เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

วิทยาการเกษตร

การผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก

» การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีน
» การปลูกข้าวโพดหวานเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์
» การปลูกผักกาดหอมเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์
» การปลูกแตงกวาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์

การปลูกข้าวโพดหวานเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์

การเลือกพื้นที่ปลูก

ควรเป็นแปลงที่ไม่เคยปลูกข้าวโพดมาก่อน แต่ถ้าเคยปลกมาก่อนก็ควรจะมีการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคและแมลงรวมทั้งป้องกันเมล็ดข้าวโพดพันธุ์อื่นงอกขึ้นมาปะปนกับพันธุ์ที่ปลูกด้วย การปลูกข้าวโพดหวานพิเศษเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ จะต้องปลูกห่างจากข้าวโพดชนิดอื่น ๆ เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่น้อยกว่า 800 เมตร แต่ถ้าหาพื้นที่ไม่ได้ก็ให้ปลูกก่อนหรือหลังการปลูกข้าวโพดชนิดอื่น ๆ อย่างน้อย 14 วัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดผสมข้ามพันธุ์ทำให้เมล็ดข้าวโพดหวานพิเศษกลายพันธุ์เปลี่ยนจากเมล็ดเหี่ยวลีบเป็นเมล็ดเต่งแข็ง
 
ฤดูปลูกที่เหมาะสม

ฤดูปลูกที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์มี 2 ฤดู คือ

1.  ปลายฤดูฝน จะปลูกช่วงปลายเดือนกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน เหมาะสำหรับการปลูกบนที่ดอนอาศัยน้ำฝน การปลูกในช่วงนี้อาจมีปัญหาในเรื่องของเมล็ดเน่าเสีย เนื่องจากแมลงกัดเมล็ด ทำให้เกิดแผลแล้วโรคเน่าเข้าทำลายต่อ เนื่องจากยังมีฝนตกอยู่ในช่วงที่เมล็ดเริ่มแก่ ซึ่งอาจแก้ไขโดยการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและหักต้นให้ปลายฝักชี้ลงดินในช่วงที่ฝักเริ่มแห้ง

2.  ฤดูหนาว จะปลูกช่วงปลายเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนเมษายน เหมาะสำหรับการปลูกในนาอาศัยน้ำชลประทาน ซึ่งเป็นช่วงปลูกที่เหมาะสมที่สุดเนื่องจากมีอากาศแห้ง แต่มึข้อควรระวังคือ ไม่ควรปลูกก่อนปลางเดือนมกราคม เนื่องจากข้าวโพดจะออกดอกพอดีกับช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้งในกลางถึงปลายเดือนมีนาคม ทำให้ดอกตัวผู้ปล่อยละอองเกสรไม่ดีและติดเมล็ดน้อย การปลูกข้าวโพดหวานพิเศษเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จะต้องปลูกห่างจากข้าวโพดพันธุ์อื่น ๆ เป็นระยะทาง 800 เมตร
 
เมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานที่ต้องการปลูกจะต้องคัดเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีลักษณะดี ไม่มีเมล็ดข้าวโพดชนิดอื่นปะปน แล้วนำมาคลุกด้วยสารเมทาแลคซิล ได้แก่ เอพรอน หรือ ลาซิล เป็นต้น ในอัตราที่ระบุในฉลากเพื่อป้องกันโรค
 
การเตรียมดิน

ควรปลูกในดินร่วมที่สามารถระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 5.5-6.8 ไถดินลึกประมาณ 18-20 เซนติเมตรตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วจึงใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และพรวนย่อยหน้าดินให้มีขนาดเล็กลง ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับให้ดินมีสภาพความเป็นกรดเป็นด่างพอเหมาะ โดยใส่หลังจากไถพรวนแล้ว ไถเปิดระหว่างร่องระยะห่างประมาณ 15-80 เซนติเมตร โดยไถตามแนวที่จะให้น้ำหรือระบายน้ำออก ในการไถเปิดร่องนั้นควรปรับระดับและทำทางระบายน้ำให้ดีอย่าให้เกิดน้ำท่วมขังได้ เพราะจะทำให้ต้นข้าวโพดเหลืองแคระแกร็น เมื่อไถเปิดเป็นร่องครั้งแรกแล้วใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 จำนวน 25 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรจในร่องแล้วไถกลบหรือใช้จอบขุดกลบอีกครั้งหนึ่งก็ได้

การปลูก

        ควรปลูกแบบแถวเดี่ยวโดยการยกร่องและให้น้ำแบบตามร่องระยะปลูกที่เหมาะสมคือระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 25 เซนติเมตร นำเมล็ดที่จะใช้ปลูกประมาณ 3 กิโลกรัมต่อไร่ที่คลุกสารเคมีป้องกันโรคแล้วมาแช่น้ำประมาณ 3-4 ชั่วโมงเพื่อให้เมล็ดดูดน้ำพอเต่งพองจะช่วยให้งอกได้เร็วขึ้น  แล้วนำไปหยอดโดยใช้จอบหรือเสียมขุดเป็นหลุม ๆ ละ 4-5 เมล็ด เกลี่ยดินกลบแล้วใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดเม็ดแบบดูดซึม เช่น ฟูราดาน คูราแทร์หรือเดทพารอน โรยคลุมผิวหน้าหลุม จากนั้นจึงปล่อยน้ำเข้าแปลง ระวังอย่าให้น้ำท่อมหลังร่องเพราะจะทำให้หญ้าขึ้น กรณีปลูกบนที่ดอนอาศัยน้ำฝนควรปลูกหลังฝนตกและดินเปียกแล้ว

ในบางพื้นที่พบว่าเกษตรกรมีเทคนิคการเตรียมดินที่ดีมาก โดยมีการให้น้ำแก่ดินจนเปียกชุ่มแล้วจึงไถเตรียมดินตามขั้นตอนต่าง ๆเช่นเดี่ยวกับที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่จะไม่มีการให้น้ำอีกในตอนปลูก จะเริ่มให้น้ำในตอนถอนแยกและให้ปุ๋ยครั้งแรก

ในพื้นที่ๆมีปัญหาเรื่องหนู ให้วางเหยื่อล่อหลังจากปลูกแล้วโดยใช้เมล็ดข้าวเปลือกมาคลุกสารเคมีที่ใช้กำจัดหนู เช่น ราคูมิน หรือ รูมาไซด์ วางเหยื่อล่อเป็นจุดๆกระจายรอบแปลงปลูกให้ทั่ว

การดูแลรักษา

        การให้น้ำ กรณีปลูกแบบให้น้ำแบบปล่อยตามร่อง ควรให้น้ำตามความจำเป็นโดยดูจ่ากความชื้นของดินเป็นหลัก ซึ่งจะให้ประมาณ 3-5 วันต่อครั้ง ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ  เพื่อให้ดินชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา  ระวังอย่าให้ดินแห้งเพราะจะทำให้ข้าวโพดชะงักการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง่ช่วงออกดอกและติดฝักไม่ควรให้ขาดน้ำ เพราะจะทำให้ฝักมีเมล็ดติดไม่ค่อยดีหรือที่เรียกว่าข้าวโพดฟันหลอและผลผลิตลดลง
        การถอนแยก   เมื่อข้าวโพดอายุได้ประมาณ 14-15 วัน ให้ถอนแยกต้นข้าวโพดออกให้เหลือต้นที่สมบูรณ์ไว้เพียง 1 ต้นต่อหลุม
        การใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืช   ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 50-75 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยยูเรียหรือแอมโมเนี่ยมซัลเฟต อัตรา 25-50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ
         ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ย15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก
         ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดอายุได้ประมาณ 14-15 วัน ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนี่ยมซัวลเฟต อัตรา 25-50 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมกับกำจัดวัชพืชครั้งแรกและถอนแยก
         ครั้งที่ 3 เมื่อข้าวโพดอายุได้ 25-30 วัน ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ในปริมาณที่เหลือจากการใส่ครั้งที่ 1 ทั้งหมด โดยใส่ตามร่องข้างแถวหรือหลุมปลูกห่างจากต้นข้าวโพด 15-20 เซนติเมตร แล้วพรวนดินกลบโคนต้นเพื่อป้องกันการล้มของต้นข้าวโพด

»» โรคที่สำคัญของข้าวโพดหวาน
»» แมลงศัตรูที่สำคัญของข้าวโพดหวาน
»» การตรวจแปลงปลูก
»» การเก็บเกี่ยวฝักแก่และการคัดฝัก
»» การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
»» การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย