สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

 

ความหมายการเมืองการปกครอง

วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture)

พฤติกรรมการเมืองของระบบการเมืองเกิดขึ้นเนื่องจากวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการเมืองอันเป็นรากฐานของสังคมเหล่านั้น และวัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคม (Social Culture) หรือวัฒนธรรมของชาติ (National Culture) ฉะนั้นก่อนที่จะศึกษาทำความเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองควรที่จะได้ศึกษาถึงวัฒนธรรมทางสังคมเสียก่อน ซึ่งมีนักปราชญ์หลายท่านได้อธิบายไว้ดังนี้

ความมีวัฒนธรรม (Culture) ของมนุษย์เป็นลักษณะหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์และคำว่าวัฒนธรรมก็มักจะเข้าใจกันผิด ๆ ว่า คือสิ่งที่ดีงามที่เป็นแบบแผนในสังคม ซึ่งที่จริงแล้วทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (Anthropology) “วัฒนธรรม” นั้นหมายถึง “วิถีชีวิต” (Way of Life) ของกลุ่มคน ซึ่งแบบแผนรวมทั้งหมด (Configuration) ของชีวิตนี้มักจะเป็นแบบแผนคล้าย ๆ กัน และแบบแผนชีวิตเหล่านี้ เป็นแบบแผนที่มีการเรียนรู้และมีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยอาศัยภาษาหรือการเลียนแบบ

ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน อธิบายว่า วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือผลิตขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตของมนุษย์ในส่วนรวม ที่ถ่ายทอดกันได้ เลียนแบบกันได้ เอาอย่างกันได้ วัฒนธรรมคือสิ่งอันเป็นผลิตผลของส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนแต่ก่อนสืบต่อเป็นประเพณีกันมา วัฒนธรรม คือ ความคิดเห็น ความรู้สึก ความประพฤติและกิริยาอาการ หรือการกระทำใด ๆ ของมนุษย์ในส่วนรวม ลงรูปพิมพ์เดียวกัน และสำแดงออกมาให้ปรากฎเป็นภาษา ศิลป ความเชื่อถือ และระเบียบประเพณี เป็นต้น (อ้างถึงใน อานนท์ อาภาภิรม 2514 : 82)

วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือสังคมใดสังคมหนึ่ง มนุษย์ที่ได้สร้างระเบียบกฎเกณฑ์ วิถีการในการปฏิบัติ การจัดระเบียบ ตลอดจนระบบความเชื่อ ความนิยม ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการควบคุมและวิธีใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ

จากคำอธิบายความหมายของวัฒนธรรมของนักปราชญ์ทั้งหลายดังกล่าวนั้น ทำให้ทราบถึงลักษณะของวัฒนธรรมทางสังคมได้ดังนี้

1. วัฒนธรรมเป็นแบบฉบับการดำรงชีวิตหรือวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม
2. วัฒนธรรมเป็นมรดกทางสังคม ที่มีผลมาจากการเรียนรู้และการถ่ายทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
3. วัฒนธรรมเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการถ่ายทอดและการเรียนรู้ มิใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณ
4. วัฒนธรรมเป็นระเบียบแบบแผนของการปฏิบัติอันเกิดจากทัศนคติ ค่านิยมและความเชื่อ
5. วัฒนธรรมเป็นเครื่องแสดงออกถึงความแตกต่างแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมหนึ่งกับอีกสังคมหนึ่ง

ส่วนวัฒนธรรมทางการเมือง จากที่กล่าวว่าคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคมนั้น หมายความว่า วัฒนธรรมทางสังคมมีอิทธิพลก่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้น ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองเกิดขึ้นจากทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อในทางการเมืองการปกครองที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้และการถ่ายทอดมาจากคนรุ่นหนึ่ง สู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งความหมายและคำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองนั้น มีนักปราชญ์หลายท่านได้อธิบายไว้หลากหลายดังนี้

Gabriel A. Almond and Bingham Powell, Jr.อธิบายว่า วัฒนธรรมทางการเมืองคือ แบบแผน (pattern) ของทัศนคติแต่ละบุคคลต่อการเมืองท่ามกลางสมาชิกอื่นของระบบการเมือง แบบแผนทัศนคติทางการเมืองของแต่ละบุคคลนี้เป็นความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจซึ่งเป็นตัวสร้างทัศนะทางการเมือง หรือการแสดงออกที่เป็นบทบาททางการเมือง ความรู้สึกนึกคิดนี้มีส่วนประกอบหลายอย่างรวมทั้ง Cognitive

Orientation ซึ่งหมายถึงความรู้และความเชื่อที่มีต่อเรื่องของการเมืองหรือวัตถุทางการเมือง (Political Object) Affective orientation หมายถึง ความรู้สึกผูกพันหรือไม่ยอมรับ หรือสิ่งที่เป็นความรู้สึกต่าง ๆ ที่มีต่อการเมือง และ Evaluative Orientation หรือความคิด (Opinions) ตลอดจนความพินิจพิจารณา (Judgements) ที่มีต่อการเมือง ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเอาความคิดเหล่านั้น ซึ่งเป็นค่านิยม (Value) เข้าไปพัวพันเปรียบเทียบกับการเมืองและเหตุการณ์ทางการเมือง (Political Events ) ต่าง ๆ นั้น

Lucien W. Pye อธิบายว่าวัฒนธรรมทางการเมือง คือ ทัศนคติ ความเชื่อ ความรู้สึก เกี่ยวกับกระบวนการทางการเมือง สิ่งดังกล่าวนี้เป็นสิ่งกำหนดพฤติกรรมของบุคคลในระบบการเมืองโดยครอบคลุมอุดมการณ์ทางการเมือง และมีปทัสถานในการปฏิบัติของบุคคลในระบบการเมืองนั้น วัฒนธรรมทางการเมืองจึงเป็นรูปแบบรวมของมิติทางการเมืองทางจิตวิทยาและด้านความรู้สึกนึกคิดทางการเมือง

Samuel H.Beer and Adam B. Ulam อธิบายว่า วัฒนธรรมทางการเมือง เป็นรูปแบบของทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อบุคคลที่มีต่อกิจกรรมทางการเมือง ระบบการเมือง และต่อบทบาทของตัวเองและต่อการเมือง

Milton Yinger อธิบายว่า วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นทัศนคติและการอบรมกล่อมเกลาที่แต่ละคนได้รับจากระบบการเมืองนั้น ซึ่งประกอบด้วยความรู้สึกนิยมและไม่นิยมระบบการเมือง และการประเมินต่อเหตุการณ์ทางการเมือง

จากคำอธิบายความหมายของบรรดานักปราชญ์ทั้งหลายของคำว่า “วัฒนธรรมทางการเมือง” ข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมทางการเมือง คือ ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้สึกนึกคิดตลอดจนปทัสถานในการประพฤติปฏิบัติของบุคคลที่มีต่อระบบการเมืองการปกครองสถาบันการเมืองที่มีต่อระบบการเมืองการปกครองสถาบันการเมือง บทบาททางการเมืองและกิจกรรมต่าง ๆ ทางการเมืองที่ได้รับการเรียนรู้ ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งมายังคนอีกรุ่นหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อต้องการจะทราบหรือเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมใด หรือประเทศหนึ่งประเทศใด จึงจำเป็นจะต้องศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของคนในประเทศนั้น ศึกษาทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ ความเข้าใจ สิ่งแวดล้อมของบุคคลที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมชาติ ตลอดถึงความสำเนียกในความเป็นชาติว่า แต่ละกลุ่มแต่ละคนนั้นมี ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ และปทัสถานในการดำเนินชีวิตต่อทิศทางทางการเมืองอย่างไร

อย่างไรก็ตามไม่ว่าวัฒนธรรมทางสังคม หรือวัฒนธรรมทางการเมือง ย่อมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือปลูกฝังให้เกิดขึ้นใหม่ได้ แต่อาจจะใช้เวลานานพอสมควร เพราะยิ่งวัฒนธรรมทางการเมืองนั้น มิได้เกิดขึ้นจากข้อบังคับเบื้องบน คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญระเบียบข้อบังคับทางสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก เช่น อาศัยขนบธรรมเนียมประเพณี เหตุผล คุณค่าของวัฒนธรรมใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชน และกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม เป็นต้น

กมล สมวิเชียร อธิบายว่า วัฒนธรรมทางการเมืองมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโครงสร้างทางสังคมซึ่งมีส่วนก่อรูปทัศนคติทางการเมืองของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งเริ่มจากกระบวนการให้การเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) ในครอบครัว กระบวนการให้การเรียนรู้ทางสังคม อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้น คือ

1. ขั้นกระบวนการให้การเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) เป็นขั้นมูลฐานเป็นช่วงตอนที่ทารกได้รับการฝึกฝนให้เป็นสมาชิกของสังคม ซึ่งเป็นตอนที่เด็กจะเรียนรู้ทัศนคติ ค่านิยม ความชำนาญ ความสัมพันธ์แห่งบทบาทต่าง ๆ ของบุคคล ความรู้ทั่วไปและสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นซึ่งคนในสังคมนั้นจะต้องเรียนรู้ฝึกฝนอบรมอันจะนำไปสู่ขั้นตอนที่สอง

2.ขั้นตอนนี้เป็นขั้นที่ก่อให้เกิดบุคลิกภาพของบุคคลที่ได้จากประสบการณ์ต่าง ๆ เพราะประสบการณ์ที่บุคคลได้รับแต่ละคนนั้นจะมีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึกซึ่งเป็นสิ่งกำหนดบุคลิกภาพขั้นมูลฐานของบุคคลนั้น ในช่วงนี้บุคคลจะมีความสำนึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เรียกว่า Identity พร้อมสมบูรณ์ด้วยอวัยวะทางจิตวิทยาอื่น ๆ เช่น การระบายออกซึ่งอารมณ์ ความรู้ซึ่งฝังอยู่ในใจและความเข้าใจต่าง ๆ

3. ขั้นของกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง (Political Socialization) เป็นขั้นที่บุคคลได้รับการเรียนรู้ทางการเมือง อันเป็นช่วงที่บุคคลเริ่มมีความรู้สึกถึงโลกของการเมืองรอบ ๆ ตัวเขาและมีความรู้ความเข้าใจถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางการเมือง

4. ขั้นของการเลือกสรรจากการเมือง (Political Recruitment) เป็นขั้นที่บุคคลผ่านจากการเป็นสมาชิกทางการเมืองที่ไม่มีกิจกรรมมาเป็นผู้มีบทบาทเข้าร่วมกับทางการเมือง เป็นขั้นตอนที่บุคคลจะมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองลึกซึ้งขึ้น และจะมีทัศนะคติทางการเมืองหรือที่เรียกว่า “บุคลิกภาพทางการเมือง” ชัดเจนหรือถาวรกว่าเดิม คน ๆ นั้นอาจจะเป็นนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมืองหรือมีตำแหน่งอื่นในทางการเมือง

กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมทั้ง 4 ขั้นตอนนั้นนับว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดบุคคลว่าจะนำไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองในรูปแบบใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเมือง นโยบายทางการเมืองของแต่ละประเทศคือ อาจจะนำไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบเผด็จการหรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมในครอบครัวถือว่าเป็นบทบาทที่มีความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง คือ ถ้าระบบครอบครัวมีลักษณะเผด็จการสมาชิกครอบครัวก็มักจะเป็นเผด็จการไปด้วย หรือถ้าระบบครอบครัวมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย สมาชิกครอบครัวอาจจะมีบุคลิกภาพเป็นประชาธิปไตยไปด้วย นอกจากนั้นสถาบันการศึกษา สมาคมกลุ่มเพื่อนและสถานที่ทำงานก็ยังเป็นแหล่งของการเรียนรู้และการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเรายังมีปัญหาด้านการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น การพัฒนาในระบอบประชาธิปไตยยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรในเรื่องนี้นักวิชาการหลายท่าน กล่าวถึงเหตุผลของการไม่พัฒนาไว้หลายประเด็น เช่น

1. ประชาชนยังติดอยู่กับวัฒนธรรมทางการเมืองดั่งเดิม คือ แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
2. ประชาชนยังขาดความสนใจในด้านการเมืองการปกครอง
3. ประชาชนยังขาดการศึกษาเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครอง
4. ประชาชนยังขาดการศึกษาระดับที่จะเรียนรู้และเข้าใจระบบการเมืองการปกครอง

จากเหตุและปัจจัยดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า ปัจจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองก็มีความสำคัญมิใช่น้อยในการที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ทัดเทียมกับอารยประเทศ ฉะนั้นต้องเร่งปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแก่คนในชาติให้จงได้

ความหมายและความสำคัญของการเมือง
ประวัติความเป็นมาของวิชารัฐศาสตร์
สาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์กับสาขาวิชาอื่น
จริยธรรมทางการเมือง (Political Ethics)
วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture)
อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology)
ความหมายของอุดมการณ์ทางการเมือง
ประเด็นสำคัญของอุดมการณ์ทางการเมือง
วิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย