัก 3.0-3.5 กก.
    เป็ดเทศมี 2 ชนิด คือ ชนิดมีสีขาว และชนิดสีดำ ทั้ง 2 ชนิด ที่บริเวณหน้าและเหนือจมูก มีหนังย่นสีแดง
    เป็นเทศชนิดที่มีสีขาวจะมีขนสีขาว ผิวหนังสีขาว แข้งสีเหลือง-ส้มอ่อน ปากมีสีเนื้อ
    ชนิดสีดำมีขนที่หน้าอก ลำตัและหลังสีดำประขาวปากสีชมพู แข้งสีเหลืองหรือตะกั่วเข้ม
  3. พันธุ์ปั๊วฉ่าย เป็นเป็ดพันธุ์ผสมระหว่างเป็ดเทศกับเป็ดธรรมดา พันธุ์พื้นเมืองของไทย ลูกเป็ดที่ได้จะเป็นหมันทั้งเพศผู้และเพศเมีย
    ลักษณะเป็ดพันธุ์นี้ที่สำคัญ คือโครงร่างใหญ่ เล็บแหลมดำ และว่องไว กระโดดเก่งกว่าลูกเป็ดธรรมดา เลี้ยงง่าย โตเร็ว ไม่เที่ยวหากินไกล ไม่ร้องเสียงดัง รสชาติของเนื้อดีกว่าเป็ดธรรมดา เนื้อแน่น มีไขมันต่ำ ชาวจีน นิยมบริโภคมานานนับร้อยปีแล้ว ในช่วงตรุษและสารทจีน ราคาดีกว่าเป็ดธรรมดามาก
    การเลี้ยงใช้เวลาประมาณ 3.5-4 เดือน เป็ดตัวผู้จะมีน้ำหนัก 3-3.5 กก. ส่วนตัวเมียจะหนัก 2.5-3 กก.
  4. พันธุ์ลูกผสม ไฮ-บริด นำมาเผยแพร่โดยบริษัทเอกชน มีเลี้ยงกันอยู่หลายพันธุ์ในขณะนี้ เช่น พันธุ์ เชอรี่วอลเลย์ พันธุ์ทีเกล พันธุ์ฮักการด์ พันธุ์เลคการด์ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีการพัฒนาพันธุ์โดยมีพันธุ์ปักกิ่งผสมอยู่ด้วย
  5. พันธุ์พื้นเมือง มีอยู่ 2 พันธุ์ด้วยกัน คือ

    พันธุ์นครปฐม เป็นเป็ดตัวผู้ที่คัดออกจากเป็ดพันธุ์ไข่ และนำมาเลี้ยงเป็นเป็ดเนื้อ ได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงมากที่สุด เพราะลูกเป็ดราคาถูก เลี้ยงง่าย และได้น้ำหนักดีกว่าเป็ดพื้นเมืองพันธุ์อื่น ๆ ใช้เวลาเลี้ยง 3-4 เดือน ได้ น้ำหนักเฉลี่ย 1.6-2.0 กก. ตัวผู้จะมีหัวสีเขียว คอควั่นขาว อกสีแดง ลำตัวสีเทา และเท้าสีส้ม

    พันธุ์กากีผสม เป็นเป็ดตัวผู้ที่คัดออกจากเป็ดไข่พันธุ์กากีผสมและนำมาเลี้ยงเป็นเป็ดพันธุ์เนื้อ เป็นเป็ดพันธุ์ เล็ก น้ำหนักไม่ค่อยดี จึงไม่นิยมเลี้ยงกันมากนัก ใช้เวลาเลี้ยง 4 เดือน ได้น้ำหนัก 1.3-1.6 กก.
    การเลี้ยงเป็ดตัวผู้เป็นเป็ดพันธุ์เนื้อเดิมทีเดียว ไม่ได้นิยมกันมากนัก จนกระทั่งเกษตรกรแถบนครปฐม สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา อยุธยา อ่างทอง หลังจากทำนาแล้ว ก็ลองซื้อลูกเป็ดตัวผู้มาเลี้ยง จนกลายเป็นความนิยมทั่วไป โดยส่วนมากนิยมเลี้ยงเป็ดพื้นเมือง การเลี้ยงก็โดยอาศัยให้เป็ดหากินเก็บข้าวตกและลูกกุ้ง ลูกปลาตามหนอง คลอง บึง ต่าง ๆ

» พันธุ์เป็ด
» โรงเรือนเป็ด
» อุปกรณ์เลี้ยงเป็ด
» การเตรียมตัว
» การเลี้ยงดูเป็ด
» โรคเป็ด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย