สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ

หลักสำคัญของระบบทุนนิยม

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นระบบที่มีอิทธิพลมากระบบหนึ่งในโลกปัจจุบันและในอดีต และระบบเศรษฐกิจแบบนี้ได้มีลักษณะรูปแบบต่าง ๆ กันออกไป เช่น แบบพาณิชยกรรม แบบการเงิน และแบบอุตสาหกรรม เป็นต้น แต่ทุกรูปแบบจะมีหลักการสำคัญดังนี้ คือ

1. ยอมให้เอกชนเป็นเจ้าขององค์การผลิต ระบบทุนนิยมถือว่าเอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมดมิใช่รัฐ ปัจจัยในการผลิตได้แก่ ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร และทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบันรัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินได้ เช่น ในสหรัฐอเมริการัฐเป็นเจ้าของที่ดิน 1 ใน 3 ของที่ดินทั้งหมดในประเทศ

2. ใช้หลักตลาดเสรี ก่อนยุคทุนนิยมนั้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องของท้องถิ่น ระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าไม่ค่อยมีวิธีรีตอง ใช้หลักขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเครื่องกำหนดราคาสินค้าและบริการ แต่ระบบทุนนิยมให้เกิดตลาดเสรีขึ้นคือการใช้แรงงานมีลักษณะเป็นความชำนาญเฉพาะอย่าง แต่ละคนมีส่วนในการผลิตโดยใช้ความรู้ แรงงานและความชำนาญเฉพาะตน ผลผลิตหรือบริการถูกนำไปใช้เพื่อการบริโภคทั่วไปและเพื่อการจำหน่ายในตลาด ไม่มีการควบคุมการเสนอและการสนอง คงปล่อยให้เป็นไปโดยเสรี

3. อำนาจอธิปไตยของผู้บริโภค หมายถึง ผู้บริโภคมีเสรีภาพในการที่จะเลือกใช้สินค้าที่มีจำหน่ายอย่างเสรี และจากเสรีภาพที่ผู้บริโภคจะเลือกบริโภคสินค้าใดนี้ ก็เท่ากับว่าผู้บริโภคมีอำนาจในการกำหนดการผลิตด้วยว่า ควรจะผลิตในปริมาณเท่าใด ผลิตสิ่งใดและผลิตอย่างไร

4. หลักการแข่งขัน คือการเปิดโอกาสให้บุคคลใด ๆ สามารถประกอบการได้ เช่น การลงทุนทางเศรษฐกิจ การผลิตได้โดยเสรี เมื่อผลิตแล้วก็มีเสรีภาพในการเสนอขายให้กับผู้บริโภค ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตในด้านการลงทุนและการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ

5. หลักผลกำไร ถ้ายึดผลกำไรเป็นจุดหมายปลายทางของเอกชนที่ประกอบการทางเศรษฐกิจ บุคคลย่อมมีความหวังที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนคือผลกำไร แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ผู้ประกอบการต้องประสบกับการขาดทุน

6. หลักการแสวงหา หมายถึงการแสวงหาเงินโดยการเพิ่มจำนวนเงินที่มีอยู่ให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่งคั่ง การแสวงหาเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในกิจการทางเศรษฐกิจทั้งมวล ในระบบทุนนิยมเชื่อว่าการแสวงหาเงินทองทรัพย์สินนี้ ถ้ามีมากขึ้นก็จะช่วยให้มีการใช้เงินทองเหล่านั้นเพื่อการขยายการลงทุนให้มากขึ้นไปอีก

7. หลักเหตุผล หมายถึง การใช้เหตุผลการทำงานที่เป็นขั้นตอน การปรับวิธีการต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามหลักการคำนวณหรือคาดการณ์อย่างมีเหตุผล การใช้ข้อมูล การใช้หลักการวิเคราะห์ การพิจารณาในเชิงปริมาณ สิ่งดังกล่าวเป็นการใช้เหตุผลอย่างเป็นระบบ แต่เป็นเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจ

8. ใช้หลักปัจเจกชนนิยม หมายถึง บุคคลที่มีเสรีภาพในการประกอบการและได้รับประโยชน์ตอบแทนในการประกอบธุรกิจนั้น ๆ การยอมให้บุคคลแสวงหาและได้รับประโยชน์โดยเสรี มีสิทธิในการผลิตและการประกอบการ

9. ใช้หลักราคา หมายถึง ราคาที่ปรากฏขึ้นในตลาดและผู้ผลิตสามารถที่จะมีปฏิกิริยาสนองตอบราคานั้นได้ เช่น สินค้าใดมีราคาสูงหรือราคาต่ำเนื่องจากความต้องการมีมากหรือน้อย ผู้ผลิตก็สามารถใช้ราคาดังกล่าวนี้เป็นเสมือนเครื่องนำทางว่าควรจะเพิ่มหรือลดการผลิต

10. หลักการแบ่งงาน ในสังคมอุตสาหกรรมถือว่าการแบ่งงานเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ความรับผิดชอบ ความรู้ความสามารถเฉพาะทางอย่างผสมผสานกัน เช่น การแสวงหาทรัพยากรการสนับสนุนเรื่องทุน การบริการและการจัดการ การตลาดและการควบคุมทางการเงิน การบัญชี การวิจัยเพื่อประเมินผลต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าในท้องตลาด การใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์และสิ่งอื่น ๆ อีกหลายประการ

11. การใช้วิทยาการ ระบบทุนนิยมปัจจุบันจะผนวกเอาการใช้ความรู้ในทางวิทยาการเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งด้วย ทั้งนี้เพราะวิทยาการปัจจุบันจะเกี่ยวข้องกับการผลิตอย่างเห็นได้ชัด วิทยาการเป็นเหตุสำคัญแห่งการเพิ่มผลผลิตและผลกำไรต่าง ๆ เช่น เทคนิคในการขนส่ง เมื่อมีการขนส่งดีก็ย่อมช่วยให้การแสวงหาวัตถุดิบเป็นไปโดยสะดวกและการจำหน่ายหรือการขยายตัวของสินค้าเป็นไปอย่างกว้างขวาง

ผลดีของระบบทุนนิยม

1. ทำให้บุคคลตั้งใจทำงานตามความรู้ความสามารถของตน เพราะผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้นเขาจะได้รับเต็มที่

2. ทำให้มีการพัฒนาคุณภาพของงาน เมื่อทุกคนจะได้รับผลตอบแทนจากการทำงานของตนอย่างเต็มที่แล้วเขาจะต้องพัฒนาฝีมือแรงงานและงานของตนที่ทำอยู่นั้นให้ดียิ่งขึ้น

3. ทำให้มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่มาใช้บริโภคและบริการใหม่ ๆ ขึ้น เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบการแข่งขัน ผู้ที่จะแข่งขันคนอื่นได้นั้นจะต้องประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่แปลกมาเสนอแก่ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ

4. ทำให้สินค้าราคาถูก เพราะระบบการแข่งขันเจ้าของผู้ผลิตจะต้องพยายามหาวิธีการที่จะให้ต้นทุนการผลิตต่ำ อาจจะใช้วิธีเอาเครื่องจักรเครื่องยนต์เข้ามาผลิตแทนแรงคน เมื่อต้นทุนต่ำสินค้าก็สามารถขายในราคาถูกได้ และผู้บริโภคก็จะมีโอกาสได้ซื้อสินค้าในราคาถูก

5. ปริมาณและคุณภาพสินค้าดีขึ้น คือการผลิตโดยใช้เครื่องจักรจะทำให้ปริมาณการผลิตได้มากกว่า และคุณภาพของสินค้าที่ได้มาจะดีกว่าการผลิตด้วยแรงคน ด้วยเหตุนี้จะสามารถส่งสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนรายได้ของประชาชาติเป็นอย่างดี

ผลเสียของระบบทุนนิยม

1. ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น เพราะคนรวยจะใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยการผลิต แต่คนจนต้องผลิตด้วยมือหรือแรงคนผลผลิตออกมาย่อมจะสู้เครื่องจักรไม่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ ในที่สุดคนจนก็ต้องล้มเลิกการผลิตบางคนก็ต้องหันเข้าไปใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม คนรวยจึงได้เปรียบในเรื่องของรายได้

2. ทำให้เกิดมลพิษ เนื่องจากระบบทุนนิยมจะต้องมีทุนการผลิต คือการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนในโรงงานอุตสาหกรรม และมลพิษต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นจากระบบอุตสาหกรรมนั้นมากมาย เช่น กลิ่น เสียง ควัน น้ำเน่าน้ำเสีย ซึ่งล้วนแล้วแต่สิ่งที่ทำให้สุขภาพกาย สุขภาพจิตของมนุษย์เสื่อมโทรม

3. ทำให้เกิดสังคมแออัด คือ เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว บุคคลที่ประกอบอาชีพอื่น เช่น ด้านการเกษตรก็จะหันมาใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม และส่วนมากโรงงานอุตสาหกรรมก็จะอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ หรือเมืองหลวงของรัฐ เมืองเหล่านี้จำนวนประชากรมากอยู่แล้ว ยิ่งผู้ใช้แรงงานเพิ่มเข้าไปอีกก็จะยิ่งทำให้เกิดสังคมแออัดเป็นแหล่งเสื่อมโทรม และเกิดปัญหาด้านสังคมอื่น ๆ ตามมา

4. ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นในสังคมชัดขึ้น คือคนที่มีรายได้ดีมีฐานะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตจะอยู่ในฐานะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี มีการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ส่วนอีกพวกหนึ่งจะเป็นผู้ใช้แรงงานมีรายได้ต่ำอยู่ในฐานะยากจนอยู่กินกันอย่างขัดสน จึงทำให้เกิดความเลื่อมล้ำของสังคมเกิดขึ้น

5. ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีค่าของชาติ เช่น ป่าไม้ถูกทำลายโดยการตัดไม้เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ห้วยหนองคลองตื้นเขิน เพราะระบบโรงงานปล่อยเศษสิ่งโสโครกและน้ำเสียลง เมื่อสิ่งแวดล้อมไม่ดีมนุษย์จะอยู่ดีมีความสุขได้อย่างไร

6. ทำให้อัตราการเกิดเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ คือเมื่อคนมากอยู่รวมกันมาก ๆ โอกาสความสัมพันธ์ทางเพศมีมาก เช่น ในเมืองใหญ่ ๆ ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม คนเหล่านั้นแต่งงานกันมากขึ้นกว่าปกติจึงทำให้อัตราการเกิดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาหนึ่งทางด้านสังคม

7. ทำให้เกิดระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา เป็นระบบที่ทำให้คนเห็นแก่ตัว คือ คนมีเงินมีทุนย่อมจะมีโอกาสกอบโกยเอาผลประโยชน์ ซึ่งในทางตรงกันข้ามคนจนที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติร่วมโลกเดียวกัน มีความคิดมีความต้องการความสุขความปลอดภัยเหมือนกันกับคนรวย แต่เขาขาดเงินและขาดทุน จึงตกเป็นเครื่องมือหรือเป็นที่ทำมาหากินของพวกคนรวย

แนวความคิดทางการเมือง
ประเภทของลัทธิการเมือง
ระบบประชาธิปไตย
หลักการของระบอบประชาธิปไตย
องค์สามของประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นอุดมคติ
ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบบการเมืองการปกครอง
ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นวิถีชีวิต
ระบบเผด็จการ
ลักษณะสำคัญของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
แนวความคิดทางเศรษฐกิจ
ประเภทของลัทธิเศรษฐกิจ
หลักสำคัญของระบบทุนนิยม
แบบสังคมนิยม (Socialism)
หลักสำคัญของระบบสังคมนิยม
ประเภทของระบบสังคมนิยม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย