สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม
ความหมายการเมืองการปกครอง
จริยธรรมทางการเมือง (Political Ethics)
จริยธรรมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมทางสังคม ดังนั้นคำว่า จริยธรรม (Ethics) ตามความหมายทางศาสนา หมายถึง ความดีงาม ความถูกต้อง ความเหมาะสม ที่คนในสังคมหนึ่ง ๆ ได้ยอมรับถือปฏิบัติเป็นหลักทางศีลธรรม หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า จริยธรรม คือเครื่องมือในการวัดความดี ความไม่ดี ความถูก ความผิด ความเหมาะความไม่เหมาะแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม จริยธรรมไม่เป็นหลักสากล คือ จริยธรรมในสังคมหนึ่งอาจจะไม่ถูกยอมรับในอีกสังคมหนึ่งก็เป็นได้ แต่จริยธรรมที่หมายถึงความดีงาม ความถูกต้องและความเหมาะสมนั้นจะต้องมีลักษณะสำคัญดังนี้ คือ
1. พฤติกรรมนั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก หรือส่วนใหญ่
2. พฤติกรรมนั้นก่อให้เกิดความพอใจ การยอมรับของคนในสังคมนั้นเป็นส่วนใหญ่
3. พฤติกรรมนั้นทำให้เกิดประโยชน์ทั้งตนและผู้อื่นในสังคม
4. พฤติกรรมนั้นเหมาะสมกับกาลเวลา สถานที่และบุคคล เรียกว่า ถูกกาลเทศะ
ส่วนจริยธรรมทางการเมืองก็คือความดีงาม ความถูกต้อง ความเหมาะสมแห่งพฤติกรรมทางการเมืองของสมาชิกในสังคมนั้น ๆ ดังนั้นจริยธรรมทางการเมืองจึงเป็นกฎหรือกติกาทางศีลธรรมที่มีไว้เพื่อควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม เพื่อไม่ให้เกิดผลร้ายหรืออันตรายต่อสังคมการเมือง แต่จริยธรรมทางการเมืองในแต่ละลัทธิทางการเมืองย่อมแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์หรือปรัชญาการเมืองของแต่ละลัทธิ เช่น ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยจะมีจริยธรรมทางการเมืองไปในทางการเคารพสิทธิหน้าที่ของมนุษย์ การยอมรับนับถือเสียงส่วนมาก การยอมรับฟังเหตุผลของคนอื่นและการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นต้น ส่วนประเทศที่ปกครองในระบบเผด็จการ จริยธรรมทางการเมืองจะเป็นไปในทางยอมรับนับถือคำสั่งของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ฉะนั้นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา จึงคอยรับคำสั่งและปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว ไม่มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิ จารณ์คำสั่งของผู้บังคับบัญชาแต่ประการใด
การควบคุมพฤติกรรมทางการเมืองของสมาชิกในสังคมจะใช้เฉพาะบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพียงอย่างเดียวนั้นย่อมจะบรรลุเป้าหมายได้ยาก เหมือนกับการใช้กฎหมายควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ทั่ว ๆ ไปเพียงอย่างเดียวย่อมจะได้ผลไม่มากนัก ดังนั้นจะต้องใช้หลักศีลธรรม จริยธรรมทางศาสนาเข้าไปควบคุมด้วย จึงจะมีผลมากยิ่งขึ้น พฤติกรรมทางการเมืองแห่งสมาชิกในสังคมก็ต้องอาศัยจริยธรรมทางการเมืองเข้าช่วยเช่นกัน หรืออย่างแนวความคิดของบุคคลบางกลุ่มบางพวกเกี่ยวกับรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในทำนองไม่เชื่อในความสุจริต ความจงรักภักดีต่อประเทศชาติมากนัก เพราะคิดว่า ผู้ที่เข้ามามีบทบาท มีอำนาจทางการเมืองหรือเป็นรัฐบาลในชุดนี้ได้มาด้วยการทุ่มเทเงินทองอย่างมหาศาล เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลเช่นนี้อาจจะมีโอกาสกอบโกยเอาผลประโยชน์ในทางที่ไม่สุจริต เพื่อเป็นการกู้ทุนที่ลงไปในสมัยเลือกตั้ง ซึ่งแนวคิดอันนี้จะเป็นจริงหรือไม่นั้นก็ต้องอาศัยหลักของจริยธรรมหรือหลักของศีลธรรมเข้าควบคุมด้วยนอกจากกฎหมาย คือถ้าคณะรัฐบาลชุดนี้มีหลักจริยธรรมและหลักศีลธรรมแล้ว เรื่องไม่ดีที่หลายคนคิดนั้นจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ามีบุคคลบางคนในคณะรัฐบาลขาดจริยธรรมและศีลธรรมแล้ว ความไม่ซื่อสัตย์สุจริตย่อมเกิดขึ้นได้
ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนพลเมืองนับถือศาสนาพุทธมากที่สุด จึงทำให้ผู้ปกครองและประชาชนของชาติได้นำเอาหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการปกครองประเทศและดำรงชีวิตอยู่ในสังคม เช่น
1.หลักธรรมที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศเรียกว่าทศพิธราชธรรม คือ
1.1 ทาน การให้ คือ การเสียสละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือ ประชาราษฎร์และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
1.2 ศีล ความประพฤติดีงาม คือ สำรวจกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิติคุณ ได้ควรเป็นตัวอย่างและเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์มิให้มีข้อที่ควรจะดูแคลน
1.3 บริจาค การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
1.4 อาชวะ ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มายา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจไม่หลอกลวงประชาชน
1.5 มัทวะ ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัยไม่เย่อหยิ่งหยาบคาบ กระด้าง ถือองค์ มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนิ่มนวลละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง
1.6 ตบะ ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครองงำ ย่ำยีจิตระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญ และความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอหรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำจิตให้สมบูรณ์
1.7 อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราดลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและควรทำต่าง ๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความขุ่นเคือง วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบ เป็นตัวของตน
1.8 อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษี ขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
1.9 ขันติ ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกาย เหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างไรก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณียกิจที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม
1.10 อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรมคงที่ ไม่มีความเอนเอียง หวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิษฐารมณ์ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรมคือ ระเบียบแบบแผน หลักการปกครอง คลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติเคลื่อนคลาดวิบัติไป
จากราชธรรมทั้ง 10 ประการนี้ พระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ได้ทรงปฏิบัติด้วยดีอย่างสมบูรณ์ จนเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงแล้ว ไม่ว่าจะด้วยตนเองหรือจากสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ที่เสนอข่าวอยู่เป็นประจำทุกวัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นหลักชัยของบ้านเมือง เป็นศูนย์รวมพลังของชาวไทยทั้งชาติ
2. พรหมวิหารธรรม
เป็นหลักธรรมสำหรับผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองเริ่มตั้งแต่ผู้ปกครองในครอบครัว ถึงผู้ปกครองระดับชาติควรที่จะได้นำไปปฏิบัติ อันได้แก่
2.1 เมตตา คือ ความรัก ปรารถนาจะให้เป็นสุข ทั้งนี้เพื่อการสร้างมิตรภาพ ภราดรภาพ ความรักใคร่สามัคคีระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง
2.2 กรุณา คือ ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์เมื่อเห็นใครได้รับความทุกข์ยากลำบาก มีจิตคิดสงสารต้องการที่จะช่วยเหลือให้พ้นความทุกข์นั้น
2.3 มุทิตา คือ ความพลอยยินดี ในเมื่อผู้อื่นได้ดี ลักษณะผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองที่แท้จริงนั้นจะต้องรู้จักส่งเสริมผู้น้อยหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ต้องไม่มีจิตคิดริษยาผู้อื่น
2.4 อุเบกขา คือ ความวางเฉย ความเป็นกลาง หรือความยุติธรรม เป็นผู้ใหญ่ผู้ปกครองจะต้องวางตัวเป็นกลาง มีความเป็นธรรมไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ยึดความถูกต้องเป็นที่ตั้ง
3.หลักธรรมสำหรับประชาชน
ประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนอกจากยึดหลักปฏิบัติแห่งศีล 5 หรือศีล 8 แล้ว ยังต้องฝึกหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อดำรงชีวิตในสังคม และพระธรรมคำสอนนั้นก็มีเป็นอเนกประการจึงจะขอนำมากล่าวเฉพาะที่สำคัญ คือ
3.1 อิทธิบาทธรรม
คือ ธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทั้งในด้านการศึกษาเล่าเรียน และกิจการงานทุกอย่าง ได้แก่
3.1.1 ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ ที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานให้สำเร็จหรือในการศึกษาเล่าเรียนและประกอบความเพียรอื่น ๆ
3.1.2 วิริยะ ความเพียรพยายาม ในการที่จะทำให้สำเร็จในหน้าที่การงานและการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น
3.1.3 จิตตะ ความเอาใจใส่ในสิ่งนั้น ๆ ไม่ทอดธุระ ในวิชาการและงานที่ทำ
3.1.4 วิมังสา ความพิจารณาหาเหตุผล คือ เมื่อศึกษาเล่าเรียนหรือทำกิจการงานต่าง ๆ ถ้าเกิดปัญหาอุปสรรคจะต้องใช้สติปัญญาพิจารณาเหตุผลในการแก้ไขด้วยความรอบคอบ
3.2 สังคหวัตถุธรรม
เมื่อธรรมที่มีไว้สำหรับผูกมิตรหรือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้แก่
3.2.1 ทาน การให้วัตถุเครื่องใช้และให้คำแนะนำทางวิชาการที่มีประโยชน์
3.2.2 ปิยวาจา การเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนหวานนุ่มนวล มีสาระ ไพเราะ เสนาะหูผู้ฟัง
3.2.3 อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ตามหน้าที่ของตน
3.2.4 สมานัตตตา การถือตัววางตัวเสมอต้นเสมอปลาย
ไม่ยโสโอหังลืมตัวลบหลู่ดูถูกคนอื่น
3.3 ฆราวาสธรรม คือ ธรรมสำหรับผู้ครองเรือนจะต้องปฏิบัติ
3.3.1 สัจจะ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ
3.3.2 ทมะ ความข่มใจ ในเมื่อประสบอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา
3.3.3 ขันติ ความอดทนต่อหน้าที่การงานทุกอย่าง
3.3.4 จาคะ การเสียสละ การให้เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น
3.4 ทิศ 6 ธรรมสำหรับเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ ได้แก่
3.4.1 ทิศเบื้องหน้า คือ บิดามารดา
3.4.2 ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์
3.4.3 ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา บุตร
3.4.4 ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตร
3.4.5 ทิศเบื้องต่ำ คือ คนใช้
3.4.6 ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์
ทิศทั้ง 6 นี้คือ
บุคคลอยู่ในสังคมจะปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพรักใคร่สามัคคีกัน
เพื่อสร้างสรรค์สังคม
นอกจากธรรมที่ยกมากล่าวข้างต้นนี้แล้วยังมีธรรมในคำสอนพระพุทธศาสนาอีกมากที่ผู้มีอุปนิสัยกำลังศรัทธาสามารถเลือกมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้
ความหมายและความสำคัญของการเมือง
ประวัติความเป็นมาของวิชารัฐศาสตร์
สาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์กับสาขาวิชาอื่น
จริยธรรมทางการเมือง (Political Ethics)
วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture)
อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology)
ความหมายของอุดมการณ์ทางการเมือง
ประเด็นสำคัญของอุดมการณ์ทางการเมือง
วิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์