สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

 

ความหมายการเมืองการปกครอง

สาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์

จากการวิวัฒนาการทางการศึกษาวิชารัฐศาสตร์มาตั้งแต่ต้นจนถึงสมัยปัจจุบันนี้นั้น จะเห็นได้ว่าวิธีการนี้ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ ทั้งนี้ก็เพื่อความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและกาลสมัย วิชารัฐศาสตร์หรือวิชาการเมืองการปกครองเป็นวิชาที่สามารถศึกษาได้ทั้งในแนวทฤษฎีและแนวปฏิบัติ เพื่อที่จะให้มนุษย์ได้สัมผัสในชีวิตประจำวัน ดังนั้นนักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์จึงได้รวบรวมสาระสำคัญของวิชานี้ไว้ 8 ประการ ที่เป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าทางวิชารัฐศาสตร์ ดังนี้

1. ทฤษฎีการเมืองหรือปรัชญาการเมือง ( Political Theory or Political Philosophy )

แขนงวิชานี้ เป็นพื้นฐานการศึกษาด้านการเมืองการปกครองเพราะการศึกษาในด้านทฤษฎีการเมืองหรือปรัชญาทางการเมือง จะทำให้ผู้ศึกษาทราบเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องของนักอุดมการณ์และนักคิดทางการเมืองในอดีตที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองการปกครองไว้เพื่อมนุษยชาติ และความรู้สึกนึกคิดเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองของนักคิดนักเขียนเหล่านั้นมักจะแฝงไว้ด้วยเหตุผล วิธีการและหลักการที่มีคุณค่าที่อนุชนรุ่นหลังสามารถแสดงออกมา อันอาจมีผลกระทบต่อการเมืองการปกครองของรัฐได้ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม ทฤษฎีการเมืองหรือปรัชญาการเมืองเป็นหลักสากล มนุษย์ทุกคนสามารถศึกษาสัมผัสและแยกยึดถือปฏิบัติได้ตามสภาพการณ์ในแต่ละสังคม ซึ่งทฤษฎีส่วนใหญ่จะเน้นไปว่า รัฐควรจะเป็นอย่างไรและประชาชนจะอยู่ในรัฐนั้นได้อย่างมีความสุขอย่างไร ฉะนั้นการศึกษาทฤษฎีการเมืองหรือปรัชญาการเมืองจึงเป็นการศึกษาถึงประวัติความเป็นมา เป้าหมายและวิธีการหรือกระบวนการเพื่อให้ บรรลุเป้าหมายนั้น

2. Political Dynamics

แขนงวิชานี้เป็นเรื่องใหม่ แต่ได้เป็นที่สนใจกันทั่วไป Political Dynamics เป็นแขนงวิชารัฐศาสตร์ที่ศึกษาถึงพลังต่าง ๆ ที่มีผลต่อรัฐบาลและการเมือง เช่น อำนาจทางศีลธรรม เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา เป็นต้น พลังหรืออำนาจเหล่านี้ช่วยให้เข้าใจถึงการดำเนินงานทางการเมืองหรือลักษณะแห่งปรากฏการณ์ทางการเมือง และ Political Dynamics นี้จะครอบคลุมศึกษาไปถึงบทบาทกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ มติมหาชน สื่อสารมวลชนและพรรคการเมือง (Political Party) ซึ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้นจะทำให้ผู้ศึกษาได้ทราบประวัติ นโยบาย เป้าหมายและวิธีการดำเนินการของพรรคการเมืองบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองที่มีต่อประชาชนและรัฐ อันมีผลต่อความมั่นคง ความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนและรัฐ และโดยสภาพการณ์ปัจจุบันนี้พรรคการเมืองได้แบ่งเป็นหลายระบบ เช่น ระบบพรรคเดียว ระบบสองพรรค และระบบหลายพรรค

3. กฎหมายมหาชน (Public Law)

เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคนส่วนใหญ่หรือส่วนรวมของประเทศ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitution) กฎหมายปกครอง (Administrative Law) กฎหมายอาญา (Criminal Law) และรวมไปถึงกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมความประพฤติการปฏิบัติของประชาชนโดยส่วนรวมและเกี่ยวข้องกับรัฐ ตลอดถึงหลักการของการปฏิบัติต่อกันระหว่างรัฐต่อรัฐ เป็นต้น

4. รัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration)

เป็นวิชาที่ว่าด้วยการบริหารทั่ว ๆ ไปทั้งบริหารรัฐ บริหารหน่วยงาน บริหารองค์การและตามหลักของการบริหารนั้นจะต้องมีองค์ประกอบด้วย 4 M. Man Money Material และ Manegement ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่รัฐและแก่องค์กรต่าง ๆ “เดิมทีเดียวรัฐประศาสนศาสตร์มุ่งให้ผู้ศึกษาได้ทราบเพียงเรื่องปรัชญาการเมือง รัฐธรรมนูญ และการออกกฎหมาย ต่อมาในทศวรรษของปี พ.ศ. 2463 และปี พ.ศ. 2473 จึงหันมาสนใจการประยุกต์เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) มาให้รัฐบาลประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานขององค์การ“ ปัจจุบันวิชารัฐประศาสนศาสตร์ได้ยึดหลัก POSDCOPE คือ การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organization) การจัดบุคคลให้ถูกสายงาน (Staffing) การสั่งการ (Directing) การประสานงาน (Co-ordinating) การรายงาน และประเมินผล (Reporting) และการบริหารงบประมาณ (Budgeting)

5. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations)

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยทั่วไป จะศึกษาใน 2 ประเด็นใหญ่คือ “การศึกษาประวัติการฑูต และอิทธิพลที่จะก่อให้เกิดสงคราม (War) และสันติภาพ (Peace)“ ในประเด็นแรกเน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ นโยบาย และสถาบันอันทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ส่วนประเด็นหลังเป็นการศึกษาถึงอิทธิพลที่ว่า อะไรอยู่เบื้องหลังที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนเป็นเหตุแห่งสงคราม และศึกษาหาว่าวิธีการใดในอันที่จะเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อลดภาวะแห่งสงครามและจะก่อให้เกิดสันติสุขได้อย่างไร รวมทั้งศึกษาถึงหลักวิทยาศาสตร์ที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

6. รัฐบาลเปรียบเทียบ (Comparative Government)

วิชารัฐบาลเปรียบเทียบนั้นเก่าแก่พอ ๆ กับวิชาทฤษฎีการเมือง การศึกษาสังเกตลักษณะของรัฐบาลต่าง ๆ ที่อริสโตเติลได้ปฏิบัติไปในยุคโบราณถือว่า เป็นการศึกษารัฐบาลเปรียบเทียบครั้งแรกในโลก สาระสำคัญของวิชานี้ได้แก่ การสำรวจศึกษาระบบรัฐบาลและการเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน

7. สาขารัฐบาล (Government)

คือเป็นการศึกษาของสถาบันการเมืองต่าง ๆ การแบ่งสันอำนาจอธิปไตยไปให้หน่วยอำนาจต่าง ๆ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ นอกจากนั้นก็ศึกษาไปถึงเรื่องการแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เน้นไปในด้านโครงสร้างการปกครอง

8. สาขานิติบัญญัติ (Legislature)

การศึกษาเรื่องนี้เป็นการศึกษาถึงกระบวนการของการตรากฎหมายออกมาใช้บังคับ ในการปกครองประเทศไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือการปกครองในระบบเผด็จการต่างก็ต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมการบริหารประเทศด้วยกันทั้งนั้น กฎหมายบางประเภทก็ต้องอาศัยขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันต่อ ๆ มาจนในที่สุดก็กลายมาเป็นกฎหมาย แต่ที่มาของกฎหมายโดยตรงในปัจจุบันก็คือสภานิติบัญญัติ ที่สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปในประเทศ เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองพระราชบัญญัติต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนแล้วตราออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ ในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการบัญญัติกฎหมายโดยประชาชนก็ย่อมได้ เพราะผู้ที่เป็นสมาชิกสภาคือตัวแทนของประชาชนเลือกเข้าไป

ความหมายและความสำคัญของการเมือง
ประวัติความเป็นมาของวิชารัฐศาสตร์
สาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์กับสาขาวิชาอื่น
จริยธรรมทางการเมือง (Political Ethics)
วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture)
อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology)
ความหมายของอุดมการณ์ทางการเมือง
ประเด็นสำคัญของอุดมการณ์ทางการเมือง
วิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย