สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

รัฐธรรมนูญ (Constitution)

ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญนับว่ามีความสำคัญต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีไว้รับรองสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ประชาชนและเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ของประชาชนด้วย นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นหลักประกันไม่ให้ผู้ปกครองล่วงละเมิดในสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน รัฐธรรมนูญยังเป็นเครื่องกำหนดทิศทางในการดำเนินการบริหารประเทศของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถที่จะดำเนินงาน ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้เพื่อสนองความต้องการของประชาชน ฉะนั้นจึงพอสรุปประเด็นสำคัญรัฐธรรมนูญได้ดังนี้

มีความสำคัญต่อผู้ปกครอง คือ รัฐธรรมนูญจะเป็นหลัก เป็นโครงสร้างการบริหารประเทศอันเป็นแนวที่จะให้ผู้ปกตรองนั้นได้ยึดเป็นแนวในการบริหารประเทศตามวิธีการ หลักการ นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญนั้น ๆ

มีความสำคัญต่อประชาชน คือ รัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้สิทธิเสรีภาพมากน้อยอย่างไร รัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังจะมีบทบัญญัติออกมาเพื่อป้องกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่ละคน มิให้ใครคนอื่นมาละเมิดสิทธิที่มีอยู่นั้น รวมไปถึงการป้องกันผลประโยชน์อันจะเกิดแก่ประชาชน

ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญจะมีความสำคัญ มีความดีอยู่มากมาย อย่างไรก็ตามถ้าผู้ปกครองยังนึกถึงประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ของพรรคพวกอยู่ แม้จะตรากฎหมายรัฐธรรมนูญไว้ดีอย่างไร หาเกิดประโยชน์ไม่ และการมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็มิได้เป็นเครื่องประกันว่า การปกครองจะเป็นประชาธิปไตยตามคำพูด ถ้าผู้ปกครองขาดคุณธรรมและยังเห็นผลประโยชน์ส่วนตนอยู่ฝ่ายเดียว ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับผู้ปกครองจะเป็นผู้กำหนดและนำมาปฏิบัติ

การแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องในทางทฤษฎีมากกว่าอย่างอื่น แม้ในทางทฤษฎีเองก็มีความเห็นไม่ลงลอยกัน เพราะมีเกณฑ์ในการแบ่งมากมายสุดแท้แต่ว่าผู้แบ่งจะถือเอาอะไรเป็นหลักหรือเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ประโยชน์ในการแบ่งถ้าจะมีก็เป็นเรื่องในทางเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญมากกว่าอย่างอื่น กล่าวคือ ช่วยให้ทราบว่ารัฐธรรมนูญของประเทศใดบ้างที่พอจะจัดเข้ากลุ่มรวมกันได้ ซึ่งจะเป็นหนทางให้ศึกษาต่อไปว่า ถ้าแตกต่างกลุ่มกัน มีเหตุผลใดจึงเป็นเช่นนั้น บรรดาประเทศเกิดใหม่หรือประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชคิดจะร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่จะได้ทราบบทเรียนของประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศเดียวกันได้รับมาก่อน แล้วหากตนจะเอาอย่างเขาก็จะได้ทราบว่าควรอย่างไรแค่ไหนเพียงไร เพราะรัฐธรรมนูญของรัฐที่เป็นรัฐเดี่ยวจะลอกเลียนหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐรวมได้ยาก แต่หลักเกณฑ์ข้อนี้ก็มิได้ถือเคร่งครัดนัก เพราะ เนื้อหาสาระในบางเรื่องสามารถที่จะลอกเลียนได้ (วิษณุ เครืองาม 2525 : 11) แต่ถึงอย่างไรก็ตามการที่ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญและลักษณะของรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ย่อมมีความแตกต่างกันไป ตามสาเหตุและประเภทของรัฐธรรมนูญ สำหรับประเภทของรัฐธรรมนูญ ได้แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 4 ประเภท คือ (อานนท์ อาภาภิรม 2528 ; 58)

1. รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (Unwritten Constitution)
2. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Written Constitution)
3. รัฐธรรมนูญกษัตริย์และรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐ (Monarchical and Republic Constitution)
4. รัฐธรรมนูญรัฐเดี่ยวและรัฐธรรมนูญรัฐรวม (Unitary Constitution and Federal Constitution)

จากประเภทของรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวมานั้น สามารถที่จะขยายความเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (Unwritten Constitution)

หรือที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญที่มิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่นำรัฐธรรมนูญประเภทนี้มาใช้และก็ใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ที่เรียกกันว่า “กฎหมายแห่งรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษ” (Law of Constitution) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างครบถ้วนเป็นฉบับเดียวกันโดยเฉพาะ แต่มักจะประกอบด้วยกฎหมายทั้งปวงที่ได้บัญญัติขึ้นไว้ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดระเบียบการเมืองการปกครอง

2. รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Written Constitution)

รัฐธรรมนูญประเภทนี้เกิดขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี กล่าวคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารอย่างชัดเจน มีหลักการบริหารประเทศอย่างครบถ้วน โดยแบ่งบทบัญญัติต่าง ๆ เป็นหมวดหมู่สะดวกแก่การพิจารณา วิธีการนี้เกิดขึ้นพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย ประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร โดยได้ประกาศใช้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1787 กล่าวได้ว่า ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่มีรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากความแน่ชัดในบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่ไม่มีความแน่ชัดเท่า และมีข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการรวมกฎหมายสูงสุดไว้เป็นฉบับเดียวกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะเริ่มต้นด้วยวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกินดีอยู่ดี ความยุติธรรม ความสงบ สุข ความเจริญก้าวหน้าของรัฐ การแบ่งอำนาจอธิปไตยแยกออกเป็นฝ่ายบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ นอกจากนี้แล้วยังมีหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่กาลสมัย ประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ยุโรปตะวันตก และบางประเทศของลาตินอเมริกา มักได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอยู่มาก จึงเรียกกันว่า รัฐบาลโดยรัฐธรรมนูญ (Constitution Government) ประเทศในกลุ่มอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็มีรัฐธรรมนูญ แต่มักไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ บางประเทศผู้ปกครองหรือรัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญน้อยมาก เช่น ประเทศปารากวัย โคลัมเบีย โดมินิกัน ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ มิได้หมายความว่าจะมีเฉพาะส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะมีส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมอยู่ด้วย กล่าวคือ จะมีธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองที่มิได้เป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นกฎเกณฑ์การปกครองประเทศร่วมอยู่ด้วย เช่น ธรรมเนียมการปฏิบัติที่เกี่ยวกับเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คือ กระบวนการสรรหาตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองที่จะมาชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น กระทำกันมาโดยประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติของประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศสซึ่งโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้วประธานาธิบดีมีสิทธิยุบสภาได้ เมื่อเห็นว่าสภาขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าประธานาธิบดีคนไหนของฝรั่งเศสได้ใช้สิทธินั้นยุบสภา อันนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี

3. รัฐธรรมนูญกษัตริย์และรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐ (Monarchical and Republic Constitution)

การจัดประเภทของรัฐธรรมนูญประเภทนี้เป็นการจัดโดยยึดถือตำแหน่งแห่งประมุขของรัฐเป็นหลัก คือ ถ้าประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ก็เรียกว่า รัฐธรรมนูญกษัตริย์ แต่ถ้าประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดีก็เรียกว่า รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐ

สำหรับรัฐธรรมนูญกษัตริย์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบดังนี้ คือ

1. พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเด็ดขาด (Absolute Monarchy) คือ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญ มีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศอยู่ก็ตาม แต่อำนาจบริหารประเทศที่แท้จริงอยู่กับพระมหากษัตริย์ ประเทศที่ใช้การปกครองแบบนี้ ได้แก่ ประเทศจอร์แดน และประเทศซาอุดิอาระเบีย บริหารประเทศอยู่กับคณะรัฐมนตรี อำนาจนิติบัญญัติอยู่ที่รัฐสภา และอำนาจตุลาการอยู่ศาลยุติธรรม ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ประเทศสวีเดน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย เป็นต้น

อานนท์ อาภาภิรม ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐว่า ได้แบ่งออกเป็น 2 แบบ เช่น คือ

1. ประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นเพียงประมุขของรัฐ รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐประเภทนี้กำหนดให้อำนาจบริหารอยู่ที่คณะรัฐมนตรี อำนาจนิติบัญญัติอยู่ที่รัฐสภา อำนาจตุลาการจะอยู่ที่ศาลยุติธรรม สำหรับประธานาธิบดีไม่มีอำนาจทั้ง 3 แต่ประการใด ประธานาธิบดีเป็นเพียงประมุขของรัฐและสัญลักษณ์ของประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย และประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

2. ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร กล่าวคือ ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขของรัฐและในขณะเดียวกันก็เป็นผู้นำของฝ่ายบริหารไปด้วย ประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญแบบนี้ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

4. รัฐธรรมนูญรัฐเดี่ยวและรัฐธรรมนูญรัฐรวม (Unitary Constitution and Federal Constitution)

การจัดประเภทของรัฐธรรมนูญประเภทนี้ ได้ยึดถือเอาจากการจัดรูปของรัฐเป็นสำคัญ คือ ถ้ารัฐใดที่มีการจัดการปกครองโดยมีรัฐบาลกลางเพียงรัฐบาลเดียวมีอำนาจสูงสุด ได้แก่ รวมอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการไว้ในส่วนกลางแห่งเดียว สำหรับในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ก็ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางออกไปปฏิบัติจัดทำตามอำนาจหน้าที่เท่าที่จำเป็น การจัดการปกครองแบบนี้เรียกว่า เป็นการจัดการปกครองแบบรัฐเดี่ยว และประเทศที่จัดการปกครองแบบนี้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอังกฤษ ประเทศไทย และประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

ส่วนประเทศที่จัดการปกครองที่มีรัฐบาล 2 ระดับคือ มีรัฐบาลกลางที่รับผิดชอบหน้าที่ที่สำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น การรักษาความมั่นคง การเงินการคลังของประเทศ การเศรษฐกิจของประเทศ และกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนรัฐบาลระดับที่ 2 เรียกว่า รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งจะมีอิสระในการบริหารท้องถิ่นจากรัฐบาลกลาง ยกเว้นแต่ว่ากิจการใดที่รัฐธรรมนูญได้ให้เป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง โดยทั่วไปรัฐบาลระดับท้องถิ่นจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการบริการ จัดสวัสดิการแก่ประชาชน และจัดการรักษาความสะอาดตลอดจนถึงความสงบเรียบร้อยภายในรัฐนั้น ๆ ประเทศที่มีการจัดการปกครองแบบนี้เรียกว่า ใช้รัฐธรรมนูญแบบรัฐรวม และในปัจจุบันการจัดการปกครองรูปแบบนี้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอินเดีย ประเทศแคนาดา และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

นอกจากการแบ่งประเภทของรับธรรมนูญออกเป็น 4 ประเภท ดังกล่าวแล้วนั้น ยังมีนักรัฐศาสตร์ได้จัดประเภทของรัฐธรรมนูญออกไปอีก 2 ประเภท คือเป็นการจัดแบ่งโดยยึดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่าย (Flexible Constitution) และรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก (Rigid Constitution)

1. รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่าย คือ รัฐธรรมนูญที่มีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมเช่นเดียวกับกฎหมายธรรมดา ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงของสมาชิกรัฐสภาถึงสองในสามหรือสามในสี่ อาจจะมีเสียงเพียงกึ่งหนึ่งก็สามารถแก้ไขได้ เป็นต้น

2. รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยากหรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญที่มีวิธีการแก้ไขเป็นพิเศษ (Special Process) คือรัฐธรรมนูญประเภทนี้ ถ้าหากมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขแล้วก็จะกำหนดวิธีไว้อย่างเป็นพิเศษ เช่น จะแก้เพิ่มเติมได้นั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามหรือสามในสี่ หรือจะต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรอื่น ๆ นอกเหนือจากรัฐสภา หรือต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน โดยวิธีการลงประชามติ เป็นต้น

ความหมายของรัฐธรรมนูญ
กฎหมายรัฐธรรมนูญ
ประเภทของรัฐธรรมนูญ (Classification of Constitution)
วิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ
ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ
ที่มาของรัฐธรรมนูญ
ประโยชน์และความจำเป็นของการมีรัฐธรรมนูญ
ลักษณะของรัฐธรรมนูญที่ดี
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญไทย
รัฐธรรมนูญไทย(ฉบับแรก-ฉบับปัจจุบัน)
ประวัติรัฐธรรมนูญไทย
ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
ฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
ฉบับที่ 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
ฉบับที่ 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495
ฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
ฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
ฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
ฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
ฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
ฉบับที่ 12 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
ฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
ฉบับที่ 14 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 15 รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 16 รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
สรุปและวิเคราะห์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย